พระเมรุมาศพิมานนฤมิต

 พระเมรุมาศพิมานนฤมิต

รายละเอียดนิทรรศการเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ มณฑลพิธีพระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560

ตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชานุญาตให้จัดนิทรรศการเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ บริเวณสถานที่ที่เคยใช้เป็นพระเมรุมาศท้องสนามหลวง

บัดนี้ รัฐบาลกำหนดเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวแล้ว

นิทรรศการเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จัดขึ้นภายใต้ชื่อ พระเมรุมาศพิมานนฤมิต สรรพศาสตร์ ศิลป์พร้อม น้อมถวายพระราชาผู้ทรงธรรม เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกับเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีไทย ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทย ซึ่งได้รับการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 


โดยเปิดให้เข้าชม ‘พระเมรุมาศ’ และ ‘อาคารประกอบ’ ที่จัดสร้างอย่างสมพระเกียรติ

นิทรรศการ พระเมรุมาศพิมานนฤมิต สรรพศาสตร์ ศิลป์พร้อม น้อมถวายพระราชาผู้ทรงธรรม  ประกอบด้วยการจัดแสดง 5 ส่วน ดังนี้

1. พระเมรุมาศ : อนุญาตให้เดินชมได้โดยรอบ ‘ลานอุตราวรรต’ หรือ พื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาดทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ

2. พระที่นั่งทรงธรรม : ผู้เข้าชมนิทรรศการจะมีโอกาสได้ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ จำนวน 3 ภาพ คือภาพจิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจากภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดความสูง 5 เมตร 80 เซนติเมตร ยาว 12 เมตร ประดับมุขด้านขวาของพระที่นั่งทรงธรรม(ยืนหันหน้าเข้าสู่พระเมรุมาศ) มุขกลางพระที่นั่งทรงธรรม เป็นภาพจิตกรรมฝาผนังโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและพระราชดำริในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 19 โครงการ มุขซ้ายประดับภาพจิตรกรรมฝาผนังฝั่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจากภาคกลางและภาคใต้ 14 โครงการ

ภายในโถงพระที่นั่งทรงธรรมจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ แบ่งเป็น 5 หัวข้อที่ตั้งชื่อร้อยเรียงอย่างไพเราะ ดังนี้

   1) เมื่อเสด็จอวตาร -นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพ อาทิ ภาพถ่ายสำเนาลายพระราชหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนาม พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า “ภูมิพลอดุลเดช” ความว่า 

“เขียนอย่างวิธีแปลงอักษรตามแบบรัชกาลที่ ๖ Bhumibala Aduladeja เขียนอย่างออกเสียง (Poomipon)”

เรื่องราวเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วย ‘วังสระปทุม’ ที่ประทับแห่งแรกในประเทศไทย อาทิ การจำลอง ‘ตู้ขายของของเจ๊กตู้’ ที่มาของของเล่นเมื่อครั้งทรงพระเยาว์

พร้อมพระรูปหาชมยาก อาทิ พระรูปทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชและสมเด็จพระเชษฐภคินี บนดาดฟ้าแฟลตที่ประทับ เลขที่ 63 ถนนลองวูด เมืองบรูคลายน์ ชานเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา, ทรงฉายพระรูปกับหม่อมเจ้ากุสุมา เกษมสันต์ ซึ่งทรงเรียกว่า ‘ป้าจุ่น’ ขณะทรงนำเสด็จไปถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในโอกาสเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า เดือนเมษายน พ.ศ.2475

   2) รัชกาลที่ร่มเย็น -นำเสนอข้อมูลการทรงงานด้านต่างๆ นับตั้งแต่การเสด็จฯ ออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ทรงริเริ่มออกแบบและทดลองโครงการด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนชาวไทยผ่านการจัดแสดง ‘อุปกรณ์ทรงงาน’ หลายอย่าง ซึ่งเป็นอุปกรณ์จำลอง โดยใช้ของรุ่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่ที่ใช้งานจริง อาทิ โต๊ะทรงงาน, และภาพยนตร์ส่วนพระองค์

รวมทั้งงานมัลดิมีเดียผ่านการใช้ QR Code ของสมาร์ทโฟนผู้เข้าชมนิทรรศการ อาทิ คลิปพระสุรเสียง ‘รัชกาลที่ 9’ ขณะทรงติดต่อสนทนากับ ‘ศูนย์ควบคุมค่ายวิทยุสายลม’ โดยทรงใช้สัญญาณเรียกขาน VR009 ในช่วงปี พ.ศ.2528 ซึ่งกรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วม ทรงแนะนำเรื่องการใช้วิทยุสื่อสารให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการแก้ปั­ญหาน้ำท่วมในครั้งนั้น ทรงใช้คำพูดในการสนทนาแบบเรียบง่าย

   3) เพ็ญพระราชธรรม -อธิบาย ‘ทศพิธราชธรรม’ จากหนังสือ ‘พระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยทรงครองราชย์ครบหมื่นวัน’ จัดพิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื้อหาครอบคลุมทศพิธราชธรรม 10 ประการ จากธรรมกถาในพิธีบำเพ็ญจิตภาวนาพุทโธโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

นิทรรศการความเป็นมา รูปลักษณ์ และความหมายของ ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงออกแบบเพื่อพระราชทานแก่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเมื่อปีพ.ศ.2509

   4) นำพระราชไมตรี -นำเสนอการทรงงานด้านการต่างประเทศ นับตั้งแต่แรกทรงครองสิริราชสมบัติ คือการทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะและการเสด็จพระราชดำเนินเยือนมิตรประเทศในเอเชีย จากนั้นจึงเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อด้วย 13 ประเทศในทวีปยุโรป และประเทศอื่นอีกหลายประเทศ

จนถึงครั้งที่เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขง หนองคาย-เวียงจันทน์ พ.ศ.2537 

นอกจากเผยแพร่พระเกียรติคุณให้นานาประเทศรู้จัก ผลจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือน ยังนำมาซึ่งสัมพันธไมตรีที่ดีกับมิตรประเทศเหล่านั้น ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีและความร่วมมืออีกมากมายตราบปัจจุบัน

   5) พระจักรีนิวัตฟ้า -ประมวลภาพหลังการประกาศ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เสด็จสวรรคตของสำนักพระราชวัง ประชาชนแต่งกายไว้ทุกข์ชุดดำนับหมื่นนับแสนหลั่งไหลเพื่อให้ได้เฝ้าส่งเสด็จขบวนพระบรมศพ ภาพประชาชนทั่วทุกสารทิศเดินทางกราบถวายบังคมพระบรมศพตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2559 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2560 พร้อมทั้งผู้นำประเทศต่างๆ ที่ร่วมรับรู้ความรู้สึกสูญเสียบุคคลสำคัญของโลก โดยมีพระราชสาส์นและแถลงการณ์แสดงความอาลัย มายังพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน

3. ศาลาลูกขุน 6 หลัง : จัดแสดงนิทรรศการพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ งานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ แยกตาม ‘ศาลาลูกขุน’ ดังนี้

     ศาลาลูกขุนหลังที่ 1 “สมมติเทวพิมาน” จัดแสดงนิทรรศการสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ เล่าเรื่องแนวคิด คติความเชื่อเกี่ยวกับการก่อสร้างพระเมรุมาศที่สืบทอดมาจากสมัยสุโขทัย ซึ่งมีพัฒนาการเชิงรูปแบบสถาปัตยกรรมและความหมายที่เป็นต้นแบบของพระเมรุมาศรัชกาลที่ 9

     ศาลาลูกขุนหลังที่ 2 “ณ วิธานสถาปกศาลา” เล่าเรื่องขั้นตอนการออกแบบ-ก่อสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ  โดยจำลองบรรยากาศ ‘วิธานสถาปกศาลา’ หรือ ‘โรงแบบขยายแบบเท่าจริง’ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ที่มีลักษณะเฉพาะและมีระเบียบแบบแผนในการวางองค์ประกอบ จึงต้องขยายแบบเท่าจริงลงบนกระดาษขนาดใหญ่ เพื่อตรวจทานมิให้รูปแบบผิดเพี้ยน โดยเฉพาะรูปแบบ ‘เรือนยอด’ ที่มีลักษณะเรียวแหลม อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘อากาศกิน’ คือมวลของยอดที่สูงพุ่งไปในอากาศจะถูกมองเห็นว่าเล็กลีบเกินความเป็นจริง ซึ่งไม่สามารถคาดเดาหรือคำนวณการถูกอากาศกินได้ จึงจำเป็นต้องเขียนแบบเท่าขนาดจริง เพื่อตรวจทานมุมมองที่อยู่สูงขึ้นไป

รวมทั้งเครื่องมือ-อุปกรณ์เขียนแบบซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงใช้ในการร่วมเขียนแบบขยายด้วยพระองค์เอง รวมทั้ง ‘พระมาลา’ ทรงสวมขณะทรงพระดำเนินลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศหลายครั้ง  

จัดแสดง ‘โต๊ะทำงาน’ ที่คุณก่อเกียรติ ทองผุด ใช้ร่างแบบ ‘พระเมรุมาศรัชกาลที่ 9’ เป็นโต๊ะที่ได้รับสืบทอดมาจาก พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งคุณอาวุธได้รับสืบทอดโต๊ะทำงานตัวนี้มาจาก อ.ประเวศ ลิมปรังษี อดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญพิเศษกรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7ร่วมด้วยการจัดแสดงวีดิทัศน์ฉายภาพลำดับการก่อสร้างในพื้นที่สนามหลวงตั้งแต่เริ่มวางฐานรากจนถึงการประกอบติดตั้งแล้วเสร็จ

    ศาลาลูกขุนหลังที่ 3 “ประติมาสร้างสรรค์" จัดแสดงลำดับขั้นตอนการจัดสร้างงานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ซึ่งเป็นการทำงานของ ‘สำนักช่างสิบหมู่’ ร่วมกับ ช่างปั้นปูนสดเมืองเพชรบุรี คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง และกลุ่มช่างฝีมือศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดและสีบัวทอง รวมทั้งจิตกรจิตอาสา

    ศาลาลูกขุนหลังที่ 4 “สวรรค์บรรจงวาด” จำลองภาพจิตรกรรมบน ‘ฉากบังเพลิง’ ทั้ง 4 ทิศของพระเมรุมาศ ในอัตราส่วน 1 : 2 โดยการถ่ายภาพและพิมพ์ลงบนผืนผ้าใบ เพื่อให้เห็นรายละเอียดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกล่าวถึงการจัดสร้างจิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ติดตั้งบนผนังขนาดใหญ่ 3 ผนังของพระที่นั่งทรงธรรม

    ศาลาลูกขุนหลังที่ 5 “ยาตรากฤษฎาธาร” จัดแสดงเรื่องราวการทำงานในส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ รวมทั้งราชรถราชยานที่สร้างขึ้นใหม่ครั้งนี้ คือ ‘ราชรถปืนใหญ่’ เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศเวียนอุตราวรรตรอบพระเมรุมาศ และ ‘พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย’ เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารแทนพระวอสีวิกากาญจน์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมศิลปากร กรมสรรพาวุธทหารบก และกรมอู่ทหารเรือ รวมทั้งได้แรงสนับสนุนจากจิตอาสาเข้ามาช่วยงานในหลายส่วน

    ศาลาลูกขุนหลังที่ 6 “ตระการวิจิตรศิลปกรรม” จัดแสดงงานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี ประกอบด้วยการเล่าขั้นตอนการจัดสร้างและชิ้นส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นพระโกศจันทน์ จัดแสดงฟืนไม้จันทน์ ภาพพระโกศทรงพระบรมอัฐิทองคำลงยา จำนวน 6 องค์ จัดทำโดยกรมศิลปากรและสถาบันสิริกิติ์

จัดแสดงแบบเครื่องสังเค็ด ภาพแสดงขั้นตอนการทำ ‘ช่อไม้จันทน์’ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีความแตกต่างจากเดิมที่มีลักษณะเป็นงานซ้อนไม้ลายใบเทศ โดยเปลี่ยนเทคนิคการสร้างงานเป็นการแกะสลักไม้จันทน์ในลักษณะนูนต่ำ เพื่อให้ช่อไม้จันทน์มีมิติเพิ่มมากขึ้น

ครั้งนี้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดทำช่อไม้จันทน์ซึ่งผูกลายให้มีความแตกต่างกันตามอย่างลำดับชั้น  ทั้งหมด 7 แบบ ได้แก่ ช่อไม้จันทน์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม(พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

นอกจากนี้ยังจัดแสดงตัวอย่าง ‘งานเครื่องสด’ ทั้งภาพและชิ้นงานจริง อาทิ ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถัก ‘ตาข่ายดอกรักชั้นที่ 9’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรือนยอด 9 ชั้นในงานเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน

4. ทับเกษตร : “นำสัมผัสพระสุเมรุ” นิทรรศการเพื่อผู้พิการทางสายตา จัดแสดงแผนผังบริเวณมณฑลพิธีแบบนูนต่ำ พร้อมอักษรเบรลล์กำกับให้ทราบแต่ละส่วนคืออาคารใด พระเมรุมาศจำลองขนาดย่อส่วน และสัตว์หิมพานต์ให้ได้ลองสัมผัส

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ แสดงความประทับใจหลังจากมีโอกาสได้ชมนิทรรศการในส่วน ‘ทับเกษตร’ โดยกล่าวว่า ตามปกติแล้วผู้พิการทางสายตาไม่มีโอกาสชมความงามงานศิลปกรรม แม้ได้ยินการอธิบายความงามเป็นคำพูด  แต่ก็จินตนาการลำบาก จนกว่าจะได้คลำชิ้นงาน แต่นิทรรศการในส่วนนี้ทำให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ความงามของงานศิลปกรรมไทยได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะงานประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ที่ทำให้ประหลาดใจราวกับเห็นภาพจริงๆ จากคำกล่าวที่ว่าจิตรกรไทยนำจุดเด่นของสัตว์หลายชนิดมาสร้างเป็นสัตว์หิมพานต์แต่ละตัว เช่น สุบรรณเหรา ที่มีลำตัวเป็นครุฑ หางเป็นพวงเหมือนไก่ มีเขาเหมือนมังกรและหงอนของพญานาค นั้นเป็นอย่างไร หากงานเหล่านี้มีโอกาสจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก็น่าจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศได้เรียนรู้ความงามของศิลปกรรมไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติได้ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งอาจเรียกความสนใจจากผู้พิการทางสายตาจากทั่วโลกให้เดินทางมาชมและศึกษาศิลปกรรมไทย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างก็มีตัวอย่างพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานสำหรับผู้พิการทางสายตา

ทับเกษตรและศาลาลูกขุนแต่ละหลัง มีข้าราชการกรมศิลปากรปฏิบัติหน้าที่ ‘เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการ’ ประจำแห่งละ 4 คน คอยให้คำอธิบายและตอบข้อสงสัย หมุนเวียนกันเป็นรอบ รอบแรก 07.00-15.00 น. และรอบ 15.00-22.00 น. คุณเอกสิทธิ์ โตรัตน์ กรรมการการจัดสร้างพระเมรุมาศ กรมศิลปากร กล่าว


5. ภูมิทัศน์ด้านหน้าพระเมรุมาศ : สะท้อนให้เห็นพระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ อาทิ จัดแสดงพันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก กังหันชัยพัฒนารัฐบาลกำหนดเปิดนิทรรศการ พระเมรุมาศพิมานนฤมิต ให้ประชาชนเข้าชมระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560 เวลา 07.00-22.00 น. รอบละ 5,500 คน ใช้เวลารอบละ 1 ชั่วโมง (15 นาทีแรกถ่ายภาพ ณ บริเวณพื้นที่ด้านหน้า, 45 นาทีหลัง เดินชมนิทรรศการและถ่ายภาพอิสระในพื้นที่ที่กำหนด)


สถานที่จัดนิทรรศการฯ คือมณฑลพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เคยเสด็จพระราชดำเนิน พระดำเนิน และดำเนินผ่าน แม้แต่ลานอุตราวรรตก็ยังคงปรากฏรอยล้อ ‘ราชรถปืนใหญ่’ เคลื่อนผ่านเป็นรอยทาง

ทุกย่างก้าวที่เข้าชมนิทรรศการฯ จึงควรปฎิบัติตนด้วยความสำรวมกิริยา และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของเรา

---------------- : : -----------------

:: ผู้เข้าชมนิทรรศการ ‘พระเมรุมาศพิมานนฤมิต’ ต้องผ่าน ‘จุดคัดกรอง’ 5 จุด ดังนี้

- บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์

- บริเวณท่าช้าง

- บริเวณหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน

- บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

- บริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม

:: แต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อย

- สุภาพบุรุษสวมเสื้อมีแขน(ไม่บาง ไม่รัดรูป) กางเกงขายาว ไม่สวมกางเกงยีนส์ ไม่สวมกางเกงยีนส์ฟอก-ขาดวิ่นหรือรัดรูป สวมรองเท้าแบบสุภาพ ไม่สวมรองเท้าแตะ

- สุภาพสตรีสวมเสื้อมีแขน(ไม่บาง ไม่รัดรูป ไม่เอวลอย) สวมกระโปรงยาวคลุมเข่าหรือกางเกงขายาวทรงสุภาพ ไม่สวมกางเกงยีนส์ฟอก-ขาดวิ่น ไม่บาง ไม่รัดรูป สวมรองเท้าแบบสุภาพ ไม่สวมรองเท้าแตะ

- นักเรียน นิสิต นักศึกษา สวมเครื่องแบบตามราชการกำหนด

- กลุ่มชาติพันธุ์ สวมชุดพื้นถิ่น

:: ขอความร่วมมือผู้เข้าชม ดังนี้

- ไม่แตะต้อง ไม่สัมผัสพระเมรุมาศ ตลอดจนสิ่งที่นำมาจัดแสดง

- ไม่ดึง ไม่เด็ด ไม่เหยียบ ไม่สร้างความเสียหายแก่ไม้ดอกและพืชพันธุ์ภายในงาน

- ถ่ายรูปในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ถ่ายภาพด้วยกิริยาสำรวม งดใช้ไม้เซลฟี่ งดเฟซบุ๊กไลฟ์

- ทิ้งขยะในบริเวณที่จัดให้เท่านั้น

------------------- : : -------------------

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร