‘อาร์เอส’มองเกมต่อยอดทีวีดิจิทัลหนุนธุรกิจใหม่

‘อาร์เอส’มองเกมต่อยอดทีวีดิจิทัลหนุนธุรกิจใหม่

ธุรกิจ“ทีวีดิจิทัล” นับตั้งแต่เริ่มต้นออกอากาศในปี 2557 เผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเทคโนโลยีและการแข่งขัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในผู้ชนะ

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าทีวีดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง เช่นเดียวกับการแข่งขันที่อยู่ในภาวะรุนแรงจากจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับยุคอนาล็อกที่มีฟรีทีวี  6 ช่อง  

“ธุรกิจสื่อในสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่เหมือนเดิม ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป อาร์เอสจึงค่อนข้างรอบคอบและรัดกุมในการบริหาร ช่อง8 และผ่านมา 3 ปี เราทำได้ตามเป้าหมาย”

การเริ่มธุรกิจทีวีดิจิทัล ได้กำหนดนโยบายชัดเจนตั้งแต่เริ่มทำงานวันแรกว่า จะใช้เวลา 3 ปี พยายามรักษาฐานการดำเนินธุรกิจ ไม่ให้มีผลกระทบด้านการขาดทุนมากเกินไป ในช่วงของการสร้างช่อง ซึ่งอาจแตกต่างจากหลายราย ที่ประกาศแบกรับภาระขาดทุนในช่วง 3 ปีแรก

สะท้อนได้จาก ผลประกอบการนับตั้งแต่ปี 2557 สามารถรักษาฐานะทำ“กำไร”มาตลอด เว้นปี 2559 ที่ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาชะลอตัวในช่วงไว้อาลัย

สุรชัย บอกว่าหลักการคือ ไม่ว่าเป็นใคร เมื่อตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจทีวีดิจิทัลแล้ว อย่างแรกต้องคิดก่อนว่าจะต้องเป็น “ผู้ชนะ” ในเกมนี้  เพราะหากแพ้ คงไม่สามารถคิดเรื่องการต่อยอด หรือสร้างธุรกิจใหม่ จากฐานธุรกิจเดิมได้ ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย!

“วันนี้ ช่อง8 อยู่ในกลุ่มผู้นำท็อปไฟว์ ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นผู้ชนะในเกมทีวีดิจิทัล”

การที่ยังอยู่ในเกมและ“คิดนอกกรอบ” ใช้ฐานธุรกิจสื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ “เฮลธ์แอนด์บิวตี้” และ“โฮม เทเลชอปปิง” ที่สร้างมาร์จิ้นสูง  ปรากฏให้เห็นชัดจากตัวเลขผลประกอบการปีนี้ ที่ธุรกิจไลฟ์สตาร์ คาดมีรายได้ 1,200 ล้านบาท ใกล้เคียงช่อง8 ที่วางไว้ 1,300 ล้านบาท ในปีนี้  

แนวทางของไลฟ์สตาร์ หลังจากนี้จะแตก 2 ธุรกิจใหม่ในปีหน้า โดยใช้ฐานธุรกิจสื่อต่อยอดสร้างรายได้เช่นเดียวกับกลุ่มเฮลธ์แอนด์บิวตี้

สุรชัย กล่าวว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลของอาร์เอส ยังมีโอกาสเติบโตได้ คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้ชมแตะ 5 แสนคนต่อนาที  จากระดับ 4 แสนต้นๆ ต่อนาทีในขณะนี้  หรือเพิ่มขึ้น 30-40% โดยเดือน พ.ย.นี้จะปรับผังช่อง 8 ใหม่ เวลาไพรม์ไทม์ 2 ช่วงหลัก คือ 6.00-9.00 น. รายการข่าวเช้าที่เป็นผู้นำเรทติ้งขณะนี้ และ 18.00-22.30 น. ซึ่งมีคอนเทนท์ที่แข็งแรง

"เชื่อว่า 2 เดือน สุดท้ายจะเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตผู้ชมให้แตะ 5 แสนคนต่อนาที  ถือเป็นแรงส่งที่ดีในปีหน้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้า หากสามารถทำตัวเลขระดับดังกล่าวตั้งแต่ปลายปีนี้ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นราคาโฆษณาได้ในปีหน้า ที่อัตราใกล้เคียงตัวเลขเรทติ้งที่เพิ่มขึ้น"

ปัจจุบันราคาโฆษณาช่อง 8 อยู่ที่ 3-3.5 หมื่นบาทต่อนาที ปีหน้าคาดว่าจะขยับขึ้นไปได้ที่ 4-4.5 หมื่นบาทต่อนาที  มองว่าอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2561 จะกลับมาฟื้นตัว ปัจจุบันเห็นสัญญาณเติบโตชัดเจนในหลายเซ็กเตอร์  

การแข่งขันในทีวีดิจิทัล เรทติ้งเป็นตัววัดว่าช่องสามารถแย่งแชร์โฆษณาได้หรือไม่ หรืออยู่ในเรดาร์การใช้เงินของลูกค้าหรือไม่ แต่ไม่ใช่ปัจจัยวัดการแพ้ชนะในเกมการแข่งขัน เพราะขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม 

"เรทติ้งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือผลประกอบการกำไร”

 เป้าหมายต่อไปของช่อง 8 ในปีหน้า คือเพิ่มผู้ชมให้ได้ 6 แสนคนต่อนาที  ใกล้เคียงกับช่องเรทติ้งอันดับ3 ซึ่งจะทำให้ราคาโฆษณามีโอกาสขยับไปที่ 8 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาทต่อนาที โดยต้องดูสถานการณ์ภาพรวมตลาดประกอบกัน

มองว่าช่อง 8 ยังมีโอกาสเติบโตตามสเตปที่วางไว้ เมื่อเรทติ้งขยับขึ้น ก็ปรับโฆษณา พร้อมบริหารต้นทุนเพื่อผลประกอบการที่ดี และใช้สื่อต่อยอดสนับสนุนธุรกิจใหม่ 

การเริ่มต้นทีวีดิจิทัลเข้าสู่ปีที่4  พร้อมต่อยอดธุรกิจเฮลธ์แอนด์บิวตี้และโฮม เทเลชอปปิง  ปี2560 ถือเป็นปีที่ อาร์เอส สามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจได้สำเร็จ โดยมีรายได้จาก 2 ธุรกิจหลัก คือสื่อและเฮลธ์แอนด์บิวตี้ 

จาก 4  หน่วยธุรกิจ คือ สื่อ ,เฮลธ์แอนด์บิวตี้, โฮม เทเลชอปปิง และเพลง ซึ่งแต่บิซิเนส ยูนิต มีทิศทางของตัวเองและทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกันในแต่ละธุรกิจ

"วันนี้ สิ่งที่เราแฮปปี้และสบายใจ เพราะบิซิเนส โมเดล ไม่ได้พึงพา ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากเกินไป โดยมี 4 กลุ่มธุรกิจที่แข็งแรงและน่าสนใจและเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต"

 สำหรับช่อง“ทีวีดิจิทัล”ที่ประสบความสำเร็จ คือกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิม มีโอกาสเฉพาะเม็ดเงินโฆษณา คือทีวีและเพิ่มเติมในโฆษณาสื่อออนไลน์  

แต่อาร์เอส มองโอกาสที่มากกว่า จากอุตสาหกรรมสื่อเดิมและกลุ่มเฮลธ์แอนด์บิวตี้

เดินหน้าธุรกิจเพลง

สำหรับธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอาร์เอส  “สุรชัย” ยืนยันว่า"ไม่เลิกทำธุรกิจเพลงแน่นอน เพราะเพลงเป็นธุรกิจหลักที่ยังสำคัญ”

ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามากระทบธุรกิจดั้งเดิม แต่อาร์เอส ถือเป็นบริษัทเพลงที่ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ไม่เติบโตมาหลายปีแล้ว ซึ่งไม่ใช่หัวใจสำคัญ

ดังนั้นการทำธุรกิจเพลงของอาร์เอส อาจไม่เห็นการเติบโต แต่ที่สำคัญยังทำ “กำไร”ได้ดี สม่ำเสมอ และทำหน้าที่เป็นธุรกิจต้นน้ำ ที่สามารถส่งแรงช่วยเหลือ ไปให้ธุรกิจอื่นๆ ทั้ง มีเดีย เฮลธ์แอนด์บิวตี้ โฮมเทเลชอปปิง ผ่านศิลปิน นักร้อง พร้อมต่อยอดงานโชว์บิซ คอนเสิร์ต

ธุรกิจเพลงที่ไม่สามารถคาดหวังการเติบโตได้ในยุคนี้ เพราะ บิซิเนส โมเดล เปลี่ยน จากรายได้สินค้าเพลง มาเป็นการบริหารลิขสิทธิ์และงานโชว์

เดือน พ.ย. อาร์เอสจะเปิดบิซิเนส โมเดล เพลงใหม่ ที่ สุรชัย บอกว่าการทำงานในยุคนี้ไม่มีอะไรซ้ำซ้อน เพียงแต่ต้องโฟกัสและเลือกศิลปิน ที่มีศักยภาพในการทำงานเพลง ที่เหลืออยู่ที่การวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมไลฟ์สไตล์ของคนฟังเพลงในยุคนี้