ปิดฉาก"ไอ-โมบาย"กลุ่มสามารถฯหั่นทิ้งธุรกิจ

ปิดฉาก"ไอ-โมบาย"กลุ่มสามารถฯหั่นทิ้งธุรกิจ

ประธานกลุ่มสามารถฯยอมรับธุรกิจขายมือถือแบรนด์ไอ-โมบายถึงทางตัน อ้างสู้ค่ายมือถือดัมพ์ราคาสมาร์ทโฟนลดค่าแอร์ไทม์ไม่ไหว ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจากสามารถไอ-โมบายเป็น “สามารถ ดิจิทัล”หันรุกธุรกิจดิจิทัลแทน ขอเปลี่ยนตัวเองสู่ตามแนวโน้มของโลก

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ธุรกิจสามารถไอ-โมบาย ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายขายโทรศัพท์มือถือในแบรนด์ “ไอโมบาย” และทำตลาดมากกว่า 20 ปีนั้น ต้องยอมรับว่าดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ได้แล้ว และหากยังไม่เปลี่ยนแปลง จะทำให้หลายบริษัทในเครือถูกผลกระทบและโดนภาวะถดถอยจากอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว ดังนั้น ผู้บริหารและกรรมการบริษัทจึงเห็นควรให้ปรับเปลี่ยนบริษัทและตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ “สามารถ ดิจิทัล” โดยบริษัทใหม่ดังกล่าว จะเน้นระบบไอทีและดิจิทัลที่ต้องใช้ดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องเป็นการเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐตามนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล

“ต่อไปเราจะขายไอ-โมบายแบบลดสเกลการขายคงลดเหลือเดือนละ 20,000 เครื่อง หรือปีละแสนกว่าเครื่อง ไม่เหมือนในอดีตที่ขายได้ปีละ 4-5 ล้านเครื่อง และธุรกิจเอ็มวีเอ็นโอเราก็คงไม่ทำตลาดแล้ว เพราะไม่สามารถดัมพ์ราคาสู้กับโอเปอเรเตอร์ที่ขายเครื่องเองและเอาลดราคาค่าโปรโมชั่น"

นายวัฒน์ชัย ระบุอีกว่า สามารถ ดิจิทัลจะแบ่งเป็น 5 สายธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ดิจิทัล เน็ตเวิร์ก ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลโดยล่าสุดได้เซ็นสัญญาโครงการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล (ดีทีอาร์เอส ดิจิทัล ทรังค์ เรดิโอ ซิสเต็มส์) สถานีฐานจำนวน 1,000 แห่ง มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ของบมจ.กสท โทรคมนาคม โดยสามารถ ดิจิทัล จะมีรายได้จากการขายเครื่องลูกข่ายรวมถึงการทำตลาดในลักษณะ ไพรเวท เน็ตเวิร์กและการให้บริการข้อมูลในรูปแบบดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ 

โดยตั้งเป้าจากการขายเครื่องที่ 1 แสน - 1.5 แสนตัว และรายได้ที่ 3,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 2-3 ปี จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นองค์กรภาครัฐที่เน้นการสื่อสารทางไกล เป็นกลุ่มใหญ่ และต้องการความปลอดภัยในการสื่อสาร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการความร่วมมือกับกสท.ในการติดตั้งเสาสัญญาณร่วมในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะเห็นความคืบหน้าในปลายปีนี้

2.ดิจิทัล คอนเทนต์ ภายใต้คอนเซ็ป “ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์” โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม อาทิ กินดื่มเที่ยว นอกจากจะให้ข้อมูลเรื่องกินดื่มเที่ยวแล้ว 3.ไอสปอรต์ ที่ดำเนินธุรกิจกีฬาครบวงจร สอดรับกับเทรนด์ยุคดิจิทัล และการเข้าสู่ยุคของกีฬาและสุขภาพ ซึ่งนอกจากได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสัญญาณไทยพรีเมียร์ลีก 600 กว่าแมทช์ในแต่ละปีแล้ว 4.ซีแอสเซ็ท ธุรกิจสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ให้บริการขายฝากสินทรัพย์ออนไล์ผ่านเว็บ และมีบริการจับคู่‹ทรัพย์สินกับผู้รับซื้อฝาก ผ่‹านระบบออนไลน์ แมชชิ่ง ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มให้บริการแล้ว

5.ไอโอที ดำเนินธุรกิจจำหน่ายมือถือและแกดแจ็ทที่ตอบโจทย์ดิจิทัลด้วยคุณสมบัติเด่นทางด้านความปลอดภัย , การดูแลสุขภาพและอื่นๆ ซึ่งกลุ่มสามารถมีความชำนาญจากบริษัทในเครือที่มีประสบการณ์ด้านนี้อย่างบริษัท วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ ซิสเต็ม จำกัด ที่พร้อมทำงานร่วมกัน

สำหรับเป้าหมายรายได้ของลุ่มสามารถฯในปีนี้ นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า เดิมกลุ่มสามารถฯได้ประกาศเป้าหมายรายได้ 20,000 ล้านบาท ในปี 2560 ในปีนี้ทำให้เห็นทิศทางของอุตสาหกรรมและธุรกิจขายมือถือของกลุ่มสามารถฯที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยกำลังหลักมาจากยอดขายจากสามารถ เทลเลคอม 9,000 ล้านบาท กลุ่มไอ-โมบายเดิมกำหนดไว้เพียง 4,500 ล้านบาทเท่านั้น และจากผลของสภาพธุรกิจที่ผ่านมาทำให้คาดว่าสามารถ ไอ-โมบายอาจจะเหลือรายได้เพียง 3,000 ล้านบาท ลดลงกว่า 30%