ย้ำ'SDGs'เทรนด์สหประชาชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

ย้ำ'SDGs'เทรนด์สหประชาชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

สกว.จัดนำเสนองานวิจัย SDGs พร้อมระดมความเห็น “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: สถานะและก้าวต่อไป” ตามเทรนด์สหประชาชาติพบความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของคนพิการ และบุตรของแรงงานนอกระบบ

การจัดเวทีสาธารณะ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: สถานะและก้าวต่อไป” ในโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ ห้องเดอะแกลลอรี่ ชั้น 4 โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560

ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ผลการสังเคราะห์งานวิจัยทั้ง12 โครงการ จากโครงการสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคมและกฎหมาย รวมถึงการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างได้นำเสนอความคิดเห็น เพื่อกำหนดทิศทางงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย

โดยมี ดร.สุวิทย์เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว., รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการสกว. แพทย์หญิงมานิตา พรรณวดี รองผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายกิตติวุฒิ ภิญโญวิทย์ นักการทูตชำนาญการ กรมองค์การระหว่างประเทศ นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ กรรมการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ชล บุนนาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ SDG Move. รวมถึงนักวิจัย และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทั้ง 12 เป้าหมายร่วมเวทีสาธารณะดังกล่าว

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อน SDGs ด้วยความรู้และกลไกประชารัฐ” กล่าวตอนหนึ่งว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ถือเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลปัจจุบันต่อการพัฒนาของประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 194 ประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการพัฒนาของโลกระหว่างปี 2016-2030 ในการนี้รัฐบาลไทยจึงดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นอกจากคณะกรรมการ กพย.แล้ว ยังมีอนุกรรมการย่อย 3 คณะที่ร่วมกันผลักดัน SDGs ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และ 3) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และ สกว.เป็นอนุกรรมการ กพย. ที่ตั้งขึ้นมาดำเนินการในส่วนของงานวิชาการ

ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี จึงแนะนำให้ สกว.หน่วยงานกลางในการประสานงานวิชาการ บูรณาการการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนเป้าหมายต่างๆโดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย ในลักษณะของโครงการวิจัย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และขาดการพัฒนาในมิติอื่นให้มีความสมดุลกัน

นอกจากนี้ การขับเคลื่อน SDGs สอดคล้องกับ โมเดลประเทศไทย 4.0 มุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุลทั้งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างสังคมที่อยู่ดีมีสุข และการเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์สู่การพัฒนาที่สมดุล หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ที่รัฐใช้นำทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (20 ปี) รวมทั้ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ควบคู่กับการขับเคลื่อน SDGsผ่านเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน 79,593 แห่ง

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวว่า สกว. เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี   มีความมุ่งมั่นในการสร้างและใช้พลังความรู้เพื่อการพัฒนาประเทศโดยสนับสนุนทุนวิจัยตั้งแต่ระดับชุมชน จังหวัด จนถึงระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยได้สนับสนุนการวิจัยในกรอบแนวคิดที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ สหัสวรรษแห่งการพัฒนาที่ยังยืน (Millennium Development Goals: MDGs) จนถึง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจนถึงปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)จึงได้สนับสนุนให้มีโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGMoveขึ้น เพื่อทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดการวิจัยและติดตามกระบวนการเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนSDGs ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนของการทำให้เกิดผลงานวิจัย สร้างการตระหนักรู้ของสาธารณะ  

ในส่วนนี้ สกว.จึงออกแบบกรอบการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ชุดโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายเพื่อสร้างค่านิยมจนเป็นวิถีชีวิตคนไทยที่จะคิดอย่างมีเหตุมีผล เกิดกลไกการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 5 มิติ ประกอบด้วยผู้คน (People)  โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน (Partnership) กลุ่มที่สอง คือ ชุดโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างนโยบาย กลไกขับเคลื่อนทั้งในระดับประเทศ และระดับพื้นที่ ส่วนกลุ่มที่สาม คือ ชุดโครงการมิติเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยหวังว่า ทุกโครงการจะเกิดแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่เกิดนโยบายสาธารณะ และมาตรการที่ส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศและ เกิดการตระหนักรู้ต่อสาธารณะในวงกว้างที่จะทำให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ เปลี่ยนพฤติกรรม  และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะที่อาจารย์ชล บุนนาค กล่าวว่า ชุดโครงการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทุนวิจัยในปีแรกจะเป็นทุนระยะสั้น เพื่อสำรวจสถานะเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 12 เป้าหมาย  บัดนี้ โครงการวิจัยทั้ง 12 เรื่องได้ดำเนินการจนเสร็จสมบูรณ์ และโครงการประสานงานฯ ได้ทำการสังเคราะห์งานวิจัยทั้ง 12 โครงการเสร็จสิ้น โดยใช้วิธีแปลงสถิติของตัวชี้วัดแต่ละเป้าประสงค์ที่ได้จากงานวิจัยที่พิจารณาจากข้อมูลในรายงานวิจัย สถิติจากแหล่งอื่น (SDG Index World Bank SDGs Data) ค่าเป้าหมายของรัฐบาล (ถ้ามี) แนวโน้มของค่าตัวชี้วัด หน่วยของตัวชี้วัด และความเหมาะสมอื่นๆ ก่อนนำมาคิดคะแนน ซึ่งใช้วิธี หาค่าเฉลี่ย (กรณีตัวชี้วัด และเป้าประสงค์มีหลายตัว) นำคะแนนเป้าประสงค์มาหาค่าเฉลี่ยของเป้าหมายนั้น ก่อนจะให้สีตามคะแนนเฉลี่ย ไล่จาก เขียวแก่ เขียว เหลือง ส้ม แดง ตามลำดับจากมากสุดมาน้อยสุด

โดยพบว่า บางกลุ่มมีคะแนนเป็นศูนย์ เช่นกลุ่มที่ 1 People พบสัดส่วนคนที่ได้รับความคุ้มครองขั้นพื้นฐานทางสังคม ปี 58 มีคนพิการ ได้รับสิทธิ์ประกันตนเพียงร้อยละ 2 จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน และมีเด็ก 4.1 ล้านคนที่เป็นบุตรของแรงงานนอกระบบที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง จากทั้งหมด 5.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76กลุ่มที่ 2 Prosperityพบสัดส่วนพื้นที่ในการทำการเกษตรแบบยั่งยืนเพียงร้อยละ 1.13 จากพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศ สำหรับข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปวิเคราะห์ เพื่อประกาศโจทย์วิจัยต่อไป