รถแห่ขึ้นทางด่วน1.8ล้านคัน/วัน เพิ่มขึ้น12.36%

รถแห่ขึ้นทางด่วน1.8ล้านคัน/วัน เพิ่มขึ้น12.36%

รถแห่ขึ้นทางด่วน 1,829,376 คันต่อวัน เพิ่มขึ้น 12.36% "ทางด่วนศรีรัช" ครองแชมป์ผู้ใช้บริการมากที่สุด ดันรายได้ทะลุ15,000 ล้านบาท

นายวิชาญ เอกรินทรากุล รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีทางด่วนที่การทางฯเปิดให้บริการทั้งหมด 8 สาย ตั้งแต่ ต.ค. 59 – ก.ค.60 พบปริมาณรถที่ใช้ทางพิเศษรวมทั้งสิ้น 1,829,376 คันต่อวันเพิ่มขึ้นถึง 12.36% เทียบในรอบ 3 ปีพบผู้ใช้ทางด่วน 1,617,702 คันต่อวัน ทำให้รายได้ในรอบปีงบประมาณ 60 นี้มีทั้งหมด 25,794 ล้านบาท  หรือเฉลี่ยวันละ 70.67 ล้านบาท  เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้เฉลี่ยวันละ 69.96 ล้านบาท เทียบในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีรายได้เฉลี่ยต่อวันราว 52.96 ล้านบาท

สำหรับทางด่วนที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด 6 อันดับแรกได้แก่ 1.ทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่2) 38.4กม. ปริมาณเฉลี่ยต่อวันที่ 703,373 คัน 2.ทางด่วนเฉลิมมหานคร(ทางด่วนขั้นที่ 1) 27.1กม. 372,120 คัน 3. ทางด่วนกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) 22.5 กม. 257,468 คัน 4.ทางด่วนฉลองรัช(ด่วนรามอินทรา-อาณรงค์) 28.2 กม. 219,677คัน 5.ทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-บางพลี-บางปะกง) 55.0 กม.146,821 คัน 6.ทางด่วนอุดรรัถยา (ด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด) 32.0 กม. ปริมาณเฉลี่ยต่อวันที่ 84,356 คัน   

ขณะที่ทางด่วน ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร 16.7 กม. ที่เปิดบริการในเดือน ส.ค. 59 นั้น ปีแรกอยู่ที่วันละ 45,561 คัน ขณะนี้มีผู้ใช้ประมาณ 60,000-70,000 คันต่อวัน คาดว่าหลังจากเปิดทางเชื่อมระหว่างทางด่วนขั้นที่ 2 และศรีรัช-วงแหวนฯคาดว่าจะเพิ่มปริมาณรถที่ใช้ทางประมาณ 100,000 คันต่อวัน

ด้านนายประสิทธิ์ เตชศิริรองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร กทพ. กล่าวว่าจากตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้ทางด่วนอย่างต่อเนื่องส่งผลให้รายได้ของทางด่วนที่กทพ.เป็นเจ้าของและรับรู้รายได้นั้นปีนี้โตขึ้น 10% มีรายได้ตลอดปีอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 9,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในอนาคตหากก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3  สายเหนือ(N)  ช่วงN2  เกษตรฯ-นวมินทร์   และโครงการทางด่วนพระราม3-ดาวคะนองแล้วเสร็จจะทำให้กทพ.มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท จนทำให้กำไรในแต่ละปีสูง 10,000 ล้านบาท