พันธมิตรต้องชดใช้ปิดสนามบิน 522 ล้าน!

พันธมิตรต้องชดใช้ปิดสนามบิน 522 ล้าน!

ศาลฎีกายกคำร้อง 13 แกนนำ พธม. ขยายฎีกาคดีแพ่งชดใช้ ทอท.ปิดสนามบิน 522 ล้านเศษ คดีจบตามอุทธรณ์รอบังคับคดีชดใช้เฉลี่ยรายละกว่า 40 ล้าน

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 21 ก.ย.60 เวลา 13.30 น. ศาลนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ในคดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ พล.ต.จำลอง , นายสนธิ , นายพิภพ ธงไชย , นายสุริยะใส กตะศิลา , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ , นายอมร อมรรัตนานนท์ , นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง , นายสำราญ รอดเพชร , นายศิริชัย ไม้งาม , นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำ พธม. ทั้ง 13 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ในคดีหมายเลขดำที่ 6453/2551 เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค.51 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จากกรณีกรณีระหว่างวันที่ 24 พ.ย. 3 ธ.ค.51 พวกจำเลย ร่วมกันนำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคน ไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ทำให้การให้บริการต่างๆ ภายในท่าอากาศยานทั้งสองต้องหยุดลง

โดยคดีนี้หลังจากมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อเดือน มิ.ย.58 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ 13 แกนนำ พธม.ร่วมกันชดใช้เงินกว่า 522 ล้านบาทแล้ว ต่อมา ทอท.โจทก์ ได้ขอให้ศาลออกหมายคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษานั้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาในระยะเวลา กระทั่งต่อมา 13 แกนนำ พธม.ได้ยื่นคำขออนุญาตขยายฎีกาโดยอ้างเหตุสุดวิสัยการปิดหมายแจ้งคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ต่อศาลแพ่ง ที่เป็นศาลชั้นต้นปรากฏว่าศาลยกคำร้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 พ.ค.59 เช่นเดียวกันเห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีร่วมกันปิดสนามบินโดยชอบแล้ว ในปี 2559 ทนายความผู้รับมอบอำนาจของ 13 แกนนำ พธม.จึงได้ยื่นฎีกาเกี่ยวกับคำขอขยายเวลาฎีกานี้ ต่อศาลฎีกาอีก

ขณะที่วันนี้ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แนวร่วม พธม. จำเลยที่ 6 , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำ พธม. จำเลยที่ 7 , และนายอมรหรืออมรเทพ อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี แนวร่วม พธม. จำเลยที่ 8 ก็มาฟังคำพิพากษาพร้อมกับกลุ่มคนสนิทอีกด้วยประมาณ 5-6 คน

กระทั่งเวลา 14.45 น. ศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นและศาลอุทธรณ์ พิจารณายกคำร้องขอจำเลยมานั้นชอบแล้วตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาจึงยกคำร้องของจำเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกายกคำร้องขอขยายเวลาฎีกาของจำเลยแล้ว ผลแห่งคดีแพ่งนี้จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ 13 แกนนำ พธม. ร่วมกันชดใช้เงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งตกคนละประมาณ 40,166,226 บาทเศษ
ส่วนคดีอาญาปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ที่อัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง, นายสนธิ และแกนนำ พธม. กับผู้ชุมนุม รวม 98 รายต่อศาลอาญานั้น คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ โดยรอสืบพยานอีกครั้งเดือน มี.ค.61

ภายหลัง นายไชยวัฒน์ แนวร่วม พธม. จำเลยที่ 6 กล่าวว่า วันที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีนั้น จำเลยทั้ง 13 คนรวมทั้งนายสุวัฒน์ อภัยภักดิ์ ทนายความจำเลยไม่ได้มาศาล เหตุผลเพราะว่าไม่ทราบหมายนัดให้มาฟังคำพิพากษาดังกล่าวซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 13 คนชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้นก็ต้องยื่นฎีกาภายในเวลา 1 เดือนหลังการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งหมดและทนายความไม่ทราบจึงไม่ได้ยื่นฎีกาภายในกำหนด 1 เดือนหรือไม่ทันยื่นขอขยายระยะเวลา ขณะที่เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 30 วันฝ่ายจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิ์ยื่นฎีกา ทอท.โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งคดีถึงที่สุด ศาลก็มีคำสั่งบังคับคดีหรืออายัดทรัพย์จำเลยทั้ง 13 คนซึ่งเราเพิ่งมาทราบคำสั่งศาลหลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ดังนั้นเราจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ใหม่โดยเรามีเหตุผลข้อต่อสู้หลัก คือ กระบวนการส่งหมายของศาลไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้จำเลยไม่ได้รับทราบวันนัดฟังคำพิพากษา และเรามีเจตนารมณ์ที่จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดจึงขอความเมตตาต่อศาล แต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาในวันนี้ยกคำร้องเช่นกัน ขั้นตอนจึงต้องกลับไปสู่การบังคับคดี

ด้านนายสมเกียรติ์ แกนนำ พธม. จำเลยที่ 7 กล่าวว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดอยู่แล้ว เราทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ไม่ต้องการผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่แล้ว และไม่ใช่ว่ากลัวการล้มละลาย ส่วนคดีการชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ที่เป็นคดีอาญานั้นขั้นตอนยังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย ซึ่งศาลนัดสืบพยานอีกครั้งในเดือน มี.ค.61

"อยากจะเรียนว่าคดีนี้ พวกเราเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ผมยินดีรับคำพิพากษาทุกประการแล้วไม่หนีศาล ศาลจะทำอย่างไรหรือบังคับคดี ก็ยินดี เพียงอยากจะบอกพี่น้องประชาชนว่า เราได้ต่อสู้อย่างเต็มที่แล้ว เสียดายนิดเดียว เราเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เราไม่ได้ต่อสู้คดีในชั้นของศาลฎีกา" นายสมเกียรติ ระบุ

ขณะที่ น.ส.อัจฉรา แสงขาว ทีมทนายความของนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ในส่วนของการบังคับคดีเพื่อนำทรัพย์สินของจำเลยมาชดใช้ให้โจทก์นั้น ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ กับจำเลยแต่ละคน ซึ่งตามกฎหมายจะมีระยะเวลา 10 ปี จากนี้ต้องกระบวนการการบังคับคดี ส่วนแกนนำ พธม. ยังไม่ได้มีการพูดถึงกันเรื่องนี้