วัคซีนวัณโรค-ชุดตรวจเมลิออยด์’ ทุนนิวตันเพื่อคนไทย

วัคซีนวัณโรค-ชุดตรวจเมลิออยด์’ ทุนนิวตันเพื่อคนไทย

วัคซีนวัณโรคดื้อยาและชุดตรวจวินิจฉัยโรคเมลิออยด์ เป็น 2 ใน 7 โครงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ได้รับการสนับสนุนโครงการละ 5 ล้านบาทจากกองทุนนิวตันร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

ที่นำผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรมาร่วมวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐและภาคอุตสาหกรรม

กองทุนนิวตัน โดย Institutional Links ซึ่งเป็นโครงการทุนวิจัยขนาดใหญ่ กำลังเปิดรับสมัครโครงการวิจัยในไทยเพื่อเข้ารับการสนับสนุน ประจำปี 2560/61 รวมมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขต้องแสดงแผนการส่งเสริมความร่วมมือ และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรเพื่อความยั่งยืน หมดเขตการรับสมัคร 19 ก.ย.นี้ (www.britishcouncil.or.th)

โรคติดเชื้อในเขตร้อน

โครงการวิจัยการป้องกันวัณโรคและโรคเมลิออยด์ ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ การศึกษากลไกที่โรคเบาหวานส่งผลต่อการติดเชื้อเหล่านี้ ที่ กาญจนา เลิศมีมงคลชัย และคณะ จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองเห็นปัญหาของผู้ป่วยเบาหวานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในขณะเดียวกัน ก็พบว่า ยาที่ใช้ลดน้ำตาลในเลือกยังมีผลลดประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย จึงศึกษาเพื่อให้ได้กลยุทธ์ใหม่สำหรับปรับปรุงด้านภูมิคุ้มกัน

สำหรับวัณโรค ธนาภัทร ปาลกะ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ปัจจุบัน ถูกพบว่า ดื้อยา ส่วนวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) ที่ใช้กันอยู่นั้น มีประสิทธิภาพดีมากสำหรับเด็ก แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ใหญ่ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวัคซีนใหม่เพื่อให้ประสิทธิภาพดีขึ้น

“เราใช้เทคโนโลยีนาโนเข้ามาเสริมกระบวนการนำส่งวัคซีน ในขณะเดียวกันก็ใช้องค์ประกอบของเชื้อวัณโรคไปหลอกภูมิคุ้มกันให้รู้สึกว่าติดเชื้อ ทำให้จดจำและเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อเชื้อวัณโรคได้ดีกว่าวัคซีนเดิม” ธนาภัทร กล่าวและว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลทดสอบในสัตว์ทดลอง หากได้ผลที่น่าพอใจก็จะได้วัคซีนต้นแบบเพื่อทำการทดสอบทางคลินิกต่อไป

ด้านโรคติดเชื้อเมลิออยด์ นริศรา จันทราทิตย์ ภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีผู้ป่วยราว 3 พันคนต่อปี ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1 พันคนต่อปี ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ขณะที่การตรวจวินิจฉัยโรคนี้ใช้วิธีการเพาะเชื้อที่ทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น ในเวลา 3-10 วัน และหากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อนก็จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น ทำให้การตรวจวินิจฉัยทำได้ยาก จึงนำไปสู่การพัฒนาเป็นชุดทดสอบแบบรวดเร็วที่ใช้เพียงหยดเลือดก็สามารถวินิจฉัยได้ว่า เป็นโรคเมลิออยด์หรือไม่ ภายในเวลา 15 นาที ด้วยความไว และความแม่นยำสูงถึง 90% ขณะที่วิธีเพาะเชื้อมีความไวที่ 60%

“ทีมวิจัยได้จดสิทธิบัตรแล้ว แม้ว่าต้นทุนชุดตรวจนี้จะสูงกว่าการตรวจด้วยวิธีเพาะเชื้อ แต่เราอยู่ระหว่างพัฒนาการขยายสเกลการผลิตชุดตรวจนี้ให้อยู่ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งก็เริ่มมีบริษัทเอกชนให้ความสนใจที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อทำตลาดในประเทศ” นักวิจัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจนี้มีโอกาสที่จะทำตลาดระดับโลกได้ เพราะโรคนี้พบทั้งในอินเดีย จีน และประเทศในเขตร้อนซึ่งรวมถึงอเมริกาใต้

ไทย-อังกฤษเพื่อโลกที่ดีขึ้น

วัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัยนี้ มุ่งลดจำนวนผู้ป่วยแลอัตราการตายจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะนำมาสู่งการลดภาระทางเศรษฐกิจในการรักษาผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ทุนนี้ก็ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานวิจัยให้สมบูรณ์ เช่น ต้นแบบวัคซีนวัณโรคที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการและเครื่องมือต่างๆ ที่มีค่าใช้จ่ายสูง

กาญจนา กล่าวว่า ความร่วมมือกับนักวิจัยในอังกฤษคือ นำสิ่งที่คิดจากในห้องปฏิบัติการของไทยไปทดสอบที่ศูนย์วัณโรคของอังกฤษ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระดับโลก สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่รวมถึงทำให้นักวิจัยได้มองภาพที่กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ภาพในประเทศ แต่เป็นระดับโลก ทั้งในแง่ของการวิจัยพัฒนาและการทำตลาด

นอกเหนือจากงานวิจัยนี้ ยังมีอีก 5 โครงการที่ล้วนแต่มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น “ต่อสู้กับมะเร็งด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา” โดย เพทาย เย็นจิตโสมนัส มหาวิทยาลัยมหิดล, “การผลิตไบโอดีเซลอย่างคุ้มค่าและประหยัดพลังงานจาก น้ำมันพืชในประเทศไทย” โดย มาลี สันติคุณาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

“บทบาทของภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดในการก่อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในชนบทของประเทศไทย”โ ดย บรรจบ ศรีภา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, “การกลายพันธุ์ของโรคพันธุกรรมหายากในเด็ก” โดย วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ “ยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยการเพิ่มมูลค่าข้าวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ”โดย ปาริฉัตร หงสประภาส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานจากทุนในปีแรก โดยปีที่ 2 มี 2 โครงการวิจัย