ดันพ.ร.บ.อีคอมเมิร์ซเข้าสนช.คาดบังคับใช้ครึ่งปีแรก 2561
หลังจาก ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....ได้ผ่านการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นประชาชนมาเรียบร้อยแล้ว
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. กล่าวว่า ภายใน 1 สัปดาห์จากนี้จะรวบรวมความคิดเห็นให้กับรัฐมนตรีเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ภายในหนึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนครึ่งจากนี้ คาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 6 เดือนหลังเข้าสนช.
ทั้งนี้ เหตุผลความจำเป็นของการปรับแก้กฎหมายดังกล่าวเนื่องจากยังมีจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายและจำเป็นต้องปรับกลไกการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับสภาพตลาด การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีความเป็นสากล
ปรับกม.รับดิจิทัลไทยแลนด์
โดยสาระสำคัญ เช่น ปรับปรุงหลักเกณฑ์บางส่วนของการลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับการทำสัญญาผ่านระบบอัตโนมัติ ตามข้อกำหนดของสหประชาชาติเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ ปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับธุรกิจ สร้างความชัดเจนในกระบวนการ ปรับปรุงองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์รับนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ และจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการและขับเคลื่อนงานที่เป็นซอฟต์อินฟราสตรักเจอร์ทั้งเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ การดูแลที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ซิเคียวริตี้
รวมไปถึง ประเด็นการกำกับดูแลและตรวจสอบธุรกิจการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรับบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้มีการประกันสิทธิประชาชนในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มากขึ้นตามข้อกังวลของภาคส่วนต่างๆ
นอกจากนี้ กำหนดบทบาทการทำงานของหน่วยงาน แนวทางการดำเนินงานของศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนมากขึ้น พร้อมปรับองค์ประกอบคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสร้างความคล่องตัวในการทำงาน ลดปัญกาช่วงรอยต่อการเปลี่ยนรัฐบาล ทั้งมีการปรับอำนาจหน้าที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้รับกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ปี60อีคอมเมิร์ซโต20%
อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคชาวไทยล่าสุด อีคอมเมิร์ซขึ้นมาติดอันดับท็อป 5 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากเดิมที่นิยมคืออ่านข่าว ติดต่อสื่อสาร บันเทิง เกม และออนไลน์เลิร์นนิ่ง
ดังนั้น คาดว่าจากปกติที่ตลาดรวมเติบโตปีละประมาณ 10% ปี 2560 นี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้แบบก้าวกระโดดที่มากกว่า 10% หรืออาจจะไปถึง 20% การมีกฎหมายดังกล่าวยิ่งเพิ่มความแข็งแรง
หวัง‘ภาษี-กำกับดูแล’ชัดเจน
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ กล่าวว่า ปัญหาของอีคอมเมิร์ซไทยหลักๆ เกิดจากภาครัฐไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเอกชนไม่ได้คาดหวังกับภาครัฐมากนัก พยายามเดินไปด้วยตนเอง ปรับตัวตาม แต่หวังว่ารัฐจะทำงานอย่างรอบด้านไม่ออกกฎเกณฑ์ที่รบกวนการทำธุรกิจ เช่น ภาษีอีคอมเมิร์ซที่ต้องชัดเจน ว่าจะเก็บเงินที่ใครผู้ให้บริการต่างชาติ หรือผู้ประกอบการ มิเช่นนั้นภาระย่อมตกไปอยู่กับผู้ประกอบการไทย และอาจทำให้การควบคุมดูแลต้องยากมากขึ้นไปอีก ด้านเอกชนยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่อยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี การผลักดันจำเป็นต้องมองเป็นการพัฒนาอีบิสสิเนส โดยให้ความสำคัญกับทั้งอีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนท์ อีโลจิสติกส์ และอีอินฟอร์เมชั่น มิเช่นนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะสะดุดหรือเกิดอุปสรรค
อีกหนึ่งอุปสรรคที่มีมาโดยตลอดคือ โครงสร้างและกฎระเบียบของราชการไม่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกัน ดังนั้นควรมีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่กำกับดูแล ควบคุม พร้อมสนับสนุน ที่ผ่านมาแนวคิดภาครัฐ 80% เน้นเรื่องกำกับดูแล สนับสนุนแค่ 20% ทั้งๆ ที่เหมาะสมควรกลับกัน
“อีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจของอนาคต ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเข้าไปตีกรอบเรื่องกฎระเบียบ และส่งผลให้การขับเคลื่อนทำได้แบบไม่มีอิสระ ทางที่ดีควรใช้วิจารณญาณ ควบคุมแบบหลวมๆ เรื่องนี้รัฐบาลจำเป็นต้องหาคนดี เก่ง และซื่อสัตย์มาดูแล”
โครงสร้างเอื้อคนรุ่นใหม่ทำงาน
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กูรูด้านอีคอมเมิร์ซ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม กล่าวว่า การขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน สำคัญมีความร่วมมือทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน หวังว่าต่อไปจะได้เห็นการออกแบบโครงสร้างที่เอื้อให้เอกชน คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานใกล้ชิดมากขึ้น
พร้อมกันนี้ เตรียมความพร้อมรับมืออนาคตในอีกไม่เกิน 5-10 ปี ที่ทุนต่างชาติเช่นจีน สหรัฐ จะเข้ามากินรวบตลาดทำให้ผู้เล่นสัญชาติไทยอยู่ยากและเหลือเพียงรายใหญ่ไม่กี่ราย