ประมูลหุ้น ‘ไอเฟค’ ล่มรอบ 2

ประมูลหุ้น ‘ไอเฟค’ ล่มรอบ 2

ประมูลหุ้นไอเฟค "ล่มรอบ2" โบรกระบุไร้แผนเปิดขายใหม่

บรรยากาศการเปิดประมูลขายทอดตลาดหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) รอบที่ วานนี้ (10 ส.ค.) แม้ว่าจะดูคึกคักกว่าการจัดประมูลรอบแรก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์เพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงไร้เงาผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูล ทำให้การจัดประมูลรอบนี้ต้องยุติลงอีกครั้งในช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. หลังจากที่ผู้จัดงานได้มีการเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาลงทะเบียนเพื่อสู้ราคาตั้งแต่เวลา 10.00 น.

สำหรับหุ้นที่นำมาเปิดประมูลขายทอดตลาดในครั้งนี้ยังเป็นหุ้นที่นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการบริษัท นำไปจดจำนำและใช้เป็นหลักประกันตามสัญญากู้ยืมเงินกับทางบริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่ง จำนวนทั้งหมด 57.88 ล้านหุ้น แบ่งเป็นของบล.เคทีบี (ประเทศไทย) 3,9 ล้านหุ้น ราคาขายขั้นต้น 2.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 9.75 ล้านบาท, บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำนวน 22.775 ล้านหุ้น ราคาขายขั้นต้น 2.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 56.937 ล้านบาท และ บล.ทรีนีตี้ จำนวน 30.786 ล้านหุ้น ราคาขายขั้นต้น 2.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 76.96 ล้านบาท

การเปิดประมูลรอบนี้ ได้ลดราคาเริ่มต้นลงมาอยู่ที่ 2.50 บาทต่อหุ้น จากการเปิดประมูลครั้งแรกที่ราคา 3.10 บาทต่อหุ้น และให้ผู้ประมูลสามารถเคาะราคาเพิ่มขึ้นได้ครั้งละ 0.02 บาท การประมูลจะแยกขายเป็นรายบริษัท และหุ้นของแต่ละบริษัทจะขายร่วมกัน 1 ครั้ง หรือ บิ๊กล็อต ไม่มีการแยกขาย

สำหรับผู้ที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ยังคงมีตัวแทนฝ่ายกฎหมายของนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการบริษัท, ตัวแทนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย และตัวแทนจากบริษัทโบรกเกอร์ โดยทางทนายความและทีมกฎหมายของนายวิชัย ให้สัมภาษณ์ว่า “มายื่นขอคัดค้านการประมูลขายทอดตลาดรอบที่ 2 เนื่องจากมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัจจุบันหุ้นของ IFEC ยังคงถูกขึ้นเครื่องหมาย SP อยู่ควรต้องรอให้ศาลพิจารณาไต่ส่วนก่อนในวันที่ 31 ต.ค.นี้” 

ก่อนหน้านี้ทางทีมกฎหมายได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอเพิกถอนสัญญาเงินกู้เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์และการบังคับจำนำและหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลฯ ได้รับฟ้องไว้และจะมีการนัดไต่สวนในวันที่ 31 ต.ค.2560 พร้อมกันนี้ได้ขอให้ศาลฯ ระงับการนำหุ้น IFEC ออกมาขายทอดตลาด

ในมุมของโบรกเกอร์ที่เป็นเจ้าหนี้ต่างยืนยันมาโดยตลอดว่าการนำหุ้น IFEC ออกมาประมูลขายทอดตลาดนั้นเป็นสิทธิของโบรกเกอร์ทั้ง 3 ราย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท และขั้นตอนการเปิดประมูลก็ถูกต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนการที่นายวิชัยได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลฯเพื่อขอคัดค้านการเปิดประมูลนั้นก็สามารถที่จะกระทำได้เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลฯได้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินของกลุ่มหมอวิชัยเพื่อขอให้ระงับการขายทอดตลาดแล้ว เนื่องจากศาลเห็นว่าเมื่อหุ้นของโจทย์ไม่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพราะอยู่ระหว่างมีคำสั่งห้ามการซื้อขายชั่วคราวจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงยังไม่มีมูลและไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ จึงให้ยกคำร้องของโจทก์ ทำให้โบรกเกอร์ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้สามารถเดินหน้าจัดการเปิดประมูลขายหุ้นทอดตลาดได้

ส่วนเมื่อวานนี้ ภายหลังจากมีการประกาศยกเลิกการเปิดประมูลขายทอดตลาดหุ้น IFEC รอบที่ 2 แล้ว ทางโบรกเกอร์ทั้ง 3 บริษัทก็ต้องกลับไปหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป จะยกเลิกการประมูลไปเลย หรือจะเดินหน้าจัดการประมูลรอบที่ 3 ซึ่งทางประธานเจ้าหน้าที่บริหารบล.ทรีนิตี้ ระบุว่าเบื้องต้นคงจะยังไม่มีการนำหุ้น IFEC ของนายวิชัยออกมาประมูลขายทอดตลาดเป็นครั้งที่ หลังจาก 2 ครั้งที่ผ่านมายังไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล แม้ว่าจะมีการปรับลดราคาลงมาแล้วก็ตาม โดยที่ผ่านมาก็ได้เจรจากับโบรกเกอร์อีก 2 แห่งแล้วว่าหากไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลในครั้งนี้คงจำเป็นต้องเก็บหุ้น IFEC ไว้ก่อนเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม และจะยังไม่นำหุ้นออกมาขายในระยะเวลาอันใกล้ แต่ในอนาคตยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

หากวิเคราะห์กันแล้ว การที่โบรกเกอร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ IFEC ยังไม่มีแผนที่จะนำหุ้นออกมาประมูลขายทอดตลาดรอบใหม่ ก็แสดงว่าราคาหุ้นที่นำออกมาเสนอขายล่าสุดที่ 2.50 บาทต่อหุ้น นั้นอาจจะเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับต้นทุนของโบรกเกอร์ก็เป็นไปได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าต้นทุนของโบรกเกอร์ที่ได้รับจำนำและนำหุ้นมาใช้เป็นหลักประกันตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นอยู่ที่ราคาเท่าไหร่กันแน่

ในมุมของนักลงทุนรายย่อย หลายคนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายลงสักที หลังจากที่ปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อมานานจนทำให้ไม่สามารถซื้อขายหุ้น IFEC มาได้เกือบ 8 เดือนแล้ว ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ยังคงต้องตามกันต่อว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร การเปิดประมูลรอบใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าเปิดประมูลจะกำหนดราคาเริ่มต้นที่เท่าไหร่ ใครจะเข้ามาเป็นผู้ประมูล และถ้าหากไม่มีการเปิดประมูลในฝั่งของเจ้าหนี้จะดำเนินการต่อไปอย่างไรซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างเฝ้ารอความชัดเจน