รอยเวลา...มัณฑะเลย์

รอยเวลา...มัณฑะเลย์

เวลาสั้นๆ ในมัณฑะเลย์ ที่จะพาย้อนอดีตไปตามหาเรื่องราวของชาวโยเดียเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว

ถนนสายนั้นร่มรื่นด้วยอุโมงค์ต้นไม้ ทว่า สะดุดตาด้วยรถม้าที่วิ่งผ่านไปมา สองข้างทางเป็นทุ่งนากว้าง ...ฉันหยุดยืนอยู่หน้าพระเจดีย์อิฐเปลือยสามองค์ มุมด้านหนึ่งมีหญิงวัยกลางคนในชุดกระโจมอกกำลังโยกคันโยกน้ำอาบอย่างสบายใจ

“นี่เราย้อนเวลามาถึงยุคไหนกันเนี่ย” 

จากความจำระยะสั้น เมื่อหลายชั่วโมงก่อนคนไทยกว่าสิบชีวิตออกเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่มัณฑะเลย์ เพื่อตามรอยสารคดี ‘โยเดียที่คิด(ไม่)ถึง’ ซึ่งออกอากาศทางไทยพีบีเอส  เช่นนั้น...ที่นี่จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากอดีตราชธานีของพม่าหรือเมียนมาในปัจจุบัน ที่เราคุ้นกันในชื่อ ‘อังวะ’ (Inn Wa) และต่อจากนี้คือเรื่องราวของชาวอโยธยา หรือที่คนพม่าเรียกว่า ‘โยเดีย’ ผู้เคยฝากชีวิตไว้บนแผ่นดินนี้เมื่อ 250 ปีก่อน

รอยอดีต ‘โยเดีย’

บนความบาดหมางและอคติที่สะสมมายาวนาน ‘โยเดีย’ กลายเป็นคำที่ถูกมองในแง่ลบ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอย่างพม่า แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปในสายสัมพันธ์นับร้อยปี เราจะเห็นข้อเท็จจริงในมุมต่าง 

ศรัณย์ บุญประเสริฐ นักเขียนสารคดีที่สนใจเรื่องราวของชาวโยเดียในพม่า เริ่มต้นที่คำว่า “โยเดีย” ซึ่งน่าจะเพี้ยนเสียงมาจาก “อโยธยา”

“คนไทยส่วนหนึ่งมองคำว่าโยเดีย เป็นชาวอยุธยาที่ถูกต้อนมาเป็นเชลยหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 เราก็เลยคิดถึงชะตากรรมของบรรพบุรุษ ตกระกำลำบากเดินทางจากอยุธยามาอยู่ที่นี่ แล้วจะอยู่อย่างไร ชีวิตทุกข์ยาก ผมเคยเห็นมีคนไปเขียนด้วยซ้ำไปว่า มาเยี่ยมวัดที่มีฝีมือช่างโยเดียแล้วรู้สึกเศร้าใจในชะตากรรมของบรรพบุรุษ”

แต่สำหรับการเดินทางครั้งนี้ สิ่งที่ทุกคนจะสัมผัสได้บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ตัดอารมณ์ส่วนตัวออกไป ก็คือ ความเป็นอยู่ของคนโยเดียไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

"โลกสมัยก่อนกับโลกสมัยนี้มันคนละบริบทกัน สมัยก่อนการทำสงครามไม่ได้เป็นการทำเพื่อที่จะไปฆ่าไปโกรธไปแค้น แต่ว่าสงครามทำให้เกิดการถ่ายเททรัพยากร วัฒนธรรม อารยธรรมมันไหลเวียนไปตามเรื่องของการศึก เวลาเขาไปรบทัพจับศึก ผู้ชนะก็จะกวาดเอาคนไป ไม่ได้เอาไปฆ่าไปแกง เขาเอาไปสร้างบ้านแปงเมือง เพราะฉะนั้นสมัยก่อนสงครามนอกจากจะเป็นการประกาศเดชานุภาพของกษัตริย์แล้ว ยังเป็นการระดมทรัพยากรเข้ามาสู่เมืองแม่ 

ดังนั้นคนอยุธยาหรือคนโยเดียที่ถูกต้อนเข้ามาหลังจากปี 2310 เขาไม่ได้มาแล้วถูกกักกัน แต่เขามาแล้วจะมีการให้ที่อยู่อาศัย สมมติคุณเป็นช่างไม้ราชสำนักจะเอาไปใช้ เขาจะตั้งหมู่บ้านให้เลย ถ้าเป็นช่างทองก็อาจอยู่ในราชสำนัก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าร่องรอยที่ชาวโยเดียสมัยก่อนซึ่งถูกอพยพมาอยู่ที่นี่ ณ ปัจจุบันยังเห็นเค้าลางอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในลายเพลง ท่ารำ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือลายแกะไม้” ศรันย์ ว่าไว้ และถ้าเข้าใจตรงกันแล้ว ก็ตามไปดูมรดกของชาวโยเดียในมัณฑะเลย์กันเลย

สลักไว้ในลวดลาย

ย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2310 เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ชาวโยเดียจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์ให้เดินทางมายังพม่า โดยเริ่มลงหลักปักฐานแห่งแรกที่กรุงอังวะ ก่อนขยับขยายไปยังเมืองใกล้เคียง เช่น อมรปุระ มัณฑะเลย์ และสะกาย

เราเดินทางมาถึง เจดีย์ยาดานา (Yadana Hsemee Pagoda) ในช่วงบ่าย อากาศไม่ร้อนอบอ้าวอย่างที่คิด อาจเพราะร่มเงาไม้ใหญ่ และวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ของคนที่นี่ เบื้องหน้าคือศาสนสถานที่ถูกมองว่ามีความละม้ายคล้ายกับวัดในอยุธยา ทั้งโครงสร้าง รูปทรง และลวดลายแกะสลัก

“นักวิชาการไทยมาดู ก็บอกไม่ใช่ศิลปะไทย นักวิชาการพม่าก็บอก ไม่ใช่พม่า” อ.มิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการอิสระชาวเมียนมา บอก พร้อมอธิบายต่อว่า ช่างที่มาสร้างวัดแห่งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับชาวโยเดีย แต่คงไม่ใช่คนรุ่นแรกๆ ที่อพยพมาจากอยุธยา เพราะศิลปะมีลักษณะผสมผสานกับความนิยมของคนในท้องถิ่น

แต่ที่ชี้กันให้ดูชัดๆ คือลวดลายบนผนังวิหารด้านนอกที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายลายพรรณพฤกษาหรือลายเครือเถาที่คนไทยคุ้นเคย ...ฉันก้มๆ เงยๆ ดูอยู่สักครู่หนึ่ง ก่อนจะตกใจเบาๆ เมื่อมีมือเล็กๆ ยื่นมาใกล้ๆ  หนุ่มน้อยผิวคล้ำแดดพยายามเสนอขายของที่ระลึกในมือ เมื่อรู้ว่าไม่ได้ผลเป้าหมายจึงเปลี่ยนไปที่คนข้างๆ

วัดแห่งนี้มีเจดีย์ขนาดย่อมๆ เรียงกัน 3 องค์ แทรกด้วยต้นปาล์มสูงเด่น ด้านข้างเป็นวิหารที่เหลือแต่ผนัง เสาปูน และพระประธาน แม้จะเป็นวัดเล็กๆ แต่ก็เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งจากจุดนี้สามารถนั่งรถม้าไปชมสถานที่อื่นๆ ได้อีกด้วย

เราได้แต่เก็บภาพรถม้า ก่อนจะนั่งรถบัสคันเดิมเดินทางต่อไปยัง วัดบากะยา (Bagaya Monastery) ที่ซึ่งร่องรอยศิลปะโยเดียปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด

วัดแห่งนี้สร้างในสมัยพระเจ้าพะคยีดอ หรือที่คนไทยเรียกว่า พระเจ้าจักกายแมง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2386 ตัวอาคารสร้างจากไม้สักทั้งหลัง มองจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็น หลังคา หน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รวมถึงซุ้มประตูหน้าต่างล้วนเป็นศิลปะแบบพม่า ทว่าเมื่อเปิดประตูเข้าไปด้านใน กลับพบประติมากรรมไม้รูป ‘ครุฑยุดนาค’ ซึ่งเชื่อกันว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับฝีมือช่างจากโยเดีย

“ครุฑยุดนาค ค่อนข้างชัดว่าเป็นคตินิยมของอยุธยา ที่เปรียบกษัตริย์เหมือนพระวิษณุแล้วมีครุฑเป็นพาหนะ ซึ่งอ.มิคกี้ ฮาร์ท วิเคราะห์ให้เห็นว่า ถึงจะเป็นครุฑก็จริงแต่ลวดลายเครื่องแต่งองค์ของครุฑที่นี่ไม่ใช่พม่าร้อยเปอร์เซนต์ เป็นอยุธยาค่อนข้างเยอะ ก็เลยสันนิษฐานกันว่า หนึ่ง อาจจะเป็นช่างอยุธยารุ่น 3 หมายความว่าเกิดที่นี่ไม่เคยรู้ว่าอยุธยาหน้าตาเป็นอย่างไรแต่รับรู้จากปู่หรือพ่อว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สืบทอดลายแกะจากรุ่นพ่อรุ่นปู่มาอีกที แน่นอนมันจะมีลายพื้นบ้านลายพื้นเมืองเข้ามาผสมผสานด้วย” ศรันย์ ให้ข้อมูล

เส้นสีมีเรื่องราว

ภาพจากอดีตมักเลือนรางเสมอ และบางครั้งการพิสูจน์ความจริงก็อาจจำเป็นน้อยกว่าการเรียนรู้จากร่องรอยเหล่านั้น

เราตามรอยโยเดียไปจนถึง สะพานอูเบ็ง สะพานไม้สักยาวกว่า 1 กิโลเมตรที่ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน จุดถ่ายภาพที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักไม่พลาด แต่ครั้งนี้เป้าหมายไม่ใช่เพื่อไปเดินสวยๆ รอชมแสงสุดท้าย เพราะปลายทางคือการไปชมภาพเขียนสีที่ เจดีย์จั๊กตาวจี (Kyauktawgyi Temple) ซึ่งอยู่อีกฟากของทะเลสาบ

ผ่านเข้าไปด้านใน เราได้รับคำแนะนำให้แหงนคอตั้งบ่าเพื่อชมจิตรกรรมบนเพดานและฝาผนัง ซึ่งเข้าใจว่าเขียนโดยช่างที่ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากอโยธยา ในภาพดูเหมือนจะบันทึกเรื่องราวชีวิตประจำวันของผู้คนในสมัยนั้น  ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม วิถีชีวิต งานประเพณี แต่ที่ต้องโฟกัสกันชัดๆ คือภาพเด็กกำลังเล่นอะไรบางอย่างคล้ายๆ ขี่ม้าส่งเมือง บางคนมีผิวคล้ำไว้จุกแบบพม่า ส่วนพวกผิวขาวจะไว้จุกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นความต่างของเด็กโยเดียกับเด็กพม่า นอกจากนี้ยังมีภาพขบวนแห่ซึ่งสาวๆ จะนุ่งซิ่นแตกต่างกัน ส่วนใหญ่นุ่งซิ่นกรอมเท้าแบบพม่า แต่บางคนจะนุ่งซิ่นสั้นขึ้นมาเชื่อว่าน่าจะเป็นชาวโยเดีย

“แล้วก็มีภาพดาว ภาพเทพนม มีแบบพม่าและแบบไทยผสมผสานกัน และมีตะวันตกเข้ามาด้วย โดยเฉพาะอิตาลีกับฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นจะเห็นเทพที่ชุมนุมอยู่ มีทั้งแบบตะวันออก และแบบตะวันตก”

เรียกว่าเป็นการผสมผสานกันของศิลปะที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น แต่ถ้าใครมีโอกาสไปเยือนวัดแห่งนี้แล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ การสักการะพระพุทธรูปหินอ่อนขนาดใหญ่  ซึ่งสร้างขึ้นจากหินอ่อนชิ้นเดียว เพื่อความเป็นสิริมงคล

แต่ถ้ายังไม่อิ่มกับงานจิตรกรรมโยเดียสไตล์ ยังมีวัดเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งในเมืองสะกาย ชื่อว่า มหาเตงดอจี ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังช่างฝีมือจากอยุธยา

“ที่น่าสนใจคือ เราไม่รู้อายุ ไม่รู้ประวัติด้วยว่าใครสร้าง แต่ตรงนี้เป็นหมู่บ้านของคนต่างชาติ หรือสหชาติที่มาอยู่ มีทั้งคนลาว คนยวน คนมอญ โดยจิตรกรรมที่นี่พ้องในรูปแบบการเขียนกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้ว จ.เพชรบุรี” พูดพลาง ศรันย์ก็ชี้ให้ดูภาพพระพุทธรูปที่วาดไว้บนผนังด้านหนึ่ง

กล่าวกันว่าเทคนิคที่แสดงถึงศิลปะแบบอยุธยาอย่างชัดเจนคือ การใช้เส้นแบ่งเรื่อง หรือ ‘สินเทา’ และซุ้มเรือนแก้วตัวปราสาทที่มีคันทวยรองรับ รวมถึงพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิวางพระหัตถ์ไว้บนเข่า และส่วนยอดที่เรียกว่า ‘ปลี’ ซึ่งมีในศิลปะไทย สำคัญที่สุดคือ การทำลายที่มีตัวกลางลาย 3 ส่วน องค์ประกอบลายโค้งเข้าหากัน พบมากในสมัยอยุธยาตอนปลายทั้งปูนปั้นและจิตรกรรม

ความเหมือนที่ยังมีรายละเอียดอีกมากในสายตานักประวัติศาสตร์ศิลป์ ทำให้ฉันจินตนาการถึงภาพช่างเขียนชาวโยเดียบรรจงลงเส้นสีด้วยศรัทธาและความระลึกถึงบ้านเมืองที่จากมา

สำเนียงเสียงโยเดีย

เรือแล่นผ่านความเวิ้งว้างของสายน้ำที่เอ่อท้นมาจากแม่น้ำอิรวดี ก่อนจะจอดเทียบที่บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านซุกา (Suga Village) หรือออกเสียงแบบไทยๆ ว่า ‘บ้านสุขะ ‘

ชาวบ้านหลายคนกำลังสาละวนกับการทำขนมหน้าตาคุ้นๆ รสชาติคุ้นเคยอย่างขนมต้ม และอีกสองสามอย่าง พวกเขาคือคนเชื้อสายโยเดียที่อยู่ที่นี่มาร่วม 250 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์เสียกรุงฯครั้งที่ 2

อู จี โก นักวิชาการอิสระชาวเมียนมา ที่ค้นคว้าเรื่องราวของชาวโยเดีย จนนำไปสู่การค้นพบหมู่บ้านแห่งนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว บอกว่า ในบันทึกได้เขียนถึงหมู่บ้านนี้ว่าเป็นของช่างทำพลุที่ทำพลุให้กับพระราชวังมัณฑะเลย์ เชื่อกันว่าสืบสายเลือดมาจากชาวโยเดีย

“ชุมชนนี้อาจเป็นแห่งเดียวที่ยังรักษาสายเลือดชาวอยุธยาเอาไว้ได้ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะไม่แต่งงานกับคนภายนอก”

เราพากันเดินสำรวจไปรอบๆ บ้านเกือบทุกหลังปลูกแบบใต้ถุนสูงคล้ายบ้านไทยสมัยก่อน อ.มิคกี้ ยืนยันว่านี่ไม่ใช่ขนบนิยมของชาวพม่า ไม่ว่าจะเป็นทำเลการตั้งบ้านเรือนใกล้น้ำ หรือลักษณะการสร้างบ้าน โดยเฉพาะการบูชาพระราม- พระลักษมณ์  ซึ่งต่างจากชาวพม่าทั่วไปที่นับถือนัต  นอกจากนี้ยังมีศาลไม้เสาเดียวคล้ายศาลพระภูมิตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน และในวันสงกรานต์ก็จะมีประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายด้วย

ระหว่างเดินชมสถานที่สำคัญๆ ของหมู่บ้าน เราแวะทักทายคุณยายสองสามคนที่กำลังตำข้าวอย่างขะมักเขม้น แกหันมาทักทายกับคนแปลกหน้าด้วยรอยยิ้ม ก่อนที่ใครบางคนจะส่งเสียงให้คุณยายพูดภาษาลับ ซึ่งว่ากันว่าเป็นภาษาโยเดียให้ฟัง

“กล้วย” “กิน” “ขนม” คุณยายเปล่งเสียงแต่ละคำที่คนไทยฟังแล้วร้องอ๋อ น่าเสียดายที่แกไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ เพราะคำเหล่านี้แทบไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันชาวบ้านซุกามีกว่า 200 คน อาจนับได้ว่าเป็นเชื้อสายโยเดียรุ่นที่ 11 และแม้ว่ากาลเวลาจะทำให้หลายสิ่งเจือจางไป แต่ร่องรอยที่ยังหลงเหลือก็ช่วยให้เรารู้สึกใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

ระหว่างทางกลับสู่ฝั่ง ฉันนึกถึงใบหน้าของคุณยายที่บอกไม่ถูกว่าคล้ายคนไทยหรือพม่ามากกว่ากัน แต่ความรู้สึกนั้นกลับอบอุ่นเหมือนเพิ่งได้กลับบ้านในชนบท ...สำเนียงโยเดียมีอยู่จริงไหม ภาษาโยเดียยังอยู่ในความทรงจำของใครอีก คือคำถามที่ติดค้างมาตลอดทาง

กระทั่งได้มีโอกาสมานั่งชมนาฎศิลป์โยเดีย ซึ่งเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมและมีการเรียนการสอนกันในประเทศนี้

ลีลาร่ายรำที่คล้ายคลึง สำเนียงเสียงร้องเพลงฉุยฉายที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยการจำ ทั้งที่ผู้ร้องเองก็ไม่รู้ความหมาย แต่กลับปรากฏคำที่ฟังคล้าย “แม่ศรี” คือสิ่งที่ อ.อนันต์ นาคคง จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวด้วยความประทับใจว่า

“ตลอดทริปเราเห็นภาพเขียน ซึ่งสะท้อนร่องรอยของความทรงจำโยเดีย เราเห็นคนโยเดีย เราเห็นวิธีการอยู่อาศัย สถาปัตยกรรม แต่ในมุมของดนตรีนาฏศิลป์ มันเป็นสิ่งที่ถ้ารับก็รับเลย  ถ้าไม่ยินดีต้อนรับก็ต้องออกไปเลย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในสถาบันการศึกษาอย่างจริงจังของเขาทั้งที่มัณฑะเลย์ และย่างกุ้ง มีหลักสูตรการเรียนการสอนโยเดีย ทั้งดนตรีและนาฏศิลป์อย่างแข็งแรง และเป็นหลักสูตรภาคบังคับตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน มันเป็นสิ่งที่บอกว่านี่คือพื้นฐานที่เหมาะในการสร้างคนของเขา แล้วนักดนตรีก็หางานทำได้จากการเล่นเพลงโยเดีย นักรำก็มีเวทีการแสดงโยเดียที่อวดชาวบ้านได้ ถือว่าเป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับการถ่ายทอดอย่างดี”

ฉันนั่งฟังสำเนียงแปลกแปร่งของเพลงฉุยฉาย ชื่นชมกับลีลาท่ารำโยเดียที่เปรียบเสมือนมรดกแห่งการหลอมรวมความเป็นอื่นไว้ในวัฒนธรรมของคนที่นี่ ด้วยความรู้สึกเต็มตื้น

บางทีการตามหาความเป็นโยเดียในเมียนมาอาจไม่ใช่การค้นหาความแปลกแยกแตกต่าง แต่เป็นความเข้าใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เดินคู่เคียงกันมาบนเส้นทางที่ทอดยาวจากอดีต