เฮลั่น! ไทยหลุดแบล็กลิสต์เสี่ยงฟอกเงิน

เฮลั่น! ไทยหลุดแบล็กลิสต์เสี่ยงฟอกเงิน

เฮลั่น! เลขาฯปปง. เผยไทยหลุดแบล็กลิสต์เสี่ยงฟอกเงิน ยกระดับมาตรฐานป้องกันเทียบเท่ามาเลเซียและสิงคโปร์ เร่งอุดช่องว่างทนาย-นักบัญชีถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงิน

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) - พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการปปง. เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism - AML/CFT) ในฐานะสมาชิกกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Group on Money Laundering - APG) ซึ่งเป็นการประเมินความสอดคล้องใน “ด้านกรอบกฎหมายและด้านประสิทธิผล” เทียบกับ “มาตรฐานสากลของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force - FATF)” ซึ่งมุ่งหวังให้ทุกประเทศมีมาตรฐานการปฏิบัติที่มีประสิทธิผลในระดับเดียวกัน ปิดช่องว่างไม่ให้อาชญากรแสวงหาประโยชน์จากประเทศที่มีความหย่อนยานของกฎระเบียบและมาตรการ AML/CFT ได้ ประเทศไทยจึงได้มีความพยายามผลักดันการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อไม่ให้อาชญากรมาใช้ประเทศไทยเป็นช่องทางในการฟอกเงิน และเพื่อไม่ให้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ หรือการทำธุรกรรมที่มีอาจความล่าช้าเนื่องจากธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศจะถูกตรวจสอบเข้มขึ้น

พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินมาแล้ว 2 รอบในปี พ.ศ. 2545 พ.ศ.2550 และล่าสุดเป็นการประเมินในรอบที่ 3 (พ.ศ. ‪2559-2560)‬ โดย ปปง. ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานหลัก ทั้งนี้ คณะผู้ประเมินจาก APG จำนวน 8 คน ประกอบด้วยผู้แทนจาก ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ ฮ่องกง และสำนักเลขาธิการ APG ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน 44 หน่วยงาน จำนวน 2 ครั้ง วันที่ 31 ต.ค.-11 พ.ย.59 และระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค.นี้ เพื่อนำข้อมูลไปจัดทำรายงานผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของประเทศไทย ก่อนเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี APG รับรองรายงา ล่าสุด ระหว่างวันที่ 15-21 ก.ค.ที่ผ่านมา 2560 คณะผู้แทนไทยนำโดยสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุดสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมใหญ่ APG ณ กรุงโคลอมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
เลขาธิการปปง. ระบุว่า. ผลจากการประชุม ประเทศไทยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลใน “ด้านกรอบกฎหมาย” ในระดับมากและมากที่สุดจำนวน 26 ข้อ จาก 40 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 56.18 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการประเมินครั้งก่อนเมื่อปี 2550 ที่ได้เพียงร้อยละ 31 โดยเป็นผลจากการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อ สำหรับผลการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ของการดำเนินมาตรการ AML/CFT ซึ่งเพิ่งมีการประเมินเป็นครั้งแรกภายหลังการปรับปรุงมาตรฐานสากลในปี 2555 พบว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการในการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากจากที่ประชุม APG โดยเฉพาะใน 4 ด้านจาก 11 ด้านที่ไทยได้รับการประเมินว่ามีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับสูง (substantial level) ได้แก่ (1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและมีมาตรการในการจัดการกับความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม (2) มีการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ดี (3) การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข่าวกรองทางการเงินของสำนักงาน ปปง. ในฐานะหน่วยข่าวกรองทางการเงินของประเทศไทยมีความเข้มแข็งและสามารถแสดงผลการดำเนินการได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ (4)มีมาตรการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ดี ซึ่งประเทศไทยได้รับการชื่นชมว่าเป็นประเทศที่สามารถแสดงประสิทธิผลได้ในระดับสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่มีผลการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เลขาธิการ ปปง. กล่าวต่อว่า แม้ว่าการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ของการดำเนินมาตรการ AML/CFT เพิ่งมีการประเมินเป็นครั้งแรกภายหลังการปรับปรุงมาตรฐานสากลในปี 2555 แต่สำหรับผลการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ในระดับสูงที่ประเทศไทยได้รับจำนวน 4 ด้านนั้น เท่ากับผลการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ในระดับสูงที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเบลเยี่ยม ได้รับ และมีผลการดำเนินงานในระดับสูงมากกว่าออสเตรีย ที่ได้รับผลการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ในระดับสูงเพียง 3 ด้านเท่านั้น

สำหรับผลการดำเนินการในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะมาตรการเชิงป้องกันมิให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพ โดยเฉพาะทนายความและนักบัญชีถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และมาตรการส่งเสริมความโปร่งใสของนิติบุคคลและบุคคลที่ตกลงกันทางกฎหมาย ยังคงต้องเร่งดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินการให้สูงยิ่งขึ้น และต้องมุ่งเน้นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทุจริต/รับสินบน ยาเสพติด การเลี่ยงภาษี การปั่นหุ้นและการลักลอบหนีศุลกากร อีกทั้ง ยังคงปรากฏข้อบกพร่องด้านกรอบกฎหมายและกลไกการดำเนินการซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับภัยอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพในการเฝ้าระวังธุรกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงต่อไป. ทั้งนี้จากผลการประเมินที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ APG ส่งผลให้ประเทศไทยจะไม่ถูกกำหนดอยู่ในรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านฟอกเงิน เหมือนเช่นที่เคยถูกประกาศอยู่ในรายชื่อประเทศเสี่ยงเมื่อปี 2555 อย่างแน่นอน