‘ชีวี ไลฟ์’ แอพปรึกษาแพทย์แบบเรียลไทม์

‘ชีวี ไลฟ์’  แอพปรึกษาแพทย์แบบเรียลไทม์

ไม่ได้มาแทนที่การรักษาแบบเดิม “ชีวี ไลฟ์” (Chiiwii LIVE) แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ขอเป็นอีกทางเลือกให้คนทั่วไปสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์เฉพาะทางได้แบบเรียลไทม์

ปรึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยพูดคุยผ่านวีดีโอคอล, คุยด้วยเสียง หรือส่งข้อความผ่านแชท (เทเลเมดิซีน)


ซึ่งคำว่า "ชีวี ไลฟ์" จะสื่อถึงชีวิตและสุขภาพ และคำว่าไลฟ์ก็ชัดเจนว่า ถ้าคุณต้องการได้รับคำตอบเกี่ยวกับสุขภาพเดี๋ยวนี้ คุณก็ต้องได้รับคำตอบเดี๋ยวนี้ ภายใต้สโลแกน "Chiiwii LIVE Take care of you... to take care of others"


"ไอเดียนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เพราะทีมผู้ก่อตั้งของเราเป็นหมอ ทำให้พบเห็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาของคนไข้ที่อยู่ต่างจังหวัด ยิ่งเป็นผู้สูงอายุเวลาเดินทางไปรับการรักษาแต่ละครั้งไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลในตัวเมืองหรือในกรุงเทพก็ต้องมีคนพาไป ซึ่งต้องเสียทั้งค่าเดินทาง เสียทั้งต้นทุนด้านเวลาด้วย พวกเราเลยคิดว่ามันน่าจะมีช่องว่างอยู่"


ทีมผู้ก่อตั้งของ ชีวี ไลฟ์อธิบายต่อว่า ช่องว่างที่แอพนี้จะเข้ามาเสริมได้เป็นอย่างดีมีอยู่ 2 กรณี ก็คือ การให้คำปรึกษาเบื้องต้น สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาว่ามีอาการป่วยแบบนี้ และไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไร ควรรักษาอย่างไร อีกกรณีหนึ่งก็คือ การฟอลโล่อัพ ถ้าเขารักษาตัวกับคุณหมอท่านนี้อยู่แล้ว และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง


หรือแม้กระทั่งคนที่เดินทางไปทำงานหรือท่องเที่ยวที่ต่างประเทศแล้วเกิดมีปัญหาสุขภาพและต้องการจะพูดคุยปรึกษากับคุณหมอที่เป็นคนไทย พูดภาษาไทย


ชีวี ไลฟ์ จะทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” หรือมาร์เก็ตเพลส เชื่อมระหว่าง “คุณหมอ” กับ “คนไข้” โดยที่คุณหมอแต่ละท่านจะมาเปิดช่องตารางให้คำปรึกษาไว้ (ในเวลาที่แต่คุณหมอสะดวก) ให้ผู้มีปัญหาสามารถเข้ามาขอคำแนะนำ


“เราไม่ได้ทำตัวเป็นผู้ประกอบการ ไม่ได้เป็นโรงพยาบาล คุณหมอที่ให้บริการไม่ได้เป็นลูกจ้างเรา คุณหมอสามารถเปิดตารางเวลาให้คำปรึกษาตามที่สะดวก วันไหนก็ได้ กี่โมงก็ได้ และก็คิดค่าใช้จ่ายเอง”


ในหมายเหตุว่า คุณหมอที่เข้ามาอยู่ในระบบต้องสมัครเข้ามา จากนั้นทีมผู้ก่อตั้งของชีวี ไลฟ์จะทำการสกรีน ว่ามีประวัติถูกต้องไหม เป็นคุณหมอจริง ๆหรือเปล่า ทำงานที่ไหน ถนัดทางด้านไหน และดูว่าทักษะการพูดคุยผ่านวิดีโอคอลทำได้ดีหรือเปล่า ฯลฯ


อย่างไรก็ดี ไอเดียนี้แม้จะแพร่หลายในหลายๆประเทศอย่างเช่นอเมริกา ทว่ายังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ทีมผู้ก่อตั้งของชีวี ไลฟ์ จึงเริ่มทดลองตลาดด้วยการเปิดเว็บไซต์ชื่อว่า “ชีวีดอทคอม” คอยตอบปัญหาสุขภาพออนไลน์ เพื่อให้ยูสเซอร์หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเข้ามาฝากคำถามไว้ จากนั้นจะมีคุณหมอเฉพาะทางเข้ามาตอบคำถาม


"เราทำเว็บไซต์เพื่อเทสต์ทั้่งฝั่งหมอและยูสเซอร์ ว่าทางฝั่งหมอจะสะดวกใจกับการตอบปัญหาผ่านทางออนไลน์หรือเปล่า รวมถึงการตอบปัญหาทางนี้ว่าช่วยแก้เพนทางฝั่งยูสเซอร์ได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งผลลัพท์ดีกว่าที่คิด เพราะเดิมเราคิดว่าคุณหมออาจไม่โอเคถ้าต้องตอบปัญหาโดยที่ไม่ได้มีการสัมผัสหรือตรวจอาการคนไข้เลย ส่วนฝั่งยูสเซอร์เราพบว่าครึ่งหนึ่งของคนที่เข้ามาถามเป็นคนรุ่นใหม่อยู่ในเมือง อีกครึ่งเป็นคนต่างจังหวัด"


แม้ตั้งต้นด้วยปัญหาของคนที่อยู่ต่างจังหวัด แต่ความจริงที่พบก็คือปัญหานี้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป เพราะการเดินทางไปโรงพยาบาลของคนที่อยู่ในตัวเมืองหรืออยู่ในกรุงเทพก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรถที่ติดขัดบนท้องถนน ดังนั้นชีวี ไลฟ์จะช่วยทำให้ชีวิตคนเมืองสะดวกและได้รับประโยชน์ในเรื่องต้นทุนของเวลาได้เช่นเดียวกัน


ในแง่ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เขาบอกว่าจะดูตัวชี้วัดที่สำคัญก็คือ ขนาดของตลาดและพฤติกรรมที่ยอมรับการใช้บริการเทเลเมดีซีนของคนไทย


"ช่วงแรก ชีวี ไลฟ์จะเน้นยูสเซอร์ที่เป็นกลุ่มผู้หญิงก่อน เพราะจากการเทสต์พบว่ามีความสะดวกใจกับการปรึกษาปัญหาสุขภาพทางออนไลน์มากกว่าผู้ชาย เราจะเปิดให้คำปรึกษาในเรื่องของผิวพรรณ ความสวยความงาม การดูแลสุขภาพ เรื่องสุขภาพเพศหญิง ประจำเดือน การคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ และปัญหาความกังวลใจของคุณแม่มือใหม่ เป็นต้น"


ส่วนเรื่องของความยอมรับ แม้ว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ถือว่าเทเลเมดิซีนมีแนวโน้มว่าผู้คนจะให้ความสนใจและหันมาใช้บริการกันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีปัจจัยที่สนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ


" แต่เราจะไม่ได้จำกัดแค่นี้ ในอนาคตผู้ป่วยโรคอื่นๆก็ใช้บริการได้ แต่คนทั่วไปอาจยังไม่พร้อมไม่รู้ว่าการปรึกษาหมอออนไลน์ทำได้แค่ไหน เราขอไพล็อตกลุ่มเล็กๆก่อน และต้องเร่งสร้างการรับรู้ทั้งฝั่งแพทย์และยูสเซอร์ด้วย มันไม่ได้เหมาะกับทุกคนแน่นอน และมันก็ไม่สามารถทดแทนการไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลีนิค"


เรื่องของแผนที่วางไว้ ทีมผู้ก่อตั้งชีวี ไลฟ์ บอกว่า สเต็ปแรกเป็นการเริ่มต้นด้วยกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มโรคที่น่าจะยอมรับบริการรูปแบบนี้ได้ง่ายเสียก่อน และภายในปีนี้ที่จะพัฒนาเพิ่มเติม ก็คือการเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานของแอพ ในเรื่องของการบันทึกข้อมูลสุขภาพ ความดัน น้ำหนัก ระดับน้ำตาล ของยูสเซอร์เพื่อที่แพทย์จะได้เห็นข้อมูลตั้งแต่อดีตและในวันนี้ ว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ กระทั่งมองเห็นแนวโน้มความน่าจะเป็น และทำให้แพทย์สามารถชอทโน๊ตได้สั้น ๆด้วยว่าคนไข้มีอาการเร่งด่วนหรือไม่ จะรีคอลเมื่อไหร่ รวมถึงจะขยายเพิ่มสาขาแพทย์ในการให้บริการ


นอกจากนี้จะไปพาร์ทเนอร์กับทางคลีนิครักษา สถานพยาบาลต่างๆ นำเสนอชีวี ไลฟ์เป็นแพ็คเก็จในการบริการเสริมสำหรับผู้ป่วย


“รายได้จะมาจากคนไข้ แต่ในช่วงแรกเราจะให้บริการฟรีก่อน แต่เดือนมิถุนายนนี้เราวางแผนจะลอนซ์ชีวี ไลฟ์อย่างเป็นทางการและจะเริ่มเก็บค่าบริการ รวมถึงค่าแพ็คเก็จจากฝั่งคลีนิค”


ถามถึงความท้าทาย พวกเขาบอกว่าเป็นเรื่องของกฏ ข้อบังคับ เพราะในเมืองไทยการบริการรูปแบบนี้เป็นเรื่องใหม่เลยยังไม่เคลียร์ในเรื่องของขอบเขตการให้คำปรึกษาของคุณหมอทางออนไลน์ว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างไร


" กฏหมายไทยไม่ได้ห้าม แต่ข้อเสียก็คือมันไม่ได้ครอบคลุมกับสิ่งที่เรากำลังทำ ทางแพทยสภาไม่ได้มีกฏหมายที่ชัดเจนว่าคุณห้ามทำอะไรไม่ได้ห้ามทำอะไร แต่เขียนคลุมๆไว้ว่าคุณได้ใช้วิจารณญานอย่างเต็มที่หรือยังในการรักษาคนไข้ ซึ่งกฏมันครอบจักรวาลมากๆ มันตีความได้ทุกอย่าง เราเลยไม่รู้ว่าการไปแตะจุดนี้แล้วจะผ่านหรือไปขัดกับกฏหมายที่มีอยู่หรือเปล่า"


ขณะที่ประเทศสิงคโปร์จะมีเทเลเมดิซีนไกด์ไลน์ กำหนดเป็นกรอบเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งเวลานี้กลุ่มเฮลธ์เทคสตาร์ทอัพของไทยก็กำลังรวมตัวเขียนไวท์เปเปอร์นำเสนอภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนกฏที่ชัดเจนกันอยู่

ส่วนผสมที่ลงตัว


ชีวี ไลฟ์มีความโดดเด่นอย่างไร? คำตอบก็คือ “ทีมงานของเราถือว่าเป็น กู้ด มิกซ์”


ทีมผู้ก่อตั้งหรือโค-ฟาวเดอร์ ของชีวี ไลฟ์เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อน 5 คน ที่มีความสามารถที่แตกต่างอย่างลงตัว ประการสำคัญในจำนวนนั้นมีแพทย์อยู่ถึง 3 คน ได้แก่ “พญ. พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัยที่มีประสบการณ์เรียนและทำงานที่บอสตัน 3 ปี “พญ.ศกุนี นิรันดร์วิชย” จบการศึกษาจากศิริราช เป็นแพทย์ผิวหนังและเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม และ “ทพ.ศุภกิตติ์ ซ้องสุข” ทันตแพทย์ผู้มีประสบการณ์เป็นผู้จัดการคลินิคไบร์ท สไมล์ ที่มีสาขามากมายในกรุงเทพ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของกิจการคลาส วัน เดนทัล คลีนิค


ขณะที่ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งซีอีโอและซีเอฟโอของทีม “ยศวีร์ นิรันดร์วิชย” เรียนจบการบริหารจัดการจาก Kellogg School of Management ส่วนประสบการณ์ "สุรัต เทอดไทย" ซึ่งเป็นซีทีโอ ก็คือเป็น Software engineer ด้าน Healthcare information security system จากอเมริกา