ScoutOut ใครๆ ก็เป็นเฮดฮันเตอร์ได้

ScoutOut ใครๆ ก็เป็นเฮดฮันเตอร์ได้

การจับเอาแนวคิดที่เบสิคที่สุดในการหางานมาทำให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยด้วยเทคโนโลยี

ก่อนที่จะลงประกาศตามหาคนที่ใช่ในช่องทางที่ใช้กันอยู่ทั้ง คลาสสิฟายด์ และ เฮด ฮันเตอร์ ซึ่งแต่ละช่องทางก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป

สำหรับ ปตินันต์ วชิรมน Co-Founder /Managing Partner จาก ScoutOut กลับมองว่า การแนะนำแบบเพื่อนแนะนำเพื่อน (Refer) ต่างหากที่ได้ผลที่สุด และเป็นการหาคนได้อย่างโดนใจที่สุด

“เวลาหาคนเข้ามาทำงาน มีทางเลือกไม่กี่ทาง อาจทำการโพสต์ในเว็บไซต์หางาน และหวังว่าจะมีคนเข้ามาสมัครแล้วถูกใจ

แต่จริงๆ แล้ววิธีที่เบสิคสุด และหลายคนทำๆกันอยู่ก็คือ บอกคนที่รู้จักว่าขาดคน มีใครจะแนะนำให้ได้บ้างมั้ย

บางครั้งก็ถามรุ่นน้องในที่ทำงานว่ารู้จักใคร นั่นเป็นพฤติกรรมปกติของคนทั่วไป แค่ที่ผ่านมายังไม่ระบบอะไรมาทำทางด้านนี้ให้ ซึ่งเราก็ทำเป็นระบบขึ้นมา โดยใช้เน็ตเวิร์คของเราหางานให้กับเพื่อน และรีวิว”

“ระบบเราจะเน้นการหาคนที่เหมาะสมที่สุดเข้าไปทำงาน ด้วยวิธีที่สะดวกที่สุด และ ใช้เวลาน้อยที่สุด”

ScoutOut เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการ Headhunting คนเข้าทำงาน 

การใช้งานสามารถโหลดแอพฯ ล็อกอิน แล้วใส่โปรไฟล์ จากนั้นระบบจะส่งงานที่ตรงกับประสบการณ์และทักษะเพื่อให้คุณได้ลองแนะนำเพื่อนๆ ที่คิดว่าน่าจะเหมาะให้กับงานนั้นๆ ในกรณีที่บริษัทสนใจและกดรับ นั่นก็เท่ากับการแนะนำครั้งนั้นเป็นผล ซึ่งการแนะนำอาจได้รางวัลเป็นตัวเงินหรือบัตรกำนัล

นอกจากนี้ ในระบบยังมีฟังก์ชั่นของการรีวิวเพื่อนๆระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน วิธีนี้จะช่วยให้บริษัทเห็นได้ว่า คนนั้นเป็นอย่างไร เหมาะสมกับตำแหน่งงานแค่ไหน

ปตินันต์ เรียกว่าเป็นการใช้เน็ตเวิร์คของเราหางานให้กับเพื่อน และรีวิว

ซึ่งใครๆก็เป็น Headhunter ได้ เพื่อนช่วยคุณในการหางาน และคุณก็ช่วยเพื่อนหางานได้เช่นกัน

แล้วจะมั่นใจได้แค่ไหนว่าคนที่แนะนำมานั้นคุณสมบัติและทักษะตรงกับงานที่ตามหา ปตินันต์ อธิบายว่า ระบบจะทำงานด้วย Machine Learning และอัลกอริทึมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการประมวลผลว่า คนไหนที่มีศักยภาพจะแนะนำคนที่เหมาะสมที่สุดให้กับบริษัทต่างๆ ได้

ยิ่งคนใช้ระบบเยอะเท่าไหร่ Machine Learning จะยิ่ง match ได้ดีขึ้น รวมถึงระบบรีวิวที่จะทำให้รู้ว่าคนๆ นั้นเป็นอย่างไร เหมาะสมกับงานแค่ไหน

“ในช่องทางนี้จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น อย่างเช่นจากเดิมที่การโพสต์งานเข้าไป แทนที่จะเขียนอะไรยากๆ คนมักจะไม่ค่อยอ่าน เราก็ให้ใช้รูปภาพแทน แค่เลือกแล้วกดหาว่าในเน็ตเวิร์คของเรามีใครบ้าง เป็นต้น

หลังเปิดให้บริการเพียงไม่กี่เดือน พบว่า มีคนเข้ามาในระบบแล้วเป็นพันราย จากที่เคย match งานกัน ส่วนใหญ่แล้ว เราใช้เวลาเป็นหลักวัน หลังจากโพสต์แล้วข้อมูลจะเด้งเข้ามาในระบบ แล้วระบบก็เริ่มจัดหา อย่างนี้เป็นต้น”

ระบบดังกล่าวเหมาะสมกับองค์กรธุรกิจขนาดใดมากกว่ากันนั้น ปตินันต์ บอก ระบบทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และเล็ก

ในกรณีนี้อาจมองได้ 2 มุม สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ปัญหาคือทำอย่างไรให้ได้คนที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงาน แต่สำหรับองค์กรเล็ก หรือ สตาร์ทอัพ จะมองเรื่องปริมาณมาก่อนคุณภาพ

“ถ้าเป็นองค์กรเล็ก หรือ สตาร์ทอัพ nobody ถ้าโพสต์ก็คงสู้องค์กรใหญ่ไม่ได้ บริษัทใหญ่ก็ดึงคนออกไป ทำอย่างไรให้ธุรกิจที่เป็นจูเนียร์ๆ สามารถหาคนได้ นั่นคือโจทย์หลักที่เราจะแก้

กรณีขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อาจไม่ได้ใช้บริการของเราเป็นหลัก แต่ก็มองถึงโอกาสในการนำระบบของเราเข้าไป plug in กับส่วน HR ของแต่ละบริษัทได้เช่นกัน

เรียกว่า เราตอบโจทย์ทั้งบริษัทเล็ก ส่วนบริษัทใหญ่ก็ปลั๊กอิน แล้วทำงานร่วมกัน”

การที่ ScoutOut ได้ถูกพัฒนาขึ้นนี้ ปตินันต์ บอกเกิดจากปัญหาที่ตัวเองและทีมงานแต่ละคนได้เจอมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์เงินเดือนในองค์กรขนาดใหญ่

"คนในทีม ทุกคนเป็นมืออาชีพกันมาก่อน คนหนึ่งเป็นด๊อกเตอร์ด้านไบโอเทค  อีกคนเคยทำสตาร์ทอัพอยู่ที่จีน จนเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้มีโอกาสก็บินไปเสนอไอเดียในต่างประเทศเพื่อจะดูว่าสิ่งที่อยากจะทำนั้นมีความต้องการจริงๆ หรือเปล่า

จากการพูดคุยก็พบว่า เพื่อนๆ ที่อยู่กันในบิ๊กเนมคัมปะนี ทุกคนก็จะเจอปัญหา ทำให้เริ่มมาทำกันประมาณเมษายนปีที่แล้ว เพราะเชื่อว่าทุกคนก็เป็นเฮดฮันเตอร์ได้นะ"

ในวันนี้ ScoutOut เป็นพื้นที่ของเพื่อนแนะนำเพื่อนให้ได้งานที่ซึ่งไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งการที่จะสเกลไปในอนาคตยังมองถึงการหางานสำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

“ตอนนี้ระบบเสร็จแล้ว แต่ยังมีงานบางจุดที่ต้องพัฒนาให้เสร็จ คาดว่าในสิ้นปีนี้จะเริ่มสเกลงานในส่วนของต่างประเทศได้

ขณะที่ในอนาคตมองว่านอกจากการหางานแล้ว ScoutOut ยังสามารถทำอะไรไดเมากกว่าการหางาน ทั้งหาแฟน หาที่ท่องเที่ยว หาโรงแรม และอื่นๆ แต่เราเริ่มที่ HR ก่อนเป็นลำดับแรกเพราะเป็นปัญหาที่หลายๆ องค์กรต้องเจอ"   

เรียนรู้และสร้างทีม

ปตินันท์ วชิรมน (ทอม)จบการศึกษามาจากอังกฤษ ได้รับปริญญาทั้งจากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และ University of the Arts London  ที่ผ่านมางานของเขาส่วนใหญ่จะอยู่ในด้านดิจิทัล 

หลังย้ายกลับมาไทย ทอม เคยผ่านงานมาจำนวนหนึี่งรวมถึง หัวหน้าฝ่ายดิจิทัล ที่เซเว่น อีเลฟเว่น ประเทศไทย (ซีพีออล) และเคยร่วมงานกับกูเกิล ประเทศไทย

www.scoutout.net สเกาท์เอาท์ เป็นแพลทฟอร์มหาบุคคลากรทางโซเชียลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำระบบอัลกอรึทึมคัดสรรบุคลากรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เข้ามาใช้ในการจับคู่ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องมากสุดที่มีการโพสต์ไว้ กับผู้ใช้งานแต่ละราย เพื่อแนะนำเพื่อนให้กับผ้ที่รับสมัครงานอยู่

การใช้งานเครือข่ายของสเกาท์เอาท์ จะทำให้ผู้รับสมัครงาน ได้ผู้สมัครที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะบริษัทมีความมั่นใจว่า สามารถบ่งชี้ถึงผ้อ้างอิงที่ถูกเหมาะสมที่สุด ที่จะสามารถแนะนำบุคคลที่มีความสามารถที่ดีที่สุดได้

นอกจากนี้ สเกาท์เอาท์ ยังมีระบบตรวจสอบที่ติดตั้งไว้ภายใน เพื่อเปิดทางให้เพื่อน และผู้ร่วมงาน สามารถให้คะแนนอีกกับฝ่ายหนึ่งโดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อตัวเอง เพื่อที่ผู้จ้างงานจะได้ไม่ต้องมานั่งเดาเอาเองว่า ใครจะเหมาะสมกับงานมากที่สุด โดยสามารถเข้าไปได้ที่ https://www.scoutout.net/

ล่าสุด Scoutout ยังเป็นร่วมเป็นหนึ่งใน 12 ทีมสุดท้ายที่เข้ารอง Dtac Accelerate Batch 5 โดย ปตินันท์ วชิรมน บอก การเข้าร่วมกับโครงการนี้สำคัญที่สุดก็คือการเรียนรู้   

"2 ปีก่อนได้มีโอกาสไปเสนอไอเดียที่ต่างประเทศ ผมไปนั่งร้านกาแฟ ได้เจอกับคนโน้นทำงานบริษัทนี้ เพื่อนของเพื่อนทำงานบริษัทนั้น ตอนกลางคืนแค่ไปบาร์ ร้านกาแฟ สมองพุ่งๆ มากได้คิด และได้รู้จักคนเยอะ แต่ในไทย ไปคุยกับใคร สตาร์ทอัพก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเค้า 

แต่การมาอยู่ Dtac Accelerate  เหมือนกับลงเรือลำเดียวกัน ได้เจอกับคนที่มีความทุกข์คล้ายๆ กัน เข้าอกเข้าใจ 

อย่างไรก็ดี ปัญหาคือต้อง challenge ไม่ใช่แค่เห็นว่าเป็นปัญหา เลียแผลให้กันและกัน แต่ต้องจี้ๆ ไปที่ปัญหานั้นๆ เพื่อที่จะล้มแล้วลุกให้เร็ว

ที่ี่นี่จะเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ และการสร้างทีมของผม ซี่งจากประสบการณ์ของทีมงานแต่ละคนนั้นมีอยู่แล้ว เก่งอยู่แล้ว แต่อยากให้มองภาพที่กว้างขึ้น อยากให้เค้าได้สัมผัส และเข้าใจ passion ของคนที่ทำสตาร์ทอัพว่าเป็นอย่างไร 

เพราะการหาคนฉลาด หาคนเก่งมีเยอะ แต่หาคนที่มี passion ที่อยากจะได้มันนั้นจะยากกว่า"