เปลี่ยนสังคมได้ที่ห้องเรียน

เปลี่ยนสังคมได้ที่ห้องเรียน

เป็นครูเล็กๆ ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย ลองอ่านความคิดของครูคนนี้ดู

..............................

จะมีครูรุ่นใหม่สักกี่คนที่พยายามสอนโดยจัดตารางวิชาสนุกๆ ให้นักเรียน ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน หน้าเสาธง เพราะเชื่อว่า เราเปลี่ยนสังคมได้ที่ห้องเรียน และจงอย่าลืมว่า เราต่างเคยเป็นนักเรียนมาก่อน สิ่งสำคัญก็คือ อย่าฝันลมๆ แล้งๆ

และนี่คือเรื่องราวของ สัญญา มัครินทร์ ครูเล็กๆ สอนวิชาศิลปะและวิชาสังคม ชั้นมัธยมปีที่3 โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น ซึ่งเพื่อนๆ และนักเรียนเรียกเขาว่าครูสอยอ ซึ่งเชื่อว่า เด็กๆ มีศักยภาพ แต่ต้องทำให้เขารู้จักตัวเอง 

ทำไมคิดว่าเป็นครูตัวเล็กๆ สามารถมีบทบาทเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ไม่ได้คิดใหญ่ขนาดนั้น พอมาทำการศึกษา ตั้งเป้าสองอย่างคือ ทำการศึกษากับตัวเอง และเอาสิ่งที่ตัวเราถนัดไปสร้างการเรียนรู้ให้คนอื่น แม้จะแค่ห้องเรียนเล็กๆ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือผู้นำกิจกรรมเด็ก ตอนนั้นรู้สึกว่าเอาเด็กอยู่ มั่นใจและมีความสุข พอมาเป็นครู เพื่อนๆ ก็ถามว่า ทำไมเอาเด็กอยู่ตัว เพราะตัวผมสนใจเรื่องการเติบโตด้านในด้วย ก็เลยคิดว่าเราจะขัดเกลาตัวเองกับการทำหน้าที่ครูได้ยังไง เพราะการอยู่ในระบบโรงเรียน ถ้าจะทำอะไรใหม่ๆ ต่างจากคนอื่น ก็ต้องต่อสู้กับตัวเอง

ช่วงสองปีแรก ผมสอนศิลปะในโรงเรียนกระแสหลัก พอมาอยู่โรงเรียนปัจจุบัน จะสอนแบบบูรณาการ ต้องใช้วิธีการหลายอย่าง แรกๆ ก็ทะเลาะกับครูเก่าๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเรา เพราะเราเชื่อแบบเรา ไม่ได้สนใจการสอนแบบคนอื่น จนเราคิดได้ ถ้าเรายังทำงานแล้วทะเลาะกับคนอื่น ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ เราต้อเป็นส่วนหนึ่งของเขา และเขาต้องเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนงานที่เราทำ กว่าจะทำได้ก็เข้าปีที่ 3-4

ในห้องเรียนคุณมีวิธีการสอนอย่างไร 

ตั้งแต่เป็นครูครั้งแรก สิ่งที่ผมทำก็คือ ทำให้เด็กรู้สึกว่า สิ่งที่เขากำลังทำไม่ได้ยาก ผมนึกถึงตอนเด็กๆ จะทำยังไงให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ ตั้งแต่การคิด การทำ และยังเป็นตัวเองในแบบของเขากับพื้นที่การเรียนรู้ที่เราออกแบบให้ เราพาเด็กออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างโครงงานศิลปะ เราพาไปโรงเรียนคนพิการ ซึ่งพวกเขาทำงานศิลปะโดยใช้เท้า ปาก รักแร้หนีบ     เด็กๆที่เราพาไปก็ทึ่งในผลงานและยังได้แรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เขารู้สึกว่างานศิลปะไม่ได้ยาก ใครๆ ก็ทำได้ หลังจากนั้นค่อยๆ วางรากฐานที่เขาอยากพัฒนาจากความต้องการของพวกเขาก่อน

เป็นครูมากว่าสิบปี คุณคิดว่าเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากน้อยเพียงใด

ค่อยๆ เปลี่ยน การสอนแบบผม ทำให้เด็กมองกลับไปที่ชุมชน พลังของเด็กๆ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ใหญ่มองกลับมาที่ชุมชนด้วย เด็กๆ ถ่ายวิดีโอ ทำหนังสั้น หลังจากได้ปัญหาจากชุมชนประมาณ5-6ประเด็น เราก็ให้เด็กคุยกัน แล้วสื่อสารปัญหากับชุมชน อย่างปัญหาขยะในชุมชน เราให้เด็กจัดเวทีสาธารณะ ครูก็แค่สนับสนุนให้งานเกิดขึ้น

ผมเชื่อในศักยภาพของเด็กๆ เราสร้างสังคมประชาธิปไตยได้ โดยการสร้างประชาธิปไตยก่อน ถ้าเราปลูกฝังการรับฟังความคิดเห็น การให้พื้นที่ การให้สิทธิอย่างเท่าเทียม แล้วทำไปตามธรรมชาติ ทักษะพวกนี้จะติดตัวพวกเขา ตอนนี้ที่โรงเรียนมีพื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์สี่ไร่ และเคยมีแปลงนา ทำเป็นกิจกรรมอีเว้นท์ ผมก็เลยคิดว่าน่าจะเอามาให้เด็กเรียนรู้หัดทำนา

นอกจากเรียนแบบบูรณาการ คุณเติมเรื่องนวัตกรรมให้เด็กๆ อย่างไร

เด็กเหล่านี้เติบโตมากับเทคโนโลยี เราต้องเชื่อมบางเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกัน อย่างทำการเกษตร ก็ถูกมองว่าเป็นการใช้แรงงาน ไม่มีใครสนใจหรอก เราก็ทำให้เห็นว่า คนที่อยากทำอะไรใหม่ๆ ก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นที่การเกษตร ทำให้ดูเท่และสมาร์ท เราก็เอาเรื่องการทำหนังสั้น การตลาดและโซเชียลมาสื่อสารให้คนรู้ ยิ่งมีคนแสดงความคิดเห็นหรือติดตาม ก็ทำให้เด็กมีแรงบันดาลใจ และเดี๋ยวนี้เด็กๆ สามารถตัดต่อวิดีโอผ่านมือถือได้เลย เก่งกว่าครูอีก

คุณตั้งเป้าหมายการสอนไว้อย่างไร

อยากให้แนวคิดนี้ขยายออกไป ผมคาดหวังกับครูหนุ่มสาวรุ่นผม เพราะคนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก คือคนยุคผม ถ้าคนยุคผมมีวิธีคิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ ผมว่าไม่ทันโลกโดยเฉพาะครูจบใหม่ๆ ถ้าอยากเปลี่ยนวิธีสอน ก็ลงมือเลย เพราะยังมีพลัง หากอยู่ในระบบไปนานๆ อาจถูกกลืน เพราะเขายังไม่เห็นจุดแข็งของตัวเอง

ผมก็คาดหวังว่าผมน่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เราก็เป็นครูในระบบที่สอนแบบสร้างสรรค์ มีพื้นที่ให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเอง และสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย

ทำไมครูเล็กๆ แบบคุณไม่ถูกกลืนไปในระบบ

เพราะผมศรัทธาว่าสิ่งที่ผมทำ มาถูกทางแล้ว อีกอย่างครูที่สอนผม นำผมมาสู่จุดนี้ ทั้งๆ ที่ครูที่สอนผม ครูสุภา มนูญศักดิ์ อายุ60 กว่าๆ แต่วิธิคิดเป็นแบบคนรุ่นใหม่ ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ แต่ชอบทำกิจกรรมนอกหลักสูตรเรื่องสิ่งแวดล้อมและการศึกษา

ซึ่งตอนเรียนมัธยม ผมเจอครูที่ทำให้เรามีแรงบันดาลใจ อยากเรียนหนังสือ ทำให้เราเห็นศักยภาพของตัวเอง ผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่พอไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เจอผู้คนทำให้เราก็รู้ว่า เราเป็นคนมีศักยภาพ อีกอย่างผมเป็นคนชอบอาสา อยากเรียนรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ 

ผมเคยเป็นครูฝึกสอนในโรงเรียนนี้มาก่อน ผมชอบการจัดการของโรงเรียน หลังจากจบการฝึกสอน ก็เลยขอเป็นอาสาสมัคร ทำงานไม่มีเงินเดือน จะเรียกว่าตื้อก็ได้ เขาเห็นว่าอยากเป็นครูจริงๆ ก็เลยหาโอกาสให้ และสอบจนได้มาสอนที่นี่