โยคะเบียร์.. แบบนี้ก็ได้เหรอ

โยคะเบียร์.. แบบนี้ก็ได้เหรอ

โยคะเปลือย โยคะแพะ โยคะแกะ โยคะสายเขียว(กัญชา) ล่าสุดคือ “โยคะเบียร์” ..หรืออะไรๆ ก็เป็น “โยคะ” ได้ ?

เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ไม่น้อยเลย สำหรับโยคะใหม่ล่าสุดอย่าง “โยคะเบียร์” ที่จัดให้มีการเล่นโยคะไปดื่มเบียร์ไป ซึ่งแม้จะจนกลายเป็นข้อถกเถียงทั้งในเรื่องสุขภาพ กฎหมาย ไปจนถึงหลักการของความเป็น “โยคะ”

แต่จะว่าไปแล้ว โยคะเบียร์ก็ไม่ใช่สิ่งแรกของสภาวะกลายพันธุ์ในจักรวาลแห่งโยคะ เพราะที่ผ่านมา โดยเฉพาะสิบปีหลังที่โยคะเริ่มบูมขึ้นอย่างต่อเนื่องในไทย เราก็ได้รู้จักโยคะในหลายหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โยคะหัวเราะ โยคะต้านแรงโน้มถ่วง โยคะบอล ถ้าดูในระดับโลก ก็ยังแหวกไปถึง โยคะแพะ โยคะแกะ โยคะบอล โยคะเปลือย โยคะกัญชา

จนถึงล่าสุด คือ โยคะเบียร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2560 นี้ในเยอรมนี และถัดมาไม่กี่เดือน บ้านเราก็มีออร์แกไนเซอร์หัวไว หยิบมาจัดเป็นกิจกรรมให้คนอยากลองของแปลกได้มาเล่นไปซดไป และที่ขาดไม่ได้ คือ อย่าลืมอัพ IG แชร์ไลฟ์สไตล์เก๋ๆ คูลๆ เรียกยอดไลค์กันหน่อย

  • โยคะสายโซเชียล

เมื่อปาร์ตี้อีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ขนาดกะทัดรัดอย่าง ‘XYZE’ มองหาโพซิชั่นใหม่ให้กับธุรกิจ และเลือกที่จะปักหมุดในสนามไลฟ์สไตล์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ที่เกี่ยวกับด้านกีฬา พร้อมเปิดตัวด้วยกิจกรรมโยคะเบียร์ พร้อมบอกว่า เบียร์เป็นแค่ส่วนเสริม เพราะในกิจกรรมครั้งและเป็นที่ฮือฮากันไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

เมื่อได้เจอกับ หวาน - นิภาพร อุดราช Creative & Event organizer รวมถึงเป็นเจ้าของ XYZE เราจึงเริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำถามแรก.. ทำไมต้องเป็น ‘เบียร์’ ?

“จริงๆ จะถือขวดน้ำส้ม น้ำบร็อคโคลีก็ได้นะคะ ยังไงก็ได้เอ็นจอยกับเพื่อนเหมือนกัน เพราะมันคือไลฟ์สไตล์ ซึ่งปกติโยคะก็จะมีการผสมผสานระหว่างสิ่งสองสิ่งให้เป็นอันเดียวกัน เช่น โยคะกับแพะ กับแกะ มันก็คือการทำให้คุณมีสมาธิเพราะแพะมันมากวนสมาธิ แต่อันนี้เป็นการเทรนตัวเองให้สร้างบาลานซ์มากขึ้น (ทำท่าโดยเบียร์ไม่หก) มันอาจไม่ต้องเป็นขวดเบียร์ก็ได้ มันก็เป็นจุดขายแหละ หวานยอมรับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กิมมิคนี้ก็มีทฤษฎียอมรับนะคะ” เธอให้คำตอบ

และพูดถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า “หวานเอาตัวเองเป็นหลัก คือด้วยความที่ตัวเองไม่ชอบเล่นโยคะ เพราะเห็นว่า มันเนิบๆ น่าเบื่อ แต่จะชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีม แมนๆ บู๊ๆ มากกว่าแต่พอหลังๆ เริ่มเส้นตึง หมอก็ให้ไปโยคะ ยืดเหยียด แต่มันไม่ใช่เราไง พอดีไปเจอบทความของต่างประเทศเรื่องนี้ ก็..จริงเหรอ ? ก็ไปค้นต่อ ก็เจอว่า มันมีทฤษฎีสนับสนุนนะ จริงๆ หวานก็เตรียมใจไว้แล้วว่า จะต้องมีกระแสแอนตี้”

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่เธอพูดถึง คือ คนที่มีไลฟ์สไตล์เปิดรับอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ยึดติดกับอะไร ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานโยคะมาก่อน

“เราไม่ได้เป็นโยคะท่าพิสดารอะไร แต่เราจะค่อยๆ เพิ่มเลเวลความสนุก ท่าเหยียด อะไรแบบนี้ ซึ่งมันสนุกแล้วก็มีครูคอยดูแล แล้วก็ได้เพื่อนด้วย หวานมองว่า แอลกอฮอล์ถ้าใช้ให้ถูกวิธี มันคือดี แต่จริงๆ ไม่ต้องเป็นเบียร์ก็ได้นะ” เธอย้ำเรื่องเบียร์เป็นครั้งที่สอง

พร้อมทั้งเล่าถึงสิ่งที่คิดและวางแผนไว้สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่จะตามมาว่า จะมีโยคะเป็นพื้นฐาน และเติมส่วนผสมอื่นๆ เข้ามาเพื่อสร้างความแปลกใหม่ เช่นที่เคยทำมาแล้วกับอินดอร์ไซคลิ่ง (Indoor Cycling) และล่าสุดอย่างเบียร์ เธอก็มองว่า จริงๆ มาแล้วเดี๋ยวก็ไป หรือไม่ก็ต้องมีคนมาก๊อปปี้ ฉะนั้น หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ “ครีเอทีฟ” มากกว่า

“มันคือเรื่องของไลฟ์สไตล์ค่ะ หวานขายประสบการณ์ ไม่ได้ขายคลาสโยคะ เพราะวันนี้ เราต้องยอมรับว่า การจะไปออกกำลังกาย แล้วถ้าเราได้ไปยิมแพงๆ พออัพรูปในโซเชียล มันก็ดูหรู ดูดี ดูมีไลฟ์สตไล์ แล้วมันก็เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ให้คนรู้จักกัน เหมือนเวลาคนไปพูลปาร์ตี้กันนั่นแหละ แต่นี่คือเล่นโยคะ แล้วทุกคนยังมีสติอยู่นะ เพราะเรากำหนดว่า แอลกอฮอล์ได้เท่านี้นะ (1 ขวด) พอลดกำแพงให้คนมาทำความรู้จักกัน..

(แล้วกับเสียงค้านที่มองว่า เบียร์มันเป็นคนละเรื่องกับโยคะล่ะ?) นานาจิตตังค่ะ หวานไม่ได้ยัดเยียดขายคอร์ส ขายอีเวนต์ให้ลูกค้า แต่หวานขายไลฟ์สไตล์ ขาย Experience ให้ลูกค้า มันจะมีแฮชแท็กที่หวานเขียนไว้อยู่แล้วว่า It's not about work out. It's about lifestyle. หวานคิดว่า มันเป็นการขายไลฟ์สไตล์ การยึดถือหลักวิชาการเกินไปแล้วมันทำให้ธุรกิจเวิร์คหรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่ว่า หวานจะทิ้งวิชาการไปเลยนะ สิ่งที่เราทำมันผ่านการรีเสิร์ชและทดสอบด้วยตัวเองแล้วค่ะ ที่สำคัญ.. เอาจริงๆ นะ ถ้าวันนี้ หวานไม่ทำ เดี๋ยวก็มีคนทำอยู่ดี”

ในวันที่ได้คุยกัน (วันที่ภาครัฐยังไม่ได้ออกมาค้านและงัดข้อกฎหมายขึ้นมาเตรียมลงดาบ) เธอยอมรับว่า กิจกรรมครั้งนั้นประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องธุรกิจและชื่อเสียง โดยวันรุ่งขึ้น ก็มีพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ติดต่อเข้ามา จนคิดว่า จะต้องเพิ่มความถี่ของกิจกรรมจากเดือนละครั้งเป็นมากกว่านั้น จนถึงการหาพาร์ทเนอร์ในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีชาวต่างชาติอยู่เยอะ

  • สู่จักรวาลแห่ง ‘โยคะ’

จากในมุมของกฎหมาย ที่คงไม่ต้องถกกันให้มาก.. แต่ที่ดูจะเป็นข้อถกเถียงกันมากหน่อย ก็คือประเด็นที่ว่า

แค่เอาท่าโยคะมาใส่ อะไรๆ ก็เรียกว่า “... โยคะ” ได้แล้วหรือ ?

ในมุมมองของ กวี คงภักดีพงษ์ ครูสอนโยคะที่อยู่ในวงการมาหลายสิบปี พูดชัดเจนเลยว่า “มันคือคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง”

ก่อนจะอธิบายอย่างสังเขป ถึงการแจกแจงสิ่งที่เรียกว่า “โยคะ” โดยบอกว่า โยคะแบ่งออกเป็น 3 ยุคหลักๆ นั่นคือ ยุคแรก ราว พ.ศ.200 ซึ่งไดมีการรวบรวมขอมูลเขียนเปนคัมภีรขึ้นเป็นครั้งแรก โยคะยุคนั้นเป็นเรื่องของ “สมาธิ” และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมากระทั่งเข้าสู่ ยุคที่สอง พ.ศ.1900 โยคะ ซึ่งพัฒนามาสู่เรื่องของ “พลังงานชีวิต”โดยใช้ตำราคนละเล่มกับโยคะยุคแรก ทั้งนี้ ยุคที่สองนี่เองที่เริ่มมีท่าทางเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีไม่มาก เพียง 10-15 ท่าเท่านั้น

เมื่อมาถึง ยุคที่สาม คือ ตั้งแต่ พ.ศ.2460 จนถึงปัจจุบัน ยุคนี้เป็นยุคของ “โยคะประยุกต์” ซึ่งเป็นการผสานหลักการของโยคะสองยุคแรกไว้ด้วยกัน เป็นโยคะยุคออกกำลังกาย และเริ่มมีผสมผสานเทคนิคการออกกำลังกายเข้ามาในโยคะ เช่น ศาสตร์ของการเพะากล้าม, ยิมนาสติก, ศิลปะการดัดตน, ศิลปะการป้องกันตัว ฯลฯ

“จากโยคะที่เป็นนามธรรม คือ เพื่อฝึกสมาธิและพลังปราณ ต่อมาก็เริ่มมองหาสิ่งที่เป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องสุขภาพที่ดี กล้ามเนื้อแข็งแรง โยคะเพื่อความสวยงาม ลดความอ้วน ไปจนถึงโยคะเพื่ออวดแสดงตัวตน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาในร้อยปีมานี้เอง มันไม่ใช่โยคะเพื่อจิตอย่างแต่ก่อน แต่เบี่ยงเบนมาสู่การพัฒนาอัตตา และกลับมาที่คำถามว่า แล้วโยคะเบียร์ ถือ เป็นโยคะได้ไหม.. ถ้าเรายึดเอาหลักการของสองยุคแรก สิ่งนี้ถือว่า เหลวไหลโดยสิ้นเชิง เพราะทั้งสองยุค เป็นไปเพื่อการลดละวาง ขณะที่ผมดูในคลิป ผู้สอนกล่าวถึงคอนเซปหนึ่ง คือ ทำแล้วมีความสุข อันนี้ถือว่า ขัดแย้งกันเลยกับโยคะในตำราดั้งเดิม จริงๆ พูดไปแล้ว คนก็จะหาว่า ผมผูกขาดโยคะ เพราะคนจำนวนมาก มองโยคะอย่างที่มันเป็นกันอยู่ในวันนี้ และมองว่า คนที่เคารพความดั้งเดิมเป็นคนขวางโลก” ครูกวี กล่าว

และยกตัวอย่าง กิมมิคอื่นๆ อีกมากมายที่เคยถือกำเนิดขึ้นในคราบของ ‘โยคะ’ เช่น โยคะหัวเราะ ซึ่งเขามองว่า มันก็แค่ชื่อเรียกเพื่อให้ดูน่าสนใจ เพราะจริงๆ แล้วส่วนใหญ่จะมีศาสตร์ในเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว เช่น การหัวเราะบำบัด หรืออย่างโยคะทารกที่เคยโด่งดังอยู่พักหนึ่งเพราะถูกกระแสต่อต้านนั้น จริงๆ ก็มีศาสตร์ที่ว่าด้วยการ นวดสัมผัสทารก

“ทุกอย่างเขามีศาสตร์ของเขาอยู่แล้ว แต่พอเอาคำว่า โยคะ เข้ามาใส่ มันก็ดูน่าสนใจ ดูแปลกขึ้นมาทันที แต่ผมมองว่า เรื่องพวกนี้มันเป็นแค่แฟชั่นที่ทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วก็พูดได้เลยว่า มันมาแล้วเดี๋ยวก็ไป เพราะสังคมไทยเห่ออะไรกันเป็นพักๆ” ครูกวี วิเคราะห์

  • เมื่อโยคะคือการตลาด

แน่นอนว่า หลักการตลาดไม่ว่า ตำราไหนๆ “ความแตกต่าง” ย่อมถือเป็นหัวใจสำคัญที่นักการตลาดให้ความสำคัญอยู่เสมอ ในแวดวงโยคะก็เช่นกัน ที่ต่างยอมรับว่า พฤติกรรมผู้บริโภคขี้เบื่อ จึงต้องพยายามหาสิ่งแปลกใหม่เข้ามาสร้างความน่าสนใจ และดึงลูกค้าให้อยู่กับตัวเองไว้ให้ได้ 

“คนมองหาอะไรที่เป็นกระแสน่ะครับ สำหรับเราเองก็วางแผนว่า ในทุกไตรมาส จะต้องนำคลาสออกกำลังกายใหม่ๆ เข้ามาไม่ให้ขาด และในระยะหลัง คลาสในกลุ่ม Mind&Body ก็มาแรงมาก 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มาออกกำลังกายกับเรา จะสนใจเข้าคลาสในกลุ่มนี้ อย่างคลาส โยคะต้านแรงโน้มถ่วงที่เรามีอยู่ ซึ่งเป็นไม่กี่เจ้าในเมืองไทยที่ได้ลิขสิทธิ์มานั้น ก็ถือว่า ได้รับความนิยมสูงมาก ซึ่งก็ยอมรับว่า นอกจากประโยชน์ในเรื่องสุขภาพแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญ ก็คือ การมาเล่นโยคะต้านแรงโน้มถ่วง ได้มาห้อยโหนตีลังกา มันได้ภาพของความชิคๆ คูลๆ และอวดคนอื่นได้” โอฬาร พิรินทรางกูร ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย บริษัทเวอร์จิ้นแอ็คทีฟ จำกัด ให้ความเห็น

คล้ายกันกับความเห็นจาก พวงเพ็ชร คงอยู่ ฟิตเนสซูเปอร์ไวเซอร์ ประจำ Lifestyles On 26 ของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ซึ่งมีจุดขาย คือ “ฟลาย โยคะ” ก็มองไม่ต่างกันว่า การได้เล่นโยคะที่มีความหวือหวามากขึ้น ที่สำคัญ คือ ยากขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์มากขึ้นแล้ว ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ความท้าทายได้แข่งกับตัวเอง ทดสอบศักยภาพของตัวเอง และมีผลตอบแทน เป็นร่างกายที่ดีขึ้น และยอดไลค์ถล่มทลาย

และด้วยประสบการณ์การสอนกว่าสิบปีของ ครูพิม-พิมพ์รัตน์ เสวตเวชากุล ผู้ก่อตั้งและครูสอนที่ Yoga Space เธอคืออีกคนที่เห็นค้านอย่างจริงจังกับการเอาเบียร์มาพ่วงเข้ากับโยคะ โดยแม้เธอจะยอมรับว่า ยุคนี้การตลาด หรือ การสรรหาความแปลกใหม่คือสิ่งสำคัญ แต่ก็ควรมีขอบเขตจำกัด และที่สำคัญ คือ ไม่หลงลืม แก่นแท้ของสิ่งนั้นๆ

“ที่ผ่านมา โยคะมันมีความหลากหลายมาเยอะมาก ทั้งฟลายโยคะ, บอลโยคะ หรืออะไรก็ตามที่เอาเข้ามาเกี่ยวข้องกับโยคะ นั่นเป็นเพราะสังคมไทยชอบความแปลกใหม่ อะไรที่แปลก มันก็น่าสนใจ อะไรที่มันเป็นเทรนด์ เป็นกระแส คนไทยจะไม่ยอมปล่อยไป มันก็เลยเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา แล้วยิ่งมาบวกกับสังคมโซเชียล ที่พอทำท่าแปลกได้ คนก็แห่มาคลิกไลค์ คนมองแค่เปลือก โดยไม่ได้สนใจว่า ก่อนที่เขาจะทำท่านี้ได้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันคือความหมายที่แท้จริง แต่คนไม่สนใจมันหรอก ขณะที่ในฝั่งคนเล่น เอาจริงๆ เขาก็ไม่ได้หวังที่จะหลุดพ้นอยู่แล้ว อยากหลุดพ้นเขาก็ไปวัดสิ แต่ที่เขามาเล่นโยคะก็เพราะเขาอยากมีสุขภาพดี อยากหายปวดหลัง ซึ่งเราก็เข้าใจเขา แต่ก็จะพยายามให้เขารับแก่นของโยคะเข้าไปด้วยระหว่างสอน” ครูพิมเล่า

และยกตัวอย่าง การเอาโยคะมาฟิวชั่นในเส้นแบ่งที่ยอมรับได้ คือ เช่นในสิงคโปร์ ก็มีกิจกรรม โยคะและไวน์เทสติ้ง แต่เป็นการเทสต์ไวน์หลังจากเล่นโยคะเสร็จแล้ว ซึ่งเชื่อว่า จะเปิดสัมผัสให้รับรู้รสได้มากขึ้น เป็นต้น

“มีใครยกเวทไปถือขวดน้ำกรอกไปมั้ยล่ะ.. ไม่มีหรอก อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่มีใครทำได้หรอก มันเสียสมาธิ ถามว่า สมาธิจะอยู่ที่ลมหายใจ หรืออยู่ที่การกรอกเบียร์เข้าปากล่ะ” เธอตั้งคำถาม

พร้อมย้ำหนักๆ ถึงกิจกรรมโยคะที่เธอมองว่า “ล้ำเส้น” ว่า.. “ครูเขาสอนนักเรียนกินเหล้าในคลาสเหรอ?”

ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะกางตำราไหน ยกหลักการใดขึ้นมาคัดง้าง.. “ผู้เล่น” ก็เป็นอีก “หมุด” ที่สำคัญ ที่จะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เล่นแล้ว.. ต้องการอะไร