ทางโต ทางตัน ‘Talad Invoice’

ทางโต ทางตัน  ‘Talad Invoice’

เป็นเอสเอ็มอีอยู่ในแวดวงโลจิสติกส์มาเป็นสิบปี จึงรู้ดีว่าปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอี (ทั่วโลก)ก็คือ “ขาดเงินหมุนเวียน” เมื่อคิดจะกู้ธนาคารก็กู้ยากเพราะไม่มีหลักทรัพย์ ต่อให้กู้ได้ก็มักจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง

ในปีที่ผ่านมา “เวทวิบูล ภูมิผิว” ได้ก่อตั้ง ตลาด อินวอยซ์ ( Talad Invoice) โซลูชั่นที่ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ทั้งหวังจะเป็นตลาดกลางในการซื้อขายอินวอยซ์ระดับโลกที่มีความปลอดภัย ประการสำคัญมันเป็นสตาร์ทอัพไม่ใช่เอสเอ็มอี


"สตาร์ทอัพเป็นการเอาปัญหาที่มีอยู่มาเป็นที่ต้้งและต้องตอบโจทย์ให้ได้ ต้องทำโปรดักส์มาร์เก็ตฟิต ลองเทสต์ตลาดถ้าไม่เวิร์คก็ต้องปรับใหม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มันดีในเรื่องการสเกล เอสเอ็มอีกว่าจะขยายได้แต่ละสเต็ปๆ มันยากทั้งเรื่องคน เงินทุน อะไรอีกหลายๆอย่าง สตาร์ทอัพมีเทคโนโลยีช่วยทำให้การทำงานง่ายขึ้น สเกลได้ง่ายขึ้น นำสินค้าบริการสู่ตลาดได้เร็วขึ้น"


โจทย์ที่มองเห็นก็คือ ทางฝั่งเอสเอ็มอียังขาดเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่ทางฝั่งนักลงทุนเองก็มีความทุกข์ไม่แพ้กัน เนื่องจากยังมองไม่เห็นวิธีทำให้เงินงอกเงยอย่างที่ใจนึกอยากให้เป็น

“เวลานี้นักลงทุนจะลงทุนหุ้นก็เสี่ยง ถ้าเป็นกองทุนรวมก็ยาวไป หรือจะไปลงตั๋วบีอีเผลอๆตอนนี้ก็เสี่ยงเพราะประธานาธิบดีทรัมป์คิดจะทำอะไรก็ไม่มีใครรู้มี หรือถ้าฝากเงินกับแบงก์ก็รู้ๆกันอยู่ว่าดอกเบี้ยน้อย”


แต่ถ้าเพิ่มโอกาสลงทุนตรงนี้ นักลงทุนเองก็มีโอกาสได้รับดอกผลที่มากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น นักลงทุนต้องบริหารความเสี่ยงเอง เป็นผู้ตัดสินใจเอง
เขามองว่า โมเดลธุรกิจนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างได้รับผลประโยชน์ นักลงทุนแทนที่จะเก็บเงินไว้ที่ธนาคารรับดอกเบี้ยต่ำๆ ก็เอาเงินมาช่วยเอสเอ็มอีไทยแถมได้ดอกเบี้ยเพิ่มมากกว่าเดิม เอสเอ็มอีเองก็ได้เงินไปหมุนเวียนไม่ต้องรอเครดิตเทอมที่ยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ตลาด อินวอยซ์ ไม่ได้การันตีว่าในการลงทุนนี้จะปลอดภัยหรือได้ผลดี 100% เนื่องจากจะทำหน้าที่เป็นเพียง “ตลาดกลาง” สำหรับเอสเอ็มอีและนักลงทุนซึ่งเป็นผู้ซื้อผู้ขายเท่านั้น


"มันเป็นเหมือนการลงทุนทั่วไป ที่ไม่สามารถการันตีได้ว่าลงทุนแล้วจะได้กำไรหรือเปล่า แต่สิ่งหนึ่งที่การันตีได้ คือระบบของเราจะมีการทำประกันให้กับทุกอินวอยซ์ที่ผ่านเครดิตสกอร์ริ่งเข้ามาแล้วโพสต์ขายในตลาดของเรา มีอันนี้ที่เราโพรเท็คเงินให้นักลงทุน ถ้าลงทุนแล้วมีอะไรเกิดขึ้นเขาจะได้รับเงินต้นคืนแน่นอน"


ในกรณีของเอสเอ็มอี การนำเอาอินวอยซ์มาประกาศขายแล้วจะได้เงินหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอินวอยซ์ ซึ่งเมื่อมีการสกรีนแล้วก็มักพบว่าอินวอยซ์ที่มีคุณภาพจะมีอยู่เพียงแค่ 20-30% ซึ่งตลาด อินวอยซ์เองก็ต้องการสร้างชื่อว่าเป็นตลาดที่ขายโปรดักส์ที่มีคุณภาพ


ทำนองเดียวกับห้างสรรพสินค้าไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัลหรือเดอะมอลล์ ที่เวลาเลือกสินค้าเข้ามาขายในห้างฯแต่ละทีก็ต้องแน่ใจว่าเป็นของดี ไม่ใช่ของเก๊


"ไคทีเรียของเราในการเลือกลูกค้าเอสเอ็มอีมีอยู่ 2-3 ข้อ หนึ่ง เป็นธุรกิจที่ต้องใช้แคสโฟร์ค่อนข้างสูง สอง เป็นอินวอยซ์ที่มีเครดิตค่อนข้างยาว 30-60-90 วัน และ สามต้องไม่มีการใช้เครดิตโน๊ต เช่นมีอินวอยซ์หนึ่งล้านแต่มีเครดิตโน๊ตหน้าเช็คว่าต้องลดหนึ่งแสน"


โดยปริยายเมื่อกำหนดข้อพิจารณาอย่างนี้ ทำให้ตลาด อินวอยซ์ สามารถโฟกัสกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีได้ว่าเป็นโลจิสติกส์ เพราะต้องใช้แคสโฟร์สูงอีกทั้งยังมีความคุ้นเคย รวมถึงธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่น่าเชื่อว่าอินวอยซ์จะมีเครดิตยาวถึง 6 เดือน และธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งแต่ละวันต้องมีเงินจ่ายค่าแรงงาน เป็นต้น


อีกหนึ่งหลักเกณฑ์พิจารณาที่สำคัญและช่วยทำให้อินวอยซ์ขายได้ง่ายขึ้นก็คือ ต้องดูว่าลูกหนี้อินวอยซ์ของเอสเอ็มอีเป็นใคร เรียกว่ายิ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง มีความมั่นคงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี


เวทวิบูลบอกว่า ดังนั้นที่ต้องเลือกคือ บลูชิฟคอมพานี ถ้าเป็นเมืองไทยก็คงเป็น ปตท. ซีพี หรือเอสซีจี เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบที่มาที่ไปได้ชัดเจน หรือบริษัทที่มีสาขาทั่วโลก เช่นดีเอชแอล หรือทีเอ็นที ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก ที่สุดแล้วอินวอยซ์ต้องขายได้ตัวของมันเอง


"สำหรับเอสเอ็มอีถ้าเขาขาดเงินปุ๊บ ก็จะเกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพงานตามมา เราเองอยากให้การดำเนินการมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนจ้างงานหรือเอสเอ็มอีเองจะได้ไม่สะดุด จริงๆแล้วคอนเซ็ปต์เราคล้ายกับแฟ็กเตอริง แต่แทนที่จะเป็นเงินทุนของเราเอง เราเปิดให้นักลงทุนรายย่อยเป็นใครก็ได้ที่ไม่โอเคกับดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนของเขาเพิ่มมากขึ้น แต่ย้ำว่าเราไม่ใช่แชร์ลูกโซ่"


ที่ผ่านมา ตลาด อินวอยซ์ ได้มีการ “ซอฟท์ลอนซ์” ไปแล้ว ซึ่งเวทวิบูลบอกว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็รับรู้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเทสต์ระบบและดูถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจแต่อยู่ภายในสิ่งแวดล้อมแบบปิด โดยการเชิญชวนให้เอสเอ็มอีและนักลงทุนที่รู้จักมักคุ้นเป็นเพื่อนฝูงกันให้มาทดลองใช้ ผลก็คือระบบของตลาด อินวอยซ์ สามารถทำขั้นตอนต่างๆได้เร็วที่สุดประมาณ 6 ชั่วโมง แต่ยาวที่สุดก็ 48 ชั่วโมง แต่ที่เขาได้ตั้งเคพีไอไว้ก็คือจะพยายามไม่ให้เกิน 24 ชั่วโมง


"ถ้าถามถึงบทเรียนที่ได้รับตอนที่ทดลองระบบ คงเป็นคำถามที่ว่า คุณคือใคร เพราะเราต้องโทรไปหาลูกค้าของเอสเอ็มอี ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นหลักการแฟ็กเตอริง ทางแบงก์จะทำหน้าที่โทรไป ทางลูกค้าเขารู้จักอยู่แล้วก็จะบอกว่าโอเคๆ แต่เพราะบริษัทเราที่ทำตลาด อินวอยซ์ชื่อว่า ดีไนน์ตี้แคปปิตอล ที่ใหม่ในเรื่องการเงิน เขาก็ห่วงว่าถ้าจ่ายเงินให้เราแล้วภาระหนี้ของเขาจะหมดหรือเปล่า "


ถามว่าวางโรดแมพตลาด อินวอยซ์ไว้อย่างไร เขาบอกว่าความตั้งใจก็คือ ธุรกิจนี้จะต้องขยายไปได้ทั่วโลกเพราะปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนของเอสเอ็มอีนั้นเป็นปัญหาระดับโลก แต่จะเริ่มต้นที่ภูมิภาคเอเชียก่อน นอกจากไทยแล้ว เวลานี้เขาจับมือกับพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อจะเปิดตลาดในประเทศเวียดนามภายในปีนี้


"เรายังมีพาร์ทเนอร์และวางแผนจะเปิดตลาดที่ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งญี่ปุ่นไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินกู้ แต่มีปัญหาทางฝั่งของนักลงทุน ดอกเบี้ยเงินฝากของเขาอยู่แค่ 0.15% โดยเรามองแต่ละตลาดต่างกันตลาดนี้เป็นฝั่งซัพพลาย อีกตลาดเป็นดีมานด์ เพราะมีดีเทลที่ต่างกัน แล้วเราก็เอามาแมพกัน"


วางแผนจะระดมทุนหรือไม่ ? เขาบอกว่าถ้าต้องการจะสเกลก็ต้องมีเรื่องนี้อย่างแน่นอน ซึ่งเวลานี้เขาได้ไปคุยกับวีซี 2-3 รายแล้ว แต่ก็อาจติดขัดตรงที่ตลาด อินวอยซ์ ยังไม่สามารถขยับทำอะไรได้เพราะยังติดขัดในเรื่องข้อกฏหมาย

กติกาพาติดหล่ม


เพราะเศรษฐกิจไทยยังตกสะเก็ดอยู่ เวทวิบูลมองว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีทองและดีที่สุดถ้าได้เปิดตัวตลาด อินวอยซ์ภายในปีนี้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมองเห็นทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลายที่ชัดเจนอยู่ตรงหน้า แต่เขากลับยังไม่สามารถขยับทำอะไรได้


"เราคุยกับแบงก์ชาติตอนต้นปี ตอนแรกเราจะขอเข้าแซนด์บ็อกซ์ แต่เขามองว่าธุรกิจของเราออกแนวเพียร์ทูเพียร์ซึ่งจะมีกฏหมายออกมารองรับเร็วๆนี้ แต่เรามองว่าธุรกิจเราไม่ต้องใช้หลักทรัพย์น่าจะเหมือนกับแฟ็กเตอริงมากกว่า ทำให้เรื่องของเราถูกส่งไปที่ก.ล.ต เพราะมันไปเกี่ยวกับนักลงทุนรายย่อย ตอนนี้เราก็ยังรออยู่ ซึ่งผมบอกตรงๆว่า ที่สุดแล้วเราแค่อยากรู้ว่ามีอะไรที่เราทำได้หรือไม่ได้ เพื่อจะได้ปรับเงื่อนไขให้ตรงและเปิดดำเนินการได้ เพราะเวลานี้เรามีทีมทำงาน มีต้นทุน"


ตลาด อินวอยซ์ เป็นอีกหนึ่งทีมสตาร์ทอัพที่เข้าโครงการ “สปาร์ค” ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งเวทวิบูลยอมรับว่า เป็นโครงการที่ทำให้เขามองเห็นโอกาสธุรกิจที่ใหญ่กว่าตลาดไทย นำไปสู่การวางแผนตลาดทั้งในและนอกประเทศไปพร้อมๆกัน


และหากติดข้อกฏหมายจนยังไม่สามารถทำอะไรได้จริงๆ ในไทย ทางเลือกของเขาก็คือ การไปต้้งบริษัทที่ประเทศสิงค์โปร์หรือไม่ฮ่องกง และจะประเดิมเวียดนามเป็นตลาดแรก เพื่อสร้างรายได้ไปโชว์กับทางวีซีให้พิจารณาสนับสนุนเงินลงทุน