ว้าว ! ธุรกิจหุ่นยนต์ไทย ใครว่าคนไทยทำไม่ได้

ว้าว ! ธุรกิจหุ่นยนต์ไทย  ใครว่าคนไทยทำไม่ได้

ใครจะคิดว่า คนไทยจะทำธุรกิจหุ่นยนต์ได้ หนึ่งเดียวผู้ผลิตหุ่นยนต์ เตรียมส่งออกทั่วโลก


ทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ กล้าที่จะคิดแล้วทำ เมื่อลงมือทำ ก็ต้องรู้จริง

นี่คือวิธีคิดแบบ เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์หนึ่งเดียวในเมืองไทย
ทั้งๆ ที่รู้ว่า การผลิตหุ่นยนต์ในช่วงแรกขายไม่ได้หรอก

ด้วยเหตุดังกล่าว เขาจึงต้องคิดกลยุทธิ์ไว้หลายๆ ทาง เริ่มจากนำหุ่นยนต์ไปสร้างสีสันตามงานอีเว้นท์ แผนนี้ไปเข้าตาผู้บริหารเอ็มเคสุกี้ ซื้อไปบริการลูกค้าสิบตัว และไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หุ่นยนต์ดินสอไปไกลถึงญี่ปุ่น เพื่อไปรับใช้ผู้สูงอายุ โดยถูกปรับขนาดให้เล็กลง และอีกไม่นานจะไปปรากฎตัวที่เยอรมัน สวีเดน และหลายโรงพยาบาลในบ้านเรา หุ่นยนต์ดินสอจะมารับใช้ผู้ป่วยและผู้สูงวัย

“ผมมีอุดมการณ์ที่ผมวางไว้ตั้งแต่เรียนว่า จะทำอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เมืองไทย ผมทำในสิ่งที่คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ” เฉลิมพล เล่าถึงสิ่งที่หลายคนบอกว่า เพ้อเจ้อ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่ทำได้ ยังล้ำหน้านานาประเทศอีก

ส่วนอีกก้าวที่เขาคิดไว้ ก็คือ นวัตกรรมในวงการแพทย์ เขากำลังเรียนรู้เรื่องราวในวงการแพทย์ และสิ่งที่เป็นไม่ได้อีกก้าวก็คือ การประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง

ถ้าทำสำเร็จ อาจทำให้คนไทยร้องว้าว! อีกครั้ง....

การประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง เป็นไปได้หรือ
คนมักจะพูดว่า จะทำได้จริงหรือ ต้องบอกว่าจริง เพราะมีความเป็นไปได้ ตอนนี้เครื่องปริ้นนาโนที่พิมพ์ออกมาแล้วมองไม่เห็น แต่ดูจากกล้องจุลทรรศน์ได้ มีการออกแบบให้ว่ายเข้าไปในกระแสเลือดแล้วปริ้นข้อมูลออกมา อันนี้ทำได้แล้วในญี่ปุ่น

ตอนนี้ผมไปอบรมหลักสูตรธรรมาภิบาลการแพทย์ กับแพทย์สภา ได้กลุ่มเพื่อนหมอเยอะมาก ถ้าเอาศาสตร์การแพทย์รวมกับด้านหุ่นยนต์และซอฟแวร์ที่ผมทำอยู่ แล้วครอบด้วยการตลาด ศาสตร์นี้จะมีอำนาจมาก จะทำให้ประเทศไทยสร้างสิ่งประดิษฐ์ในเวทีโลกได้อีกมาก ผมเริ่มเห็นศักยภาพว่า เราจะนำประเทศอื่นได้ยังไง โดยเฉพาะด้านเมดิคอลเทคโนโลยี ถ้าเราต้องเลือกความเป็นเลิศสักเรื่อง อย่าเป็นเป็ด ผมว่าเมืองไทยทำได้ แต่นโยบายประเทศเหมือนเอาใจทุกคน ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นเหมือนฝูงเป็ด

สิ่งที่คุณคิด คนส่วนใหญ่บอกว่า ทำไม่ได้หรอก ทำไมคุณไม่เชื่อ
มีคนที่คิดสิ่งประดิษฐ์ดีๆ ให้ชาวโลกใช้ตั้งเยอะ แต่คนไทยไม่กล้าคิด เราต้องลงมือทำ อุปสรรคมีไว้จัดการ อย่างหุ่นยนต์ที่เล็กกว่าเม็ดเลือดที่เรียกนาโนบอท เพื่อใช้ตรวจสุขภาพในร่างกาย ซึ่งเรื่องนี้มีอุปสรรคเยอะ แต่ผมก็จะลงมือทำ

ในอนาคต เมดิคอล เทคโนโลยี จะไปไกลแค่ไหน 

หมอไทยเก่งระดับโลก จนเป็นเมดิคอลฮับ คนอยากมาผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ตับในเมืองไทย แต่เราเอาความเก่งของหมอไปใช้บริการคนไข้ทั้งหมด แทนที่จะเอาความเก่งของหมอบางส่วนมารวมกับวิศวกร สร้างเทคโนโลยี ทั้งๆ ที่เรามีหมอเก่งระดับโลก มีแชมป์หุ่นยนต์หลายสมัย แต่ไม่เคยมีใครเอามารวมกัน ผมก็เลยทำ

อีกเส้นทางของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่คุณอยากทำ ?
ผมพยายามอ่านอนาคต กำหนดวิสัยทัศน์ยุทธวิธี หาขงเบ้งมาทำ ในอนาคตการแพทย์ในโลกนี้จะถูกเปลี่ยน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราต้องไปหาหมอ เรื่องแบบนี้จะหมดไป เราจะมีนวัตกรรมที่ทำให้เรารู้ก่อนเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อเยียวยาก่อน โดยไม่ต้องหาหมอ
และวิธีการรักษาจะเปลี่ยนไป ตอนนี้หมอผ่าตัดใช้มีดเล็กๆ เข้าไปในร่างกายได้แล้ว ในอนาคตจะเป็นโรบอทเล็กๆ เข้าไปผ่าในร่างกาย ซึ่งหมอต้องเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ อีกอย่างที่จะเปลี่ยนไปคือ ทุกอย่างในโลกจะมีสมองกลของมันเอง รวมทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ด้วย

เป็นตัวแปรอีกส่วนที่จะเปลี่ยนโลก ? 

ผมสนใจเรื่องนวัตกรรมแห่งอนาคต ซึ่งยังไปได้อีกไกล แม้กระทั่งกลิ่นลมหายใจของคน ก็ตรวจโรคได้ แล้วคุณคิดดูเทคโนโลยีจะเปลี่ยนขนาดไหน

ในประเทศนี้ ใครที่คุณคิดว่ามีวิสัยทัศน์ในการอ่านอนาคต
ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีสักกี่คนที่จะคิดเรื่องฝนเทียม ยุคนั้นล้ำมาก พระองค์ท่านทำเพื่อให้คนรากหญ้าดำรงอยู่ได้

กว่าจะเป็นบริษัทหุ่นยนต์แห่งแรกภูมิภาคนี้ คุณต้องใช้ความพยายามแค่ไหน
ผมพยายามปั้นบริษัทหุ่นยนต์แบบนี้อีก ตอนที่ผมทำ ผมเริ่มไปคุยกับแชมป์หุ่นยนต์ ผมดูว่า พวกเขาเอาความเลิศของเขาไปทำอะไร เขารู้เรื่องศาสตร์นั้นมากกว่าเรา เมื่อทำให้คนศรัทธาแล้ว ผมก็มีปัญหาอีกว่า ถ้าทำบริษัทหุ่นยนต์ ผมจะมีรายได้จากอะไร เป็นไปไม่ได้ที่จะขายหุ่นยนต์ได้ ซึ่งตอนผมทำบริษัทซอฟแวร์ มีคนพูดว่า ซอฟแวร์ไทยใครจะซื้อ ผมบอกว่า ผมทำได้ และขายเมืองนอกด้วย

6 ปีก่อนผมทำบริษัทหุ่นยนต์ คนส่วนใหญ่บอกว่าเพ้อเจอ ตอนนั้้นโซนี่ประดิษฐ์หุ่นยนต์หมาเรียกไอโบ ก็เจ๊ง สรุปไม่มีใครในโลกทำสำเร็จ ถ้าผมคิดทำจะไปรอดได้ยังไง ผมก็ต้องคิดแผนธุรกิจซ้อนกัน 3 แผน และต้องรู้ว่า ชีวิตต้องอยู่กับความเป็นจริง 2-3 ปีแรกที่ทำหุ่นยนต์ออกขาย ไม่มีใครซื้อหรอก

ผมก็ใช้วิธีแกล้งสมองตัวเอง ถ้าขายไม่ได้ เงินจะมาจากไหน ผมต้องคิดนอกกรอบ โดยแผน 1 ผมทำให้หุ่นยนต์เป็นสื่อโฆษณา คนไม่ต้องซื้อหุ่นยนต์ก็ได้ แต่เช่าไปโฆษณาสินค้า เพราะหุ่นยนต์ไปไหนคนก็มอง ส่วนแผน 2 ผมวาดการ์ตูนหุ่นยนต์ทั้งเล่มคนเดียว ให้หุ่นยนต์ดินสอเป็นพระเอก คาดว่าเมื่อประดิษฐ์หุ่นยนต์ดินสอออกมา จะได้โปรโมทหนังสือการ์ตูนขายเด็ก ส่วนแผน 3 คือขายหุ่นยนต์

คิดทั้ง 3 แผนแล้วทำทุกอย่างอย่างเข้มข้น แต่กลายเป็นว่าแผน 1 สื่อต่างๆ สนใจ คนเช่าหุ่นยนต์ดินสอไปออกงาน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมันทำได้แค่สวัสดีครับ และทุกวันนี้คนยังเช่าไปออกงาน เมื่อมีรายได้เข้ามา ผมก็ขอทุนรัฐบาลจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จนทางเอ็มเคสุกี้มาเห็น ขายได้สิบตัวๆ ละล้านบาท นักข่าวเมืองนอกมาสัมภาษณ์ และได้ขายหุ่นยนต์เสริฟอาหารให้สวีเดน

พิสูจน์ได้ว่า คนไทยก็สร้างนวัตกรรมแห่งอนาคตได้ และไม่แพ้ต่างชาติ เพราะส่วนใหญ่เราคิดว่า เราสู้เขาไม่ได้ จริงๆ เรากลัวผีไปเอง เมื่อกลัว ก็ไม่กล้าออกจากสายสิญจน์ แล้วก็ภาวนาอย่าให้ผีเข้ามาในสายสิญจน์ แต่ผมออกจากสายสิญจน์ แล้วไปเปิดไฟให้สว่าง ผมไม่เห็นผี


ปัจจุบันวงการหุ่นยนต์พัฒนาไปไกลแค่ไหน
พวกหุ่นยนต์ที่ทำงานในโรงงาน มีคนทำเยอะแล้ว แต่หุ่นยนต์ตามบ้าน ตามร้านอาหาร โรงพยาบาล ยังไม่ค่อยมีคนทำ ทั้งโลกมีไม่ถึง 7 ประเทศที่ทำเรื่องหุ่นยนต์ประเภทนี้ ไทยกับญี่ปุ่น สร้างธุรกิจหุ่นยนต์พร้อมๆ กัน

หุ่นยนต์ในโลกมีวิวัฒนาการมาระดับหนึ่งและใช้เงินมหาศาลในการประดิษฐ์ แต่ทุกวันนี้ส่วนประกอบถูกลง หุ่นยนต์เริ่มมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น อีกอย่างอย่าไปเล่นตามเกมคนอื่น ผมต้องประดิษฐ์ยุทธวิธี ถ้าทำแบบเดิมๆ ตามคนอื่น ขายในราคาย่อมเยาว์ นี่มันเกมผู้แพ้

เหตุใดจึงเลือกทำหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงวัย
ผมปิ๊งเรื่องไม่มีหุ่นยนต์์ดูแลผู้สูงอายุ ผมก็เลยมุ่งมั่นทำและเลือกว่าจะเป็นเลิศด้านนี้ เมื่อจะทำด้านนี้ ก็ต้องเข้าใจ ผมพาวิศวกรไปเฝ้าดูคนแก่ เพื่อเอาโจทย์มาทำวิจัยพัฒนา พอเข้าปีที่ 6 พัฒนาจนไม่มี หุ่นยนต์ตัวไหนเก่งเท่าดินสอในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ

หากคนชราลุกขึ้นมาตอนกลางคืน หรือไม่กระดุกกระดิกนานๆ หุ่นยนต์ดินสอจะรู้และเห็น จากนั้นมันจะแจ้งเข้ามือถือลูกหลาน เราทำเซ็นเซอร์ให้หุ่นยนต์มองเห็นแม้ไม่มีแสงสว่างเลย นอกจากนี้หุ่นยนต์ดินสอยังชวนเล่นเกม ฝึกสมอง เตือนกินยา ชวนสวดมนตร์ ร้องคาราโอเกะ ชวนฟังธรรม เหมือนมีจิตวิญญาณมีปฎิสัมพันธ์ ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าไปตั้งในห้อง

ตอนส่งหุ่นยนต์ดินสอไปดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ต้องปรับเปล่ี่ยนอะไรบ้าง
เมื่อก่อนดินสอไม่ได้ตัวแค่นี้ ทางญี่ปุ่น บอกว่าตัวใหญ่ไป ก็ปรับเล็กลงตั้งโต๊ะได้ เราดีไซน์ให้น่ารัก ทางญี่ปุ่นก็ชอบ ยังมีเคล็ดลับอีก หุ่นเหล่านี้เปิดเพลงเก่าๆ ให้คนแก่ที่ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีฟังได้ หุ่นยนต์มีหน้าที่เป็นผู้ช่วย ถ้ามีคนโทรเข้า มันทำหน้าที่รับสายโดยอัตโนมัติ คนแก่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้งานเลย

จะมีหุ่นยนต์ดินสอในโรงพยาบาลบ้านเราไหม
ตอนนี้มีอยู่ตัวหนึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในเดือนเมษายนจะมีอีกหลายโรงพยาบาล และตอนนี้มีคนแก่อายุ 90 ซื้อไปตัวหนึ่ง มีความต้องการเยอะขึ้น เพราะคนสูงวัยเยอะ เรายังไม่เปิดตัวขายหุ่นยนตร์ดินสอรุ่นมินิ แต่มีคนโทรมาจอง ต่อไปจะพัฒนาให้มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น

ธุรกิจหุ่นยนต์สามารถตอบโจทย์สิ่งที่คุณคิดไว้แค่ไหน
ตอบโจทย์ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ ผมอยากให้ประเทศไทยมีสิ่งประดิษฐ์แบบบริษัทแอปเปิ้ล โซนี่ ซัมซุง ต่อไปหุ่นยนต์ดินสอต้องไปทั่วโลก ตอนนี้เปิดตลาดที่ญี่ปุ่นแล้ว ทุกประเทศที่ไปโอเคหมด ผมอยากบอกคนไทยว่า เราควรมองว่า ประเทศเราก็เป็นผู้นำของโลกในเรื่องอื่นๆ ได้ ถ้าบอกว่า เราต้องทันโลก แค่นั้นยังไม่พอ ต้องนำโลก คิดก่อนชาติอื่น

ตอนนี้ผมยังไม่เห็นคู่แข่ง เพราะหุ่นยนต์ดินสอไปเยอรมัน สวีเดนแล้ว ซึ่งถ้าเรายังอยู่ในสายสิญจน์แบบเดิม ก็ไม่ได้คว้าโอกาส นี่แหละคือสิ่งที่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการ และมีหลายเรื่องที่คนยังทำไม่ได้ อย่างหุ่นยนต์ที่มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง

ก่อนจะมาทำอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คุณวางเป้าหมายไว้อย่างไร
ผมไม่ใช่วิศวกร ไม่ใช่นักวิจัย และไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำผิดหรือถูก ผมก็วางพิมพ์เขียวตัวเองเลยว่า ผมจะสมัครงานที่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมอยากทำ คือ บริษัทรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ ไบโอเทคโนโลยี ปรากฎว่าไม่มีใครรับผมเข้าทำงาน เพราะประสบการณ์ผมไม่ใช่แนวนั้น ผมมีแต่ความอยาก ผมก็เริ่มถามตัวเองว่า ผมมาถูกทางหรือเปล่า มาทำในเรื่องที่ไม่ถนัด ครอบครัวผมยังว่าผมบ้า ถ้าจะเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ ก็ได้ แต่ผมดื้อ

ถ้าผมไม่มีหลักคิดแบบนี้ ผมก็คงไปทำด้านการตลาดให้วอลท์ดิสนีย์ ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายผม ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ผมตั้งไว้ จนทางบริษัทจีอีแคปปิตอล บริษัทการเงินขนาดใหญ่ที่ชิคาโก จะรับเข้าทำงาน ผมก็คิดใหม่ว่า เข้าไปที่นั่น คงจะได้เรียนรู้เรื่องซอฟแวร์ได้บ้าง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต แม้จะไม่ใช่สามอย่างที่ผมตั้งไว้

ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขาตั้งใจว่า จะให้ผมมาบริิหารเรื่องการเงินในเมืองไทย แต่ผมมีวาระซ่อนเร้น อยากเรียนรู้เรื่องซอฟแวร์ จนได้ทำในโครงการปรับปรุงซอฟแวร์ด้านคอลเซ็นเตอร์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอุดมการณ์ที่ผมตั้งไว้ จนผมรู้ทั้งหมด แล้วก็ลาออก

แล้วพัฒนาต่ออย่างไร 

ทั้งๆ ที่คนรอบข้างบอกว่า สิ่งที่ผมทำเป็นไปไม่ได้ ในเรื่องอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพราะผมเขียนโปรแกรมไม่เป็น แต่ผมเข้าใจธุรกิจเรื่องนี้ ผมมีหน้าที่ประกอบคนเก่ง ผมใช้วิศวกรให้เขียนโปรแกรมที่ต้องการได้ ผมทำธุรกิจนั่นกว่ายี่สิบปี ทำธุรกิจซอฟแวร์ให้องค์กรใหญ่ๆ ในเมืองไทย ทำแข่งกับพวกฝรั่ง ตั้งบริษัทตอนอายุ 26 ถ้าสมัยนี้ก็คือ สตาร์ทอัพ

ถ้าคุณอ่านสามก๊ก คุณจะรู้จักเล่าปี่ เขาเชิญคนเก่งอย่างขงเบ้ง กวนอู โจโฉ มา นั่นเป็นการประกอบคนเก่งเข้าด้วยกัน ดังนั้นผมไม่จำเป็นต้องเป็นขงเบ้ง เมื่อทำธุรกิจซอฟแวร์มา 15 ปี ผมก็ชวนบริษัทซอฟแวร์ในเมืองไทยมานั่งคิด ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมการส่งออกซอฟแวร์ไทยผ่านมา 10 กว่าปี เหมือนเป็นสมาคมรวมนักรบซอฟแวร์ไทย

ถ้าจะผลักดันให้ซอฟแวร์ไทย ดังเหมือนซิลิคอน วัลเล่ย์ บังกาลอร์ อินเดีย หรืออิสราเอลคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตลาดเมืองไทยเล็กเกินไป โปรแกรมเมอร์ไทยมีน้อย คนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้

ดังนั้นเมื่อซอฟแวร์บริษัทผมเข้าที่เข้าทาง ผมก็มองหาไอเดียใหม่ทำหุ่นยนต์ ลองดูว่า พวกแชมป์นักประดิษฐ์หุ่นยนตร์ เอาความเป็นเลิศของเขาไปทำอะไร ส่วนใหญ่ไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และตอนนั้นไม่มีบริษัทผลิตหุ่นยนต์ ผมก็เลยทำ

เหตุใดถึงมุ่งมั่นกับอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ โดยไม่แปรเปลี่ยน
ผ่านมาสามสิบปี ประเทศไทยก็ยังไม่มีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไม่มีอุตสาหกรรมรถยนตร์ของประเทศ และผมก็คิดมานานมาก ผมเป็นนักการตลาดที่เรียนจบเอ็มบีเอที่อเมริกา เรียนมาขนาดนี้ ก็น่าจะกลับมาทำอะไรที่เป็นนัยยะสำคัญให้ประเทศ แล้วประเภทที่ว่า ทำอะไรให้รวยเร็วๆ หรือเล่นหุ้นให้รวย ผมไม่ชอบแบบนั้น ผมอยากใช้ชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่านั้น อย่างหมอที่เรียนมาหนัก ยอมออกไปรักษาคนไข้ในชนบท ครูที่ช่วยสอนเด็กบนดอย ถ้าผมแค่เรียนจบ แล้วรับปริญญาจากจุฬาฯ มันมีคุณค่าตรงไหน