เซ็นทรัลผนึกดุสิตปั้นแลนด์มาร์คใหม่

เซ็นทรัลผนึกดุสิตปั้นแลนด์มาร์คใหม่

กลุ่มทุนไทยยักษ์ใหญ่ เซ็นทรัล-ดุสิตธานี ผนึกกำลังปั้นแลนด์มาร์คกลางกรุง ผุดบิ๊กโปรเจค มิกซ์ยูส ดันศูนย์กลางท่องเที่ยว-พักผ่อน-ชอปปิงระดับบน

การผนึกพันธมิตรธุรกิจระหว่าง “ทุนใหญ่” กับ “ทุนใหญ่” เป็นไปเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เริ่มเห็นมากขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดสองตระกูลธุรกิจ “จิราธิวัฒน์” และ“โทณวณิก” ประกาศความร่วมมือครั้งใหญ่ กับการตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทรูปแบบผสม (Mixed -Use Development) บน “ทำเลทอง” 23 ไร่ 2 งานหัวมุมถนนสีลมและถนนพระราม 4 ที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ในปัจจุบัน

กลุ่มเซ็นทรัล โดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น และ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)  ต่างแจ้งตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (1 มี.ค.) ถึงรายละเอียดของดีลดังกล่าว ประกอบด้วย การร่วมลงทุนโรงแรม เรสซิเดนซ์ ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน มูลค่าโครงการรวม 36,700 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนของซีพีเอ็น 17,393 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 3 บริษัท และซีพีเอ็นจะจัดตั้งอีก 1 บริษัทย่อย ประกอบด้วย 1.บริษัท วิมานสุริยา เป็นบริษัทร่วมทุนโครงการโรงแรม เรสซิเดนซ์ และโครงสร้างอาคารศูนย์การค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อเช่าช่วงที่ดินจากดุสิตธานีมาพัฒนาโรงแรมและเรสซิเดนซ์ รวมถึงก่อสร้างโครงสร้างอาคารของศูนย์การค้า โดยซีพีเอ็นและดุสิตธานี ถือหุ้น 40:60

2.บริษัท สวนลุม พร็อพเพอร์ตี้ เป็นบริษัทร่วมทุนโครงการพัฒนาศูนย์การค้า โดยซีพีเอ็นและดุสิตธานี ถือหุ้นฝ่ายละ 85:15 เพื่อเช่าโครงสร้างอาคารศูนย์การค้าจาก บริษัท วิมานสุริยา

3.บริษัท พระราม 4 เดเวลลอปเม้นท์ ซีพีเอ็นและดุสิตธานี ถือหุ้นฝั่งละ 90:10 เพื่อเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าหลักกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการ และ4.บริษัท ศาลาแดง พร๊อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ เพื่อเช่าช่วงที่ดินจาก บริษัท พระราม4 เดเวลลอปเม้นท์ เพื่อดำเนินการพัฒนาก่อสร้าง และประกอบธุรกิจสำนักงาน โดยซีพีเอ็นถือหุ้น 100%

ต่อสัญญาเช่า 30+30ปี

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ได้ลงนามในสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อต่อสัญญาเช่าที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสีลมและพระราม 4 ต่อไปอีก 30 ปี และได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินต่อเนื่องอีก 30 ปี โดยจะร่วมมือกับซีพีเอ็น พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมผสานขนาดใหญ่ สร้างสัญลักษณ์แห่งใหม่ใจกลางเมือง

นายชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสีลมแห่งนี้ ถือเป็น สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ในยุคสมัยใหม่แห่งแรก ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2513

วันนี้ ดุสิตธานี มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการบนที่ดินผืนนี้ให้เป็นโครงการ“ระดับโลก” ตอกย้ำภาพลักษณ์ของดุสิตธานี ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับบนเวทีระดับโลกมาอย่างยาวนานกว่า 65 ปี

คาดสรุปแผนพัฒนา“กลางปีนี้”

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดุสิตธานีได้รับสิทธิเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นอีกรวมเป็นที่ดินขนาดเกือบ 24 ไร่ มีแผนยกระดับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยโครงการใหม่จุดเด่นอยู่ที่การรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ผสานเข้ากับมาตรฐานสากลและให้เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ ปักหมุดเป็นสัญลักษณ์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เหมือนที่โรงแรมดุสิตธานีได้สร้างประวัติศาสตร์เอาไว้เมื่อ 47 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ดุสิตธานีอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาแผนพัฒนาโครงการ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดที่สำคัญของโครงการ และพร้อมประกาศให้ทราบภายในช่วงกลางปีนี้

ธุรกิจต้องผนึกกำลังมากกว่าแข่งขัน

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า การร่วมทุนกับพันธมิตรนดุสิตธานีในครั้งนี้ เป็นการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันร่วมกันในภาพใหญ่ของไทย ซึ่ง “ดุสิตธานี” เป็นแบรนด์สำคัญของไทย เป็นความภาคภูมิใจต่อการตัดสินใจเลือกกลุ่มเซ็นทรัลร่วมพัฒนาโครงการนี้

การเติบโตของธุรกิจต้องมองถึงการรวมกลุ่ม ผนึกกำลังสร้างการเติบโตมากกว่าการเป็นคู่แข่งขัน ซึ่งในภาพใหญ่เวลานี้เป็นยุคของการแข่งขันระดับประเทศที่ผู้ประกอบการต้องก้าวไปในแนวทางเดียวกันจะเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

"ความท้าทายของการทำธุรกิจขณะนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรอบด้าน ในอดีตธุรกิจหนึ่งๆ อาจเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้นำ แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว เวลานี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว เป็นโลกของคนรุ่นใหม่ 10 ปีนี้ รู้ดำรู้แดงว่าคุณจะเป็นผู้นำอย่างแท้จริงหรือไม่”

ลุย“ดิจิทัล เซ็นทราลิตี้”

นายทศ ได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัลจากนี้จะมุ่งปรับทิศทางธุรกิจสู่ ดิจิทัล เซ็นทราลิตี้ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์และประสบการณ์ออมนิแชนแนล ในการขยายฐานลูกค้าเชื่อมโยงครอบคลุมทั่วโลก ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

กลยุทธ์ดิจิทัลสำคัญมากสำหรับธุรกิจยุคใหม่ กลุ่มเซ็นทรัลได้จัดสรรงบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ลงทุนระบบเทคโนโลยีไอทีต่างๆ และปีหน้าคาดว่าจะใช้งบ “1 หมื่นล้านบาท” วางโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ต่างๆ รองรับการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสร้างยอดขายเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของยอดขายรวมทั้งเครือ ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 15% ภายใน 5 ปีข้างหน้า

เซ็นทรัลยังเตรียมความพร้อมตั้งแต่บุคลากรที่เน้นการเลือกเฟ้น “คนรุ่นใหม่” เป็นกลไกสำคัญของการวางรากฐานและสร้างการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ผนวกกับศักยภาพที่แข็งแกร่งของทั้งกลุ่มรวมศูนย์ บริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เซ็นทรัลเป็นไลฟ์สไตล์ ชอปปิง เซ็นเตอร์ ที่ทุกคนต้องมา ควบคู่การใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ดีที่สุดในโลก

“10 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนไปมากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เป็นโจทย์และความท้าทายครั้งใหญ่ของทุกอุตสาหกรรมรวมทั้งเซ็นทรัลจะก้าวอย่างแข็งแกร่งให้ทันการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าอย่างไร”

ทุ่ม4.5หมื่นล้านสยายปีก

ปีนี้กลุ่มเซ็นทรัลจัดสรรงบประมาณ 45,534 ล้านบาท ขยายการลงทุนโครงการใหม่ 60-70% อีก 30-40% ใช้สำหรับปรับปรุงโครงการเก่า และลงทุนทางด้านเทคโนโลยีไอที โดยตั้งเป้าหมายยอดขาย 382,200 ล้านบาท เติบโต 14.9% โดยจะเปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าใหม่ในประเทศไทย 6 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา วันที่ 28 ก.ค. พื้นที่โครงการ 125,000 ตร.ม. และเซ็นทรัล พลาซา มหาชัย ในไตรมาส 4 พื้นที่ 170,000 ตร.ม. ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 3 แห่ง ได้แก่ มหาชัย เพชรบุรี กำแพงเพชร คอนเซ็ปต์ใหม่ “ท็อปส์ พลาซา” 2 แห่ง ที่พิจิตร และพะเยา

ขณะเดียวกันเตรียมเปิดบริการห้างสรรพสินค้าลารินาเชนเต กรุงโรม ประเทศอิตาลี เดือน ก.ย.จะเป็นแฟลกชิพสโตร์ของง ลา รีนาเชนเต นอกจากนี้จะขยายโรงแรมใหม่ทั้งในและต่างประเทศ 4 โรงแรม คือ ปาร์ค ไฮแอท, เซ็นทารา แกรนด์ เวสต์เบย์ โดฮา ประเทศกาตาร์ กำหนดเปิดไตรมาส 2 จำนวน 357 ห้อง, เซ็นทารา มัสกัต โอมาน เปิดไตรมาส 2 จำนวน 154 ห้อง และโรงแรมโคซี่ เฉวง สมุย ไตรมาส 3 จำนวน 151 ห้อง

โครงการคอนโดมิเนียมใหม่ 3 โครงการ ได้แก่ เชียงราย 312 ยูนิต เชียงใหม่ 470 ยูนิต โคราช 380 ยูนิต พร้อมตั้งเป้าขยายร้านค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ มากกว่า 350 ร้าน ร้านเฉพาะทาง กว่า 100 ร้าน ร้านอาหาร 70 ร้าน รวมทั้งสิ้น 520 ร้าน

ขณะเดียวกัน มีแผนปรับปรุงและขยายตัวครั้งใหญ่ของศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า 4 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ งบลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท เซ็นทรัล พลาซา พระราม 3 ห้างสรรพสินค้าลา รีนาเชนเต เมืองตูริน และเปิดโอเพ่น เฮาส์ ชั้น 6 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

ปี 59 โกย 3.32 แสนล้าน

กลุ่มเซ็นทรัลมีผลประกอบการในปี 2559 ยอดขาย 332,700 ล้านบาท เติบโต 17.2% เทียบปี 2558 มียอดขาย 283,450 ล้านบาท มีการลงทุนรวม 39,000 ล้านบาท นับเป็นปีแห่งการปรับปรุงศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในไทย 4 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล พลาซา ปิ่นเกล้า, บางนา เซ็นทรัล มารีนา พัทยา แพลตฟอร์ม วงเวียนใหญ่ ในยุโรป 4 แห่ง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าอิลลุม กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก, อัลสแตร์เฮาส์ ฮัมบูร์ก เยอรมนี, โอเบอร์โพลลิงเกอร์ มิวนิค เยอรมนี และ คาเดเว เบอร์ลิน เยอรมัน