ท้องผูก แสบบริเวณหน้าอก อย่ามองข้าม

ท้องผูก แสบบริเวณหน้าอก อย่ามองข้าม

หากคุณมีอาการ เช่น ท้องผูก ขับถ่ายมีปัญหา กรดไหลย้อน แสบบริเวณหน้าอก อาการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

หากคุณมีอาการ เช่น ท้องผูก ขับถ่ายมีปัญหา กรดไหลย้อน แสบบริเวณหน้าอก อาการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีอาการอยู่อย่ารอจนกลายเป็นปัญหาใหญ่


นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ด้านระบบการทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มาด้วยอาการที่แตกต่างกันออกไปหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็น กรดไหลย้อน ท้องผูก ลำไส้แปรปรวน กลืนลำบาก หรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่มาเข้ารับบริการในหน่วยนี้ จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนและกลุ่มที่มีภาวะท้องผูก โดยในกลุ่มกรดไหลย้อน จะมีการตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร (24/48/96 pH Monitoring) เป็นการตรวจบันทึกค่ากรดหรือด่างในหลอดอาหาร เพื่อวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะกรดไหลย้อนในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะกรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร แต่อาการไม่แน่ชัด

หรือผู้ป่วยที่มีกรดไหลย้อนอยู่เดิมหลังได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น รวมไปถึงผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วไม่สามารถหยุดยาลดกรดได้ ซึ่งการตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างในกลุ่มนี้จะตรวจวัดความเป็นกรดในหลอดอาหาร แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แบบมีสาย คือใส่สายเข้าไปทางโพรงจมูก สายจะยาวลงไปถึงบริเวณเหนือหูรูดของหลอดอาหารเล็กน้อย กับแบบที่ 2 เป็นแบบแคปซูล ซึ่งจะต้องอาศัยการส่องกล้องเข้าไปติดแคปซูลที่หลอดอาหารส่วนปลาย ทั้ง 2 แบบจะมีเครื่องเล็กๆ ติดไว้กับตัวตลอดเวลา ทั้งแบบสายหรือแคปซูลที่มีเซนเซอร์ เพื่อส่งผลกลับมาที่ตัวเครื่อง

ข้อดีคือ ทำให้เรารู้ในตัวรายละเอียดมากยิ่งขึ้น ว่าพฤติกรรมประจำวันของคนไข้ตรงไหนที่ไปกระตุ้นการหลังกรดมาก หรือยาที่ผู้ป่วยได้รับอยู่เพียงพอหรือไม่ต่อการยับยั้งการหลั่งกรดและผู้ป่วยมีโอกาสในการหยุดยาได้หรือไม่สำหรับกลุ่มคนไข้ที่เป็นกรดไหลย้อน ซึ่งจากเทคโนโลยีการตรวจเพิ่มเติมในลักษณะนี้ทำให้แพทย์ได้ข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติม ประกอบกับเพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยอาการลักษณะของกรดไหลย้อนได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับการตรวจในผู้ป่วยกลุ่ม 2 ที่มีอาการท้องผูก เราจะใช้เทคนิคการตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก แรงเบ่งจากลำไส้ตรงและวัดการรับรู้และการตอบสนองต่ออุจจาระที่มาอยู่บริเวณลำไส้ตรง โดยอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า High-Resolution Anorectal Manometry เป็นการตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงาน 3 อย่างในระหว่างการขับถ่ายซึ่งถ้าผิดปกติจะที่สามารถส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังได้ การรับรู้ถึงความรู้สึกของลำไส้ตรงต่ออุจจาระเคลื่อนมาอยู่ที่อยู่ในลำไส้ตรงโดยอาศัยบอลลูน การประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อในเชิงกรานที่มีผลต่อการเบ่งและแรงเบ่งถ่าย และ การประเมินการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก

ถ้าทั้งสามสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นอย่างปกติและต่อเนื่องสอดคล้องกัน ก็จะก่อให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังชนิดหนึ่ง ได้ 30 – 40 % ของผู้ป่วยท้องผูกทั้งหมด ซึ่งก็นำไปสู่การรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และเป็นภาวะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่ต้องกลับไปใช้ยาระบายอีก ข้อดีของการตรวจในลักษณะนี้สามารถทำให้แพทย์แยกชนิดของผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกออกมาได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นการตรวจวัดความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ เรายังสามารถนำมาตรวจและวินิจฉัยในผู้ที่ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด และรวมถึงสามารถตรวจเพื่อประเมินการทำงานของแรงดันบริเวณลำไส้ตรงและกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก ก่อนทำผ่าตัด โดยเทคนิคการตรวจวัดแบบ 3 มิติทำให้สามารถเห็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก หรือ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับถ่ายในเชิงกรานได้อย่างชัดเจนขึ้น ทำให้ได้ประโยชน์มากขึ้นในผู้ป่วยที่มีการกลั้นอุจจาระได้ไม่ดี หรือ การวางแผนผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายที่การผ่าตัดนั้นๆ อาจมีผลต่อกล้ามเนื้อหูรูดได้ด้วย ทั้งนี้การเลือกชนิดการตรวจต้องพิจารณาตามความเหมาะของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการตรวจและรักษา