"พฤฒิ เกิดชูชื่น" ชวนธุรกิจยั่งยืนด้วยโมเดล SE

"พฤฒิ เกิดชูชื่น" ชวนธุรกิจยั่งยืนด้วยโมเดล SE

วันนี้ใครๆ ก็อยากเป็น“สตาร์ทอัพ”อยากเท่ อยากรวย อยากโตเร็ว แต่สำหรับ"พฤฒิ เกิดชูชื่น"แห่งแดรี่โฮม เขายังเชื่อว่าสังคมต้องโตไปพร้อมกับเราด้วย

มีตัวอย่างความสำเร็จมากมายของธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยากร่วมวงในสนามนี้ โดยมีเป้าหมายชัดว่า อยาก “ร่ำรวย” และ “สำเร็จ” ในเวลาอันรวดเร็ว เหมือนที่คนรุ่นนี้ได้แสดงให้เห็นแล้ว  

สำหรับ "พฤฒิ เกิดชูชื่น" กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท แดรี่โฮม จำกัด ผู้ผลิตนมออร์แกนิค ที่เชื่อในโมเดลกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) เขาสะท้อนความคิดที่น่าสนใจให้ฟังว่า

“การที่ทุกคนอยากเป็นสตาร์ทอัพ เพื่อรวยเป็นร้อยล้านพันล้าน ผมเชื่อว่า เราจะไม่มีทรัพยากรมากพอจะทำให้ทุกคนร่ำรวยได้ สุดท้ายก็ต้องไปเบียดบังเอากับโลก ซึ่งเราก็เอามาเยอะแล้ว น่าจะถึงเวลาที่พวกเราจะออกจากความคิดแก่งแย่งนี้”

การขยับจากความคิดเก่าๆ ในการทำธุรกิจที่มองแต่เอากำไรเข้าตัว ร่ำรวยอยู่คนเดียว มีเป้าหมายมุ่งแต่ทำ “กำไรสูงสุด” โดยไม่สนกับทุกสิ่งรอบข้าง มาสู่ความคิดใหม่ๆ ที่ว่า ทำธุรกิจเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่ต่างอยู่ร่วมกันได้

“เราทำธุรกิจเพื่ออะไร เพื่อรวย หรือเพื่อให้ทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้ อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และแบ่งปันกัน ผมเชื่อว่าเราทุกคนต่างมีทางเลือก และเลือกได้ อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกอะไร สำหรับเราขอเลือกทางที่ทำให้ทุกคนอยู่กันได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเส้นทางที่ถูกต้อง และให้ความสุขกับเราได้มากกว่า” เขาบอก

ทางเลือกที่ว่า เริ่มต้นจากการทำธุรกิจที่ต้องตอบประโยชน์ของผู้บริโภคและสังคม เปลี่ยนความคิด (Mindset) ในการทำธุรกิจจากแค่หวังสร้างรายได้ และกำไร มาสู่ธุรกิจที่ช่วยให้ท้องถิ่นที่เราทำมาหากินอยู่ยั่งยืนด้วย มีความอุดมสมบูรณ์โดยไม่ไปทำลายล้างเพิ่ม และช่วยกันดูแลให้ดีขึ้น

ผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น ซัพพลายเออร์ ชุมชน หรือเกษตรกรที่ป้อนวัตถุดิบให้ ต้องทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าใจ เชื่อในเป้าหมายเดียวกัน และได้ผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน

“เมื่อเราทำงานร่วมกับเขาได้อย่างเข้าใจ สุดท้ายปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพต่างๆ ก็จะง่ายขึ้นมาก เราจะมีสินค้า มีวัตถุดิบที่มั่นคง การที่เราให้ใจเขาไปเต็มที่ และให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ถือเป็นจุดสำคัญ เพราะเขาต้องอยู่ให้ได้ก่อน  เมื่อเขาอยู่ได้ธุรกิจจะเกิดความยั่งยืน แต่ถ้าเขายังอยู่ไม่ได้ ต่อให้ธุรกิจเราเลอเลิศแค่ไหน ถ้าไม่มีของส่งให้ เราก็เจ๊ง”

แม้ทำสินค้าที่ดี เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ใช่ว่าจะตั้งราคาสูงแค่ไหนก็ได้ เขาว่า ผู้ประกอบการต้องไม่มองผู้บริโภคเป็นเหยื่อ โดยเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมาบังหน้า แต่ต้องตั้งราคาที่สมเหตุสมผล วงจรนี้ถึงจะหมุนต่อได้

“ทำธุรกิจจะตบมือข้างเดียวไม่ได้ ต้องมีผู้ซื้อ มีผู้ขาย ถ้าผู้ซื้อแฮปปี้กับสินค้าที่เรานำเสนอ วงจรนี้ก็จะหมุนต่อ แต่เมื่อไรก็ตามที่ผู้ซื้อไม่แฮปปี้กับราคาที่เราขาย เพราะผู้ขายตั้งราคาสูงเกินไป คนซื้อก็จะไม่สนับสนุน วงจรนี้ก็หมุนต่อไม่ได้”

ขณะเดียวกันเขาว่า ผู้บริโภคเองก็ต้องเข้าใจ “ราคาที่แท้จริง” ของสินค้านั้นๆ ด้วย เพราะหลายครั้งที่เราอาจหลงลืมต้นทุนที่ซ่อนเร้น และเคยชินกับราคาที่ถูกกดทับมานาน จนยอมรับราคาที่สูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่เคยคุ้นไม่ได้

“อย่างเรื่องข้าว เราเข้าใจว่าข้าวต้องถูก แต่จริงๆ แล้ว ลืมคิดไปว่า ราคาข้าวต้องเท่าไรชาวนาถึงจะอยู่ได้ อย่างขายผ่านระบบปกติ เขาได้เกวียนละไม่ถึงหมื่นบาท ตกกิโลละไม่ถึงสิบบาท ลองคิดดูเขาจะอยู่ได้ยังไง ทั้งกิน ทั้งใช้ ทั้งรักษาตัวเอง เงินทั้งหมดอยู่ในเสี้ยวเล็กๆ ที่เหลืออยู่ที่คนอื่นหมด ซึ่งถ้าเขาสามารถเป็นเจ้าของส่วนแบ่งที่สูงขึ้นและเป็นธรรมได้ เขาก็อยู่ได้”

เขาขยายภาพให้เห็นอีกว่า ผู้บริโภคอาจลืมคิดไปว่า เราซื้อข้าวเปล่าจานละสิบบาท ซึ่งหากคำนวณดีๆ จะพบว่า นั่นเทียบเท่ากับข้าวสารกิโลละสองแสนบาท! แล้วถามว่า เงินจำนวนนี้ไปอยู่ที่ไหน ทำไมชาวนาถึงไม่ได้ ซึ่งหากทั้งห่วงโซ่ถูกแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ปัญหาเรื่องข้าวและชาวนาก็จะถูกแก้ไขได้

หรืออย่าง ชาวประมงขายปลาได้กิโลละหลักสิบ ร้านอาหารเอาไปทำสเต็ก ตัวหนึ่งแบ่งได้ 4 ชิ้น ชิ้นหนึ่งขายได้ 300-400 บาท ปลาตัวเดียวกันกลับทำเงินได้เป็นพันบาท ถามว่าถ้าชาวประมง ทำประมงที่ดี ใช้เครื่องมือถูกกฎหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้สารฟอร์มาลีน แล้วขายแพงขึ้นอีกนิด ผู้บริโภคและผู้ประกอบการยินดีจะสนับสนุนพวกเขาอยู่ไหม

“แค่เราช่วยซื้อในราคาที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เขาอยู่ได้ เชื่อเถอะเราไม่จนลงหรอก รับประกันได้ แต่จะยั่งยืนขึ้นด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็มีคนจับปลาให้คุณ และมีความสุขที่จะได้จับปลาด้วย” เขาบอกผลลัพธ์

นี่คือมุมมองการทำธุรกิจที่ไม่คิดรวยคนเดียว แต่คิดถึงคนทั้งห่วงโซ่ ว่าต้องอยู่ร่วมกันได้ เช่นเดียวกับที่แดรี่โฮม ธุรกิจของพวกเขาคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งห่วงโซ่ ไม่ว่าจะ ผู้บริโภค คู่ค้า พนักงาน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม  อย่างการที่ รับนมจากเกษตรกร พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักปลูกข้าวออร์แกนิค แล้วเปิดพื้นที่ให้นำมาขายที่ร้าน พนักงานมีโครงการคัดแยกขยะแล้วเปลี่ยนเป็นเงิน เพื่อให้ได้ทั้งจิตสำนึกที่ดี และมีผลตอบแทนจากความดีนั้นด้วย มีโครงการที่ทำร่วมกับชุมชน ช่วยพัฒนาชุมชนในพื้นที่ พร้อมระบบการจัดการในกระบวนการธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างนี้เป็นต้น  

เพื่อให้การเติบโตของแดรี่โฮม ขยับไปพร้อมกันทั้ง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต

ถามถึงข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากเข้าสู่วิถีกิจการเพื่อสังคม รุ่นพี่ที่เดินมาก่อนแนะนำว่า ต้องตั้งใจและมุ่งมั่น เดินไปในลู่วิ่งของตัวเอง เพราะระหว่างทางอาจมีมารผจญ อาจมีเรื่องที่ทำให้เขวไปบ้าง ถ้าไม่มั่นคงพอ ก็จะอาจหลุดจากเส้นทางนี้ได้ ที่สำคัญ ทำธุรกิจเพื่อสังคม ต้องมีกำไร ต้องเลี้ยงตัวเองได้ และต้องแข่งขันได้ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแค่ “เวทนามาร์เก็ตติ้ง” การตลาดจากความเวทนา ที่เรียกคนซื้อเพราะความสงสาร ช่วยครั้งสองครั้งเขาก็ตีจาก จะหาความยั่นยืนอะไรไม่ได้ ฉะนั้นต้องทำสินค้าที่ดี มีคุณภาพ  ราคายุติธรรม ให้ความรู้สึก “คุ้มค่า” คนก็จะกลับมาซื้อซ้ำ แล้วธุรกิจน้ำดีก็จะอยู่รอดได้

“ต้องให้ลูกค้าเข้ามาซื้อด้วยตัวสินค้าหรือบริการนั้นๆ เอง ส่วนกำไรที่เขาจะได้เพิ่มขึ้นก็คือการรู้สึกว่าได้ช่วยสังคมด้วย”

นี่คือคมความคิดของคนที่เชื่อในวิถีธุรกิจน้ำดี มีดัชนีวัดความสำเร็จของธุรกิจไม่ใช่กำไรสูงสุด ทว่าคือ การเติบโตร่วมกันของคนทั้งห่วงโซ่