แผนรักษ์ เชียงใหม่มรดกโลก

แผนรักษ์ เชียงใหม่มรดกโลก

ไม่ใช่แค่โลโก้ไว้อวดชาวโลก แต่มรดกโลกมีความหมายกับเมืองเชียงใหม่มากกว่านั้น

กว่า 10 ปีที่ประเทศไทยไม่มีแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ นับจากการประกาศป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ.2548 และนานถึง 24 ปีถ้าขีดเส้นใต้เฉพาะมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการยกย่องจากยูเนสโกตั้งแต่ปี พ.ศ.2535

หลายปีที่ผ่านมาแม้จะมีหลายสถานที่ที่ได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาเป็นมรดกโลกในอนาคต และอีกหลายเมืองที่รอการพิจารณาเพื่อแปะป้ายมรดกโลก แต่ก็ยังอยู่ในระยะทางแห่งความหวัง

หนึ่งในนั้นคือเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่าง ‘เชียงใหม่’ ซึ่งได้รับการพิจารณาขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และกำลังแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อเดินหน้าสู่การเป็นเมืองมรดกโลกอย่างเต็มที่

ทำไมต้องเป็น ‘มรดกโลก’

คำตอบตามมาตรฐานก็คือเพื่อยืนยันคุณค่าของสถานที่แห่งนั้น อันจะนำมาซึ่งการกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบต่อไป แต่สำหรับคณะทำงานฯมรดกโลกเชียงใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยภาคประชาสังคม ภาครัฐ และนักวิชาการ ความคาดหวังต่อการเป็นมรดกโลกของเมืองเชียงใหม่นั้นอยู่ที่การเป็นเครื่องมือในการปลุกจิตสำนึกของคนในเมืองยิ่งกว่าเป้าหมายในการตีตราจากองค์กรโลกบาล

“เมืองเชียงใหม่เราไม่ได้เป็นเมืองที่หยุดนิ่ง และวัฒนธรรมหลายอย่างของเรากำลังลด หดหายไป เจอปัญหามากมาย เราจะปล่อยให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่วัฒนธรรมมันถูกกลืนหายไป ความใหม่ เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่สิ่งเก่าที่มันมีอยู่ 720 ปีได้อย่างไร หรือไม่ อันนี้เป็นคำถาม เราก็กลับมาทบทวนว่า มันมีเครื่องมือหรือกลไกอะไรที่จะคอยช่วยเหลือได้บ้าง กฎเกณฑ์ของยูเนสโก กฎเกณฑ์ของเวิลด์เฮอริเทจน่าจะช่วยได้

เราไม่ได้ทำเวิลด์เฮอริเทจเพื่อที่จะให้คนแห่กลับมาเที่ยวเมืองเชียงใหม่ หรืออยากจะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นในเมืองเชียงใหม่ แต่เราอยากจะสร้างกลไกอะไรบางอย่างที่มาคอยควบคุมเมืองเชียงใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง ให้เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดหรือว่าเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ  คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกุศโลบาย ในทิศทางเดียวกับ อาจารย์อิศรา กันแตง นักวิชาการผังเมือง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่เห็นว่าเครื่องมือนี้มีประสิทธิภาพ

“เราจะเอาเครื่องมือนี้มาช่วยแก้ปัญหาของเมือง เมืองเราเคยดีงามแต่เมืองเราประสบปัญหา และการทำงานเมืองมรดกโลกของเราเหมือนที่อาจารย์ชาญณรงค์พูด ก็คือเราไม่ใช่สาวเพิ่งสวย หรือสาวน้อยเกิดใหม่ที่จะทำให้เป็นมรดกโลก เพื่อจะให้ดึงผู้คนให้มาท่องเที่ยวเมืองเรา แล้วก็เผชิญหน้ากับปัญหาต่อมาว่ามีผับบาร์ แต่เราเป็นสาวงามที่งามมานานแล้ว กำลังจะร่วงโรย ถ้าไม่ทำตอนนี้มันจะไปเลย”

คิดการใหญ่สานใจคนเมือง

หลังจากหมายมั่นปั้นมือว่าจะมุ่งหน้าสู่การเป็นเมืองมรดกโลก จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก (ระยะที่ 1) ขึ้น สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำเอกสารเพื่อเสนอเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกต่อคณะกรรมการองค์กรยูเนสโกในระยะต่อไป โดยหัวเรือใหญ่ที่คอยเปิดไฟเขียวผ่านตลอดไม่ใช่ใครที่ไหน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปวิณ ชำนิประศาสน์

“การก้าวสู่เมืองมรดกโลกของเชียงใหม่ ต้องขอบคุณ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ที่ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดแนวคิดนี้ จนกระทั่งยูเนสโกให้เป็นเมืองที่เตรียมการให้เข้าไปสู่มรดกโลกอย่างแท้จริง แล้วกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า สร้างความกระตือรือร้น สร้างความตระหนัก ไม่เพียงคนเชียงใหม่ แต่ให้แก่คนทั้งประเทศว่าจะร่วมกันในการขับเคลื่อนเชียงใหม่ให้เป็นเมืองมรดกโลกอย่างไร”

ผู้ว่าฯปวิณ ยืนยันด้วยความมั่นใจว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ 720 ปีของดินแดนแห่งนี้มีเรื่องราวที่ร้อยเรียงยึดเหนี่ยวกันมา และยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเมืองไว้ได้แม้ว่าจะมีหลายสิ่งที่บอบช้ำไปบ้าง ประการสำคัญอยู่ที่ต่อแต่นี้จะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนลดความต้องการของตัวเองลงมาเพื่อทำให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกที่จะสืบทอดเอกลักษณ์อันงดงามต่อไปถึงคนรุ่นหลัง

บันไดหลายขั้นสู่การเป็นมรดกโลก จึงเริ่มต้นจากการสร้างการรับรู้และฉันทามติร่วมกันของคนเมืองเชียงใหม่

“สิ่งที่แตกต่างในการทำเมืองมรดกโลกของเชียงใหม่จากเมืองอื่นๆ คือ เมืองอื่นๆ เป็น Top Down อาจจะเป็น Policy ของเมืองที่ต้องการให้เมืองเป็นเมืองมรดกโลก แต่ของเรามันเกิดจาก Bottom Up เรามีชุมชน มีเครือข่ายของคนเชียงใหม่ที่พร้อมจะทำงานมากมายอยู่แล้ว เรามีคนทำสื่อที่จะคอยสอดส่องหาสิ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นหรือสร้างแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างให้กับคนเชียงใหม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อเมือง นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เรามีตอนนี้ คือพลังประชาชน” ดร.ชาญณรงค์ ชี้ข้อต่าง ขณะที่ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร กลุ่มคนใจบ้านที่ทำงานร่วมกับชุมชนมาตลอด มองเห็นความได้เปรียบ

“เครื่องมือมรดกโลกที่เรามองก็คือ มันเหมือนการยอมรับจากสากล ภาพที่มองเข้ามา มันอาจจะเป็นกำลังใจให้ผู้คนตัวเล็กๆ ที่ทำอะไรอยู่แล้ว ทำให้เขามีช่องทาง มีพื้นที่การทำงานที่มากขึ้น เมื่อมิติทางวัฒนธรรมผนวกกับเครื่องมือทางกฎหมาย หรือว่ามาตรการอะไรต่างที่เพิ่มเข้ามาก็น่าจะช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนให้มีความเข้มแข็งได้”

เตรียมเมืองเชื่อมร้อยเรื่องราว

บันไดขั้นถัดไปหลังจากเตรียมคนให้พร้อมที่จะขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลกไปด้วยกัน ก็คือการเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อยูเนสโก

“เรื่องของเอกสาร Document เรากำลังจะเข้าไปเล่นในกรอบของยูเนสโก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขของยูเนสโกให้ดี ตอนนี้เขาให้เราในระดับ Tentative List หมายความว่า เราอยู่ในระหว่างของการเตรียมเมือง ยังไม่ถูกประกาศ อาจจะใช้เวลา 5 ปี 10 ปี ก็แล้วแต่”

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้คณะทำงานโครงการฯ ได้นำเสนอในเบื้องต้นว่า เมืองเชียงใหม่มีคุณค่าควรการแก่ยกย่องและบำรุงรักษาในมิติด้านมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ที่สะท้อนคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล(Outstanding Universal Values-OUV) ตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ดังนี้

  1. เมืองเชียงใหม่สามารถเป็นประจักษ์พยานหนึ่งเดียว ของการก่อตั้งเมืองและสร้างสรรค์เมืองภายใต้แนวคิดการสร้างพันธมิตรระหว่างกษัตริย์สามพระองค์ เพื่อตั้งรับการแผ่อำนาจของมองโกล
  2. เมืองเชียงใหม่เป็นตัวแทนของเมืองที่มีความโดดเด่น และสะท้อนพัฒนาการสูงสุดของรัฐในหุบเขาของชาติพันธุ์ไต (Tai-Dai Culture)
  3. เมืองเชียงใหม่สะท้อนแนวคิดเมืองที่มีชีวิต (Living City) ผ่านการสืบทอด และส่งต่อจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับเมือง และธรรมชาติ ผ่านการหลอมรวมความเชื่อ และพิธีกรรม ผี พุทธ และพราหมณ์ ซึ่งมีคุณค่าและถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) 

โดยได้สะท้อนผ่านองค์ประกอบสำคัญของเมือง 3 ประการ คือ โครงสร้างของการออกแบบผังเมือง (Town’s Planning) อาคาร สถาปัตยกรรม และองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนแนวคิดของการสร้างเมือง (Town’s Architecture) และวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ประเพณีและจารีต ของผู้คนที่ทำให้เมืองยังคงความสืบเนื่องและมีชีวิต(Town’s Culture)

จากองค์ประกอบสำคัญทั้ง 3 ประการ คณะทำงานโครงการฯ ได้ข้อสรุปเป็นร่างแนวคิดที่จะนำเสนอพื้นที่เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตมรดกโลก (Nomination Property) จากองค์การยูเนสโก ประกอบไปด้วยพื้นที่เมืองเก่าชั้นใน และพื้นที่เมืองเก่าชั้นนอกบางส่วน เส้นทาง และองค์ประกอบของเมือง วัดหรือโบราณสถานที่แสดงถึงการเชื่อมต่อเมืองไปสู่ดอยสุเทพ (ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและหาข้อสรุป) ภายใต้แนวคิดการขึ้นทะเบียนแบบกลุ่ม (Serial Nomination)

“มรดกวัฒนธรรมมันจะเป็น 2 เรื่องที่อยู่ด้วยกัน ก็คือ เรื่องที่จับต้องได้เป็นเรื่องกายภาพ กับเรื่องจิตวิญญาณที่มันเชื่อมร้อย เราทำไปสักระยะก็พบว่ามันต้องมีอะไร “ฮั่นอย่าง” ที่เป็นตัวร้อยให้เมืองอยู่รอดปลอดภัย ให้เมืองอยู่ได้อย่างงดงาม ให้คนยังมีความสุขอยู่ในเมืองนี้ ซึ่งเรากำลังจะหาตัวนั้น นี่คือพาร์ทต่อเนื่อง” อาจารย์อิศรา ให้มุมมองเพิ่มเติม

แต่ระหว่างนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา สิ่งที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วได้แก่การเตรียมเมืองในเรื่องของกฎหมาย

“เราทำเทศบัญญัติของเมือง ประกาศไปแล้ว 1 ฉบับ เขตสี่เหลี่ยมคูเมืองซึ่งถือว่าเป็น Core Zone เราจะคุมก่อน หลังจากนั้นก็จะขยายไป Buffer Zone อื่นๆ ส่วนฉบับที่ 2 กำลังจะประกาศ ผังเมืองอาจจะต้องมาเกี่ยวข้องว่าจะคุมโซนอย่างไร นี่คือการพัฒนาเมือง และอีกส่วนคือ กิจกรรมหรือกลไกอื่นๆ ที่เราขอความร่วมมือจากคนในชุมชน ในพื้นที่ต่างๆ มาช่วย ร่วมกันคิดว่าเมืองเชียงใหม่เรายังมีปัญหาอะไร ยังขาดอะไรบ้าง นั่นคือกลไกของการเตรียมเมือง” ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

แน่นอนว่าเส้นทางนี้ไม่ได้ราบเรียบ ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจส่งผลให้เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เสียงสนับสนุนและคัดค้าน แต่สำหรับคนที่เลือกเส้นทางรักษ์สายมรดกโลกนี้พวกเขารู้ดีว่างานยากมักนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

“ทำงานให้หนัก มุ่งมั่น ขยายเครือข่าย พลังคนแค่นี้ไม่พอหรอกค่ะ แต่ว่าเราก็ใช้ความรู้ที่เรามีเพื่อให้มันเกิด แล้วก็หาความร่วมมือจากผู้คนหลากหลายมากมาย ถ้ามันสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ ตามเวลา ตามกระบวนการ ตามเกณฑ์ที่มรดกโลกวางไว้ เร็วที่สุดที่เราน่าจะทำได้น่าจะเป็นอีก 5 ปีข้างหน้า แล้วถ้ามันยังไม่ได้ ต้องแก้ไขบางอย่าง ไม่หยุดยั้ง 5-10 ปีก็ยังเป็นโอกาสที่เรายังไปถึงตรงนั้นได้” อาจารย์อิศรา แสดงความมุ่งมั่น และว่า...แม้ในที่สุดเชียงใหม่จะไม่ได้เป็นมรดกโลก แต่มรดกที่งดงามนี้ก็ยังคงเป็นของชาวเชียงใหม่

“ถ้ามันจะไม่เป็น ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย มันก็เป็นมรดกของคนเชียงใหม่ ของประเทศไทย ของคนที่ต่อจากรุ่นเราที่เขาจะสามารถอยู่ในเมืองนี้ได้อย่างมีความสุข คนเมืองมีที่ยืน วัดเป็นวัด น้ำใสกลับมา จราจรดีกว่านี้ หน้าตาสถาปัตยกรรม น้ำไหลไฟสว่างกว่านี้ นั่นคือความหวังที่เราคิดจะทำ

ถ้าเราไม่ทำ ไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย แต่มันจะไม่เหลือในมิติคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม มันจะเป็นเมืองเชียงใหม่ที่เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนรูปโฉมไปอีกแบบหนึ่ง