สนช.เมินเสียงค้านผ่านร่างพ.ร.บ.คอมฯ

สนช.เมินเสียงค้านผ่านร่างพ.ร.บ.คอมฯ

"สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" เมินเสียงค้าน ไฟเขียว "ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" ฉลุย

ท่ามกลางกระแสคัดค้านของหลายฝ่ายที่เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ยังไม่มีความชัดเจน กระทบสิทธิประชาชนปิดกั้นการตรวจสอบ เปิดช่องไม่ต้องใช้คำสั่งศาลในการปิดเว็บไซต์รวมทั้งอาจมีการสร้างซิงเกิ้ลเกตเวย์ฯ ล่าสุดเครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ยื่นรายชื่อประชาชน3 แสนรายชื่อขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คว่ำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว อ้างเหตุผลปิดกั้น กระทบสิทธิเสรีภาพ ขยายประชาชนขยายอำนาจการปิดเว็บไซต์ตั้งศูนย์บล๊อกเว็ปไซต์นอกจากนี้เมื่อคืนวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองต่อต้านSingle Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegatewayได้ทำสงครามออนไลน์ โดยได้ออกปฎิบัติการ“F5 for All Thai people”เข้าไปถล่มเว็บไซต์ของรัฐสภา จนไม่สามารถใช้งานได้ ถือเป็นการดำเนินการตอบโต้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของสนช.

แต่...กระแสคัดค้านไม่เป็นผล วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก็เดินเหน้าพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ในวาระ 2และวาระ 3โดยวาระ 2 เป็นขั้นตอนการพิจารณาเรียงลำดับรายมาตราซึ่งก่อนจะพิจารณานายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่1ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้กล่าวย้ำกับสมาชิกว่า ร่างพ.ร.บ.นี้เป็นที่สนใจของประชาชน สนช.จะเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในการพิจารณาวาระ 2 นั้นในสมาชิกสนช.ให้ความสนใจอภิปรายร่างดังกล่าวจำนวนมาก

โดยในมาตรา 4 ที่เกี่ยวกับการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกยกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และให้รัฐมนตรีประกาศกำหนดลักษณะและวิธีการส่งและลักษณะของข้อมูล ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ซึ่งสมาชิกหลายคนตั้งข้อสังเกตในกรณีคำว่า ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญนั้นอะไรคือ ความเดือดร้อนรำคาญ ใครจะเป็นผู้บอกว่า สิ่งที่ส่งคือความเดือดร้อนรำคาญ และใครจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าสิ่งที่ส่งนั้นเป็นความรำคาญ

ขณะที่กรรมาธิการฯชี้แจงว่า ลักษณะที่จะก่อให้เกิดความรำคาญนั้นให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดลักษณะของข้อมูลที่ไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้รับ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีความชัดเจนในเรื่องของข้อมูลที่ก่อให้เกิดความรำคาญอย่างไรก็ตามในมาตรานี้ที่ประชุมได้ลงมติยืนยันตามที่กรรมาธิการแก้ไข

ขณะที่มาตรา 12ที่เกี่ยวข้องกับความผิด โดยกรรมาธิการได้มีการเพิ่มเติมการกระทำต่อข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับ“การบริการสาธารณะ”ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ติดใจ อาทิ นายศิริพลยอดเมืองเจริญ นายสมชาย แสวงการ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ และนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ขอความชัดเจนของคำว่าการกระทำต่อข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับ“การบริการสาธารณะ”ว่ามีความหมายอย่างไร

นางสุรางคณา วายุภาพ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชี้แจงว่า การเพิ่มคำว่า“การบริการสาธารณะ”เพราะคำว่าโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนั้นไม่ครอบคลุมทั้งหมดยกตัวอย่างเช่น สำนักทะเบียนของกรมการปกครอง บางคนมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่บางคนบอกไม่เข้าข่าย ฉะนั้นเส้นแบ่งของ 2 คำนี้บางครั้งไม่ชัดเจน จึงทำให้กมธ.เติมคำว่าการบริการสาธารณะเข้าไป เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่กระทบกับเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลทั่วไปอย่างไรก็ตามสมาชิกก็ยังติดใจ สุดท้ายยอมถอนกลับไปสู่ร่างเดิม

มาตรา 14 (1) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการหลอกลวงหรือทุจริต ปลอม บิดเบือนทั้งหมดหรือบางส่วนข้อมูลคอมพิวเตอร์ นางสุรางคณา กล่าวว่า เจตนารมณ์เดิมของมาตรานี้ตั้งใจเอาผิดกับเรื่องฉ้อโกง ปลอมแปลง แต่การบัญญัติตามพ.ร.บ.คอมพ์ฯ พ.ศ.2550 นั้นทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท ครั้งนี้กมธ.จึงแก้ไขให้ตรงกับเจตนารมณ์ซึ่งพล.ต.อ.ชัชวาลย์
สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า มาตราดังกล่าวถือว่ามีความชัดเจน ไม่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท

สำหรับ มาตรา 20/1 ให้รัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 5 คน โดยมาจากภาคเอกชน 2 คน และหากเห็นว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์นั้นซึ่งมาตรานี้ภาคประชาสังคมมีความเป็นห่วงและวิพากษ์วิจารณ์ถึงดุลพินิจของคณะกรรมการกลั่นกรองว่ามีอำนาจตัดสินและยื่นคำร้องต่อศาลได้ทันทีโดยไม่ต้องรับฟังความเห็น

นายสมชาย แสวงการ และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.ได้สอบถามถึงเรื่องที่มาและจำนวนของคณะกรรมการกลั่นกรอง โดยนายวัลลภ อภิปรายว่า การตั้งคณะกรรมการเพียง 5 คน หากมาประชุมเพียงแค่ 3 คนก็สามารถลงมติได้แล้ว ถามว่าจะให้ 3 คน ตัดสินชีวิตใครคนใดคนหนึ่งใช่หรือไม่ ดังนั้นขอให้คณะกมธ.ช่วยปรับจำนวนเป็น 7 หรือ 9 คน และเชื่อว่าหากมีที่มาชัดเจนจะช่วยลดแรงต้านของสังคมได้ นอกจากนี้สมาชิกยังสอบถามถึงคำจำกัดความ คำนิยมของคำว่า“ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”หมายถึงอะไร

ในมาตรานี้ประธานคณะกรรมาธิการฯชี้แจงว่าข้อมูลอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไปกระทบสิทธิส่วนบุคคล ส่วนความหมายของคำว่า“ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ”และอะไรที่ขัดต่อความสงบฯนั้น เรียนว่าไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย และที่ประชุมกมธ.ได้หารือกันแล้ว พบว่าศาลจะมีแนวทางพิจารณาอยู่ว่าเรื่องใดที่ขัดต่อความสงบบ้าง ทั้งนี้มาตราดังกล่าวศาลจะพิพากษาให้ระงับหรือลบเท่านั้น ไม่มีความผิดใดๆ แต่ถ้าไม่ทำตามที่ศาลสั่งตรงนั้นถึงจะมีความผิด สำหรับตัวอย่างความผิดตามมาตราดังกล่าว เช่น สอนวิธีการฆ่าตัวตาย วิธีการปล้น หรือทำอาวุธ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อเผยแพร่แล้วถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสมาชิกก็ยังติดใจ มีการถกเถียงกันมากระหว่างสมาชิกและกรรมาธิการ ซึ่งใช้เวลานาน ทำให้ต้องแขวนมาตรานี้ไปก่อนและพิจารณามาตราอื่นๆจนจบและได้กลับมาพิจารณามาตราดังกล่าวต่อ แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถสรุปได้ ทำให้นายพรเพชร ได้สั่งพักการประชุม 30 นาที เพื่อขอให้กมธ.และสมาชิกไปประชุมนอกรอบเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวในเรื่องที่มาและจำนวนของคณะกรรมการกลั่นกรอง กระทั่งได้เปิดประชุมอีกครั้ง โดยพล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า หลังจากที่หารือแล้ว เห็นว่าการที่มีคณะกรรมการกลั่นกรอง จำนวน 5 คน แม้คำตัดสินจะไม่มีผลต่อการกระทำผิดหรือถูก แต่นำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือลบข้อมุลดังกล่าวออกไป ซึ่งกมธ.เห็นว่าควรปรับเปลี่ยนจำนวนคณะกรรมการกลั่นกรองจาก 5 เป็น 9 คน และคำตัดสินต้องมีคะแนนเกินครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการกลั่นกรอง หรือ 5 คน นอกจากนี้คุณสมบัติของคณะกรรมการฯ ที่มาจากภาคเอกชน จำนวน 3 คน ให้มาจากด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังพิจารณาเสร็จสิ้นทุกมาตราแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเป็นรายมาตราในวาระ 2 และลงมติเห็นชอบวาระ 3 ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 168 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปโดยใช้เวลาพิจารณา 5 ชั่วโมงครึ่งทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้จะบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา