เปิดโรดแมพประมูลคลื่น ปี 60 ถึงคิว ‘คลื่น2600’ 80 เมก

เปิดโรดแมพประมูลคลื่น ปี 60 ถึงคิว ‘คลื่น2600’ 80 เมก

หลังปี 2560 กสทช.จะมีเงินจากการประมูลนำส่งรัฐได้ประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท

“กสทช.” กางโรดแมพประมูลคลื่น 4 ปีข้างหน้า ประเดิมปี 60 ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 80 เมก ขณะที่ ปี 61 ประมูลต่ออีก 2 คลื่น คาดเก็บรายได้เข้ารัฐกว่า 4 แสนล้านบาท สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.3 ล้านล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังรับตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.อีกสมัยนั้นยังมีแผนงานที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 รวมไปถึงแผนงานที่ยังคงค้างจากปี 2559 เริ่มด้วยการนำคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของ บมจ. อสมท ที่ใช้งานอยู่รวมทั้งสิ้น 190 เมก ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิลและทีวีดาวเทียม) บนเทคโนโลยีบรอดแบนด์

โดยอสมท.แสดงเจตจำนงกับสำนักงาน กสทช.ว่า จะคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช.จำนวน 80 เมก แต่ กสทช.ต้องกำหนดมาตราการเยียวยาให้ อสมท. เนื่องจากสัญญาสัมปทานยังไม่สิ้นสุดลง ขณะที่ ปัจจุบัน กสทช. ยังไม่มีอำนาจเยียวยา

ขณะเดียวกัน กสทช.เตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อทำคู่ขนานเกี่ยวกับการกำหนดมาตราการเยียวยา ภายใต้ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาอยู่ ดังนั้นอำนาจเยียวยา ต้องรอ พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการกำลังพิจารณาอยู่แล้วเสร็จ ซึ่งจะออกมาสอดคล้องร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว คาดว่า จะบังคับใช้ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ในเดือน ธ.ค.2559 และจะทำให้สำนักงาน กสทช.ยังคงเป็นหน่วยงานอิสระ และ มีอำนาจเยียวยาให้ อสมท.

เผย ‘ไชน่า โมบาย’สนประมูล
หากกฎหมายดังกล่าวผ่าน สำนักงาน กสทช.วางกำหนดเวลาจัดประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตช์ไว้ปี 2560 มีจำนวนคลื่นความถี่นำมาประมูล 80 เมก จำนวนใบอนุญาต 3-4 ใบอนุญาต แบ่งช่วงคลื่นความถี่แต่ละใบอนุญาตเป็นช่วงละ (ล็อต) 25 เมก,25 เมก และ 30 เมก ใช้สำหรับงานโครงข่ายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์

“เราจะทำงานคู่ขนานไปด้วยกันกับการเจรจาอสมท. กระบวนการและจัดทำหลักเกณฑ์เงื่อนไขประมูล หรือไอเอ็ม ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาราว 5-6 เดือน และเปิดประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตช์ได้ปีหน้า คลื่นดังกล่าว บริษัทไชน่า โมบาย สนใจเข้าร่วมประมูลเช่นกัน” เลขาธิการ กสทช. กล่าว

ปี 61 ประมูลต่ออีก 2 คลื่น
นอกจากนี้สำนักงาน กสทช.กำหนดเดือน เม.ย.61 เปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ใช้ราคาสุดท้ายที่ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตช์รอบที่แล้วที่ราคา 4 หมื่นล้านบาท และคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตช์ 10 เมก จำนวน 1 ใบอนุญาต ใช้ราคาประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตช์ ครั้งก่อนเป็นเกณฑ์คิดราคาเริ่มต้น ก่อนที่สองคลื่นดังกล่าวจะหมดอายุสัมปทานในเดือนก.ย.2561

คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตช์ อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ที่ใช้งานอยู่จำนวน 45 เมก จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 ก.ย.2561 และคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 10 เมก ที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้งานอยู่โดยจะเปิดประมูลล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนหมดอายุสัญญาฯ คาดเดือน เม.ย.2561 และกระบวนการออกใบอนุญาตจะเสร็จสิ้นเดือน ส.ค.2561 ก่อนสัมปทานหมด

สำหรับคลื่นย่าน 1800 เมกะเฮิรตช์ จะเปิดประมูล 3 ใบอนุญาตๆ ละ 15 เมก คลื่น 850 เมกะเฮิรตช์ จะเปิดประมูล 1 ใบอนุญาต จำนวน 10 เมก ราคาเริ่มต้นประมูลต้องไม่ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งที่แล้ว รวมอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้คลื่น 850 เมกะเฮิรตช์ จะใช้ราคาประมูล 900 เมกะเฮิรตช์ เป็นราคาอ้างอิงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วนราคาประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตช์ ใช้ราคาอ้างอิงที่กว่า 4 หมื่นล้านบาท

ปี 63ชูคลื่น700เป็นโทรคมพร้อมประมูล
ทั้งนี้ ในปี 2563 เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 3 ใบอนุญาต อิงราคาประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตช์ ที่คาดการณ์ราคาเริ่มต้นจะสูงขึ้นกว่าคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตช์ เพราะเป็นคลื่นที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง โดยคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 45 เมก ปัจจุบันรองรับธุรกิจทีวีดิจิทัล 24 ช่อง คลื่นย่านนี้เป็นคลื่นที่ใช้ในบรอดแคสติ้ง แต่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู กำหนดให้เป็นคลื่นโทรคมนาคม แต่ไทยยังเป็นคลื่นในกิจการโทรทัศน์อยู่

ดังนั้น เมื่อครบสัญญาสัมปทานในปี 2563 กสทช.จะประกาศให้คลื่น 700 เมกะเฮิรตช์เป็นคลื่นโทรคมนาคม และจะนำมาประมูล คาดว่าอย่างน้อยปี 2563 จะเปิดประมูลคลื่นดังกล่าวได้ โดยเป็นคลื่นที่เหมาะนำไปใช้ 5จี รวมถึง4จี ได้ นับเป็นคลื่นย่านความถี่ต่ำ ลงทุนน้อย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วถึง

หลังปี60ส่งเงินเข้ารัฐ 4 แสนล.
นายฐากร กล่าวว่า หลังปี 2560 กสทช.จะมีเงินจากการประมูลนำส่งรัฐได้ประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท เงินจากการเปิดประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตช์ คาดว่า จะมีรายได้นำเข้ารัฐราว 2 แสนล้านบาท คลื่น 1800 เมกะเฮิรตช์ คาดไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท และคลื่น 850 เมกะเฮิรตช์อีกเกือบ 1 แสนล้านบาท ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 1.3 ล้านล้านบาท ขณะที่ เหตุผลที่ กสทช.ต้องเตรียมประมูลคลื่นความถี่ช่วง 4 ปีนี้ เพราะทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงเข้ายุค อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์

ดังนั้นคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาต้องเปิดประมูลคลื่นความถี่ตามแผนดังกล่าว ประมูลทันทีเมื่อสัญญาสัมปทานหมด คณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ที่เข้ามาต้องมีความสามารถทำงานได้ มีความเชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้

แนวโน้มตลาดโทรคมปีหน้า “โต ต่อเนื่อง”
ขณะที่ แนวโน้มตลาดโทรคมนาคมในปี 2560 เชื่อว่า ยังเติบโตต่อเนื่อง ล่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือนจริง หรือ เอ็มวีเอ็นโอ ได้ขอเบอร์ใหม่ กว่า 10 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันเลขหมายที่ใช้งานมีจำนวน 107 ล้านเลขหมาย

ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 2จี ลดลงเหลือเพียง 3% อีกราว 97% เป็นจำนวนผู้ใช้งานระบบ 3จี-4จี ดังนั้นจึงต้องมีแบนด์วิธรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งปีนี้มีอัตราเติบโตยังสูง รวมทั้งการใช้บริการต่อเดือนสูงขึ้น

นายฐากร กล่าวอีกว่า ส่วนภารกิจที่สำนักงาน กสทช. ต้องปฏิบัติต่อเนื่อง คือ นำเลขหมายสวยเปิดประมูลในเดือน เม.ย.2560 ประกอบด้วย เลขหมาย 6 ตัวเหมือน จำนวน 1,388 เลขหมาย และ 7 ตัวเหมือน จำนวน 137 เลขหมาย คาดว่าการประมูลดังกล่าวจะได้เงินราว 18 ล้านบาท

พร้อมทั้ง เดินหน้าจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม หรือยูเอสโอให้แล้วเสร็จจำนวน 3,920 หมู่บ้าน ซึ่ง กสทช.สำรวจและพบว่า เป็นหมู่บ้านชายขอบ คาดจะสำรวจพื้นที่ให้เสร็จภายในเดือน ม.ค.2560 และประกวดราคาเดือน มี.ค.2560 หลังจากนั้นการติดตั้งคาดใช้เวลาราว 3 เดือน และเปิดให้บริการได้ภายใน ธ.ค. 2560