ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินถาวร 4 ทุ่มวันนี้

ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินถาวร 4 ทุ่มวันนี้

เตรียมปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินถาวร 22.00 น. วันนี้ พร้อมลดช่องจราจรช่วงผ่านแยกเหลือฝั่งละ 2 เลนให้ผู้รับเหมานำเครื่องจักรเข้าพื้นที่

ที่กองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบจากการรื้อถอนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กรมโยธาธิการและผังเมือง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวสัญญาที่ 1 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่

พล.ต.อ.เดชณรงค์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้สรุปให้การปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินดำเนินการต่อไปโดยการปิดสะพานข้ามแยกครั้งนี้จะเป็นการปิดจราจรตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 22.00น.ของวันที่ 29 พ.ย. 59 เป็นต้นไป ซึ่งการปิดครั้งนี้ผู้รับเหมาจะวางแบริเออร์ในจุดที่ต้องมีการวางเครื่องจักรสำหรับการก่อสร้างซึ่งในช่วงนี้อาจจะทำให้บริเวณแยกรัชโยธินในแนวถนนรัชดาภิเษกเหลือด้านละ 2 ช่องทางจราจรเท่านั้น ซึ่งทางบช.น.จะมีการติดตามสภาพการจราจรตั้งแต่วันที่เริ่มปิดสะพานข้ามแยกเป็นต้นไปโดยจะใช้ระยะเวลาตรวจสอบสภาพการจราจรประมาณ 1 สัปดาห์และในวันที่ 6 ธ.ค. 59 จะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมและเสนอผลกระทบด้านการจราจรเพื่อหาแนวทางและจัดระบบการจราจรบริเวณแยกรัชโยธินอีกครั้ง

ทั้งนี้ การทำในระบบดังกล่าวเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการบริหารจัดการการจราจรบริเวณแยกว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยระหว่างนี้ทางกทม.จะมีการมาติดตั้งเครื่องนับจำนวนรถบริเวณแยกรัชโยธินและทางแยกที่ต่อเนื่องกัน สำหรับกรณีตรวจนับจำนวนรถเพื่อที่จะได้บริหารสัญญาณไฟจราจรให้สัมพันธ์กัน

นอกจากนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะตั้งชุดบริหารสถานการณ์การจราจรหรือซีอีโอโดยมีตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาารตำรวจนครบาล สน.พื้นที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลสถานการณ์เฉพาะกิจบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งทางผู้รับเหมาและสน.พื้นที่จะต้องรายงานสถานการณ์สภาการจราจรให้ชุดซีอีโอทราบอย่างต่อเนื่องว่าแต่ละวันที่ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินนั้นมีปัญหาอะไรบ้างเพื่อที่จะนำมาแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม การปิดสะพานรัชโยธินครั้งนี้เพื่อรื้อตัวสะพานออกและก่อสร้างใหม่เป็นอุโมงค์ลอดทางแยกใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีเป็นอุโมงค์ขนาด4ช่องจราจรไป-กลับ ขณะที่ในแนวถนนพหลโยธินซึ่งจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้น จะมีการสร้างสะพานสำหรับรถยนต์ใต้รางรถไฟฟ้าฝั่งละ1ช่องจราจรยกข้ามแยกรัชโยธิน ทำให้การแก้ปัญหาการจราจรบริเวณทางแยกดังกล่าว มีโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น