ถอดรหัส ปัญญ์ปุริ ในสมรภูมิเทรนด์เครื่องหอมโลก

ถอดรหัส ปัญญ์ปุริ ในสมรภูมิเทรนด์เครื่องหอมโลก

"เทรนด์เวลเนส เฮลธ์ ออร์แกนิค..กำลังมา แล้วเราจะได้ยินมันเยอะมากๆ ขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า" วรวิทย์ ศิริพากย์

นี่คือผลงานชิ้นสุดท้ายที่ มร.ฌ็อง มาร์ค เกดี้ (Mr.Jean-Marc Gady) สามารถทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะร่วมมือ (collaborate) กับบริษัทอื่น เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิคอนแวลลีย์ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ Apple Computer Inc. ดึงตัวเขาไปทำงานให้กับบริษัทด้วยข้อสัญญาเรียบร้อยแล้ว


และผลงานคอลลาบอเรตชิ้นสุดท้ายของเขาอยู่ในเมืองไทยนี่เอง

“ปัจจุบัน โปรเจคของเราน่าจะเป็นคอลลาบอเรชั่นสุดท้ายของมร.เกดี้ เพราะตอนนี้เขาเซ็นสัญญาไปอยู่กับแอปเปิลแล้ว ไปเป็นครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ กำลังจะออกโปรดักต์ใหม่ ซึ่งเขายังไม่เปิดเผยว่าคืออะไร และแอปเปิลก็ห้ามเผยด้วยว่าทำอะไรกัน เราโชคดีที่เป็นแบรนด์สุดท้าย และเป็นแบรนด์เอเชียที่ทำคอลลาบอเรชั่นช่วงนี้ หลังจากของเรา เขาก็หยุดคอลลาบอเรชั่น” วรวิทย์ ศิริพากย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปุริ จำกัด และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ปัญญ์ปุริ (Panpuri) ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพวันอาทิตย์’


ผลงานออกแบบชิ้นดังกล่าวคือ ‘ตะเกียงวิช’ หรือ ลิมิเต็ด อิดิชั่น วิช อโรมา ดิฟฟิวเซอร์ (Limited Edition WISH Aroma Diffuser) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์พ่นควันหอมในรูปลักษณ์คล้ายตะเกียงอะลาดิน

มร.ฌ็อง มาร์ค เกดี้ เป็นดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส เกิดที่กรุงปารีสในปีพ.ศ.2514 เป็นศิษย์เก่าของสถาบันสอนออกแบบ เลกอล เบลอ (L’ecole Bleue) ชื่อเสียงของเขาเริ่มต้นจากผลงานอันหรูหรางดงามมีรสนิยม ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ เครื่องเคลือบดินเผา โดยทำงานให้กับดีไซเนอร์ชื่อดังแห่งยุค ลินย์ โรเซท์(Ligne Roset) และ ลีฟ อิท (Liv’it) หลังจากนั้นเขาได้รับรางวัลหลายหลากจาก VIA ก่อนจะได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) ในตำแหน่ง อาร์ต ไดเรคเตอร์ ผู้ออกแบบดิสเพลย์และงานอีเวนต์ทั่วทุกมุมโลก

ปีพ.ศ.2548 เขาก่อตั้งสตูดิโอดีไซน์ในกรุงปารีส และทำงานคอลลาบอเรชั่นกับแบรนด์ดังระดับโลกอีกมากมาย โดยผลงานที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเขา ได้แก่การร่วมงานกับ บัคคาร่า (Baccarat), ชาแนล (Chanel), คริสตอฟล์ (Christofle), เดอ เบียร์ส (De Beers), ดิออร์ (Dior), เกอร์แลง(Guerlain), โมเอท์ แอนด์ ชองดอง (Moet & Chandon), ดิปทีค (Diptyque), มงต์บลองค์ (Montblanc) และล่าสุดกับแบรนด์ ปัญญ์ปุริ ในประเทศไทย

การตัดสินใจร่วมงานกับ มร.เกดี้ เป็นเพราะคุณวรวิทย์และทีมครีเอทีฟของปัญญ์ปุริ ติดตามผลงานของดีไซเนอร์คนนี้มานานแล้ว

“พอเราคิดว่าจะทำงานคอลลาบอเรชั่นกับดีไซเนอร์ต่างประเทศ ก็คิดว่าน่าจะเป็นเขา ลองติดต่อไป ปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างดี เขาชื่นชอบความเป็นเอเชียอยู่แล้ว และเราก็เป็นแบรนด์เอเชียแบรนด์แรกที่เขาทำคอลลาบอเรชั่นด้วย เพราะปกติเป็นแบรนด์ทางฝั่งยุโรปและอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ แบรนด์สินค้าหรูหราต่างๆ พอเห็นว่าเป็นแบรนด์เอชีย เขาเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ ได้ข้อสรุปกันว่า เราน่าจะทำเครื่องอโรมาดิฟฟิวเซอร์ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เราขายดีอยู่แล้ว เราอยากออกเวอร์ชั่นใหม่ที่มีดีไซน์เก๋ไก๋มากกว่าเดิม"

คุณวรวิทย์เล่าว่า จากข้อสรุปดังกล่าว มร.เกดี้ส่งแบบร่างงานดีไซน์กลับมาจำนวนหนึ่ง

“แต่เราสนใจแบบนี้ที่สุด โดนใจเลย เพราะสไตล์เขาตรงกับเราอยู่แล้ว มีความเรียบหรู แต่ก็มีความเรียบง่าย เป็นโครงเส้นที่สะอาด บ่งบอกความเป็นตะวันออกได้ดี มร.เกดี้บอกว่าเวลาเขานึกถึงเครื่องอโรมาดิฟฟิวเซอร์ที่ปล่อยควันออกมาได้ เขานึกถึงตะเกียงอะลาดิน เขาเคยท่องเที่ยวในฝั่งเอเชียมาเยอะ เขานำคอนเซปต์การจุดตะเกียงหรือควันที่ล่องลอยไปได้ ให้มาแทนความปรารถนา หรือการขอพรบางอย่าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นชาวตะวันออกของเราด้วย ก็เลยได้เครื่องอโรมาดิฟฟิวเวอร์ที่เรียกว่า ‘วิช’ นี้ออกมา”

มร.เกดี้ใช้เวลาไม่นานในการตอบตกลงร่วมงานกับปัญญ์ปุริ แต่ที่ใช้เวลาคือช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มเจรจาตกลงกันกลางปีพ.ศ.2557 จนผลิตภัณฑ์เสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดตัวได้เมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2559

“การใช้เวลาช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ นานกว่าช่วงตอบรับ เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นตัวดีไซน์เอง หรือการตกแต่ง(finishing) ต้องใช้เวลาพัฒนา กว่าจะขึ้นแบบแม่พิมพ์ ทดลองสี สีด้านบนที่เห็นเป็นเมทัลไลเซชั่น (Metallization) สีคอปเปอร์มีความมันวาว ทำยาก ด้านล่างเป็นสีขาว ตัววิชที่เห็นเป็นแบบพิเศษ จริงๆ คือโครงพลาสติกทนความร้อน แต่ทำให้ดูหมือนเป็นเหล็ก มีเรื่องบรรจุภัณฑ์ภายนอกอีกที่เราอยากให้สวยงามไปพร้อมกับตัวเครื่อง พร้อมเป็นของขวัญ ตัวเครื่องเองก็ไม่ใช่แค่เครื่องอโรมาพ่นควันหอม แต่ตั้งแล้วต้องดูสวยด้วย เป็นของตกแต่งบ้านได้เลย”

การตัดสินใจพัฒนารูปลักษณ์ ‘ตะเกียงดิฟฟิวเซอร์’ โดยร่วมงานกับ มร.ฌ็อง มาร์ค เกดี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของคุณวรวิทย์ที่ต้องการเสริมการยอมรับในระดับสากลให้กับแบรนด์ ‘ปัญญ์ปุริ’

"เดิมตะเกียงดิฟฟิวเซอร์ของเราเป็นอินเฮาส์ดีไซน์ทั้งหมด เราเริ่มคิดทำคอลลาบอเรชั่นมาตั้งแต่งานครบสิบปีปัญญ์ปุริ (พ.ศ.2556) เราเคยมี ‘โลตัส ดิฟฟิวเซอร์’ ทรงคล้ายดอกบัว ดีไซน์เราเอง ประสบความสำเร็จมากจนวันนี้ เราจึงอยากมีดีไซน์หลากหลายให้ลูกค้าเลือก

โลตัส ดิฟฟิวเซอร์ เป็นดีไซน์ที่สองของแบรนด์ ก่อนจะเป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ดั้งเดิมคนไทยจุดอโรมาด้วยเซรามิก แต่ตอนที่เราทำ ไม่อยากทำเซรามิก เพราะหาซื้อที่ไหนก็ได้ ดิฟฟิวเซอร์เครื่องแรกที่ปัญญ์ปุรินำมาสู่ตลาด เป็นการทำด้วยทองเหลืองหล่อมือทั้งอัน หุ้นส่วนของเรา ป้าคุณวสุ (วสุ สุรัติอันตรา) ที่บ้านเป็นโรงหล่อพระ เราก็เลยให้ช่างปั้นเป็นทองเหลืองขึ้นมา ซึ่งมีมูลค่ามาก กว่าจะทำได้ชิ้นหนึ่งใช้เวลา 30-40 ชั่วโมง เป็นงานมือ ถ้าซื้อเซรามิกร้อย-สองร้อย-สามร้อย(บาท) หาซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ของเราตอนที่เปิดตัวมาปี 2005(พ.ศ.2548) ก็ราคา 4,500 บาทเข้าไปแล้ว แต่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก เพราะเวลาเราดีไซน์ เราไม่ได้คิดแค่ว่าเป็นโปรดักต์เพื่อใช้งานเท่านั้น ปรัชญาเราคืออะไรที่อยู่ในบ้านหรือสิ่งที่เราเลือกเข้าชีวิต ไม่ได้แค่ใช้งานอย่างเดียว แต่ต้องสร้างสุนทรียภาพให้ชีวิตด้วย มองก็ต้องสวย จับก็ต้องรู้สึกถึงคุณค่า ตั้งแต่ชิ้นนั้นก็เป็นของประดับตกแต่งบ้านแล้ว นิสัยผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย บางคนไม่อยากจุดเทียนในบ้าน เราก็มีเวอร์ชั่นที่เป็นปลั๊กเสียบหลอดไฟ รุ่นพ่นควันอย่างเดียว (โลตัส) พัฒนาจนมาถึง ‘วิช’ "

ลิมิเต็ด อิดิชั่น วิช อโรมา ดิฟฟิวเซอร์ ออกแบบมาให้ใช้ได้กับเอสเซนเชียลออยล์ของปัญญ์ปุริใช้ได้ทุกกลิ่น ผลิตจำกัด จำนวน 2,000 ชิ้น ราคาชิ้นละ 7,500 บาท กำหนดวางจำหน่าย ณ จุดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศที่มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงสินค้า รายละเอียดคลิก www.panpuri.com

ปัญญ์ปุริก่อตั้งแบรนด์เมื่อปีพ.ศ.2546 เริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ถนอมผิว(Personal Skincare) ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องหอมภายในบ้าน (Home Ambiance) เมื่อปีพ.ศ.2553 ปัจจุบันปัญญ์ปุริส่งออกผลิตภัณฑ์ไปใน 20 ประเทศ

คุณวรวิทย์ บอกว่า ตั้งแต่วันแรกของการคิดสร้างแบรนด์ปัญญ์ปุริ ก็วางเป้าหมายให้เป็นแบรนด์ที่ต้องเติบโตไปในตลาดต่างประเทศ

“ผมไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่อายุ 17 กลับมาเมืองไทยอายุ 28 จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ ก่อนไปเรียนปริญญาโทผมทำงานบริษัทให้คำปรึกษาที่ไทย ถูกส่งไปสิงคโปร์และนิวยอร์ก เจอเหตุการณ์ 911 อยู่ในตึกด้วย ก็รอดชีวิตมาได้ เข็มทิศชีวิตก็เปลี่ยนเลยครับ ไปเรียนต่อปริญญาโทที่อิตาลีเกี่ยวกับสินค้าลักชัวรี่ เลยได้เรื่องพวกนี้มา ว่าเราจะสร้างสินค้าไฮเอนด์ลักชัวรี่อย่างไร ตั้งแต่วันแรกผมมองว่าจุดแข็งของเราคือการได้ไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ตอนกลับมาเมืองไทย ก็สวมหมวกฝรั่งกลับมานิดหนึ่ง เป็นฝรั่งที่ตกหลุมรักวัฒนธรรมไทย แค่มีมะลิมาขายตามสี่แยก ก็น่าทึ่งมาก มะลิมันไม่ได้หาง่ายๆ ในต่างประเทศ การไปวัดวาอารามก็มีสีสันสวยงามมากมาย บ้านเรามีของดีมากมาย แต่ว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ คือคุณภาพ ต้องเข้มงวดและสม่ำเสมอ บรรจุภัณฑ์ต้องคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ สาม..เรื่องแบรนดิ้ง ตอนนั้นเราเน้นโออีเอ็มกัน ยังไม่มีคนคิดมากๆ ว่าการทำเป็นแบรนดิ้งจะทำให้แบรนด์อยู่ยั้งยืนยง เพิ่มมูลค่าได้ แต่ต่างประเทศมีมาก เราเห็นแบรนดิ้งมีพลังมาก ทำให้คนเข้าคิวซื้อของได้ ซื้อของเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านได้โดยไม่มีเหตุผลอะไรเลย คือแค่อยากได้ก็จบ แบรนด์ไทยก็ต้องทำได้สิ มีเรื่องราวมากมาย แต่ไม่ได้ถูกเล่า ไม่ได้ตีความใหม่ นั่นคือจุดกำเนิดปัญญ์ปุริขึ้นมา”

ปัจจุบัน เครื่องหอมแบรนด์ไทย มีชื่อเสียงไม่น้อยหน้าแบรนด์ต่างประเทศ

"ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แบรนด์ไทยแข็งแรงและมีชื่อเสียงขึ้นมาก เมื่อ 15 ปีก่อนคงยากที่แบรนด์ไทยจะเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยเฉพาะเรื่องเครื่องหอม หรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิว แต่ถ้านับตอนนี้ ผมว่ามีหลายแบรนด์ช่วยสร้างตลาดและเป็นส่วนแบ่งธุรกิจที่สำคัญของประเทศ รัฐบาลก็สนับสนุนด้วยนะครับ ต่างประเทศเห็นความสำคัญชัดมาก เมืองไทยมีจุดเด่นด้านธรรมชาติ เครื่องหอมและการใช้ส่วนผสมที่เกี่ยวกับธรรมชาติ...

ในเอเชียผมว่ามีสามประเทศหลักที่คนทั่วโลกยอมรับ ถ้านึกถึงเครื่องสำอางคือญี่ปุ่น และที่กำลังมาแรงคือเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นด้านเทคโนโลยี คอสเมติก ศัลยกรรม แต่ถ้าคนนึกถึงด้านสุขภาพ ธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ผมว่าเมืองไทยขึ้นมาอันดับต้นๆ ไปกับด้านบริการด้วย สปาของเราเป็นที่รู้จัก การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมตะวันออกแบบของไทย ไม่ใช่แค่ความสวยงามภายนอก แต่เกี่ยวกับการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ แบรนด์ไทยพอมาเชื่อมโยงกับจุดขายตรงนี้ ผมว่าแบรนด์ไทยเติบโตได้ดี ปัญญ์ปุริเองก็เช่นกัน ได้รับการตอบรับอย่างดีจากต่า่งประเทศ ตอนนี้เราบอก ‘เมด อิน ไทยแลนด์’ กลายเป็นข้อบวก เขาเชื่อถือ สังเกตจากลูกค้าต่างประเทศที่เราไปคุย สปาชั้นนำกลายเป็นเราได้เปรียบ..

ล่าสุดโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ลที่เปิดที่มิลาน อิตาลี ก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ปัญญ์ปุริทุกห้อง แทนแบรนด์ยุโรปต่างๆ แบรนด์(แมนดารินโอเรียนเต็ล)ก็ไม่ใช่เอเชีย เพราะขณะนี้เบสอยู่ที่อเมริกา..

เวอร์จิ้น แอคทีฟ จากอังกฤษ เขาติดต่อเรามา ตอนแรก(ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ)ก็มากับแบรนด์ต่างประเทศ พอเขาเห็นเรา เห็นศักยภาพ เราเป็นพาร์ทเนอร์กับเวอร์จิ้นฯ มาสองปีแล้ว เริ่มจากเมืองไทย ขยายสัญญาเป็นภูมิภาค สิงคโปร์ก็เปลี่ยนแล้ว ตอนนี้กำลังดีลกับออสเตรเลีย..

ตอนนี้โลกหันมาที่เอเชียมากขึ้น มากกว่าผิวพรรณข้างนอก เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ชาวตะวันตกกลับไปสู่ธรรมชาติ-จิตวิญญาณ โลกพัฒนามากๆ มักจะย้อนกลับไปหาอะไรที่เขาไม่มีเสมอ ก็กลายมาเป็นข้อได้เปรียบกับแบรนด์ไทย"

คุณวรวิทย์ มองว่าขณะนี้ เทรนด์เครื่องหอมแนวอโรมาและเครื่องหอมสำหรับที่พักอาศัย กำลังได้รับความนิยมมาก เนื่องจากการมี สุขภาพดีแข็งแรง(wellness) สภาพร่างกาย(health) และ ความงาม (beauty) เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่คนเราย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว และมีความกังวล

“เทรนด์นี้อาจไปกับโลกที่คนเราก็อยากเน้นเรื่องสุขภาพ ความงาม การสร้างอารมณ์ที่ดีเวลากลับไปบ้านหรืออยู่ในที่ทำงาน มันมากับการแต่งบ้าน การใช้ชีวิต การสร้างสุนทรียภาพให้ตัวเองในบ้าน ถ้าเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เพิ่มให้กับชีวิตได้โดยไม่ต้องหนักกระเป๋ามาก โดยเฉพาะกระแสการอพยพเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ (urbanization) ที่มากขึ้น เราเครียดมากขึ้น มีเวลาให้กับตัวเองน้อยลง แต่ละคนพยายามใช้เวลาของตัวเองให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อสร้างความสุข เห็นเทรนด์ชัดมากขึ้น เมื่อก่อนคนไทยก็ไม่ค่อยจุดเทียนหอม หลังๆ สังเกตว่าต้องมีเทียนประกอบเสมอ จะดินเนอร์ จะอยู่บ้านตอนกลางคืน ก็ไม่เปิดไฟ แต่จุดเทียนหอม ได้ทั้งแสงสว่าง ได้ทั้งกลิ่นหอม อารมณ์ ประหยัดไฟฟ้า”

แม้ เทรนด์เครื่องหอมฯ กำลังได้รับความนิยม แต่คุณวรวิทย์ก็มองว่า ‘เป็นเรื่องยาก’ สำหรับคนที่คิดจะก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเลย

“ผมว่ามันยากขึ้นที่จะเข้ามาใหม่เลย อาจจะสองปัจจัย หนึ่ง)ตลาดในเมืองไทย ถึงมีอัตราเติบโตสูง แต่มีผู้เล่นที่มั่นคง สอง)ผู้บริโภคซับซ้อนขึ้น แบรนด์ไทยเอง แบรนด์ต่างประเทศเข้ามาเต็มไปหมด ถ้าจะเริ่มใหม่ ผมว่าเป็นไปได้ แต่ผมว่าต้องม่ีจุดขายที่ชัดมากๆ ต้องหาคอนเซปต์เฉพาะกลุ่มจริงๆ แต่ถ้าจะทำตามเขา ผมว่ายาก ต้องต่างจากคนอื่นจริงๆ เหมือน.อุตสาหกรรมทั่วไป ถ้าเติบโตเต็มที่แล้ว ต้องหาเสี้ยวที่ยังไม่มีคนไปอยู่ตรงนั้น ต้องทำการบ้านเยอะมากๆ”

คุณวรวิทย์ยอมรับว่าเป็นโอกาสดีที่ ‘ปัญญ์ปุริ’ มายืนตรงนี้ได้ แต่ยังต้องพัฒนาอีกมาก

“เพราะตลาดก็ไปเร็ว เทรนด์เวลเนส เฮลธ์ ออร์แกนิค กำลังมา แล้วเราจะได้ยินมันเยอะมากๆ ขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ล่าสุดบีดีเอ็มเอสกับปาร์คนายเลิศ ก็เวลเนสหมื่นล้าน พอสร้างเสร็จก็จะเห็นชัดเจนขึ้น ความจริงเมืองไทยเราเป็นศูนย์กลาง(hub)ของเวลเนส สุขภาพ ความงาม ได้เลย ปี 2018 เราสู่ยุคผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ เราจะมีความต้องการที่เปลี่ยนไปทันที เราจะสนใจเรื่องสุขภาพ หนังสือ บรรจุภัณฑ์ต้องทำตัวหนังสือให้ใหญ่ขึ้น ไปซูเปอร์มาร์เก็ตก็ต้องมีคนช่วย ออนไลน์มีคนมาส่งของที่บ้าน มีตัวชี้วัดมากมาย เรื่องของความสวยความงาม เรื่องของการสร้างสุขภาพที่ดี ก็มาตามกันเลย”

---------------------------

ภาพ : สุกล เกิดในมงคล, กัณฑิมา วรรณรัตน์