‘Commerzy’ เจ็บจริง รู้จริง เดินเกมการค้ายุคดิทัล

 ‘Commerzy’ เจ็บจริง รู้จริง  เดินเกมการค้ายุคดิทัล

ในวันที่โลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล ที่สุดก็ “หมดยุคสำเพ็ง200 ปีไม่มีวันตาย”

เคยผ่านทั้งยุคที่เฟื่องฟูสุดขีด อยู่ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งค่าเงินหยวนของจีนเวลานั้นถูก แต่ค่าเงินบาทไทยแข็ง เลยสร้างกำไรแฝงให้มากถึง 10%


แต่ไม่นานธุรกิจค้าส่งก็เจอปรากฏการณ์ดิสรับชั่น คือจากเดิมพ่อค้าอินเดียที่เป็นลูกค้าหลักจะบินมาซื้อของที่สำเพ็ง ก็กลับบินตรงไปสั่งของที่ประเทศจีนเอง

พอคิดหวังจะพึ่งตลาดพ่อค้าคนไทย และได้เปิดกลุ่มไลน์ใช้ค้าขายกับตัวแทนจำหน่ายแต่พวกเขากลับใช้เป็นมาร์เก็ตเพลสไว้ค้าขายกันเอง เรียกง่ายๆคือเกิดภาวะ “กรุ๊ปไลน์เป็นพิษ”


นี่คือประสบการณ์ทั้งสุขและทุกข์ในช่วงที่มีชีวิตเป็นพ่อค้าขายส่งที่สำเพ็งของ “เวชอมร จรูญผลฐิติ” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Commerzy (คอมเมอร์ซี่) จนมองเห็นว่า “หมดยุคสำเพ็ง200 ปีไม่มีวันตาย” ในวันที่โลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล ที่สุดก็ได้หาทางปรับตัวโดยเขียนระบบบริหารจัดการค้าส่งที่ชื่อว่า “ชิคจังชั่น”


ระบบดังกล่าวจะช่วยเปิดร้านขายรองเท้าได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายเงินเป็นหลักแสนเพื่อมีสินค้ามาโชว์ที่หน้าร้าน ไม่ต้องลงทุนแบกรับสต็อก แค่ใช้เงินเพียงแค่ 25,000 บาท เพื่อทำการตัดออโต้เมื่อมีการจองสินค้า และมีเงินมัดจำการใช้ระบบ 5,000 บาท เท่านั้น


"เราเริ่มทำจริงๆเมื่อปี 2014 แต่มาพีคจริงๆคือปีที่แล้วพีคจนกระทั่งลูกค้าที่ใช้ระบบมาหาลูกน้องเพื่อถามว่าใครที่เขียนระบบนี้ขึ้นมา เพราะส่งของไม่ผิดเลย มันเป็นไปได้ยากเพราะเขาเป็นตัวแทนมาหลายร้านๆส่วนใหญ่จะส่งของผิดหมดเลย"


จึงกลายเป็นว่าตัวแทนที่อยู่ในระบบได้ไปกดดันกันเองว่าจะไม่ค้าขายด้วยถ้าไม่ใช้ระบบชิคจังชั่น


เมื่อมั่นใจว่าระบบที่พัฒนาจากประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการเจ็บจริง ลุกได้จริงสามารถตอบโจทย์พ่อค้าขายส่งได้เป็นอย่างดี ที่สุดก็นำมาสู่การตัดสินใจเปิดตัวเป็นสตาร์ทอัพในนาม คอมเมอร์ซี่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะช่วยทำให้การขายของอีคอมเมิร์ซ รวมถึงระบบ Dropship เป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย


หมายถึง พ่อค้าที่สุไหงโกลกก็ทำธุรกิจขายส่งได้ไม่เห็นต้องมาเปิดขายที่สำเพ็ง หรือพ่อค้าที่อยู่เชียงใหม่ก็ทำได้เหมือนกันไม่เห็นต้องมาสำเพ็ง


"คำจำกัดความของเรา จะใช้คำว่า มัลติเซลล์ ชาแนล อิน วันแพลตฟอร์ม เราอยากให้ทุกคนขายของโดยที่ไม่ต้องสต็อกบวม คุณไม่ต้องสต็อกของเยอะๆ สต็อกน้อยๆ แต่มีช่องทางขายให้มากๆ รวมถึงเรามีระบบส่งเสริมการขายให้ด้วย"


แต่ประโยชน์ของคอมเมอร์ซี่มีมากกว่านั้นคือ จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าด้วย


"แม้เราจะโฟกัสขายส่งแต่ก็มีพ่อค้าขายปลีกที่สนใจต้องให้คำปรึกษา แต่การให้คำปรึกษาคนๆหนึ่งต้องก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่ละวันมีคนมาหาเราจำนวนไม่น้อยเลย ก็เลยต้องจัดสัมมนาซึ่งเราจะเล่าให้พวกเขาฟังว่าเคยล้มอย่างไรบ้าง เคยพบเจอรูรั่วอย่างไร คนมาฟังก็จะเข้าใจได้ง่ายเพราะเขาก็เคยอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน"


ถามถึงปัญหายอดนิยมที่ต้องให้คำปรึกษาอยู่บ่อยๆ คำตอบก็คือ อันดับแรก มักอยากได้ระบบที่ช่วยทำให้การขายเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น สามารถปิดการขายได้เร็วขึ้น


อย่างไรก็ดี การขยับมาอยู่ในฐานะของสตาร์ทอัพก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งของ เวชอมร ที่เดิมทำธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจครอบครัว โดยได้ชักชวนเพื่อนฝูงประกอบด้วย รัฐพล พรรณเชษฐ์,เวทิศ อัคคะสารกุล และ วิทิต เหรียญชัยพิทักษ์ เพื่อเข้ามาร่วมกันสร้างให้มันเติบใหญ่ต่อไปในอนาคต


"พวกเรามองว่าทุกคนในตลาดการค้าไม่ว่าจะมีหน้าร้านออนไลน์หรือออฟไลน์ ทุกคนล้วนถูกบังคับกลายๆ ด้วยสิ่งแวดล้อมและโลกสมัยใหม่ให้ไปออนไลน์กันหมด ขณะที่พ่อค้าส่วนใหญ่ยังขาดโนว์ฮาว ขาดเครื่องมือ ขาดที่ปรึกษาเลยไม่กล้าเปลี่ยน ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซมันก็ใหญ่มากขึ้น และโตมากขึ้นเรื่อยๆ คนก็เริ่มสวิตซ์จากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้ามันเยอะ ต้องบอกว่ามีจำนวนมหาศาล เราก็เลยมีโอกาสมหาศาลเช่นกันที่จะเติบโต"


แต่การเติบโตของคอมเมอร์ซี่จะไม่ได้โตแบบก้าวกระโดด ไม่ได้เป็นกราฟที่พุ่งสูงปริ๊ดแบบเดียวกับที่สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นทำได้ ทว่าจะมีความมั่นคงมากกว่า


"ยูนิคอร์น ปัจจุบันนี้ก็เขาหักเยอะมาก เพราะมักเริ่มด้วยการให้ใช้บริการฟรีเลยได้จำนวนยูสเซอร์จำนวนมาก แต่สุดท้ายก็เจอปัญหาคือจำนวนทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้ใช้ที่จ่ายเงินที่แท้จริง แต่ในมุมของคอมเมอร์ซี่จะเริ่มต้นที่ยูสเซอร์ที่จ่ายเงินเลย ดังนั้นกราฟการเติบโตของเราคงไม่มีทางเทียบกับการเปิดให้ใช้ฟรี แต่ยูสเซอร์ของเราจะไม่เลิกใช้ง่ายๆ และเขาก็จะจ่ายให้กับเราเรื่อยๆ"


ถามถึงหลักไมล์ของคอมเมอร์ซี่ เขาบอกว่า ภายในสิ้นปีนี้จะเกิดความร่วมมือกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น เพย์เมนท์เกตเวย์ โลจิสติกส์ และการบัญชี


"ถ้าใครที่ไม่อยากบริหารสต็อกเอง หรือส่งของเอง เราก็มีบริการตรงนี้ให้ ถ้าใครอยากรับบัตรเครดิตที่ได้เรทพิเศษกว่าการไปคุยเอง เราก็ไปคุยให้แล้ว ในเรื่องของโลจิสติกส์เหมือนกันจะเป็นเรทพิเศษ คือนอกจากระบบที่ครอบคลุมการทำงานแล้ว เราจะช่วยทำให้ต้นทุนของคนที่ใช้ระบบถูกลงด้วย"


แต่คอมเมอร์ซี่ มีแผนจะเร่งโตในปีถัดไป โดยคิดถึงเรื่องของการเรสฟันด์ ทั้งนี้ไม่ได้มองผลประโยชน์ที่จะได้รับจากนักลงทุนเป็นเพียงแค่เรื่องของเม็ดเงินเท่านั้น แต่เพราะมองว่ายังสามารถสนับสนุนธุกิจในด้านอื่นๆได้อีกมาก


"เป้าหมายสูงสุดของคอมเมอร์ซี่ สุดท้ายแล้วคงไม่ใช่เป็นตัวเงิน แต่เราอยากช่วยเอสเอ็มอีไทย การเติบโตในแง่ของยูสเซอร์มีความสำคัญระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญมากกว่าสำหรับเราก็คือ อีโคซิสเต็มอีของคอมเมิร์ซไทยจะต้องเติบโตขึ้น สิ่งที่เราเอดดูเคดไปจะทำให้คนสนใจอยากใช้ระบบบริหารจัดการ ซึ่งคอมเมอร์ซี่เองอาจไม่ได้ขายเป็นอันดับหนึ่งก็ได้ ที่คาดหวังไว้ก็คือ เอสเอ็มอีไทยจะอยู่ในธุรกิจได้เกิน 5 ปี ไม่ใช่อยู่แค่ปีสองปีก็ตาย"


ทั้งยังได้ฝากข้อคิดถึงผู้ที่ทำธุรกิจโดยเฉพาะค้าส่งว่า ภายหลังที่อาลีบาบาได้ซื้อลาซาด้าไปแล้ว จากนี้ไปคนจีนได้รุกคืบเข้ามาขายของในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ง่ายแสนง่าย ไม่มีความจำเป็นจะต้องให้ใครบินไปซื้อของเหมาโหลแล้วค่อยเอามาขายต่ออีกทอดหนึ่ง


"นั่นหมายความว่ากำแพงด้านเวลามันจะสั้นลง ซึ่งจริงๆมันเป็นประโยชน์กับเอ็นยูสเซอร์มากเลยนะ แต่สำหรับพ่อค้าขายส่งแล้วต้องคิดหาทางรับมือ ต้องหาวิธีปรับตัวเพราะภัยคุกคามจากเมืองจีนมาแล้ว มันถือเป็นการดิสรับชั่น ที่คุณจะอยู่เฉยๆไม่ได้แล้ว ต้องสร้างตัวตน สร้างแบรนด์ดิ้งขึ้นมา คุณต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง ถ้าไม่ทำขึ้นมาอีกไม่นานคุณก็ถูกบังคับให้เปลี่ยน แต่อย่าให้ถูกบังคับให้รีบเปลี่ยนก่อนเพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัว"


ขณะเดียวกันพ่อค้ารายเล็กอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่นัก เพราะยังเล็กอยู่ ยังมียอดขายไม่เยอะมาก อย่างไรก็ตาม ระบบบริหารจัดการนั้นมีความจำเป็นต่อการทำธุรกิจทุกขนาด


"สุดท้ายการที่คุณไม่มีระบบ มันทำให้ไม่มีข้อมูลรับมืออนาคต ไม่รู้ว่ามีสต็อกเท่าไหร่ มีกำไรขาดทุนเท่าไหร่ ที่คุณคิดว่าน่าจะได้เท่านี้ มันก็อาจจะไม่ใช่ การที่คุณไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงจะทำให้การตัดสินใจเกิดความผิดพลาด"

ความร่วมมือคือสูตรสำเร็จ


แตกต่างไปจากสมัยที่ยังเป็นเถ้าแก่เอสเอ็มอี เด็กๆในร้านเรียกว่า “เฮีย” ตรงที่การเป็นสตาร์ทอัพต้องคิดถึงคำว่า “ความร่วมมือ” (collaboration) ให้มากถึงมากที่สุด


"ตอนที่ยังเป็นคนขายของก็มองทุกคนที่ขายของว่าต้องเป็นคู่แข่งของเราทั้งหมดและก็ไม่รู้จะไปร่วมมือกับเขาอย่างไร แต่พอทำเป็นโซลูชั่น ต้องคิดถึงในแง่ของความร่วมมือ กลายเป็นว่าการหาพาร์ทเนอร์ก็สำคัญ เพราะเราไม่ได้เก่งทุกทาง ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง"


ตรงกันข้ามการมีพาร์ทเนอร์จะช่วยทำให้ธุรกิจพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจะสามารถพัฒนาโปรดักส์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้เร็วกว่าการคิดหาทางทำขึ้นมาด้วยตัวเอง


"ในแง่ของโลจิสติกส์ บัญชี เพย์เมนท์เกตเวย์ หรือด้านอื่นๆ เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญแต่ถามว่าถ้าจะไปศึกษาให้รู้เท่าเขาได้ไหม ผมมั่นใจว่าทำได้ คำถามก็คือ แล้วเราต้องใช้เวลาในการศึกษาศาสตร์แต่ละสาขานานแค่ไหน และพอรู้ปุ๊บมันจะทันต่อโลกไหม เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้มองคนอื่นเป็นคู่แข่ง แต่ถือเป็นพาร์ทเนอร์เป็นโอกาสในการมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุด"