เปิดทฤษฏีวงกลม ‘Freshket’

เปิดทฤษฏีวงกลม ‘Freshket’

คุณภาพ ราคาเป็นธรรม มีความโปร่งใส เป็น 3 คำที่ “Freshket” (เฟรชเก็ต) ต้องการจะขับเคลื่อนในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรของประเทศไทย

แม้เป้าหมายจะยิ่งใหญ่ “พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์” (เบลล์) ในฐานะ CEO เฟรชเก็ต บอกว่า แต่หากตั้งใจทำอย่างมีความสุข เต็มไปด้วยแพชชั่น ก็จะมีแรงฮึดมีความอดทนที่สุดก็จะประสบความสำเร็จในไม่ช้า


เฟรชเก็ต ก็คือแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส ที่ทำให้ผู้ซื้อ (กลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหาร) ได้พบเจอกับฝั่งผู้ผลิต (เกษตรกร) ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น ดีขึ้น เพราะปัญหาที่ผ่านมาก็คือ เกษตรกรต้องทำงานหนักแต่รายได้จากการขายสินค้าเกษตรกลับต่ำเตี้ยติดดิน ซึ่งคงไม่ต้องบรรยายอะไรมากเพราะก็คงรู้กันดี ส่วนฝั่งของร้านอาหารที่มักประสบปัญหายุ่งยากในการจับจ่ายสั่งของเข้ามาใช้ในร้าน มิหนำซ้ำยังได้สินค้าที่คุณภาพต่ำในราคาที่สูงลิ่วอีกด้วย


"เดิมร้านอาหารจะสั่งของทั้งทางแฟกซ์ อีเมล และไลน์ ซึ่งซัพพลายของร้านอาหารมันยิบย่อยมากๆ แค่มะเขือเทศอย่างเดียว ก็มีทั้งต้องการขอแบบเขียวหน่อยอยู่ได้ 3 วัน กับแบบปกติ รวมถึงยังต้องการไซส์เล็กและใหญ่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเฟรชเก็ตจะเชื่อมต่อกับเวิร์คโฟร์ จากหน้าบ้านเข้าหลังบ้านได้เลย เมื่อร้านอาหารสั่งของทางซัพพลายเออร์ก็ไม่ต้องมาทำบิลโดยการคีย์ใหม่ทั้งหมด มันก็มาเป็นออร์เดอร์ เป็นรายการสินค้า เป็นบิลเลย ของพวกนี้ร้านอาหารสั่งทุกวัน ไม่จำเป็นต้องมานั่งกรอกข้อมูลใหม่ มันลำบากชีวิต"


เฟรชเก็ตมีโคฟาวเดอร์อยู่ 2 คน ซึ่งต่างก็เป็นลูกศิษย์คลาส Disrupt ของกระทิง “เรืองโรจน์ พูนผล” และมีความเข้าใจในวิถีของความเป็นสตาร์ทอัพ


"ในการเลือกโคฟาวเดอร์ เบลล์มองว่าควรต้องเลือกคนที่ไม่เหมือนเรา ไม่เอาคนที่เหมือนหรือจะมาเป็นผู้ตาม เบลล์รู้จุดอ่อนของตัวเองคือ เบลล์มาทางสายบิสิเนส ชอบทำอะไรไวแล้วลุยเดินหน้าตลอด ซึ่งกับพาร์ทเนอร์อีกคนเราต่างกันมาก เขามาทางสายไฟแนนซ์ จะรอบคอบ คอยระวังหลัง ค่อยดึงๆ เรา และมีในเรื่องที่เราขาดก็คือ สกิลไฟแนนซ์และบัญชี "


อย่างไรก็ดี การสร้างความสัมพันธ์โดยเฉพาะสตาร์ทอัพซึ่งมีคนทำงานอยู่ไม่กี่คนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างโคฟาวเดอร์ด้วยกันที่ควรต้องพยายามศึกษา ต้องพยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน


"ในเฟรชเก็ตจะวิเคราะห์ทุกอย่างเป็นวงกลม วงที่หนึ่งคือทีม วงที่สองคือ โปรดักส์ วงที่สามคือบิสิเนส วงที่สี่เป็นพันธมิตรธุรกิจ เราจะพิจารณากันเป็นวงๆ ว่าช่วงเวลาไหนต้องให้ความสำคัญที่วงไหน เราจะวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมภายในของเรา ขณะที่วงศูนย์หมายถึงโคฟาวเดอร์ ที่ต้องหาทางทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดความเชื่อใจกัน สามัคคีกัน และมองภาพเดียวกัน ไม่เพียงแค่บิสิเนส แต่เราสองคนจะคุยกันลึกถึงแรงจูงใจ ปัญหาส่วนตัว ยูมีอะไรทำไมงานวันนี้ไม่มีประสิทธิผลเลยทะเลาะกับคนที่บ้าน หรือทะเลาะกับแฟนมาหรือ "


ถามว่า วงต่างๆ ที่สร้างขึ้นมีประโยชน์อย่างไร พงษ์ลดาบอกว่า ความเป็นสตาร์ทอัพซึ่งโดดเด่นในเรื่องของความเร็ว ก็มักจะมีอะไรหลายๆ เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ในเวลาเดียวกัน มีความจำเป็นต้องมีแกนกลางในการวิเคราะห์แบบหยาบๆเร็วๆ เพราะจะรอให้ข้อมูลมาครบแบบร้อยเปอรเซ็นต์แล้วค่อยวิเคราะห์คงเป็นไปได้ยาก


ส่วนภาพของเฟรชเก็ตสำหรับพงษ์ลดา จะอยู่ในรูปแบบชอทเทอม และลองเทอม เริ่มที่ชอทเทอม เป็นความพยายามเจาะลึกทั้งซัพพลายเออร์และบายเออร์จากนั้นก็จะขยับไปยังร้านอาหารไซส์แอล ซึ่งมีสาขาจำนวนมาก


"ซึ่งเราก็จำเป็นต้องปรับเรื่องของโปรดักส์ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าด้วย ต่อจากนั้นเราคิดจะขยับไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ที่มองว่าก็มีความต้องการเฟรชฟู้ดเหมือนกัน และเราต้องลงไปสำรวจถึงความต้องการ ทั้งในเรื่องของฟู้ดและเทคโนโลยีเพื่อจะหาทางตอบโจทย์ของเขา ภายหลังจากนั้นเราก็จะไปต่อในตลาดส่งออก "


ต้องบอกว่าเป้าหมายของเฟรชเก็ตนั้นยิ่งใหญ่ เพราะต้องการเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าเกษตรของโลก


"ตรงนี้มองว่ามันมีเสน่ห์ และไม่ได้หมายถึงเราต้องการไปทำลาย หรือตัดพ่อค้าคนกลางคนใดคนหนึ่งออกไป แต่เราทำให้มันแฟร์ มีคุณภาพ มีความชัดเจนโปร่งใส มากขึ้น เบลล์มองว่าแต่ละคนในตลาดมีหน้าที่ที่ไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่าคนที่ไม่จำเป็นสุดท้ายก็ต้องออกไปจากตลาดเอง"


ส่วนกรอบเวลาที่วางไว้ก็คือ ต้องการให้ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปี เธอยอมรับว่าลำพังทีมเฟรชเก็ตคงไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เอง แต่ถ้ามี Strategic Partner ซึ่งมองเห็นภาพเดียวกันมาคอยเป็นเพื่อนคู่คิด จึงจะช่วยทำให้เกิดขึ้นได้จริง


อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าเฟรชเก็ตในเวลานี้ยังเป็น “Early stage Startup” และเพิ่งเข้ามาในโครงการ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท” ได้เพียงสามเดือนเท่านั้น โดยใช้เวลาสองเดือนเพื่อพัฒนาโปรดักส์ และก็เพิ่งทำเบต้าลอนซ์ออกมาไม่นานนัก


"เราไม่ได้โฆษณาใช้แต่เฟซบุ๊กให้คนช่วยกันแชร์ต่อว่ามีบิสิเนสโมเดลแบบนี้นะ มีโปรแกรมแบบนี้แล้วนะ ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 48 ชั่วโมง ก็มีร้านอาหาร 500 ราย และมีซัพพลายเออร์ 100 รายเข้ามาลงทะเบียนในระบบของเราซึ่งถือว่าเร็วมาก และทำให้เรามั่นใจว่ามีความต้องการในตลาดจริงๆ"


และเนื่องจากยังไม่มีการเซ็คเมนท์แต่เป็นการหว่านหาความต้องการออกไป ก็กลายเป็นข้อดี เพราะจำนวนและรายชื่อผู้ที่ลงทะเบียนเข้ามาทำให้เฟรชเก็ตได้เห็นภาพใหญ่ และสามารถเซ็คเมนท์ได้ในที่สุด คือมองเห็นว่าใครที่เหมาะ ใครที่ไม่เหมาะ ทั้งยังสามารถนำไปพัฒนาโปรดักส์เพื่อตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากที่สุดด้วย


ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเฟรชเก็ตในฝั่งซัพพลายเออร์นั้น ในช่วงเริ่มต้นจะมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ฟู้ดเซอร์วิส บริการหาสินค้าต่างๆให้กับกลุ่มร้านอาหาร กลุ่มที่สอง เป็นบายโปรดักส์ ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่มเช่นกัน กลุ่มแรกเรียกว่า ฟู้ดโปรดิวเซอร์ ขายของแห้ง น้ำปลา น้ำตาล ฯลฯ อีกกลุ่มก็คือ เกษตรกรที่ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์


ส่วนฝั่งร้านอาหารนั้น เริ่มจากไซส์เอส (มี 2 สาขา) และไซส์เอ็ม (มี 3-5 สาขา) และต้องเป็นร้านที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบีขึ้นไป หมายถึง ตั้งราคาอาหารไว้ประมาณ 300 บาท/คน


"ทำไมเราเจาะจงกลุ่มนี้ เพราะเฟรชเก็ต เป็นเฟรชฟู้ดมาร์เก็ตเพลสที่บูรณาการกับเวิร์คโฟร์ซิสเต็ม ช่วยทำให้ระบบหลังบ้านของทั้งฝั่งบายเอออร์และซัพพลายเออร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เฟรชเก็ตกำลังจับมวยให้ถูกคู่ เพราะถ้าเป็นกลุ่มบายเออร์รายใหญ่ เขาจะมีระบบพวกนี้รองรับอยู่แล้วและมีอำนาจต่อรองสูงสามารถเรียกซัพพลายเออร์เป็นสิบๆ ราย มาประมูลซึ่งมันก็จะจบด้วยราคา ซึ่งคงเป็นมวยที่ไม่ถูกคู่ เพราะทางฝั่งซัพพลายเออร์เองคงคิดว่าแล้วจะทำโปรดักส์ดีๆไปทำไม"


เธอบอกว่า แน่นอนทุกๆธุรกิจ ราคาถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ราคาไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวสินค้าต้องมีคุณภาพด้วย ภารกิจของเฟรชเก็ตก็คือ ต้องส่งเสริมในเรื่องนี้ โดยให้ทางฝั่งซัพพลายเออร์ผลิตของดีมีคุณภาพเพราะยังมีกลุ่มร้านอาหารที่ไม่ได้คำนึงถึงราคาเท่านั้นแต่พิจารณาในเรื่องของคุณภาพด้วยเช่นกัน


ถามถึงภาพที่จะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้ เธอบอกว่าในเวลาอันใกล้จะเป็นเรื่องความพร้อมของอีโคซิสเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการชำระเงินและระบบโลจิสติกส์ จากนั้นค่อยมุ่งไปยังกลุ่มซัพพลายเออร์และบายเออร์ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น และขยายออกไปในวงกว้างยิ่งๆขึ้น

ธุรกิจนี้มหัศจรรย์


แม้นามสกุล “พะเนียงเวทย์” ทำให้คิดถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (พิพัฒ พะเนียงเวทย์ มีฐานะเป็นคุณลุง) แต่แบ็คกราวน์ของพงษ์ลดา มาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ (เป็นผักสวนครัวทุกอย่าง เช่นผักบุ้ง ผักคะน้าผักกาด)


“ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เบลล์ได้ไปคลุกคลีกับกลุ่มเกษตรกรตลอด และได้เห็นทุกกระบวนการตั้งแต่เขาเริ่มปลูกพืชผัก เห็นเขาเก็บ และขาย ซึ่งรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขามีความลำบากมาก”


แต่ที่น่าทึ่งก็คือ เมื่อเธอได้เข้าไปสังเกตุการณ์ที่ตลาดไท กลับได้พบว่ามันมีอีโคซิสเต็มที่แสนมหัศจรรย์ ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือ สินค้าเกษตรที่ใครๆก็มองว่ามีราคาถูกแสนถูก แต่คนที่ทำธุรกิจในตลาดไทหลายต่อหลายคนกลับขับ “รถซูเปอร์คาร์”


ด้วยแบ็คกราวน์เรียนปริญญาโทด้านบิสิเนส หลักสูตร MIM ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกทั้งเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคอนซูมเมอร์ทำให้เธอได้เห็นถึงโอกาสที่หลากหลาย และคงไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน เธออยากทำเฟรชเก็ตขึ้นมาเพื่อคำ 3 คำ ก็คือ อยากให้ตลาดเกษตรของไทย มีราคาที่เป็นธรรม มีคุณภาพ และโปร่งใส


“ที่ผ่านมาทุกอย่างดูยุ่งเหยิงถูกครอบงำโดยคนไม่กี่กลุ่ม กลายเป็นว่าเกษตรกรเล็กๆ ที่ทำงานหนักที่สุดกลับได้กำไรน้อยที่สุด ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเขาได้ก็คงจะดี”