ไฟเขียว6แบงก์รัฐ บริการอีเพย์เม้นท์

ไฟเขียว6แบงก์รัฐ บริการอีเพย์เม้นท์

คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อนุมัติ 6 สถาบันการเงินเฉพาะกิจให้บริการ “อีเพย์เม้นท์” พร้อมให้ 3 บริษัทเอกชน ให้บริการกับประชาชนได้

มั่นใจมีความพร้อมให้บริการ

นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีพล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่งได้รับใบอนุญาตในการให้ดำเนินการธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ “อีเพย์เม้นท์” ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 2559

ประกอบไปด้วยธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

โดยคณะกรรมการฯพิจารณาว่าธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่งของรัฐ มีความพร้อมที่จะให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์ได้ จากนี้ธนาคารต่างๆจะไปดำเนินการขออนุญาตให้แล้วเสร็จตามขั้นตอนทางกฎหมายภายในวันที่ 24 พ.ย.และสามารถเปิดให้บริการแก่ลูกค้าได้ทันทีหลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว

ที่ประชุมฯยังเห็นชอบให้บริษัทเอกชนอีก 3 ราย สามารถให้บริการธุรกิจบริการอีเพย์เม้นท์ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 2551 ได้แก่ บริษัท ทูซีทูพี พลัส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พีซีโฮม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ทรี เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯแล้วจะดำเนินการขอจดทะเบียนธุรกิจกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์กับประชาชนต่อไป

นอกจากนั้นที่ประชุมฯได้มีการหารือถึงแนวนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศภาครัฐ ซึ่งเน้นที่การบริหารงานทางอิเล็กทรอกนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบการให้บริการกับประชาชน ระบบงบประมาณ และการเงินภาครัฐ ซึ่งคณะกรรมการฯกำลังอยู่ระหว่างการประเมินระบบสารสนเทศเบื้องต้นของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศกว่า 300 หน่วยงาน ซึ่งขณะนี้เพิ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการประเมินไป 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ระบบความปลอดภัยธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับระบบธนาคารพาณิชย์กระทรวงการคลังและธปท.จะร่วมกันตรวจสอบดูแลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ