‘ภาษี’ งานเก่ง ‘iTAX’

 ‘ภาษี’ งานเก่ง ‘iTAX’

คนไทยมีหน้าที่เสียภาษี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากศึกษาและเข้าใจเรื่องภาษี

แม้จะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวแต่เมื่อพูดถึง “ภาษี” จะมีคนอยู่สองกลุ่มที่แสดงท่าที กลุ่มหนึ่ง ลงไปศึกษาและเรียนรู้กับมัน กับอีกกลุ่มเลือกเมินหน้าหนีและเลี่ยงที่จะเจอ

“คนส่วนใหญ่เลือกอย่างหลัง ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษว่ากฎหมายเข้าใจยากจริงๆ เมื่อเรียนรู้ยากจะบอกให้ทุกคนเข้าใจก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน แม้แต่คนที่จบนิติศาสตร์ก็ใช่ว่านักกฎหมายทุกคนจะรู้เรื่องภาษี เพราะภาษีเป็นอีกภาษาที่ยากและต้องทำความเข้าใจ”

ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง iTAX เว็บไซต์ www.itax.in.th และ แอพพลิเคชั่น iTAX Pro โปรแกรมการคำนวณภาษีสำหรับการวางแผนเพื่อคืนเงินภาษีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด กับแนวคิดและจุดเริ่มต้นของ iTAX สตาร์ทอัพที่จัดส่วนผสมเอาไว้อย่างกลมกล่อมระหว่าง “วิชาการ” กับ “เทคโนโลยี”

ภาษี ที่จัดว่าเป็นงานยาก ได้ถูกนำมาแปลงให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไปโดย “ตัวจริง” ทางด้านภาษี

ดร.ยุทธนา เป็นอาจารย์สอนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายภาษีในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Southern Methodist University ประเทศสหรัฐอเมริกา

และเป็นเจ้าของผลงานพ็อคเก็ตบุ๊ค“iTAX ภาษี ง่ายได้อีก”

เรียนทางด้านภาษี สอนด้านภาษี นอกจากนี้การที่ได้เจอกับคำถามซ้ำๆ ถามทุกปี ถามเรื่องเดิม รายการนี้หักได้กี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้นักวิชาการด้านภาษีต้องกลับมานั่งคิดว่า ควรทำในสิ่งที่ใครๆ มองว่า “ยาก” ให้กลายเป็น “ง่าย” ต่อการเข้าใจ

ในเวลานั้นช่วงปี 2012 เทคโนโลยีต่างๆ เริ่มเข้ามา ทุกอย่างสามารถอยู่ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนได้ ก็น่าที่จะทำให้จุดเด่นของภาษีในเรื่องของความเรียบง่ายเกิดขึ้นพร้อมกับความเป็นธรรมและประสิทธิภาพ

“จากนั้นผมก็มานั่งคิดว่าแล้ว ผมจะช่วยใครดี ที่สุดก็คิดว่าควรจะทำให้กับคนไทยที่มีหน้าที่เสียภาษี เริ่มจากเอาสิ่งที่ผมพอจะมีความรู้อยู่บ้างไปแปลข้อกฎหมายที่ฟังดูยากๆ อาทิ ในฟอร์มจะระบุว่า เงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือบ้านหลังแรก คนจะเข้าใจมากกว่า แต่ในทางกฎหมายแล้วภาครัฐยังมีข้อจำกัดว่าต้องใช้ภาษาทางกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้ ผมก็พยายามแปลเป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจง่าย และทำมาเป็น ถาม-ตอบ”

โปรเจ็คแรกของ iTAX เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาจากการร่วมตัวของนักวิชาการด้านภาษี กับเพื่อนอีก 4 คนซึ่งแต่ละคนมีฝีไม้ลายมือที่ครบเครื่องกันคนละด้าน

“ผมกับเพื่อนเจอกันที่อเมริกา เค้าเชื่ยวชาญ Business and data scientist ทำงานบริษัทดอทคอมที่อเมริกา จะนั่งทำงานแบบฟูลไทม์ ส่วนผมทำเรื่องโปรดักท์ด้านภาษี ยังสอนหนังสือและทำงานในกะกลางคืน

เพื่อนอีกคนเป็นดีไซเนอร์ จะเวิล์ดคลาสมากๆ ทำแอพพลิเคชั่น ไอแพดให้กับแบงก์ชั้นำ และทำงานอาร์ตได้ทั้งหมด อีกคนเป็นพี่ชายเพื่อนจะดูทางด้าน Public relations และคนสุดท้าย เป็น CTO ผมยอมรับว่าเค้าคือพ่อมดที่พัฒนาได้อย่างที่อยากจะให้เป็นจริงๆ ซึ่งจากทีมงานทั้ง 5 คนผมถือว่า ครบเครื่องแล้ว”

ทีมงาน “พร้อม” แต่การจะสร้างภาพที่อยู่ในหัวให้เป็นเว็บไซต์ หรือ แอพพลิเคชั่น “ภาษี” ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่สิ่งที่ทำให้ผ่านมาได้จนถึงวันนี้ ดร.ยุทธนา ย้ำหัวใจอยู่ที่ “การฟัง ฟัง และฟัง ผู้ใช้งาน”

iTAX เวอร์ชั่นแรก เน้นการแปลภาษากฎหมายที่ “ยาก” ให้ “ง่าย” ต่อความเข้าใจ เน้นแปลกฎหมายให้เป็นภาษาพูด เพิ่มข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นในแบบ “ถาม-ตอบ” ภายหลังกรอกข้อมูล และถามตอบแล้ว จากนั้นก็พริ้นออกมาเป็น ภงด. แล้วเซ็นชื่อพร้อมส่งให้กับทางหน่วยงานรัฐ 

ใช้เวลาสักระยะ iTAX ก็ได้เวลาเปิดตัวจริงๆ ในปี 2013 คนเริ่มรู้จัก โดยเปิดให้ใช้ฟรีทาง www.itax.in.th

“ทำไปสักพักผมเจอลูกค้ากลุ่มใหม่ ไม่อยากได้การถามตอบ แต่อยากได้เครื่องคิดเลขภาษี ไม่ต้องมานั่งถามตอบ จากนั้นทางทีมก็เริ่มทำฟีเจอร์ใหม่ในชื่อ iTAX Pro ซึ่งจะหน้าที่หลักในการคำนวณภาษีให้เพียงแค่กรอกข้อมูล อาทิ มีการให้ตรวจเช็คสิทธิทางภาษี แค่พิมพ์ว่าอายุเท่าไหร่ สิทธิ์ทางภาษีต่างๆ จะขึ้นมาให้เห็นเลย ทำให้ไม่จำเป็นว่าต้องรู้กฎหมายแต่ก็สามารถเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง โดยในเวอร์ชั่นนี้จะมีการอัพเดทกฎหมายใหม่ๆ ทุกอย่างแบบเรียลไทม์มาก”

นอกจากนี้ iTAX Pro จะมีฟีเจอร์ที่คนชอบ คือ สิทธิประโยชน์ที่ใช้ไปแล้วเท่าไหร่ หรือใช้อีกกี่เปอร์เซ็นต์ บางคนชอบมากเพราะเป็นการเตือนว่าคุณนั้นยังมีสิทธิประโยชน์อีกมากเท่าไหร่

อีกฟีเจอร์คือ วางแผนภาษีอัตโนมัติ โหลดฟรี android iOS จะมีตัวเลือกให้บอกว่า ควักเงินซื้อ LTF/RMF รวมถึงประกันชีวิต แล้วประหยัดภาษีได้ทันที

“ที่คนชอบที่สุด คือ วางแผนอัตโนมัติ เช่น ผมอยากเลือกเต็มแม็กซ์ คือมีเท่าไหร่จ่ายเต็ม ระบบจะบอกงบมาเลยว่าให้ซื้อประกันเท่านั้นซื้อ LTF เท่านี้ แล้วจะประหยัดภาษีได้กี่บาท หรือ ตามงบเท่านี้ จะซื้ออะไรได้บ้าง แล้วประหยัดอะไรได้บ้าง ซึ่งเวลาวัดจะวัดตามโปรไฟล์ ฐานรายได้ของแต่ละคน สุดท้ายจะสรุปให้ว่าเราอยู่ขั้นบันไดเท่าไหร่ เสียภาษีกี่เปอร์เซ็นต์”

ถึงตอนนี้ iTAX มียูสเซอร์ที่ใช้งานผ่านแล้วประมาณ 2 แสน คาดทั้งปีน่าจะมียอดยูสเซอร์ 4-5 แสนคน

“พอทำ iTAX pro มาสักพักก็เจอกับลูกค้าที่ถามมาว่ามีเงินอยู่เท่านี้ จะแนะนำว่าซื้อตัวไหนดีซึ่งก็กลายเป็นภารกิจของเราไปด้วยจากนั้นก็เริ่มทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่หักภาษีได้เอามารวมไว้ในที่เดียว โดยทำในชื่อ iTAX Market”

iTAX Market เกิดขึ้นมาเพราะยูสเซอร์ต้องการซื้อประกันชีวิตเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี โดยสามารถใส่ข้อมูลไปตามที่ต้องการ เช่น เพศ อายุ ต้องการเลือกแบบไหน วัถุประสงค์ เน้นคุ้มครอง หรือออม ถ้าเน้นคุ้มครอง ซึ่งคะแนนจะออกมาตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ IRR สูงสุดเป็นเท่าไหร่ แบรนด์ไหน เป็นต้น

“เราทำเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้น ไม่ได้คิดแย่งงานบริษัทประกันแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายก็ติดต่อผ่านตัวแทนอยู่ดี แต่เป็นโปรดักท์ที่เราคัดมาสำหรับบริษัทที่เข้าใจลูกค้าจริงๆ ข้อดีคือ คนซื้อได้ตัวเลือก แล้วเวลาคุยกับตัวแทนก็คุยเฉพาะแบบที่เลือกเอาไว้ ไม่ต้องเสนออะไรเพิ่มเติม ส่วนบริษัทประกันและตัวแทนก็ได้ลูกค้าที่สนใจจริงๆ เมื่อปิดการขายได้ก็ win ทั้งสองฝ่าย ซึ่งเราจะมีรายได้จาก สุดท้ายจากฟากคนขาย โดยที่ไม่คิดจากคนซื้อ”

ปัจจุบัน iTAX Market มี 12 แบรนด์อยู่ในระบบ ซึ่งก็จะมีดีลเข้ามาเรื่อยๆ โดยเตรียมลุยทำตลาดอย่างจริงจังในช่วงปลายปี

“เรื่องภาษี เป็นซีซั่น เหมือนขายชุดนักเรียน ช่วงเวลาการเข้ามาใช้บริการมากๆ จะอยู่ในช่วงหลังของธันวาคม จากที่ผมดูสถิติ ยอดซื้อครึ่งเดือนหลังธันวาคมจะมากกว่ายอดทั้งปีรวมกัน ทำให้ตอนนี้เราไม่ push มาก ค่อยๆ ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คนขาย คนซื้อ แล้วปลายปีทำการตลาดทีเดียวเลย เพราะเป็นจังหวะที่คนเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อมาลดหย่อนภาษี”

Next step ของ iTAX ต่อจากนี้มองไปที่ตลาดองค์กร โดยทำงานในชื่อ iTAX for Enterprise

คนไทยที่อยู่ในเกณฑ์ยื่นภาษีมี 80-90% เป็นคนทำงานประจำ เวลาทำงานประจำจะมีเจ้าหน้าที่เอชอาร์คอยจัดการเรื่องภาษีให้ พอถึง สิ้นปีจะเอา 50 ทวิมาให้ ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว จริงๆ นายจ้างรู้ข้อมูลพนักงานทั้งหมดเลย รายได้ ลดหย่อน กองทุนสำรอง จากนั้นก็นำส่งกรมสรรพากร

“ผมก็เลยจะเข้าไปช่วยเอชอาร์จัดการเรื่องภาษี เอาข้อมูลที่มีมาเตรียมภาษีให้กับทุกคนในองค์กร เมื่อถึงเวลาก็ทำแค่พริ้นแล้วยื่นเสียภาษีได้เลย อย่างนี้จะได้คืนภาษีเร็วขึ้น เพราะตัดปัญหาเรื่องการทำภาษีออกไป นี่คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น”

จากการเข้าไปคุยกับองค์กรต่างๆ บางองค์กรมีปัญหา ส่วนใหญ่เป็นองค์กรระดับกลางถึงใหญ่ที่พนักงานข้างในมีความหลากหลาย

“ผมไปคุยกับโรงงานแห่งหนึ่ง ค่าแรงวันละ 300 จะไม่มีปัญหามาก ทำภาษีได้ง่ายกว่า องค์กรที่มีพนักงานหลักร้อยคนขึ้นไป แล้วมีความหลากหลายด้านฐานเงินเดือน และการลดหย่อนภาษี ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้น บางคนเงินเดือนสี่หมื่น บางคนเงินเดือนหลักแสน บางคนมีลูก ไม่มีลูก เอชอาร์จะปวดหัวมาก โดยเนเจอร์ของเอชอาร์จะไม่ใช่ที่ปรึกษาภาษี แต่โดยภาระงานจะต้องทำเรื่องภาษีโดยปริยาย”

นอกจากนี้ สิ่งที่ผมจะทำ และเป็นมองว่าเป็นปัญหาจริงๆ ในองค์กร โดยทำฟีเจอร์ขึ้นมาเรียกว่า Wealth care การบริหารการเงินของคนในองค์กร ซึ่งจะโฟกัสไปพร้อมกับ iTAX for Enterprise

“เราถามคำถามว่า อยากรวยจากอะไรบ้าง และ ต้องการเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ จากนั้นเอชอาร์จะคีย์เข้าไป แล้วจะรู้เลยว่าจะให้คำแนะนำกับพนักงานอย่างไร ผมช่วยเรื่องให้เสียภาษีน้อยลง เหลือเงินออมมากขึ้น แล้วเอาเงินที่ออมได้ไปบริหารให้งอกเงย โดยเอชอาร์จะทำหน้าที่เป็น advisor ได้ เค้าจัดการบางอย่างได้ จะเอาไปลงทุนตรงนั้นตรงนี้”

สิ่งที่ทำนั้นมองว่าจะเกิดประโยชน์กับองค์กรและพนักงานอย่างมาก ดร.ยุทธนา บอก ถ้าวินัยการเงินคนในองค์กรดี คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ทำงานแฮปปี้ และอีกจุดที่คนอาจจะมองข้าม คือ การลดคอรัปชั่น

สำหรับลูกค้าองค์กรขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบความพร้อมของโปรดักท์ก่อนจะเปิดใช้จริงในมกราคมปีหน้า

“ตอนนี้ทำมาสักพัก ชื่อแบรนด์โอเคแล้ว ว่าเรื่องภาษี เหลือแค่ทำอย่างไรให้คนรักเรา และอยู่กับเรา” ดร.ยุทธนา บอก สิ่งที่ iTAX มองไปในอนาคต คือ การยืนอยู่เป็นเราอยากเป็นเจ้าเดียวในตลาด และสัญญาว่าจะทำโปรดักท์ที่ดีที่สุด

ส่วนหนึ่งเพราะ “ภาษี” เป็นเรื่องของแต่ละประเทศการที่ iTAX จะไปต่างประเทศก็เป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกันต่างประเทศที่จะเข้ามาก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน 

ดังนั้น วันี้ ฐานผู้เสียภาษี 38 ล้านคน เป็นตลาดที่ใหญ่มากพอสำหรับ iTAX

ถ้าถามว่าเราให้อะไรกับลูกค้า ผมจะบอกว่า ถ้าคุณเกลียดเรื่องภาษี เราจะรับผิดชอบเอง

คิดถึงภาษี คิดถึง iTAX

ในส่วนของทีมเป็นอีกปัจจัยแห่งความสำเร็จ iTAX

‘TRUST & TEAM’ ดร.ยุทธนา ย้ำว่า การเป็นนักกฎหมายไม่มีลองผิดลองถูก กฎหมายต้องถูกเท่านั้น ยิ่งทำภาษีแล้วให้คนอื่นใช้ ต้องถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมย้ำกับทีมเสมอว่าถ้าไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์จะไม่ออกเด็ดขาด

ส่วนเรื่องหน้าตา ปุ่ม อันนั้นลองผิดลองถูกได้

"เราบริการด้านกฎหมาย คิดเสมอว่า ถ้าผิด TRUST จะเหลือศูนย์ ซึ่งจะเสียหายต่อกิจการมาก

อีกความยากคือการทำงานกับทีม สำหรับผม “ทีม” คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพ 

บางครั้งคุยกัน เห็นตรง ไม่เห็นตรง แต่ต้องรักษาความสัมพันธ์ตรงนี้ไว้ ทะเลาะกันเรื่องงาน เคลียร์กันเรื่องงาน แล้วก็จบเรื่องงาน จบแล้วก็ไปกินข้าวกันได้

อีกจุดคือ ทำงานไประยะหนึ่ง แล้วคิดว่าจะทำอย่างไรต่อดี เราไม่เชื่ออนาคตว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า นี่อาจทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายอย่างที่หวังได้ 

ในมุมมองของ ดร.ยุทธนา การทำธุรกิจที่ล้มเหลวจริงๆ ไม่ใช่วันที่ไม่ได้เงิน แต่คือวันที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้มากกว่า"