'ทัพบก'แจงอาวุธหายช่วงม็อบเสื้อแดงเกือบ 100 รายการ

'ทัพบก'แจงอาวุธหายช่วงม็อบเสื้อแดงเกือบ 100 รายการ

"กองทัพบก" แจงอาวุธอุปกรณ์หายช่วงม็อบเสื้อแดงปี 53 รวม 86 รายการ ชี้ได้กลับคืนมาเพียง 29 รายการ เร่งติดตามกลับคืน

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และ คสช. กล่าวว่า กองทัพบกยังคงติดตามกรณีอาวุธ อุปกรณ์ และยานพาหนะของกองทัพบกถูกยึด และถูกทำลายให้เสียหายจากเหตุการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง ปี 53 ที่พบมีการใช้ความรุนแรงของมวลชนและแนวร่วมบางส่วนอย่างกว้างขวาง และมักจะกระทำกับ สถานที่ราชการ องค์กรอิสระ สถานที่สำคัญต่างๆ แม้กระทั้งวัด รวมถึงประชาชน และ เจ้าหน้าที่ อย่างกว้างขวางในหลายๆ พื้นที่

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ที่เริ่มมีสัญญานความรุนแรงขั้นสูงถึงขั้น มีการบาดเจ็บเสียชีวิต ของ เจ้าหน้าที่ทหาร และประชาชน มีการยึดอาวุธ และยุทโธปกรณ์ไปจากเจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่บ้าง ก็มีการทำลายให้อุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ได้รับความเสียหาย ซึ่งสัญญานแนวโน้มความรุนแรงอื่นๆ ก็ดูจะเพิ่มระดับขึ้น เช่น มีการพยายามทำร้าย หรือคุกคามความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลสำคัญ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องเข้าดำเนินการตามคำสั่งของรัฐบาลขณะนั้น

ส่วนความเสียหายในส่วนของอาวุธและยุทโธปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ทหาร พบว่ามีเฉพาะเมื่อ ปี 53 ที่มีทั้งถูกประทุษร้ายทำลายและถูกยึด 1.เหตุการณ์ที่ เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เมื่อ 10 เม.ย. 53 เวลากลางวัน มียอดปืนถูกยึด ประกอบด้วย ปืนเล็กยาวทราโวร์ จำนวน 12 กระบอก ภายหลังได้คืนมาจำนวน 10 กระบอก เมื่อ 25 พ.ย.55 คงเหลือ 2 กระบอก, ปืนลูกซองจำนวน 35 กระบอก ได้คืนมา 15 กระบอก เมื่อวันที่ 3 ม.ค.56 คงเหลืออีก 20 กระบอก เป็นอาวุธของกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 29 (ร.29 พัน.1) ของค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี นอกจากนี้ในช่วงเย็นได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำลายยานพาหนะทหารบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเสียหายอีกหลายคัน และได้แจ้งความที่ สน.บางยี่ขัน ทั้งนี้เหตุการณ์ข้างต้นทั้งหมด พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาปล้นทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์สรุปสำนวนส่งฟ้องศาลอาญา (รัชดา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบพยานขอศาลอาญา

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า 2.เหตุการณ์ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ10เม.ย.53 เวลากลางคืน มีปืนถูกยึดประกอบด้วยปืนเล็กยาวทราโวร์ 13 กระบอก ได้คืน 3 กระบอก เหลืออีก 10 กระบอก (หน่วย ร.19 พัน.1)ของเป็นอาวุธของกองพันทหารราบที่1กรมทหารราบที่19 , ปืนลูกซอง3 กระบอก ยังไม่ได้คืน ของหน่วย ของกองพันทหารราบที่3กรมทหารราบที่19 (ร.19 พัน.3) ปืนเล็กยาวเอ็ม.16 เอ 1 จำนวน 1 กระบอก ยังไม่ได้คืน ของกองพันทหารม้า กรมทหารม้าที่19 (หน่วย ม.พัน.19) ทั้งหมดแจ้งความไว้ที่ สน.ชนะสงคราม และอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดี

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า 3.เหตุการณ์ที่ แถวบางขุนพรม เมื่อ10เม.ย.53) ปืนเล็กยาว.เอ็ม.16 เอ.2 จำนวน 4 กระบอก ยังไม่ได้รับคืน ของกองพันที่2ศูนย์การทหารราบ (ศร. พัน.2) แจ้งความไว้ที่ สน.นางเลิ้ง 4. เหตุการณ์ที่หน้า รร.สตรีวิทยา เมื่อ10เม.ย.53 เวลากลางคืน มีปืนกลรุ่น59 จำนวน 6กระบอก , ปืนเล็กยาวเอ็ม.16 เอ.2จำนวน 5 กระบอก ได้คืน 1 กระบอกเหลือ 4 กระบอก ,ปืนรอสซี่ 3 กระบอก , ปืนพกสั้น .45 2 กระบอก เป็นอาวุธของหลายหน่วย แจ้งความไว้ที่ สน.นางเลิ้ง

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า 5.เหตุการณ์ที่หน้า รร.สตรีวิทยา เมื่อ 10 เม.ย.53 เวลากลางคืน มี รถสายพานลำเลียง 85 เสียหาย จำนวน 6คัน, รถยนต์ เสียหาย 3 คัน แจ้งความไว้ที่ สน.นางเลิ้ง 6.เหตุการณ์ที่แยกมัฆวาน และ แยกเทวกรรม เมื่อ10เม.ย.53 เวลากลางวัน มีถูกยึดกระบองยิงกระสุนยาง 2 กระบอก ยังไม่ได้คืน , มีรถบรรทุก เอ็ม35.เสียหาย 2คัน,เสื้อเกราะหาย 2ตัว ยังไม่ได้คืน แจ้งความไว้ที่ สน.นางเลิ้ง 7.เหตุการณ์ที่ถนนตะนาว เมื่อ 10 เม.ย.53 เวลากลางวัน มีถูกยึดชุดควบคุมฝูงชน เครื่องมือสื่อสารทางทหาร และอุปกรณ์ของเสนารักษ์ รวมทั้งมีทำลายยานพาหนะอีกเป็นจำนวนมากแจ้งความไว้ที่ สน.ชนะสงคราม

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า 8.เหตุการณ์ที่ มักกะสัน เมื่อ 14 พ.ค.53 เวลากลางวัน ปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก ยังไม่ได้คืนแจ้งความไว้ที่ สน.มักกะสัน ซึ่งศาลพิพากษาจำคุก นายคำหล้า ชมชื่น จำนวน 10 ปี ส่วนผู้เกี่ยวข้องที่เหลืออยู่ระหว่างออกหมายจับ 9.เหตุการณ์ที่ ซอยหมอเหล็ง มักกะสัน เมื่อ 14 พ.ค.53 เวลากลางวัน มีเสื้อเกราะถูกยึดไป 14 ตัว ยังไม่ได้คืน ,มีรถยนต์เสียหาย 1คัน ของกองร้อยกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร้อย บก.ร.1 รอ.)แจ้งความไว้ที่ สน.มักกะสัน และ 10. เหตุการณ์ที่ ใต้ด่วนดินแดง เมื่อ 16 พ.ค.53 เวลาประมาณตีสี่ มีเสื้อเกราะถูกยึดไป 14 ตัว ยังไม่ได้คืน ,มีรถยนต์เสียหาย 1 คัน.(ของ ร้อย บก.ร.1 รอ.) แจ้งความไว้ที่ สน.มักกะสัน

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ในเรื่องของอาวุธ และยุทโธปกรณ์ ที่ถูกประทุษร้ายไปยังคงอยู่ในระหว่างติดตามและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ทางราชการ แม้ว่าบางคดีพนักงานอัยการได้สั่งงดการสอบสวนเนื่องจากความพร้อมของหลักฐาน

สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 56 -57 โดยเฉพาะเป้าหมายการใช้ความรุนแรง มักเกิดกับเฉพาะกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุม กับ กลุ่ม กปปส.เป็นหลักเท่านั้น สถานการณ์ความรุนแรงอื่นๆ จะไม่ค่อยปรากฏ ซึ่งถือว่ามีบริบทที่แตกต่างกับสถานการณ์เมื่อปี 53

ดังนั้นภาพรวมการบริหารจัดการเพื่อรักษาความสงบและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินย่อมมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ แต่หลักๆ คงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงมากกว่า ไม่ใช่เรื่องของชื่อกลุ่มว่าเพราะเป็น นปช. หรือ กปปส. จึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่มีการเลือกปฏิบัติ อย่างที่บางคนพยายามบิดเบือนโดยเชื่อว่ามุมมองทั้งภายในและภายนอกประเทศก็คงจะเข้าใจ และเห็นชัดกับบริบทที่แตกต่างได้ชัดเจนเช่นกัน