ชี้ข้อมูลสุขภาพบนโลกออนไลน์เกิน50% เป็นเท็จ

ชี้ข้อมูลสุขภาพบนโลกออนไลน์เกิน50% เป็นเท็จ

แพทย์เผยข้อมูลสุขภาพบนโลกออนไลน์เกิน 50% เป็นเท็จ คนไทยต้องยึดหลัก “เอ๊ะ อ๋อ นั่นแน่” ก่อนเชื่อ แพทย์เตือนทำตามมั่วๆอันตราย

ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) มีการจัดเวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ 3/2559 “ธรรมนูญระบบสุขภาพ 2559 : ภารกิจสร้างคนไทยพันธุ์ใหม่” โดย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าข้อมูลด้านสุขภาพที่มีการเผยแพร่ ส่งต่อในโลกออนไลน์ เป็นข้อมูลไม่ถูกต้องเกิน 50 % โดยมีทั้งช้อมูลที่บิดเบือนเล็กน้อย จนถึงขั้นบิดเบือนข้อมูลแตกต่างไปคนละขั้วกับข้อเท็จจริง รวมถึง ข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่มีตัวตนที่ชัดเจน ดังนั้น ประชาชนผู้ที่ได้รับข้อมูลจากออนไลน์ทั้งทางเฟซบุ๊ค ไลน์ เว็บไซต์ และอินสตาแกรมต่างๆต้องมีการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ(Health Literacy) มีหลักการ 4 ข้อสำคัญ คือ เข้าถึงข้อมูล ค้นหาข้อมูลได้ ประเมินและเข้าใจข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และนำไปประยุกต์ได้

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า การที่คนไทยจะรู้เท่าทันด้านสุขภาพเมื่อได้รับข้อมูลสุขภาพจากออนไลน์มีเทคนิคในการปฏิบัติ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ดูว่ามีแหล่งที่มาที่ชัดเจน น่าเชื่อถือหรือไม่ 2.ต้องมีต่อมเอ๊ะ สงสัยไว้ก่อนว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร และ3.หาข้อเสียของข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งต้องตระหนักเสมอว่าทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งสิ้น หากข้อมูลที่ได้รับมามีแต่ข้อดี ให้ตั้งคำถามว่าแล้วมีข้อเสียหรือผลข้างเคียงอย่างไรหรือไม่ หากสามารถดำเนินการเป็นเบื้องต้นใน 3 ข้อนี้จะช่วยให้ประชาชนตระหนักและตรวจสอบข้อมูลสุขภาพมากขึ้นก่อนที่จะเชื่อและปฏิบัติตามเมื่อได้รับข้อมูล นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆที่มีความรู้เฉพาะด้าน หากพบว่ามีการส่งต่อข้อมูลในศาสตร์ที่ท่านมีความรู้แล้วพบว่าไม่ถูกต้องควรช่วยกันตอบกลับข้อมูลที่ถูกต้อง สำหรับในด้านสุขภาพ บุคลากรทางด้านสุขภาพต้องระลึกเสมอว่าคำแนะนำที่ให้กับประชาชนจะต้องถูกต้อง และเข้าใจได้ง่าย ใช้ภาษาที่คนทั่วไปรู้เรื่อง ไม่ใช่ศัพท์ทางการแพทย์

“หากเราเชื่อข้อมูลด้านสุขภาพที่ส่งต่อๆกันในโลกออนไลน์โดยที่รู้ไม่เท่าทัน โดยเชื่อและปฏิบัติตามทันที ก็จะเกิดอันตรายต่อคนๆนั้นอย่างมาก เช่น หมอเคยเจอคนไข้ที่ได้รับจ้อมูลจากไลน์ว่ากินเมล็ดพืชบางชนิดแล้วดีต่อสุขภาพ คนไข้ก็กินเมล็ดชนิดนั้นมากจนเกิดเป็นอันตรายต่อร่างกายแล้วมาหาหมอ ซึ่งก็พบเยอะมากที่คนไข้มารักษาเพราะได้รับผลกระทบจากการกินหรือทำตามข้อมูลสุขภาพที่ได้จากไลน์หรือเฟซบุ๊คต่างๆ”ผศ.นพ.ธีระกล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลักการสายสุขภาพก่อนเชื่อสิ่งใดจะต้องยึดหลักการรู้ พิจารณาไตร่ตรอง ทดลองและปฏิบัติตาม แต่คนในปัจจุบันเมื่อรับรู้อะไรก็จะปฏิบัติตามทันที จึงขาดขั้นตอนกระบวนการเรื่องการไตร่ตรองและทดลอง ข้ามขั้นจากรับรู้แล้วเป็นปฏิบัติ จึงถูกจูงใจในเรื่องต่างๆได้ง่าย ซึ่งคนไทยพันธุ์ใหม่นอกจากจะต้องมีต่อมเอ๊ะ และอ๋อแล้วจะต้องมีต่อมนั่นแน่ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการของการไตร่ตรอง กลั่นกรอง ตรวจสอบจนทราบว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลนั้นๆถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ก่อนที่จะนำไปใช้ ทั้งนี้ ในธรรมนูญระบบสุขภาพ ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ หนึ่งในเรื่องที่มีการเน้นเป็นสำคัญ คือ ประชาชนต้องมีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพด้วย

ด้านดร.กษิติธร ภูภราดัย คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การใช้งานดิจิตอลสิ่งที่คนไทยต้องตระหนักเสมอ คือ 1.ข้อมูลหรือการใช้งานต่างๆเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และ2.ข้อมูลต่างๆ สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตัดแต่งได้ทั้งสิ้น เพราะต้องทำให้คนที่เข้าถึงข้อมูลแล้วรู้ว่า ข้อมูลนั้นๆมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ซึ่งหากเป็นข้อมูลด้านอบายมุขดูได้ไม่ยาก แต่หากเป็นข้อมูลสุขภาพคนจะดูยากว่าควรเชื่อหรือไม่เพราะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ต้องดำเนินกาคือการให้ความรู้กับประชาชน และต้องนำเรื่องการรู้เท่าทันด้านดิจิตอล(Digital Literacy)เข้าไปในระบบการศึกษาด้วย และหน่วยงานรัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลในหลากหลายรูปแบบและทันต่อความต้องการของประชาชน และรวดเร็วกว่าข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มา

นายอาริยะ คำภิโล หรือลุงโจนส์ แอดมินแฟนเพจ Jones Salad ที่ให้ข้อมูลสุขภาพในรูปแบบที่เข้าใจง่าย กล่าวว่า หากมองในฐานะผู้รับข้อมูลด้านสุขภาพต่างๆ โดยส่วนตัวจะไม่เชื่อถ้าข้อมูลนั้นๆไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนและหากเป็นข้อมูลจากไลน์ ซึ่งไม่สามารถหาต้นตอของข้อมูลได้ก็จะไม่เชื่อไว้ก่อน จะเริ่มเชื่อสื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์มีการนำเสนอออกไปในวงกว้างแล้ว หรือในบางเรื่องก็จะสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ แต่ส่วนใหญ่จะไม่เชื่อไว้ก่อนเพราะไม่อยากไปเป็นหนูทดลองจากข้อมูลที่เค้าส่งต่อๆกันมา