สยามเอาท์เลต ลุยโลจิสติกส์ รับ ‘แชทคอมเมิร์ซ’บูม

สยามเอาท์เลต ลุยโลจิสติกส์ รับ ‘แชทคอมเมิร์ซ’บูม

ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วน 63% ของประชากร ใช้งาน“โซเชียล มีเดีย”ราว 40 ล้านราย ถือเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นตลาด“อีคอมเมิร์ซ”

ชญาภัค สหัชอติเรกลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยาม เอาท์เลต จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจบริการด้านบริหารจัดการโลจิสติกส์กลุ่มร้านค้าออนไลน์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดรวมอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พบว่าช่องที่งที่เติบโตต่อเนื่องอยู่ในกลุ่มตลาดแชท คอมเมิร์ซ หรือการซื้อขายสินค้าผ่านสื่อโซเชียล โดยเฉพาะแพลตฟอร์มสนทนาโต้ตอบหรือแชท (Chat) เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ แอพพลิเคชั่น  โดยส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 51% จากปีก่อน 48% และสัดส่วนที่เหลืออีก 49% เป็นผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสต่างๆ 

“ตลาดแชท คอมเมิร์ซ มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากพฤติกรรมชอปปิงออนไลน์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น และมีผู้ค้าออนไลน์กว่า 2 แสนร้านค้าทั่วประเทศ จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท"

ธุรกิจจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็น 1 ในอาชีพที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจเองมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีปัจจุบันเอื้ออำนวย  ซึ่งเมื่อธุรกิจของผู้ประกอบการออนไลน์ขยายตัวมากขึ้น จึงมีความต้องการบริการด้านบริหารจัดส่งสินค้าเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ

“มาร์เก็ตเพลสในปัจจุบันแข่งขันกันดุเดือด บางรายชูโปรโมชั่นจัดส่งสินค้าฟรี เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ แต่มองว่าแชท คอมเมิร์ซ ยังมีผู้เล่นน้อยรายและมีโอกาสในตลาดอีกมาก และคนไทยชอบพูดคุยโต้ตอบกับเจ้าของร้านค้า เพื่อเลือกซื้อสินค้ามากกว่าการคลิกดูสินค้าผ่านเว็บไซต์"

จากทิศทางการเติบโตของ“แชท คอมเมิร์ซ"บริษัทจึงเห็นโอกาสขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตด้านการให้บริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ร้านค้าออนไลน์  โดยวางงบลงทุนในช่วง 1- 2ปีจากนี้ ราว 20 ล้านบาท สำหรับการขยายพื้นที่คลังสินค้า จากเดิมที่มีพื้นที่ 100 ตร.ม. และเป็นรูปแบบการเช่าคลังสินค้า ภายในพื้นที่บริเวณเดียวกันกับ“ไอ.ซี.ซี.”ในเครือสหพัฒน์ เพิ่มเป็นพื้นที่ขนาด 1,000 ตร.ม. โดยอยู่ระหว่างพิจารณาทำเลที่ตั้งคลังสินค้าแห่งใหม่ ทั้งบริเวณราษฎร์บูรณะ และพระราม3 โดยอยู่ระหว่างเจรจาร่วมลงทุนกับพันธมิตร ทั้งนักลงทุนทั่วไปและกลุ่มเวนเจอร์ แคปิตอล

นอกจากนี้มีแผนจัดตั้งจุดกระจายสินค้าและรับส่งสินค้าตามทำเลต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม ปั๊มน้ำมัน โดยจะเริ่มในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ ตั้งเป้าหมายขยายจุดจำหน่ายให้ครบ 100 แห่งในปีหน้า และครบ 300 แห่งใน 3 ปี  ซึ่งอาจใช้โมเดลการขยายแฟรนไชส์

พร้อมกันนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ทเนอร์ธุรกิจในญี่ปุ่น เพื่อส่งออกสินค้าจากกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่มาใช้บริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์กับสยาม เอาท์เลตไปจำหน่ายในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสช่องทางจำหน่ายให้ร้านค้าออนไลน์ไทยเปิดตลาดใหม่มากขึ้น เริ่มจากกลุ่มเสื้อผ้าแบรนด์ดังของไทย

ปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็นผู้ค้าออนไลน์ใช้บริการราว 80 ราย คาดสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 100 ราย โดยมีผู้จำหน่ายสินค้าหลายประเภท เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง สินค้าลิขสิทธิ์ สินค้าแม่และเด็ก เป็นต้น

ด้านผลประกอบการช่วง 7 เดือนแรกรายได้เติบโต 40% สัดส่วนจากการจัดส่งสินค้า 55% การจัดของและแพ็คสินค้า 28% การบริการพื้นที่จัดเก็บสินค้า 13% และอื่นๆ อีก 6% 

วางเป้าหมายปีหน้ารายได้ 10 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาทใน 3 ปี