SKOOTAR ผลสำเร็จจาก ‘ทำน้อย ได้มาก’

SKOOTAR ผลสำเร็จจาก ‘ทำน้อย ได้มาก’

การทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นเรื่องที่ดี แต่คงจะดีกว่าหากงานที่ทุ่มเทให้นั้นเกิดผลสะท้อนกลับที่มากเป็นทวีคูณ

การทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นเรื่องที่ดี แต่คงจะดีกว่าหากงานที่ทุ่มเทให้นั้นเกิดผลสะท้อนกลับที่มากเป็นทวีคูณ

เรียกว่า ใช้แรง 20 เพื่อผลลัพธ์ 80

ซึ่งแน่นอนว่า “ตัวเร่ง” ที่สำคัญนอกจากไอเดียเจ๋ง และ โมเดลธุรกิจที่แตกต่าง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด (ขนาดใหญ่) แล้ว ธุรกิจนั้นยังต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบปลีกย่อยที่มาต่อจิ๊กซอว์ให้ธุรกิจเล็กๆ ออกวิ่งได้ไกลเกินที่ใครจะตามทัน

“การทำงานจะมองถึงประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลัก ในแบบทำน้อย ได้มาก ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีและระบบเข้ามาจับก็เป็นอีกข้อดีของ Tech startup

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ ทำอย่างไรจะสร้างทีมให้ทันกับสปีดของธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว”

หลักคิดและการทำงาน ฐิติรัตน์ หวังรัตนภักดี ผู้บริหาร SKOOTAR บริการเรียกแมสเซ็นเจอร์ส่งเอกสาร พัสดุ และวางบิล ผ่านแพลตฟอร์ม

เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น สะท้อนถึงจุดเริ่มต้น การเดินทาง และเป้าหมายที่จะไปในอนาคต

SKOOTAR มีจุดสตาร์ทจาก “ปัญหา” และ ปัญหาที่ทุกเอสเอ็มอีต้องเจอะเจอนั่นคือ การส่งของ วางบิล ที่แต่ละครั้งต้องว่าจ้างแมสเซ็นเจอร์เป็นครั้งๆให้ไปดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหากวนใจในเรื่องของต้นทุนจากการว่าจ้าง การคิดค่าบริการที่สูงต่ำแล้วแต่การเจรจา การติดตามงาน ระยะเวลาของการวิ่งงาน และอีกหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกิดเป็น “โอกาส” ที่ ทีมผู้ก่อตั้งมองเห็น

ด้วยข้อดีของ SKOOTAR อยู่ตรงที่ กดคำสั่งผ่านแอพได้เลย ระบุได้ว่า จะให้มารับเอกสารเวลาไหนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
และที่สำคัญยังแทคสถานะได้ เมื่อธุรกิจรู้แล้วว่า ตอนเช้าต้องเก็บเอกสาร ก็สั่งตั้งแต่ช่วงกลางคืน

“บางราย ขายของพรีเมี่ยม ต้องส่งของตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ต้องทำเองทั้งหมด แต่พอมีบริการนี้ เราไปรับถึงหน้าบ้าน ส่งของตัวอย่างให้ลูกค้า ทำให้เจ้าของกิจการสะดวก และโฟกัสกับธุรกิจได้ เมื่อฟังฟีดแบ็คแล้วก็ทำให้ใจพองโต ส่วนตัวมองว่าเรื่องเงินมาทีหลัง แต่สิ่งที่เราทำคือ ช่วยคนได้ จริงๆ ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นจริงๆ ก่อนนี้ไปเวลาส่งเอกสารต้องจ้างแมสเซนเจอร์ซึ่งก็ไม่รู้ว่าของนั้นจะเดินทางไปถึงตรงไหนแล้ว”

เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็น “ตัวเร่ง” ธุรกิจก็ไปได้เร็วเกินคาด

บวกกับลูกค้า “บอกต่อ” ทำให้ในช่วงต้นปี 2559 SKOOTAR ก็มี “โจทย์”ใหม่ๆ ให้ต้องทำ

“จริงๆ อาจจะด้วยความที่เป็น Tech startup เราโตเร็วมาก ผู้คนรับรู้ รัฐบาลสนับสนุน สื่อให้ความสนใจ คนก็เข้ามาใช้แอพเยอะมาก เพราะเปิดกว้างให้ใครจะเข้ามาใช้ก็ได้ เรารับได้ไม่จำกัด ส่งผลให้ธุรกิจโตแบบไร้ขีด ทำให้ต้องกลับมามองเรื่องทีมงาน”

“ทีม” สำคัญมาก และต้อง “เร่งโต” ให้ให้ทันกับความเร็วของธุรกิจ สำหรับเราแล้วจะเน้นที่ประสิทธิภาพ มากกว่าการขยายในเชิงปริมาณ

หลักใหญ่คิดเพียงว่า จะทำอย่างไรให้งานมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น ในแบบที่ต้องทำน้อยให้ได้มาก

เริ่มแรกของธุรกิจมีพนักงานแค่ 5 คน วันนี้ขยายเป็น 16 คน ซึ่งก็เพียงพอสำหรับขนาดธุรกิจ

“งานหลักๆ อยู่ที่คนทำ Tech ส่วนนี้จึงมีคนทำงานถึง 7 คน เพราะต้องเขียนโปรแกรม ดูเว็บ ที่ต้องปรับแก้ไขอยู่ตลอดเวลา อาจมี bug มีบางโปรแกรมต้องแก้ ซึ่งจนถึงวันนี้ถือว่าระบบมีความสมบูรณ์อย่างมาก

อีกส่วนคืองาน CS –Customer service ธุรกิจการให้บริการต้องมีคนรับเรื่องและประสานงาน ว่าตอนนี้แมสเซนเจอร์วิ่งไปอยู่ตรงไหนแล้ว และปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร”

ด้วยข้อดี Tech startup คือ วันนี้มีคนเท่านี้ พอเพียงแล้วที่จะพัฒนาเว็บ หรือ แอพให้มีประสิทธิภาพถึงขีดสุด เพราะสินค้าและบริการเราอยู่ออนไลน์ แพลทฟอร์ม ทำให้โตได้แบบไร้ขีดจำกัด โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทีมงาน

“ธุรกิจ Tech ไม่เหมือนกับร้านอาหาร จะขยายธุรกิจ เปิดสาขาก็ต้องเพิ่มคน แต่ของเราไม่ใช่ วันนี้ เรามองถึงการขยายธุรกิจไปยังหัวเมือง อาทิ ชลบุรี หลังจากครอบคลุม ตลาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว”

นอกจากนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา SKOOTAR ก็เจอกับปัญหา ซัพพลาย ดีมานด์ไม่สมดุลกัน

ด้วยสปีดของธุรกิจที่เร่งไปเร็วมาก ไม่สมดุลกับแมสเซ็นเจอร์ในระบบที่พร้อมจะวิ่งรับกับดีมานด์ที่ขยายตัว

“ตอนต้นปี เราจะคอนโทรลได้ไม่ดีพอ ลูกค้าเยอะ แมสเซนเจอร์ขาด แต่ตอนนี้เราเอาระบบมาจับ มอนิเตอร์และวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลาว่า สัดส่วนลูกค้าต่อแมสเซนเจอร์ต้องเป็นเท่าไหร่ พร้อมกับวางแผนการเพิ่มจำนวนแมสเซนเจอร์ล่วงหน้า เรียกว่า เราใช้ data หนักมาก”

จนถึงวันนี้ภาวะ “ลูกค้า” และ “แมสเซ็นเจอร์” กลับมาอยู่ในแนวทางที่สมดุล โดยมีตัวเลขแมสเซนเจอร์ในระบบ 1 พันราย

“แรกๆ ของการเปิดตัว SKOOTAR หาแมสเซ็นเจอร์ได้ยากหน่อยเพราะไม่เป็นที่รู้จัก วันนี้ค่อนข้างดีเพราะบอกกันปากต่อปากว่ามาทำกับเราเงินดี ทำงานสะดวก เลือกเวลาทำงานได้ incentive ก็ไม่เคยกด เค้าจะเห็นราคาก่อนที่จะตัดสินใจเลือกรับงาน เมื่อเค้าแฮปปี้ ลูกค้าก็แฮปปี้ด้วย”

นอกจากตัวเลข แมสเซนเจอร์ นิ่งแล้ว อีกคุณภาพที่ต้องใส่เข้าไปก็คืองานบริการ

“หลักๆ ที่เทรนนิ่ง ก็คือ การใช้งานแอพ มารยาทในการติดต่องาน ทำอย่างไรให้ลูกค้าแฮปปี้ การพูดจา หรือ แม้แต่เคยมีการสั่งซื้อของ แมสเซนเจอร์ของเราก็น่ารักทำให้โดยออกเงินไปก่อน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่เราเน้นในเรื่องของใจรักในบริการ”

แม้จะใส่ใจเต็มที่ แต่ทุกธุรกิจก็ต้องมี Challenge อาทิ ปัญหาจากการมาร์คจุดรับส่งผิดทำให้แมสเซนเจอร์ต้องวิ่งไกลกว่าเดิม ความล่าช้า และอื่นๆ ทำให้มีการร้องเรียนเข้ามา เพราะเป็นธุรกิจให้บริการ

“เราจะมีการให้ใบเหลือง ใบแดง กับแมสเซ็นเจอร์ มีการตัดบางคนที่ไม่สุภาพออกไป ไม่ให้มารับงานในระบบอีก แต่ส่วนใหญ่ผลจากการเทรนนิ่งก็ทำให้การบริการดีขึ้น ลูกค้าพึงพอใจ

ส่วนตัวมองว่าที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ทำให้เราโตได้อย่างยั่งยืน เพราะถ้าเราไม่รู้ปัญหา ไม่รู้วิธีจัดการ ก็โตแบบกระท่อนกระแท่น จะไม่เวิร์คในระยะยาว
เพราะความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากประโยชน์สองฝ่าย ลูกค้า และ แมสเซนเจอร์ โดยมีเราเป็นมาร์เก็ตเพลส จับทุกคนมาเจอกันแล้วทำทุกอย่างให้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี”

(ธุรกิจ) ยิ่งโตก็ยิ่งต้องใส่ใจ

นอกจากการสร้างคุณภาพในระบบงานบริการแล้ว อีกเรื่องที่เจอก็คือ “วัฒนธรรม” ในการทำงาน

“ตอนแรกคนทำงานน้อย ลูกค้าน้อย งานเบา ทุกคนทำงานด้วยความสนุก และมี Passion ที่จะทำ พอหลังๆ ธุรกิจโตเร็วมากๆ คนในทีมก็เริ่มจะไม่สนุก ทุกอย่างเริ่มเป็นเหมือนบริษัท สถานการณ์เริ่มตึงเครียด ทำให้ Co-Founder กลับมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้บรรยากาศการทำงาน สนุก ไม่เคร่งเครียดเป็นไมเกรนกลับบ้าน”

สิ่งที่ให้ความสำคัญคือ การสร้างวัฒนธรรม “ขอบคุณ” และ “การพัฒนาตัวเอง”

“เพราะเชื่อว่าทุกคน อยากจะได้รับการชื่นชม การขอบคุณก็เป็นหนึ่งในการชื่นชม สองทุกคนต้องการพัฒนาตัวเอง ซึ่งทุกคนในทีมจะต้องกล่าวขอบคุณ คนในทีมหนึ่งคน เช่น ขอบคุณที่ช่วยทำเมล์ เซ็ตติ้งให้ ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น รวมถึงการที่ตัวเองจะสอนภาษาอังกฤษให้กับน้องๆ อาทิตย์ละครั้ง ให้แต่ละคนมีการพัฒนา และทำบรรยากาศให้สนุก สร้างความรู้สึกว่าไม่ได้แค่มาทำงาน แต่จะมีความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นได้”

ที่เราจะทำเสริมเข้าไป คือการสร้างทัศนคติดีๆ ให้กับทุกคนในทีม และเรียกรอยยิ้มให้เกิดขึ้น