ภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ โมเดลเมืองอัจฉริยะแห่งแรก

ภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ โมเดลเมืองอัจฉริยะแห่งแรก

การขับเคลื่อนนโยบายเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ของประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปอีกขั้น

“อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เปิดตัวโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดภูเก็ต หรือ“ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้”

เป้าหมายสำคัญมุ่งส่งเสริมการลงทุน สนับสนุนเทคสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พร้อมพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดอันดามัน รองรับนักลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ สอดคล้องไปกับแผนการพัฒนาความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล, 8 แผนงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของกระทรวงไอซีที ขณะเดียวกันเร่งผลักดันประเทศไทยสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างเป็นรูปธรรม

“สมาร์ทซิตี้เป็นส่วนสำคัญซึ่งจะช่วยผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่ประเทศชั้นแนวหน้า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในตัวเอง ทั้งนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก”

การขับเคลื่อนแผนแม่บทดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างระยะเวลา 2 ปีที่รัฐบาลนี้ยังอยู่จะเร่งเตรียมความพร้อมทุกด้านไว้เพื่อส่งไม้ต่อให้รัฐบาลถัดไป ทั้งจะยกระดับโครงสร้างโทรคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ

“ไทยต้องสามารถสร้างความแข็งแกร่งได้จากภายใน นำจุดแข็งที่มีมาใช้พัฒนาอย่างยั่งยืน ก้าวไปด้วยกันตั้งแต่ระดับชุมชน เมือง ไปจนถึงระดับประเทศ”

ชูอินโนเวชั่นพาร์คดึงนักลงทุน
รัฐมนตรีไอซีทีเผยว่า จังหวัดภูเก็ต แบ่งการดำเนินการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ ออกเป็น 7 ส่วน ประกอบด้วย Smart Economy, Smart Tourism, Smart Safety, Smart Environment, Smart Healthcare, Smart Education และ Smart Governance ตั้งเป้าทำให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2563 ภายใต้ภาพ “Smile Smart and Sustainable Phuket”

นอกจากเร่งสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หลังจากนี้ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยน แก้ไขระเบียบข้อบังคับอันเป็นการจำกัดโอกาสในการลงทุน

โอกาสเดียวกันนี้เปิดตัว"ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้ อินโนเวชั่น พาร์ค (Phuket Smart City Innovation Park) โดยวางบทบาทเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม การเรียนรู้เทคโนโลยี สนับสนุนการลงทุนด้านดิจิทัล พร้อมให้คำปรึกษาธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจดิจิทัลจังหวัดภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ด้านการท่องเที่ยว อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) เชื่อมโยงใช้งานไปกับแวร์เอเบิลดีไวซ์ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนธุรกิจเชิงสร้างสรรค์

พาร์คดังกล่าว แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนหลักคือ หน่วยประสานงานการลงทุน, ไอโอที แล็บ, โคเวิร์คกิ้งสเปซสำหรับเทคสตาร์ทอัพ และศูนย์พ่มเพาะผู้ประกอบการ

จุดพลุเศรษฐกิจแสนล้าน
“จำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา”ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดทำโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ ใช้งบประมาณการลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จเต็มรูปแบบในปี 2563 จะสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงดึงเงินลงทุนเข้าประเทศได้มูลค่าหลักแสนล้านบาท

ปัจจุบัน ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ละปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่า 13 ล้านคน เติบโตไม่น้อยกว่า 17% สร้างเงินปีละไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สมาร์ทซิตี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้หากขาดการมีส่วนร่วมของพลเมือง ดังนั้นการขับเคลื่อนงานจำต้องตอบตอบโจทย์คนที่อาศัยในเมืองเป็นพื้นฐาน อีกโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้นำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับ ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ชุมชนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน เพราะสมาร์ทซิตี้ไม่ใช่แค่การมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งานหรือสร้างความบันเทิง ทว่าต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กันไป

พร้อมกันนี้ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน วันนี้เป็นเพียงก้าวแรก ความท้าทายยังมีเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเมือง การบริหาร การจัดทำงบประมาณ รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวม

“ความท้าทายที่สำคัญคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อเกิดการปรับเปลี่ยนจากการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมสู่ความสมาร์ท โดยหัวใจสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนาทั้งคน สังคม เมือง ต้องร่วมมือกัน”


ปั้นสมาร์ทอีโคโนมี
​ “จีราวรรณ บุญเพิ่ม” ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) หน่วยงานหลักที่ร่วมสนับสนุนและมีส่วนร่วมจัดทำโครงการเผยว่า งานสำคัญของซิป้าคือร่วมสร้างบรรยากาศ “สมาร์ท อีโคโนมี” พร้อมผลักดันให้คนทำงานด้านดิจิทัลตื่นตัวให้ได้มากที่สุด

งานเร่งด่วนคือติดตั้งไวไฟให้ครอบคลุมทั้งเกาะภายในสิ้นปี 2560 ใช้งบประมาณการลงทุนราว 240 ล้านบาท รวมถึงเชื่อมโยงระบบกล้องวงจรปิด(ซีซีทีวี) ทั่วทั้งเมืองเข้าด้วยกันใช้งบราว 70 ล้านบาท

ขณะนี้ อินฟราสตรักเจอร์หลักๆ กำลังจะแล้วเสร็จแล้ว รวมทั้งเชื่อมโยงทำงานร่วมกับภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ส่วนเฟสต่อๆ ไปจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน ช่วยให้ผู้ประกอบการทำงานได้ง่ายขึ้น มีสิทธิประโยชน์เช่นด้านภาษีมาร่วมกระตุ้นความสนใจ ขณะนี้เริ่มคุยกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บ้างแล้ว

แต่หากจะทำให้เกิดภาพถึงขนาดทำให้บริษัทต่างๆ เข้ามาจดทะเบียนในไทยแทนที่จะไปสิงค์โปร์ดังที่ผ่านมา อาจต้องแก้กันระดับนโยบาย ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้นเบื้องต้นที่เป็นไปได้คือทำเฉพาะพื้นที่ก่อน จากนั้นหากภาครัฐเห็นว่ามีความสำคัญอาจคลี่คลายระเบียบให้เอื้อมากขึ้น

“วันนี้เราต้องทำสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อนเพื่อดึงดูดคนดิจิทัลเข้ามา ขณะเดียวกันชี้ให้เห็นว่าภูเก็ตมีบรรยากาศน่าลงทุน สถานที่ทำงานพร้อม สามารถให้ความสุขได้มากกว่า หากสนใจมาได้ตั้งแต่มีแค่ไอเดียหรือสนใจก็ได้”

ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน
ข้อมูลระบุว่า ภูเก็ต เชียงใหม่ และกทม.เป็นเมืองที่คนดิจิทัลโหวตให้เป็นสถานที่ที่น่าเข้ามานั่งทำงานมากที่สุดติดอันดับท็อป 3 ทั่วโลก ดังนั้นเชื่อว่าหากดึงบุคคลเหล่านี้มาได้จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การจ้างงาน และสร้างการใช้จ่ายอีกมหาศาล

สำหรับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์อื่นๆ ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บมจ.กสท โทรคมนาคม บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด ออโต้เดสก์เอเชีย บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
สำนักงานมูลนิธิไอซีดีแอล เอเชีย ประเทศไทย, สมาคมอุตสาหกรรมส่งออกซอฟต์แวร์ไทย, อินโนเดฟ อิงค์, และ Gyeonggi Center for Creative Economy & Innovation พร้อมมีสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ร่วมขับเคลื่อนสมาร์ททัวริสซึม