ภาครัฐจับมืออุตฯสัตว์ปีก ยกระดับด้านแรงงานที่ดีสู่สากล

ภาครัฐจับมืออุตฯสัตว์ปีก ยกระดับด้านแรงงานที่ดีสู่สากล

กรมสวัสดิการฯร่วมกับกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้ผลิตไก่ฯ ลงเอ็มโอยู เสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมการค้าต่างประเทศจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยโดยเฉพาะไก่สดและไก่แปรรูป เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 4 ของโลก สามารถทำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีสูงถึงแปดหมื่นกว่าล้านบาท แต่เนื่องจากสื่อต่างชาติมีการเผยแพร่ข่าวการใช้แรงงานทาสในฟาร์มไก่ในไทย ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าแปรรูปเนื้อในสหภาพยุโรปแสดงความกังวลต่อปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยเป็นอย่างมาก ถึงแม้ภายหลังจะไม่พบประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ก็ตาม ทำให้ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมสัตว์ปีกให้มีการผลิตโดยคำนึงถึงการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้แรงงานในกระบวนการผลิตอย่างมีธรรมาภิบาล จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีของ ๓ หน่วยงาน ได้แก่

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย ร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมฟาร์มและสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีกในประเทศไทยขึ้น (Good Labour Practices Guidelines for Poultry Farm and Hatchery in Thailand : GLP – Poultry Thailand) โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติ และค้ามนุษย์ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการแรงงานในทุกขั้นตอนการผลิต สำหรับการทำบันทึกข้อตกลง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการประชารัฐซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป 


อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปอีกว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 กสร. ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่เพื่อส่งออกที่แสดงความมุ่งมั่น นำหลักการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ไปใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการด้านแรงงานแล้ว จำนวน 342 แห่ง โดยในอนาคต กสร.จะสนับสนุนสถานประกอบกิจการที่มีความพร้อมให้สามารถพัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labor-Standard : TLS) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ กสร.ให้การรับรองและออกใบรับรองเพื่อสามารถนำไปแสดงต่อคู่ค้าได้ตามหลักการรับรอง สากล สำหรับสถานประกอบกิจการใดสนใจต้องการเข้าสู่ระบบ TLS ติดต่อได้ที่ กลุ่มงานพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงาน สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน โทร. ๐ ๒๒๔๖ ๘๓๗๐ หรือhttp://tls.labour.go.th

ด้าน นายอยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบฟาร์มของเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการปศุสัตว์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง และถ้าพบเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย กรมปศุสัตว์จะมีการดำเนินการเพิกถอนฟาร์ม ในกรณีกระทำความผิดต่อกฎหมายแรงงาน ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ และไม่อนุญาตให้ฟาร์มที่กระทำความผิดส่งออกและจำหน่ายเนื้อสัตว์ภายในประเทศด้วย การลงนามความร่วมมือด้านแรงงานในครั้งนี้นับเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมจะได้ร่วมกันพัฒนาด้านแรงงานให้สู่สากลต่อไป

กรมปศุสัตว์จะทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกได้นำแนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน (Good Labour Pactices หรือ GLP) ไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน และมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลการจัดทำระบบบริหารจัดการด้านแรงงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อการดำเนินงานหรือปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายแพทย์อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยกล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ซึ่งประกอบด้วยโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ปีกส่งออกทั้งที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ และไม่ใช่สมาชิกฯพร้อมใจกันแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมกันพัฒนาด้านแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นมาตรฐานสากล โดยนำ GLP มาเป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการด้านแรงงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานแรงงานทั้งห่วงโซ่การผลิต ซึ่งในส่วนของโรงงานชำแหละสัตว์ปีกส่งออกได้มีการปฎิบัติตามมาตรฐานด้านแรงงานต่างๆ อยู่แล้วทั้งมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001) และมาตรฐานคู่ค้า เช่น SEDEX ซึ่งครอบคลุมถึง GLPด้วย

ส่วนของฟาร์มสัตว์ปีกถึงแม้ส่วนใหญ่จะดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ก็ต้องมีการยกระดับมาตรฐานแรงงานโดยนำ GLP มาใช้เพิ่มเติม เนื่องจากงานฟาร์มมีลักษณะที่แตกต่างจากงานโรงงานและงานสำนักงาน เพราะฟาร์มจะให้ความสำคัญกับระบบการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพสัตว์ จึงต้องตั้งห่างไกลเมืองและที่ชุมชน การเข้าออกฟาร์มจึงต้องมีความเข้มงวด เจ้าของฟาร์มจึงจำเป็นต้องนำ GLP มาใช้ปฏิบัติในการบริหารจัดการคนงานในฟาร์มด้วย หลังจากนี้หากพบว่าฟาร์มไหนปฏิบัติต่อแรงงานไม่ถูกต้อง โรงงานจะงดรับซื้อไก่จากฟาร์มนั้น จนกว่าจะมีการปฏิบัติได้ถูกต้อง

“การร่วมยกระดับด้านแรงงานด้วยแนวทาง GLP นี้เป็นเหมือนเครื่องหมายรับรองว่าเราไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ใช้แรงงานบังคับและไม่เลือกปฎิบัติบนพื้นฐานของกฎหมายแรงงานไทย มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ สถานประกอบการจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากประเทศคู่ค้า โดยต้องปฏิบัติตามแนวมาตรฐานจรรยาบรรณที่ลูกค้ากำหนดทุกประการ” นายแพทย์อนันต์ กล่าว

บริษัทผู้ประกอบการด้านสัตว์ปีกที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยที่เข้าร่วมลงนามบันทึกความตกลงครั้งนี้ อาทิ ซีพีเอฟ จีเอฟพีที เบทาโกร คาร์กิลล์ บีอาร์เอฟ แหลมทองโพลทรี่ พนัสโพลทรี่ เซนทาโก บางกอกแรนช์ ฯลฯ โดยหลายบริษัทได้ทำการอบรมแนวทาง GLP ให้กับทั้งฟาร์มของบริษัทและ Supply Chain แล้ว