รัฐใจป้ำ! เปิดเซ้งแฟลตดินแดงใหม่ล้านเจ็ด

รัฐใจป้ำ! เปิดเซ้งแฟลตดินแดงใหม่ล้านเจ็ด

ครม.ไฟเขียวแผนพัฒนาแฟลตดินแดง 9 ปี วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท สร้างคอนโด 2 หมื่นยูนิต ตอกเสาเข็มต.ค.นี้ เปิดทางรายใหม่เช่าเซ้ง 1.7 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะ 9 ปี โดยจะรื้อแฟตเดิมที่สร้างมานานกว่า 50 ปี และสร้างอาคารชุดกว่า 2 หมื่นยูนิตทดแทน โดยจัดสรรให้ผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้อยู่อาศัยใหม่ โดยคาดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ 30,000 คน

ปัจจุบัน ชุมชนแฟตดินแดง มีพื้นที่ 635 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งเดิมเป็นที่ทิ้งขยะของกรุงเทพมหานคร โดยมีกทม.และการเคหะแห่งชาติ(กคช.)ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการสร้างที่พักอาศัยทั้งโครงการรวม 94 อาคาร รวมทั้งสิ้น 5,098 ยูนิต

จากการสำรวจพบว่าที่อยู่อาศัยบริเวณแฟลตดินแดนที่มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2506 มีการใช้งานมานานกว่า 50 ปี และสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากการตรวจสอบพบว่าที่อยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 60% อยู่ในสภาพทรุดโทรมเสียหาย

สำหรับแผนการปรับปรุงปรุงใหม่จะมีการรื้อถอนอาคารเดิม และก่อสร้างอาคารใหม่รวม 20,292 ยูนิต โดยแบ่งเป็นอาคารสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิม 11 อาคาร รวม 6,546 ยูนิต และสำหรับข้าราชการและบุคคลภายนอก 25 อาคาร นวม 13,746 ยูนิต คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ 30,000 คน

สำหรับค่าเช่าอาคารใหม่ จะเพิ่มขึ้น โดยค่าเช่าสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิมจะคิดจากค่าเช่าปัจจุบัน แต่เพิ่มค่าบริหารจัดการ สาธารณูปโภค และค่าภาษีโรงเรือน 12.5% ซึ่งจะทำให้ค่าเช่าที่ต้องจ่ายปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 300-3,000 บาทตามขนาดพื้นที่ เป็น 1,265-4,303 บาท

สำหรับผู้อยู่อาศัยใหม่ หากเป็นข้าราชการคิดค่าเช่า 9,000 บาท/หน่วย/เดือน ซึ่งรวมค่าบริหารและภาษีโรงเรือนแล้ว ขณะผู้เช่าใหม่ที่เป็นบุคคลทั่วไป เป็นเช่าเซ้ง 1,700,000 บาท

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่แล้วพบว่าประชาชน 97.71% เห็นด้วย ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้กำหนดให้มีการชดเชยสำหรับผู้ที่ต้องการย้ายที่อยู่ใหม่ 400,000 บาท และให้ค่าขนย้ายรายละ 10,000 บาท

แผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ในชุมชนดินแดงครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 207 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมประมาณ 38.44 ไร่ พื้นที่สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ประมาณ 88.86 ไร่ พื้นที่สำหรับจัดทำสวนสาธารณะของชุมชน ประมาณ 21.47 ไร่ พื้นที่สำหรับการปรับปรุงอาคารเดิมเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมประมาณ 32.50 ไร่ พื้นที่ที่ไม่อยู่ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงประมาณ 6.26 ไร่
เริ่มก่อสร้างแปลงแรกต.ค.นี้

สำหรับโครงการที่จะเริ่มดำเนินการก่อนคือโครงการแปลง G กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน เป็นอาคารพักอาศัยสูง 28 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ขนาดห้องพักอาศัยประมาณ 33 ตารางเมตร จำนวน 334 หน่วย ที่จอดรถ 154 คัน และส่วนบริการชุมชน โดยจะเริ่มประกวดราคาในเดือน ก.ย.2559 และเริ่มก่อสร้างในเดือน ต.ค.วงเงินในการก่อสร้าง 460.53 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยที่จะย้ายไปอยู่ในอาคารนี้ชั่วคราวระหว่างก่อสร้างอาคารอื่นๆ

สำหรับแผนการก่อสร้างเฟสแรกจะเริ่มในปี 2559-61 จะรื้ออาคารเก่า 5 อาคาร 280 หน่วย และก่อสร้างอาคารใหม่ 334 หน่วย เฟสที่สอง เริ่มก่อสร้างในปี 2561-63 โดยรื้ออาคารเก่า 21 อาคาร และก่อสร้างอาคารใหม่ 2 อาคาร รวม 1,247 หน่วย

การก่อสร้างเฟสสามจะเริ่มในปี 2563-65 โดยรื้ออาคารเก่า 40 อาคาร 3,056 หน่วย และก่อสร้างอาคารใหม่ 5 อาคาร 3,333 หน่วย และเฟส 4 จะเริ่มในปี 2565-67 รื้ออาคารเก่า 6 อาคาร 1,350 หน่วย และสร้างอาคารใหม่ 3 อาคาร 1,632 หน่วย
“นายกฯกำชับว่าโครงการนี้ให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ให้มีการบริหารจัดการที่ดี และมีร้านค้าชุมชนที่ซื้อขายกันภายในชุมชนด้วยราคาที่เป็นธรรม” นายกอบศักดิ์กล่าว
คลังเผยบรรจุเงินกู้ในแผนก่อหนี้ปี60

สำหรับ งบประมาณการลงทุนให้กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินจากแหล่งเงินภายในประเทศ และให้การเคหะแห่งชาติ(กคช.)กู้ต่อจากกระทรวงการคลังโดยให้อัตราดอกเบี้ยเท่ากับที่กระทรวงการคลังกู้มาและยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการให้กู้ต่อ โดยงบประมาณ 35,754.25 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 31,845.53 ล้านบาท ค่าดำเนินการ 2,229.18 ล้านบาท สำรองราคา 441.04 ล้านบาท ค่าชดเชยสิทธิการเช่า 24.60 ล้านบาท ค่าขนย้าย 53.79 ล้านบาท ค่ารื้อถอนอาคารเดิม 267.00 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 884.11 ล้านบาท

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่าแผนการกู้เงินที่ครม.มีมติให้คลังจัดหาเงินกู้ให้กับการเคหะ ได้บรรจุไว้ในแผนการก่อหนี้ใหม่ของการบริหารหนี้สาธารณะในปี 2560 แล้ว โดยการกู้เงินใหม่จะเป็นลักษณะการทยอยกู้ตามแผนการก่อสร้างโครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 5 ปี โดยในปีแรกหลังครม.มีมติ ซึ่งอยู่ในช่วงทุบตึกและขนย้ายผู้อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะใช้เงินกู้ไม่มากนัก
การเคหะฯเดินหน้าสร้างตึกใหม่

กคช.เผยเคลียร์ใจชาวแฟลตแล้ว

นางอุบลวรรณ สืบยุบล รักษาการแทนผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า หลังจากครม.อนุมัติการทำงานทำให้เกิดความชัดเจนในการผลักดันให้ทางการเคหะฯเดินหน้าโครงการต่อไปหลังจากที่ผ่านมายอมรับว่ามีความไม่เข้าใจและแรงต้านในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2543

“เราเดินหน้าคู่ขนานทำความเข้าใจกับชุมแล้วจึงเสนอให้ ครม. เห็นชอบ ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2543 แรงต้านมาเป็นระลอกแต่หลังจากทำความเข้าใจ และทำแผนแม่บท พร้อมกันกับสำรวจ และสื่อสารทำความเข้าใจทำให้มีแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากตึกบริเวณนี้โครงสร้างเก่าแก่กว่า 40-50ปี จึงจำเป็นต้องรื้อถอน หรือปรับปรุงซ่อมแซ่ม เพราะการก่อสร้างในอดีตไม่ได้ป้องกันแผ่นดินไหว และเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองจึงต้องใช้ประโยชน์สูงสุด จาก อาคาร 5 ชั้นควรเพิ่มเป็น 20-30ชั้น”

สำหรับแผนการทำงานจากนี้แบ่งเป็น 4 เฟสใช้เวลา 8 ปี จำนวน 20,292 หน่วย โดยแบ่งเป็นรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม 6,546 หน่วย และรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ 13,746 หน่วย โดยกันส่วนหนึ่งไว้สำหรับข้าราชการบริเวณพื้นที่นั้น สำหรับเฟสแรก แปลงG อาคารสูง 28 ชั้น ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน 334 ยูนิต ,เฟส 2 จำนวน 1,000 กว่ายูนิต ทั้งนี้เป็นรูปแบบการให้เช่าที่อยู่อาศัยโดยให้สิทธิเช่าผู้พักอาศัยรายเดิมที่มีจำนวน 5,846 ราย ในอัตราค่าเช่าเดิมระหว่าง300-3,000 บาทต่อเดือน