คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ สตาร์ทอัพอย่าง 'หมอ'

คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ สตาร์ทอัพอย่าง 'หมอ'

หมอหล่อ โปรไฟล์เริ่ด กับโปรเจคคราวด์ฟันดิ้งระดมทุนต่อยอดงานวิจัยดีๆ ไอเดียเจ๋งๆ ไม่ให้อยู่แค่บนหิ้ง

เคยติดทำเนียบหมอหล่อแห่งเมืองไทย ชิมลางงานบันเทิงทั้งถ่ายโฆษณา รวมถึงงานภาพยนตร์ก็เคยผ่านมาแล้ว แต่เมื่อถูกถามว่า ยังสนใจวงการบันเทิงอยู่หรือเปล่า นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หรือ 'หมอเอ้ก' กลับรีบส่ายหน้าแทนคำตอบ..

เช่นกันกับคำถามที่ถูกถามบ่อยว่า เป็นหมอด้วย หน้าตาดีด้วย ทำไมไม่ฉวยโอกาสนี้เปิดคลินิคความงามตามกระแสที่หมอๆ มักนิยมกัน
"ไม่ใช่ว่า ไม่เห็นด้วย หรือ แอนตี้หรอกนะครับ แต่ที่ไม่ทำเพราะพอดีสนใจเรื่องอื่นมากกว่า" เจ้าของฉายาหมอหล่อให้คำตอบพร้อมรอยยิ้ม

เพราะสิ่งที่หมอหนุ่มรายนี้โฟกัสอยู่ในตอนนี้ พร้อมๆ กับการเป็นจักษุแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็คือ การปลุกปั้น 'รักดี' โปรเจคคราวด์ฟันดิ้งน้องใหม่ที่เพิ่งแจ้งเกิดในเมืองไทยเมื่อเดือนก่อน พร้อมด้วยจุดขาย คือ การมุ่งจับตลาดเฮลธ์แคร์ โดยหวังจะเป็นแมทช์เมคเกอร์ให้งานวิจัยดีๆ ไอเดียเจ๋งๆ ทางด้านการแพทย์ได้พบกับนักลงทุนผู้มีทั้งเงินและวิสัยทัศน์

เขาเริ่มต้นเล่าย้อนไปถึงที่มาก่อนจะเป็นรักดีว่า เกิดไอเดียนี้ขึ้นเมื่อตอนที่ไปทำงานวิจัยที่สหรัฐอเมริกา โดยได้ทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลไปทำวิจัยที่แล็บของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักของฮาร์เวิร์ด เมดิคัล สคูล

"ช่วงนั้นพวก new economy อย่างคราวด์ฟันดิ้งกำลังดัง คิกสตาร์ทเตอร์นี่บูมมาก ผมก็ไปฟังเขาพูดในงานสัมมนา แล้วรู้สึกว่า เฮ้ยมันเจ๋งนะ การที่เราไประดมทุนมาจากคนที่เขาสนใจในไอเดีย โดยไม่ต้องมีกรอบมีอะไรมาก ผมรู้สึกว่า มันน่าสนใจถ้าเราแมทช์ไอเดียนี้เข้ากับทางด้านเฮลธ์แคร์ ไม่ว่าจะเป็นรีเสิร์ช อินโนเวชั่น ผมคิดว่า มันน่าสนใจและน่าจะเป็นไปได้" หมอเอ้กเล่า

ยิ่งเมื่อบวกกับข้อจำกัดคลาสสิคที่โลกของนักวิจัยต้องพบเจอ นั่นคือ "เงินทุน" ที่ไม่เฉพาะนักวิจัยไทยเท่านั้น แม้กระทั่งแล็บที่เขาทำงานอยู่ซึ่งเป็นแล็บใหญ่ และได้รับทุนจากกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่วาย มีข้อจำกัดมากมาย สุดท้ายก็มักถูกตีกรอบทำงานภายใต้โจทย์ที่กำหนดไว้

"สำหรับการเป็นนักวิจัย ผมรู้สึกว่า การหาเงินทุนในการสนับสนุนมันค่อนข้างยาก กว่าจะขอทุนได้ทีนึง กว่าจะผ่านด่านแต่ละด่าน แต่ละคณะกรรมการ แต่ละทุน เขาก็มีธงของเขาว่า อยากได้เรื่องแนวไหน ผมคิดว่า มันยังขาดแคลนมาก ไม่ใช่เฉพาะในไทยนะ อย่างตอนที่ไปทำงานที่อเมริกา ตอนนั้นเป็นช่วง Government Shutdown ขนาดแล็บที่ผมทำงานอยู่ด้วยเป็นแล็บข้างๆ ยังต้องปิดตัวลงเลย เพราะเขาไม่มีเงิน ส่วนพวกผมก็ต้องทำงานตามโจทย์ที่เขาให้มา โดยเราได้ทุนจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ทำให้ยังพอทำงานอยู่ได้ แต่เป้าหมายของการทำงานเป็นไปตามที่กระทรวงฯ ต้องการ ไม่ใช่เรื่องที่เราอยากทำเอง พอมาเจอแนวคิดแบบนี้ ก็คิดว่า มันน่าจะแก้ปัญหาได้"

เมื่อทุนครบกำหนด นอกจากกระเป๋าเดินทางใบโตแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่เขาพกกลับมานั่นคือ ความฝันอยากจะทำคราวด์ฟันดิ้งให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อสามารถต่อยอดงานวิจัยดีๆ ไม่ให้จบอยู่เพียงการได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ หรือ ถ้วยรางวัลในตู้โชว์

"พอกลับมาก็เป็นหมอรักษาด้วย ก็ยุ่งๆ อยู่ แต่ก็รู้สึกว่า มันต้องเริ่มแล้วล่ะ เพราะถ้าไม่เริ่ม ผมก็อาจจะกลายเป็นตามไปกับกระแส คือ มันจะมีทางเดินของหมออยู่ เช่น ไปเรียนเฉพาะทางแล้ว ก็ต่อโน่น ต่อนี่ ซึ่งถ้าปล่อยไปตามนั้นก็จะไม่ได้เริ่มซักที ก็เลยคิดว่า ต้องทำจริงๆ จังๆ แล้วนะ เลยเกิดเป็น ‘รักดี’ ขึ้นมา ก็เริ่มมันคนเดียวเลยครับ ตอนนี้มีทีมงาน 8-9 คนแล้ว"

แนวคิดหลักของ “รักดี” ตามความตั้งใจของหมอเอ้ก คือ การเป็นคราวด์ฟันดิ้งที่เปิดรับงานวิจัย อินโนเวชั่น หรือสตาร์ทอัพอะไรก็ตามแต่ที่เกี่ยวข้องกับเฮลธ์แคร์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือเซอร์วิสต่างๆ ที่จะสามารถทลายระบบทางการแพทย์แบบเดิมๆ เพื่อช่วยให้คนไข้สามารถได้รับการบริการที่ดีขึ้น ช่วยให้คนเรามีสุขภาพดีขึ้นได้

"ผมเอาหมด คือ ทำยังไงก็ได้ ให้ไอเดียมันลงมาสู่การใช้งานจริงได้จริงๆ ไม่ใช่ว่า คุณส่งงานไปประกวด ได้รางวัล หรือได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร คุณได้ตำแหน่งวิชาการแล้วจบไป.. ผมไม่ได้ต้องการอย่างนั้น แล้วผมก็ไม่ได้ยกยอหรือเข้าข้างนะ ครีมหรือกะทิของประเทศมันอยู่ในวงการนี้(วงการแพทย์) ยิ่งถ้าเทียบกันระหว่างวงการสาธารณสุขด้วยกันของประเทศเรากับประเทศอื่นๆ ผมรู้สึกว่า คนของเราเก่งมาก แต่ทำไมเรายังต้องไปตามไกด์ไลน์ของเขา ไปตามรีเสิร์ชของเขา ผมว่า ยังมีพื้นที่ที่เรายังโตได้อีก"

"ผมจบมหิดล วิทยานุสรณ์มาก่อน นี่เป็นโรงเรียนที่สร้างนักวิจัยโดยเฉพาะเลยนะครับ ผมมั่นใจว่า เด็ก 80เปอร์เซ็นต์อยากเป็นนักวิจัย แต่ถามว่า พอจบมาแล้ว มีที่ได้เป็นนักวิจัยกี่คน ผมว่ามีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะคุณไม่มีอะไรรองรับเขา บางคนเรียนจบมา ต้องไปเป็นเซลส์ขายเครื่องพีซีอาร์ ผมว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำหรอก ผมรู้สึกว่า ตรงนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่คนที่อยากเป็นนักวิจัย หรือทำนวัตกรรม สามารถเดินเข้ามาได้ และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ" เขาบอก

หลังจากเริ่มเปิดตัวเมื่อเดือนที่แล้ว หมอเอ้กบอกว่า ตอนนี้เริ่มมีคนทยอยเข้ามาเสนอ 7-8 รายแล้ว แต่ที่ดูว่า มีศักยภาพมากพอก็มีอยู่ราว 3 - 4 โปรเจค ซึ่งทีมงานประกอบด้วยทั้งทีมหมอ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และการเงิน มาระดมสมอง ช่วยกันประเมินความเป็นไปได้ทั้งในแง่ของคุณภาพและโอกาสทางธุรกิจ

เพราะถ้าเดินเข้ามาพร้อมโปรเจคทำเครื่องวินิจฉัยการเกิดโรคทางพันธุกรรมซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 1 ในล้าน ขณะที่ประเทศไทยมี 70 ล้านคน เท่ากับว่า จะมีคนได้ใช้เครื่องนี้ราว 70 คนเท่านั้น แน่นอนว่า แนวคิดนี้ ไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ คือตัวอย่างที่เขายกขึ้นเพื่ออธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องสกรีนความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เนื่องจากการลงทุนทางการแพทย์ต้องใช้เงินจำนวนมาก ความคุ้มค่า จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้

"ในเมืองไทย เรายังต้องพูดกันอีกมากในเรื่องของ new economy เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ ขณะที่ฝั่งนักวิจัยเอง บางครั้งก็ยังติดกรอบเดิมๆ พอคิดอะไรขึ้นมาปุ๊บ ก็เขียนขอทุนไป ทั้งๆ ที่มันยังมีวิธีอื่นอีกมากมายที่จะหาเงิน แล้วเราก็ยังติดกับความคิดเชิงระแวงกับการเข้าสู่ระบบธุรกิจว่า จะโดนหลอก หรือถูกหาประโยชน์จากงานวิจัย สำหรับผม ถามว่า ที่ทำอยู่ มันคือธุรกิจหรือเปล่า.. ก็ใช่ มันเป็นธุรกิจ แต่ผมไม่ได้ทำแล้วหวังรวยเป็นพันล้าน เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม นักลงทุนเขาพร้อมอยู่แล้วที่จะเอาเงินมาลง ถ้าเขามองเห็นโอกาสจะมีรีเทิร์นออฟอินเวสเมนต์ แต่ปัญหาอยู่ที่เราต่างหากว่า ของที่เรามีมันเจ๋งจริงหรือเปล่า" เขาเอ่ย พร้อมฝากบอกไปถึงเหล่านักวิจัย และนวัตกรทั้งหลายว่า..

"พวกผมอยากเห็นอะไรเจ๋งๆ มันไม่ได้หายไปกับเศษกระดาษที่คุณไปตีพิมพ์ หายไปกับถ้วยรางวัลแล้วจบไป ผมอยากเห็นอะไรที่มันสามารถสร้างมูลค่าได้จริง ๆ สร้างจีดีพีให้กับประเทศไทย อย่างน้อยสร้างคุณค่าให้กับตัวคุณเองได้"