นิวไชน่าทาวน์ เมื่อชุมชนไทย... กลายร่าง

นิวไชน่าทาวน์ เมื่อชุมชนไทย... กลายร่าง

เมื่อชุมชนไทยต้องแปลงร่าง กลายเป็นย่านจีนอย่างไม่ตั้งตัว นี่จึงเป็นทั้งความจริงอีกด้าน และเป็นสัญญาณเตือนให้เร่งจัดระบบชุมชนรับการท่องเที่ยว

ขณะลือกันว่าอีกไม่นาน ร้านอาหารตามสั่งเจ้าประจำต้องย้ายออก เวลาเดียวกันนี้ ข่าวเปลี่ยนผู้เช่าอาคารรายใหม่ฝั่งตรงข้ามก็แว่วมา เจ้าของเก่าขายกิจการ อาคารว่างถูกเปลี่ยนมือ กระทั่งการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ดูเป็นเรื่องธรรมดาของย่านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจที่เติบโตมาจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งเร็ว แรง และค่อนข้างไร้ระเบียบ

การออกมาตั้งข้อสังเกตถึงวิถีชุมชนที่เปลี่ยนไป โดยไม่พูดถึงผลประโยชน์ที่ได้รับก่อนหน้า มันก็ไม่ต่างอะไรกับการจ้องจับผิด หากจะมีน้ำหนักก็ต่อเมื่อ“คนใน”เริ่มวิตกแล้วว่า หนทางที่ดำเนินอยู่ เริ่ม“คุมไม่อยู่”อย่างน้อยๆ ก็เรื่องขยะ ที่จอดรถ ปัญหาอาชญากรรมที่ถี่ขึ้น หลังมีคนเดินเข้า-ออกชุมชนมากกว่าที่เคย

นิยามข้างต้นอธิบายตัวอย่างได้ถึงชุมชนละแวก ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง และบริเวณโดยรอบ ซึ่งวันนี้ชุมชนธรรมดาๆ แห่งนี้ กำลัง “กลายร่าง” เป็นแหล่งหยุดพักของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากประเทศจีน ซึ่งมีอัตลักษณ์ชัดเจนอย่างที่รู้กันดี ทั้งวิถีกิน วิถีช็อป และวิถีท่องเที่ยว

ถนนเส้นเล็กๆ จึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ครบครันด้วยร้านอาหารจีน นวดสปา หมอนยางพารา ฯลฯ ราวกับว่า นี่คืออีกหมุดหมายแห่งใหม่ที่ใครๆ ต่างกำลังพูดถึง

 

นิวไชน่าทาวน์

  สถิติของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา บอกชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้าประเทศไทยสูงขึ้นกว่า2เท่า เมื่อเทียบกับ3-4ปีก่อน โดยเฉพาะในปี2558ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยมากถึง7.93ล้านคน ขณะที่ในปี2559นับตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพียง5เดือน ก็นับได้จำนวนกว่า4.18ล้านคนเข้าไปแล้ว

เยาวราช-เชียงใหม่-ภูเก็ต และอีก ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมนั่นพอเข้าใจ แต่ งานวิจัยเรื่อง"ชุมชนชาวจีนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ” ระบุตอนหนึ่งว่า นอกจากย่านยอดนิยมข้างต้นแล้ว ยังมีย่านชุมชนจีนที่เกิดใหม่ อันเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวเช่นกัน และชัดเจนที่สุดคือบริเวณ ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง

“หนึ่ง-คือใกล้สถานทูตจีน และตลาดห้วยขวาง ซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง สอง-มีองค์พระพิฆเนศที่คนจีนนับถือและนิยม ขณะที่สาม-คือความได้เปรียบในเรื่องสถานที่ เพราะ ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เปรียบเสมือนทำเลที่สามารถเดินทางไปรอบกรุงเทพมหานครได้สะดวก สามารถที่จะใช้เป็นเส้นลัดทางออกสู่ ถ.ลาดพร้าว ถ.พระรามเก้า และ ถ.รามคำแหง

ไม่นับบริการรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งลดระยะเวลา หากต้องการเชื่อมไปถึงกรุงเทพย่านเศรษฐกิจ อย่าง ถ.สุขุมวิท ถ.สีลม ได้” ดร.ชาดา เตรียมวิทยา นักวิชาการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา หนึ่งในคณะทำวิจัยกล่าว

ความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งพบว่ามีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น โดยมีตัวชี้วัดเป็นร้านอาหารจีน ร้านนวดแผนไทย ร้านเสริมสวยที่เน้นเปิดให้บริการแก่ชาวจีนผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก

โชติรัตน์ อภิวัฒนาพงศ์ ผู้ประกอบการ“ยิ้มห้วยขวาง โฮสเทล”ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านรัชดา-ห้วยขวางมามากกว่า20ปี มองว่า ช่วง 2-3 ปีหลังนี้ มีการเติบโตของนักท่องเที่ยวสูงขึ้นจริง โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเป็นแขกที่เข้าพักในโรงแรมมากกว่าร้อยละ 60 โดยคนกลุ่มนี้เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการสถานที่พักใกล้รถไฟฟ้า เพราะไม่ได้ซื้อทัวร์ที่คอยอำนวยความสะดวกด้านขนส่ง

เมื่อคนจีนเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก นั่นจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ประกอบการที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจเอาใจนักท่องเที่ยว อย่างน้อยๆ ก็เรื่องการสื่อสาร อย่างป้ายอาคาร ทักษะสื่อสารของพนักงาน เวลาเปิด-ปิด ฯลฯ ที่ต้องเอื้อประโยชน์กับนักท่องเที่ยวจีน

“นิวไชน่าทาวน์ หรือไม่ก็ สมอล ไชน่าทาวน์(Small Chinatown)เขาเรียกกันแบบนี้”ลูกจ้างคนไทยคนหนึ่ง นิยามตามผู้มาใช้บริการ

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใด สองฝั่ง ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เรื่อยมาถึงจุดตัด ถ.ประชาอุทิศ และบริเวณโดยรอบจึงคักคักอย่างมีเอกลักษณ์ ยิ่งเฉพาะยามที่แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

ยิ่งดึก-ยิ่งคึกคัก ราวกับว่าแสงไฟอันเจิดจ้า นำพาชีวิตชีวาของการท่องเที่ยวมาให้

 

ฤาชุมชนกลายพันธุ์

  ถ้ารายได้ทางเศรษฐกิจ คือเหรียญด้านบวกของการท่องเที่ยว การตั้งคำถามถึงความมีระเบียบ และการเอาเปรียบจากคนบางกลุ่มจึงเป็นด้านลบแบบปฏิเสธไม่ได้

จากการสำรวจ มีข้อมูลที่น่าสนใจบอกว่า ชาวจีนย่านห้วยขวางไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวหรือคนจีนเก่าแก่แบบเยาวราชที่คนไทยรู้จักดี ทว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือชาวจีนรุ่นใหม่ซึ่งได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย อาทิ การเข้ามาศึกษาในประเทศไทย การเข้ามาสอนภาษาจีน กระทั่งเป็นนักท่องเที่ยวที่ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวเพราะเล็งเห็นช่องทางในการทำธุรกิจในไทย

“ส่วนใหญ่เป็นจีนกวางสี จีนยูนนาน พวกเขาเริ่มต้นจากแค่ท่องเที่ยวหรือมาทำธุระ นำไปสู่การตัดสินใจอยู่นานขึ้น พอวีซ่าท่องเที่ยวหมด ก็ยังไม่กลับ จากนั้น เมื่อเห็นช่องทางจะเริ่มเรียกครอบครัวให้ตามมา แล้วหาที่อยู่พร้อมๆ กับหาช่องทางทำงานไปด้วย เห็นการตั้งถิ่นฐานลักษณะแบบใยแมงมุม (Spider’s Web Settlement)คือกำหนดให้ชุมชน ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เป็นศูนย์กลาง มี ร้านอาหารจีน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขนส่งโลจิสติกส์ อยู่สองข้างทางฝั่งถนน ในขณะเดียวกัน ตามซอยเล็กยังมีร้านค้าขนส่งโลจิสติกส์อีก ซึ่งมีผู้ร่วมหุ้นเป็นคนจีน เปิดให้บริการคนจีนด้วยกัน” ดร.ชาดาตั้งข้อสังเกต

มันจึงเป็นผลกระทบแบบที่ชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่ได้คาดคิด เพราะจากที่เคยดีใจหลังขายของได้มากขึ้น อาคารพาณิชย์ที่เคยทิ้งร้าง มีคนจีนมาเช่าแบ่งเบาภาระ แต่เมื่อทั้งหมดมัน“มากไป”จากที่เคยพอใจ ก็เริ่มขุ่นมัว พาลคิดว่าชุมชนที่ตัวเองรู้จักกลายเป็นคนแปลกหน้าขึ้นเรื่อยๆ

“มันเริ่มไม่น่าอยู่แล้วครับ ตอนนี้ยิ่งดึกยิ่งมีชาวจีนนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารจีน บางร้านเปิดกันถึงโต้รุ้ง ทิ้งขยะไว้กันเกลื่อน บางคนเขาซื้อมอเตอร์ไซค์ คิดจะจอดตรงไหนก็จอด มั่วกันไปหมด ลองมาดูค่ำๆ สิ รถติดเป็นแถว”ชาวบ้านรายหนึ่งให้ความเห็น

นี่ยังไม่รวมกับข้อสังเกตกรณีอาคารพาณิชย์เปลี่ยนเจ้าของบ่อยครั้ง บางคูหามีอายุเฉลี่ยเพียง 2-3 เดือนต่อการเปลี่ยนเจ้าของ สวนทางกับอัตราค่าเช่าซึ่งถีบตัวสูง จนผู้ประกอบเดิม ซึ่งเป็นคนไทยไม่สามารถสู้ราคาได้

  “เฉพาะชั้นล่างราคา12,000บาทต่อเดือน เราก็ว่าสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เจ้าของอาคารแจ้งว่า จะมีผู้มาเช่ารายใหม่ที่ให้ราคาสูงกว่า จึงไม่ได้ต่อสัญญา เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นคนไทย ตอนนี้ได้ยินว่าหลายรายก็เริ่มสู้ค่าที่ไม่ไหว”รัชนู หนูโพนทัน เจ้าของกิจการแห่งหนึ่งในพื้นที่ใกล้สำนักงานเขตห้วยขวาง บอก

ขณะที่ สนทรรศน์ โชติทวีศักดิ์ เจ้าของร้านตัดผมในพื้นที่ พูดถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า ช่วงปลายปี2557เป็นต้นมา คือจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะร้านค้าโดยรอบ เริ่มปรับปรุงเพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนกันหมด บางรายร่วมหุ้นกับคนจีนเพื่อเปิดธุรกิจ ผู้ค้าเดิมซึ่งเป็นคนไทยไม่สามารถสู้ราคาได้ จึงต้องเปลี่ยนผู้ประกอบการใหม่

ในวันที่ความเติบโตของย่านที่คุ้นเคยดำเนินไปทั้งข่าวลือและข่าวจริงอันว่าด้วยผู้อยู่อาศัยเดิมเริ่มทยอยย้ายออกจึงแว่วไม่เว้นแต่ละวัน

ยังไม่นับรวมไปถึงข้อสังเกตต่อการเปิดกิจการของชาวจีนแบบผิดกฎหมาย ผ่านตัวแทนหรือนอมินี่คนไทย โดยมีสินค้าหลักอย่างเครื่องสำอาง หมอนยางพารา ผลไม้อบแห้งเป็นตัวชูโรง กลายเป็นเรื่องที่ได้ยินกันบ่อย แต่ยังทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ค่าที่ว่าในภาพใหญ่ที่เกิดขึ้น มีส่วนน้อยบางรายที่กำลังได้ประโยชน์

“คนอาจจะคิดว่า ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ คึกคัก มีทัวร์จีนมาเยอะแล้วเศรษฐกิจดี คงไม่ใช่ทั้งหมดหรอก ส่วนใหญ่แล้วคนจีนจะมาซื้อของด้วยกันเองทั้งนั้น ถ้าจะหาคนรวยก็คงจะเป็นคนจีนด้วยกัน คนไทยอย่างมากได้แค่ขายน้ำ ให้เช่าที่ ไม่ก็หนีไปอยู่ที่อื่นหมด”

 

จัดระบบก่อนสาย

  ถ้าจะพูดให้แฟร์ๆ แล้ว การเกิดขึ้นของย่านเศรษฐกิจใหม่ที่มีผลพวงมาจากนักท่องเที่ยวคงไม่ใช่เรื่องใหม่

แบบเดียวกับที่มีย่านรัสเซีย ย่านสแกนดิเนเวีย แถวพัทยา ย่านเกาหลี ญี่ปุ่น ละแวก ถ.สุขุมวิท ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศอยากอุดหนุนผู้ประกอบการที่มาจากชาติตัวเอง คำถามถึงกลับมาอยู่ในประเด็นที่ว่า จะจัดระบบอย่างไรดี ในย่านปัญหา โดยไม่ลืมเรื่องกฎหมาย และความพอใจของชุมชน

เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ย้ำว่า หากนักท่องเที่ยวฝ่าฝืน ประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย มีการแย่งอาชีพที่คนไทยสงวนไว้ ก็ต้องดำเนินการจับกุม แต่จะเหมารวมว่าชุมชนกำลังจะพังลง เพราะการท่องเที่ยวคงไม่ถูกนัก

“มันต้องใจกว้างและให้ความเป็นธรรมด้วยครับ มันก็เหมือนกับคนไทยไปอเมริกา หรือไปประเทศอื่น ก็อยากจะไปไทยทาวน์ อยากจะอุดหนุนร้านที่มีป้ายภาษาไทย ทั้งหมดนี้ว่าเฉพาะที่ถูกกฎหมายนะ แต่ถ้าผิดก็ต้องจับกุมเลย”

ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ ก็เช่นกัน เมื่อการท่องเที่ยวได้รุกคืบเข้ามา กระบวนการตั้งรับก็ต้องถูกผลิตให้รัดกุมกว่าเดิมเช่นกัน ไล่ตั้งแต่การจับกุมผู้ละเมิดกฎหมายอาทิ การขับขี่ที่ผิดกฎหมาย การใช้ใบอนุญาตที่เป็นของปลอม การเกิดอาชญากรรมวิ่งราว การจ้างวานคนไทยให้เป็นนอมินี่ทำธุรกิจ โดยเฉพาะการแย่งอาชีพที่สงวนให้แก่คนไทยอย่าง มัคคุเทศก์ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าไกด์ปลอมในย่านที่ว่ากำลังได้รับความนิยมมาก

“ไกด์เอาท์บาวน์(Outbound Guide)ที่เอาทัวร์จีนมาเที่ยวจริงๆ ไม่มีใครมาย่านนี้หรอก มันไม่มีที่จอดรถ แหล่งซื้อของก็มีไม่มาก จะมีแต่ไกด์คนจีนด้วยกันที่ได้เปอร์เซ็นต์จากการพามากินอาหาร มาช็อปปิ้งในร้านตึกแถวแบบนี้ ค่าจ้างเขาถูก มันสมประโยชน์กันไป ถึงโตเร็วไง”คนนำเที่ยวรายหนึ่งบอก

ขณะที่งานวิจัย"ชุมชนชาวจีนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ” เสนอมาตรการอีกทางหนึ่งคือการจัดระบบชุมชนเพื่อสอดรับการเติบโตของเมืองที่มีผลมาจากการท่องเที่ยว ได้แก่ การเร่งตรวจสอบธุรกิจการค้าของชาวต่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือทำธุรกิจในรูปแบบตัวแทนอำพราง โดยพิจารณาบทลงโทษ และประสานกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต เพื่อพัฒนามาตรการด้านภาษี

การกำหนดมาตรการนำเข้าและส่งออกสินค้ารวมไปถึงการจัดระเบียบโรงแรมขนาดเล็ก ห้องพักในการรายงานต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

“การท่องเที่ยวคือเรื่องดี แต่เมื่อมันขยายตัว เราก็จำเป็นต้องจัดระบบให้เหมาะสม ให้สอดคล้องกับลักษณะของแต่ล่ะพื้นที่” หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวทิ้งท้าย

  ในวันที่ชุมชนไทยต้องแปลงร่างกลายเป็นย่านจีน แม้จะไม่ชอบใจนัก แต่ทั้งหมดคือความจริงอีกด้านของการท่องเที่ยว

เป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องปรับตัวเองให้รัดกุมกว่าที่เคย