จับตา“ค่ายรถเล็ก-ชิ้นส่วน”ลดคนงาน

จับตา“ค่ายรถเล็ก-ชิ้นส่วน”ลดคนงาน

อุตฯรถยนต์ แจงรถคันแรก-เศรษฐกิจชะลอ ชนวนโตโยต้าลดคนงาน แนะรัฐจับตาค่ายรถขนาดเล็ก ผู้ผลิตชิ้นส่วนได้รับผลกระทบลูกโซ่

การลดคนงานโดยสมัครใจของพนักงานรับเหมาช่วงของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในไทย โดยระบุถึงความจำเป็นในภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวฉุดยอดขาย ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลว่า เหตุการณ์ดังกล่าว กำลังจะลามไปยังภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การลดคนงานโดยสมัครใจของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นนโยบายของแต่ละค่าย ไม่ได้สะท้อนถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด

แต่สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากในช่วงปี 2554-2555 มีโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้ในปี 2555 มีความต้องการรถยนต์พุ่งถึง 2.4 ล้านคัน และเมื่อหมดโครงการปริมาณยอดขายรถยนต์ก็ลดลงเรื่อยๆ ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย ทำให้ปี 2558 ยอดผลิตรถยนต์ลดมาอยู่ที่ 1.91 ล้านคัน ส่งผลให้ปีนี้จึงจำเป็นต้องลดคนงานที่เกินความต้องการ

“หลายปีที่ผ่านมาหลังจากโครงการรถยนต์คันแรกหมดลง ยอดการผลิตลดลงเรื่อยๆ แต่บริษัทต่างๆ ยังคงไม่ยอมปลด เพราะมองว่าในปีนี้ยอดการผลิตน่าจะดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ผ่านมาครึ่งปียอดขายทรงตัวไม่กระเตื้องขึ้น ซึ่งไม่ได้มีเพียงโตโยต้า หลายค่ายก็ใช้แนวทางนี้ แต่ที่เป็นข่าวเพราะโตโยต้าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ยอดการผลิตสูงสุด”

+หวั่นค่ายรถเล็ก-ชิ้นส่วนฯรายต่อไป

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องจับตาสถานการณ์การจ้างแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ อันดับ 1-5 ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ค่ายรถยนต์อันดับ 6-8 อาจจะได้รับผลกระทบที่หนักกว่า และต้องจับตาผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนต้องปลดคนงาน

ส่วนยอดขายรถยนต์ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ ยังอยู่ในภาวะทรงตัว แต่คาดว่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 ล้านคัน โดยเป็นการส่งออก 1.25 ล้านคัน แต่ก็ต้องจับตาปัญหา Brexit (อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป) ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกผันผวน

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลดแรงงาน ไม่ได้กระทบภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งระบบ ขณะที่การส่งออกมีปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ส่วนในประเทศยังขายได้อยู่ ปัญหาเศรษฐกิจมีผลระยะสั้น แต่อาจทำให้การตัดสินใจภาคเอกชนจะประเมินสถานการณ์ต่างๆมากขึ้น นักลงทุนมองเรื่องศักยภาพการแข่งขันในเรื่องของนโยบายรัฐมากกว่าส่วนอื่น เช่น รัฐจะสนับสนุนอะไร เน้นลงทุนอะไร และให้สิทธิประโยชน์อย่างไร

+เทรนด์ใช้เครื่องจักรไฮเทคแทนคน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นแนวโน้มของผลิตรถยนต์ในอนาคตที่จะมีการใช้เทคโนโลยี และเครื่องจักรไฮเทคทดแทนคนมากขึ้น ส่วนการผลิตชิ้นส่วนที่ไม่มีความซับซ้อนมูลค่าไม่สูง ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก บริษัทผู้ผลิตได้เดินทางไปดูพื้นที่ตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา และเมียนมาเพื่อผลิตส่งเข้ามาไทยแทนเนื่องจากค่าแรงต่ำกว่า

ทั้งนี้ในเรื่องของนโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย การผลักดันประเทศไทย4.0 ซึ่งต้องสร้างแรงงานที่มีความสามารถขึ้นมารองรับ ขณะที่แรงงานบางส่วนจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือการเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าของตนเองได้โดยมีกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่รองรับไว้แล้ว เช่นการผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องจักรขนาดเล็กก็ไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4เป็นต้น

+ชี้กระแสลดคนแรงช่วง3-5ปีจากนี้

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า กระแสการปรับลดพนักงานทั้งใน และต่างประเทศที่เกิดขึ้นปัจจุบัน เป็นภาพเริ่มต้น โดยจะเห็นภาพแบบนี้มากขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ามาจากปัจจุบันสำคัญ เช่น เทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงเศรษฐกิจโลก ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องมาหารือกันมากขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐ และภาคประชาชน เน้นเรื่องการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน จะมองแค่มิติทางการเงิน หรือการจัดแพคเกจเงินชดเชยให้พนักงานอย่างเดียวไม่ได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้ปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ แพคเกจในแง่การชดเชยรายได้ของกลุ่มอิเล็กทรอกนิกส์จะค่อนข้างดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น มีลักษณะ วิน-วิน ดังนั้นที่ผ่านมา มีจำนวนไม่น้อยที่สอบถามถึงแพ็คเกจดังกล่าวกันมาก

 +คสรท.จี้แรงงานเลิกการจ้างเหมาแรงงาน

ด้านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอะไหล่แห่งประเทศไทย (TEAM) สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโตโยต้าครั้งนี้ เป็นผลมาจากนโยบายการจ้างงานที่มุ่งเน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดโลก ต้องพยายามกดค่าแรงให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทำให้มีการจ้างงานผ่านบริษัทเหมาค่าแรงอย่างแพร่หลาย

แต่การแสดงความรับผิดชอบของโตโยต้า ก็เป็นเหมือนการยอมรับว่า ลูกจ้างเหมาค่าแรงก็คือลูกจ้างของบริษัท แต่เป็นกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตที่สู้พนักงานประจำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและข้อตกลงสภาพการจ้าง ไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ และสามารถส่งตัวคืนบริษัทรับเหมาค่าแรงได้ตามความพอใจ

ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา องค์กรแรงงานได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างเหมาค่าแรง และให้ลูกจ้างทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ในลักษณะหนึ่งสถานประกอบกิจการ หนึ่งกระบวนการผลิต หนึ่งสภาพการจ้าง แต่กระทรวงแรงงานกลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจน นอกจากการอ้างเรื่องการปฏิบัติตามมาตรา 11/1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2551) ซึ่งสถานประกอบการก็ไม่ได้นำปฏิบัติตาม ต้องให้ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องซึ่งข้อจำกัด และใช้เวลานาน

+แย้งข้อมูลโตโยต้าไม่ตรงสถานการณ์

คสรท.ระบุอีกว่า คำชี้แจงของโตโยต้าขัดกับสถานการณ์จริง เช่น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจเดือน พ.ค. ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวสูง เนื่องจากในปีก่อน มีการหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต ความต้องการรถปิกอัพดัดแปลงเพิ่มขึ้น และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยการผลิตรถยนต์เดือนมี.ค.ว่าอยู่ที่ 1.92 แสนคัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน

และหากดูข้อมูลของโตโยต้าโดยตรงพบว่า ยังมีผลประกอบการที่ดี โดยในปี 2558 มีรายได้สูงสุดติดอันดับ 2 ของประเทศ กว่า 4.17 แสนล้านบาท มีกำไรอยู่ในอันดับที่ 4 กว่า 2.99 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังสามารถจ่ายเงินสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆในแต่ละปีจำนวนมาก เช่น ปีนี้ มอบเงิน 30 ล้านบาทสนับสนุนทีมฟุตบอลทีมชาติไทยสู่การแข่งขันฟุตบอลโลก และอีก 180 ล้านบาทในการจัดการแข่งขันฟุตบอลต่างๆ