ฎีกาพิพากษากลับ 'จตุพร' ผิดหมิ่น 'อภิสิทธิ์' ตีตนเสมอเจ้า

ฎีกาพิพากษากลับ 'จตุพร' ผิดหมิ่น 'อภิสิทธิ์' ตีตนเสมอเจ้า

ศาลฎีกาพิพากษากลับ จากยกฟ้อง จำคุก6เดือน "จตุพร" หมิ่น "อภิสิทธิ์" กล่าวหาตีตนเสมอเจ้า แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี

เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.404/2552ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 จากกรณีเมื่อวันที่ 13 ม.ค.52 จำเลยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย โดยนำภาพโจทก์ขณะนั่งเก้าอี้ถวายข้อราชการต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ว่าไม่ถวายความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ในขณะเข้าเฝ้าฯ ตามที่ประชาชนพึงปฏิบัติ และทำตัวตีเสมอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ซึ่งอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมี นายกรัฐมนตรี คนใด เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ โดยนั่งเก้าอี้เช่นเดียวกับโจทก์

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.ค.55 ว่า จำเลยควรต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อสงสัยที่มีต่อภาพถ่ายของโจทก์ จนถึงเหตุผลที่มาที่ไปของภาพให้ชัดเจนแน่แท้เสียก่อน ซึ่งจำเลยในฐานะ ส.ส.สามารถทำได้โดยไม่ยาก แต่จำเลยก็ไม่ได้กระทำ กลับแถลงข่าวทันทีที่ได้เห็นภาพของโจทก์ในหนังสือพิมพ์ แม้จำเลยจะเป็น ส.ส.มีสิทธ์วิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่ศาลต้องพิจารณาเนื้อหาของถ้อยคำทั้งหมดเพราะย่อมเกี่ยวพันกัน และแสดงให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงที่จำเลยต้องการสื่อสาร ซึ่งจำเลยพยายามเชื่อมโยงภาพของโจทก์เปรียบเทียบกับบุคคลสำคัญในอดีตหลายคน เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่า การที่โจทก์นั่งเก้าอี้ถวายรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้นั้นเกิดจากสิทธิพิเศษของโจทก์ ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ในอดีตและยังประพฤติตนเสมอกับพระเจ้าแผ่นดิน โดยไม่ตรวจสอบว่าเป็นเพราะสำนักพระราชวังหรือสำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ดูแลจัดการให้ จำเลยจึงมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ทั้งนี้หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือมติชนและผู้จัดการรายวัน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย

ซึ่งจำเลย ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีว่าไม่มีเจตนา ซึ่งศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ส.ค.56 เห็นว่าทางนำสืบจำเลย เบิกความยอมรับว่าไม่เคยได้เข้าเฝ้าฯ ถวายงานลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์ แม้ว่าจำเลยจะเป็น ส.ส. แต่เมื่อไม่เคยเข้าเฝ้าฯ ลักษณะดังกล่าวจึงเชื่อว่าจำเลยไม่ทราบ จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

ต่อมา นายอภิสิทธิ์ โจทก์ ได้ยื่นฎีกา ศาลตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ได้ความจากโจทก์ว่าในการเข้าเฝ้าถวายรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ฝ่ายสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวังเป็นผู้กำหนดลำดับพิธีการและในอดีตก็มีนายกรัฐมนตรีหลายคนที่เข้าเฝ้าในลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์มาแล้ว ซึ่งรวมถึงนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี

ศาลเห็นว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าไม่เคยเห็นนายกรัฐมนตรีคนอื่น ถวายรายงานในลักษณะดังกล่าวรวมถึงไม่เคยเห็นภาพนายสมัคร สุนทรเวช ถวายรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่ได้ปฎิเสธว่าไม่เคยรับรู้ว่าไม่มีการเข้าเฝ้าถวายงานในลักษณะเช่นนี้
การกระทำของจำเลย จึงไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม ถ้อยคำใส่ความโจทก์ให้ประชาชนเข้าใจว่า โจทก์ไม่แสดงความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การกระทำของจำเลย จึบเป็นความผิดตามมาตรา 328

ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับ ให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือนและปรับ 50,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี และให้ลงคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์มติชน และผู้จัดการรายวัน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันด้วย

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อศาลฎีกาพิพากษากลับให้ลงโทษ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาเช่นนี้ตนก็น้อมรับไปปฎิบัติ