ไดอารี่ 7 ขวบ 'เรไร รายวัน'

ไดอารี่ 7 ขวบ 'เรไร รายวัน'

เริ่มจาก "หนูจะเขียนได้หรือ" ตอนนี้ "ไม่ยากเลย เขียนในสิ่งที่หนูคิด" นี่คือ เรื่องของเรไร โดยแม่เธอเป็นผู้เล่า...

“คนที่เราไม่รู้จักคือ คนแปลกหน้า ฉันรู้เรื่องคนแปลกหน้าจากโรงเรียน คุณยายชอบบอกให้ระวังเหมือนกัน ฉันเห็นคนแปลกหน้ามี 3 แบบ หน้ายิ้ม โกรด เฉยๆ เด็กที่ชอบคนยิ้มๆ อาดถูกหลอก ฉันไม่ยิ้มกับคนแปลกหน้าทุกแบบ” ต้นหลิว-เรไร สุวีรานนท์ บันทึกไว้ในหนังสือเรไรรายวัน เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หนังสือ เรไรรายวัน ออกแบบ โดย ประชา สุวีรานนท์ (พ่อของเธอ ) ซึ่งเป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ นักเขียน นักโฆษณาและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ เจ้าของคอลัมต์ ดีไซน์+คัลเจอร์ และบรรณาธิการโดย ชนิดา สุวีรานนท์ แม่ของเธอ เคยเป็นนักข่าว นักแปล ครูสอนภาษาอังกฤษ และเจ้าของบริษัทประชาสัมพันธ์เล็กๆ ที่ผันตัวมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว

คงไม่ใช่แค่พ่อแม่เป็นนักเขียน นักข่าว นักแปล แต่เป็นเพราะความใส่ใจ ความรักที่ทุกคนในครอบครัวมีให้เธอ ทำให้เธอรู้สึกว่า ชีวิตมีอะไรสนุกๆ ให้ทำและเขียนทุกวัน

ในบันทึก...แค่ต้นหลิวคิดถึงวันครบวันเกิดที่จะถึงในวันพรุ่งนี้ ก็มีความสุขแล้ว ...
ระหว่างการพูดคุยกับชนิดา (แม่ต้นหลิว ) เธอก็นั่งขีดๆ เขียนๆ อยู่ข้างๆ และฟังสิ่งที่เราคุยกัน
ถ้าอย่างนั้น ลองดูสิว่า พ่อ แม่ ครอบครัวของเธอ เลี้ยงดูเธออย่างไร

สอนให้ต้นหลิวเขียนบันทึกประจำวันอย่างไร
ถ้าเอาแค่สมุดดินสอให้เขียน แล้วให้เขียนเลย เด็กทำไม่ได้หรอก เราเริ่มจากให้ลูกเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟังก่อน ถามนำประโยคต่อประโยค แล้วบอกว่า แม่ก็ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนด้วย ลูกเล่าสิว่า มันสนุกแค่ไหน แล้วบอกว่า หนูก็เขียนสิ่งที่หนูพูด พูดอะไรออกมาก็เขียนแบบนั้น ช่วงแรกๆ ที่ลูกเขียน เราไปโพสต์ในเฟสบุ้คของเรา ให้เพื่อนและญาติอ่าน จนเพื่อนบอกให้ทำเพจเรไร รายวัน แรกๆ แฟนเพจก็คอมเม้นท์ว่า เรไรเขียนผิดเยอะมาก เราก็บอกไปว่า เด็กอายุแค่นี้ ถ้าเราไปแก้เลย เด็กก็จะสะดุด ไม่กล้าคิด ไม่กล้าเขียน เราก็ปล่อยให้เขียนผิดๆ ไปก่อน เวลาอ่านทวนด้วยกัน ค่อยๆ บอกลูก “ถ้าต้นหลิวจำได้ คราวหน้าก็แก้ ถ้าจำไม่ได้ ก็ปล่อยไปก่อน เพราะหนูยังจำคำนี้ไม่ได้” เราก็ไม่ได้คิดว่าต้นหลิวจะเขียนบันทึกทุกวัน เราถามต้นหลิวว่า หนูจะเขียนทุกวันไหม เธอก็เขียนของเธอเอง พ่อเขายังบอกว่า "ทำให้ลูกผูกมัดตัวเองเกินไปไหม"

พัฒนาการการเขียนของต้นหลิวเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อลูกเขียนมา 300 กว่าวัน ก็เห็นว่า ความคิดของลูกชัดขึ้น จากที่เมื่อก่อนแม่ต้องถามนำ ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว สะกดคำเองได้ ถ้าคำไหน ไม่มั่นใจก็ถามแม่ วิธีการเล่าเรื่อง เธอรู้เองว่า ไม่ใช่เล่าแบบเช้า สาย บ่าย เย็น ไม่ได้เขียนว่า "ฉันไปโรงเรียน ฉันเล่นกับเพื่อน ฉันกลับบ้าน" เราสอนต้นหลิวว่า สิ่งที่ลูกจะเขียนเหมือนการถ่ายภาพ เพื่อเก็บความประทับใจเอาไว้

เราบอกลูกว่า ถ้าอยากเขียนแค่หน้าเดียว ก็ต้องเลือกความประทับใจแค่เรื่องเดียว ต้นหลิวก็เลยมีระบบการเลือก และไฮไลท์เฉพาะเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์เดียว แล้วดึงประสบการณ์แวดล้อมมาใช้ ได้ยินเรื่องอะไรมาก็นำมาเขียน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต้นหลิวลองเขียนบนกระดานดำ ก่อนจะลอกลง ก็อ่านและเปลี่ยนคำ เขาก็ได้ฝึกคิดว่าจะใช้คำแบบไหน เราเชื่อว่า ทักษะการเขียนเป็นพรสวรรค์ อาจได้ดีเอ็นเอจากพ่อ และอีกส่วนเป็นการฝึกฝน เหมือนการเล่นกีฬาหรือทำกับข้าว ทำซ้ำๆ ก็เก่งไปเอง มีคนบอกว่า เดี๋ยวนี้ลีลาเรไรเยอะขึ้น

เรไร รายวัน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้เด็กๆ อยากเขียนบันทึกประจำวันมากขึ้น ?
มีเด็กที่เขียนเข้ามาในเพจเรไร รายวัน ที่เราดูแลเพราะต้นหลิวไม่เล่นเฟสบุ้ค เด็กๆ ถามว่าอยากสมัครเข้าโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์บ้าง เราก็บอกว่า หนูสามารถเขียนเองได้เลย เด็กก็เขียนส่งมาให้ดู

อะไรเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ต้นหลิวอยากเขียน
โครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ เป็นแรงบันดาลอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกอยากเขียน ต้นหลิวเป็นเด็กที่อยากรู้เรื่องตัวเอง เธออยากรู้ว่า ก่อนอายุ 7 ปีเป็นยังไง คุณยายก็เล่าให้ฟัง ต้นหลิวก็ย้อนถามว่า ยายกับแม่ตอนเด็กๆ เป็นยังไง เราก็บอกว่า จำไม่ได้ นั่นทำให้ต้นหลิวเรียนรู้ว่า สิ่งที่เขาบันทึกเอาไว้ จะช่วยเขาได้ และเขาก็คิดว่า จะเก็บไว้ให้น้องแฝดอ่าน จะได้รู้ว่าน้องดื้อแค่ไหน

ตอนนี้ เรไร มีแฟนเพจเท่าไหร่
เก้าหมื่นกว่าๆ เดือนแรกแฟนเพจคอมเม้นท์ว่า น่ารัก น่าเอ็นดู และแฟนเพจมีตั้งแต่เด็กจนถึงคนเกษียณแล้ว หลากหลายอาชีพ ตอนที่เราไปเที่ยวตรัง ก็มีผู้ชายคนหนึ่งทักว่า “น้องคนที่เขียนบันทึกใช่ไหม” พ่อแม่ที่อยากให้ลูกเขียนบันทึกแบบนี้ ก็มาปรึกษาเรา ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่เข้ามาคอมเม้นท์ว่า ตอนเด็กๆ ก็เขียน แต่เลิกเขียน เพราะพ่อแม่แอบอ่านบันทึก ส่วนอีกกลุ่มพ่อแม่พี่ป้าน้าอาที่เข้ามาอ่าน เพราะนึกถึงชีวิตวัยเด็ก นั่นทำให้คนแชร์กัน บางอย่างที่ต้นหลิวเล่น บางคนก็แชร์ว่า เคยเล่นแบบนี้เหมือนกัน

คิดว่าต้นหลิวจะเขียนบันทึกไปอีกนานแค่ไหน
ตอนที่เราแม่ลูกไปเที่ยวนิทรรศการชนชราแห่งอนาคต ให้ทุกคนเขียนข้อความว่า จะทำงานจนถึงอายุเท่าไหร่ ต้นหลิวเขียนในงานนิทรรศการว่า “ถ้าตอนนั้นคุณยายต้นหลิวอายุ 414 ปี หลานช่วยเขียนบันทึกต่อจากยายด้วยนะ”

ช่วงเวลาตอนไหนที่ต้นหลิวเขียนบันทึก
ถ้าเป็นช่วงเปิดเทอม หลังทำการบ้านเสร็จ แต่ถ้ารู้ว่าจะต้องเดินทางไปที่ไหนในวันรุ่งขึ้น ก็จะเขียนให้เสร็จก่อนเดินทาง

ทำไมพิมพ์หนังสือให้ต้นหลิวที่อายุแค่ 7 ปี
ถ้าเด็กๆ อยากอ่านก็เข้าไปอ่านในเพจเรไร รายวัน ไม่ต้องซื้อหนังสือก็ได้ เรไรเขียนทุกวัน และมีครูบางคนเอาบันทึกเรไรไปสอนเด็ก ถ้าโรงเรียนไหนไม่มีงบ เรายินดีส่งหนังสือเรไรรายวันให้ เราทำหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นพัฒนาการให้ลูก และตัดสินใจไม่เข้าสำนักพิมพ์ใดๆ เพราะไม่อยากผูกมัดลูกเรากับสำนักพิมพ์ ตอนนี้ไปไหนก็มีคนเข้ามาทักต้นหลิว เขายังเป็นเด็ก 7 ขวบที่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนอะไร แต่ถ้าตอนนี้เขาเป็นวัยทีน แล้วมีหนังสือก็คงไม่เป็นแบบนั้น แต่นี่เป็นวัยทองของเด็ก 7 ขวบ เขาจะเลิกเขียนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ต้นหลิวบอกพ่อไว้ว่า "ถ้าทำเล่มสอง พ่อไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่กลับหน้าหนูบนปกไปอีกด้าน และขอเปลี่ยนเป็นสีม่วง" และมีคนบอกว่า ให้เราเขียนหนังสือฮาวทูในการเลี้ยงลูก เราก็บอกว่า มันสอนกันไม่ได้หรอก แต่ละครอบครัวเงื่อนไขต่างกัน ถ้าจะสอนให้ลูกเขียนบันทึกแบบนี้ มีพ่อแม่กี่คนที่มีเวลาแบบเรา

การขีดๆ เขียนๆ ของต้นหลิวได้มาจากพ่อ ?
พี่ประชาพอมีลูก จากผู้ชายที่ยิ้มยาก เพื่อนๆ เขาบอกว่า เดี๋ยวนี้ประชายิ้มได้ ดูหนุ่มขึ้น เพราะลูกผู้หญิง ช่างพูด ทำให้เขาอ่อนโยนขึ้น บางวันเล่นกับลูกจนเพลิน ไม่ได้เขียนหนังสือ

คุณพ่ออยากให้ลูกเป็นนักเขียนอาชีพไหม
พี่ประชาแล้วแต่ลูก ตอนนี้ลูกเขียนหนังสือได้ แต่จะเป็นอาชีพหรือเปล่า...ไม่รู้ เพราะเด็กเปลี่ยนความชอบไปเรื่อยๆ ตอนต้นหลิวอยู่อนุบาล อยากเป็นช่างเสริมสวย ไปๆมาๆ อยากเป็นหมอ อยากเป็นครู ลูกไปดูในยูทูบ เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเป็นนักตกแต่งภายในมีรถโมบายคันหนึ่ง ถ้าอยากทำห้องๆ หนึ่งเป็นห้องนางฟ้า สามารถโทรเรียก เธอก็จะจัดการให้ทันที ลูกเห็นในยูทูบก็อยากเป็นแบบนั้นบ้าง

ต้นหลิวชอบอ่านหนังสืออะไร
ชอบอ่านหนังสือฮาวทู ชอบดูยูทูบรีวิวของเล่น ก็เลยคิดว่า การดูรีวิวของเล่น มีส่วนช่วยเขาจัดระบบความคิด ไม่ว่าคนจะรีวิวเก่งหรือไม่เก่ง ก็จะทำทุกอย่างเป็นขั้นตอน อธิบายความคิดว่า ชอบหรือไม่ชอบ บอกคุณลักษณะสิ่งของ วันดีคืนดี ต้นหลิวก็มารีวิวเอง พอคุณยายทำกับข้าวก็ให้คะแนน คนที่มองว่า เด็กติดโซเชียลไม่ดี ซึ่งเรื่องนี้เราต้องจำกัดเวลาในการเล่น ดูแลเขาในการเลือกดู ก็จะมีประโยชน์ อย่างการรีวิวของเล่น ต้นหลิวดูก็ได้ไอเดียเยอะ

คิดนานไหม ก่อนจะออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว
ปกติเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับองค์กร และคิดว่าเราอยู่ของเราได้ จริงๆ แล้วการทำงานประชาสัมพันธ์หรืองานนักข่าว ไม่ใช่บุคลิกเรา แต่เวลาทำอะไรแล้วทำเต็มที่ ถ้าถามว่า ชอบไหม ไม่ชอบ ชอบชีวิตแบบนี้มากกว่า ดูแลลูกและสามี จริงๆ แล้วการออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว นี่ยากนะ เด็กไปโรงเรียนแป๊ปเดียว ก็กลับมา ยังไม่ทันทำอะไรที่เป็นเรื่องของเราเลย และเด็กเล็กๆ ต้องการกิจกรรมตลอดเวลา ต้นหลิวชอบชวนแม่ทำกิจกรรมนั่นนี่โน้น ตอนลูกอายุ 6 ขวบ ลูกวางแผนเลยว่า พรุ่งนี้จะทำอะไร

ตอนแรกๆ ก็ไม่คิดจะมีลูก แล้วทำไมเปลี่ยนใจ ?
ช่วงแรกๆ ที่แต่งงานอยู่ด้วยกัน ก็คนละขั้ว ก็ต้องปรับตัว อาจารย์ประชาเคยบอกเราว่า เขาไม่ใช่คนติสท์ๆ แต่เป็นคนเรียนวิทย์ที่ชอบศิลปะ ดังนั้นสิ่งที่เขาทำก็มีเหตุผลรองรับ เราก็ปรับตัวเข้าหากัน เขาก็เป็นผู้ใหญ่ เมื่อแต่งงานกัน เราก็ยังได้ใช้เวลาของเราอย่างอิสระ เขาก็ไม่ก้าวก่าย ไม่จุกจิก อยู่กันด้วยความไว้ใจ

ตอนแรก เราสองคนไม่คิดจะมีลูก มาถึงช่วงวัยหนึ่ง เพื่อนๆ ของอาจารย์ประชา ที่ติสต์ๆ อยู่คนเดียวไม่มีลูก ไม่มีครอบครัว มันดูเฉาๆ เขาก็คงรู้สึก เพราะเขาคิดว่าการมีลูกก็เพื่อผู้หญิงที่เป็นภรรยา เมื่อเขารักเรา เราอยากมีลูก เขาก็โอเค เพราะมั่นใจว่า ชีวิตเขาจะไม่เปลี่ยน และเชื่อว่า เราจัดการทุกอย่างได้ แต่งงานไป 6-7 ปี ก็มีต้นหลิว ตอนอายุ 4 ขวบต้นหลิวเพิ่งได้ขึ้นไปห้องทำงานของพ่อ เพราะเราบอกลูกว่า เวลาพ่อทำงาน พ่อต้องใช้ความเงียบ ดังนั้นเวลาลูกจะขึ้นไปหาพ่อ ต้องได้รับอนุญาติก่อน พอลูกขึ้นไป มีอุปกรณ์การเขียน และสีเยอะแยะ ลูกก็ชอบ เราคิดว่า ความชอบวาด ชอบเขียนของต้นหลิว ได้มาจากการเห็นพ่อทำงาน บางทีก็ทำกิจกรรมกับพ่อ เพราะแม่ไม่มีหัวศิลปะเลย

ครอบครัวใหญ่ ที่มีพ่อ แม่ ตา ยาย พี่น้องอยู่ร่วมกัน มีการสปอยล์เด็กไหม
เป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่เคยบอกว่า เราอยากให้ลูกเป็นอย่างนี้ หรือให้ทุกคนในครอบครัวทำตามแนวทางนี้ เราใช้ความรักของทุกคนที่หวังดีต่อต้นหลิวเลี้ยงเขา ทุกคนในบ้านก็ใช้สิ่งดีๆ ที่มีอยู่สอนเขา ไม่สปอยล์เขา อย่างคุณยายดูละครทุกวัน เราก็ไม่เคยไปบอกว่า ถ้าให้เด็กดูละครด้วย เด็กจะโง่ ยายเลี้ยงหลานทุกวัน การดูละครก็คือความสุขของเขา ยายดูละครกับหลาน ยายเลือกละครที่ไม่รุนแรงเกินไป อย่างเรื่องแก้วหน้าม้า ถ้าเป็นละครที่ใช้อารมณ์รุนแรง ยายก็สอนหลาน ต้นหลิวเองก็ไม่งอแง พูดรู้เรื่อง ชอบงอนอย่างเดียว ซึ่งคุณยายก็มีวิธีสอน ถ้าจะดุหรือว่าหลาน ก็ใช้มุกขำๆ สอนหลาน

วิธีเลี้ยงของคุณยาย ก็เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง เพราะคุณยายพูดเยอะ และคุณยายเคยบอกว่า ถ้าให้แม่ต้นหลิวเลี้ยงลูกคนเดียว เกรงว่าหลานจะเป็นใบ้ เพราะพี่ประชากับเรา ไม่ค่อยพูดกับลูกเยอะๆ เราคิดว่า คุณยายก็มีประสบการณ์ที่จะเล่าเรื่องให้หลานฟัง

หลักๆ เลยเลี้ยงลูกอย่างไร
เมื่อก่อนตอนไปเดินห้างสรรพสินค้า เห็นเด็กลงไปดิ้น ร้องไห้ให้พ่อแม่ซื้อของ เราก็คิดว่า ถ้ามีลูกต้องเป็นอย่างนี้แน่เลย พอมีลูกและเจอกับตัวเอง ก็รู้ว่า เด็กไม่ได้ต้องการซื้อ เพียงแค่ไปจับ ลูบ คลำ ยืนดูแผนกของเล่น แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่ไม่มีเวลา ก็จะเร่ง ดึง ลูกไปจากตรงนั้นเร็วๆ ต้นหลิวเคยบอกว่า “หนูไม่ซื้อหรอก แต่ขอไปยืนดู” อีกอย่างเราต้องเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น ทุกอย่างที่สอนลูก ต้องทำให้ลูกเห็น เราไม่เคยซื้อของฟุ่มเฟือย เราไม่

เคยนินทาคนอื่นให้ลูกฟัง เราก็บอกลูกได้ว่า ถ้าเพื่อนทำผิด ต้องไม่ว่า ไม่ฟ้อง
ถ้าจะเอาลูกไปติว ไปแข่ง เราไม่เคยทำ สิ่งที่สำคัญคือ ทำยังไงก็ได้ให้ต้นหลิวคิดเป็น สิ่งที่เราเลือกให้เขาวันนี้ ลูกอาจไม่เอาก็ได้ เรามองว่า การศึกษาเปลี่ยนเร็ว ถ้าเราวางแนวทางไว้ กว่าต้นหลิวจะโต ก็เปลี่ยนไม่รู้กี่รูปแบบ สิ่งที่ทำได้คือ ทำให้ลูกพร้อมที่จะเปิดรับทุกอย่าง ส่วนพี่ประชามองว่า วิทยาศาสตร์บ้านเรา ยังไงก็ไปไม่สุด ยังไม่แข็งแรง จึงต้องวางพื้นฐานเรื่องความคิด เน้นเรียนใกล้บ้าน เลือกโรงเรียนที่แม่ไปส่งไม่เหนื่อยเกินไป ต้องเป็นโรงเรียนที่ถูกจริตทั้งลูกและแม่ ต้นหลิวเรียนได้ระดับท็อป โดยไม่ต้องผลักดัน เราก็บอกลูกว่า ถ้าอยากเล่นสนุกนอกห้องเรียนเยอะๆ อยู่ในห้องเรียนต้องตั้งใจเรียน

แล้วเรื่องวิธีคิด สอนยังไง
สอนเลยว่า เรื่องที่ไม่มีผลกระทบคนอื่น เขามีสิทธิที่จะทำได้ กลับจากโรงเรียน เรื่องความสะอาดอันดับหนึ่ง ต้องถอดเสื้อผ้าอาบน้ำ ล้างมือ จึงจะเล่นกับน้องได้ เพราะถ้าเขาเอาเชื้อโรคมาติดน้อง น้องป่วย ทุกคนก็เดือดร้อน แต่ถ้ากลับจากโรงเรียน ยังไม่อยากทำ ก็เป็นเรื่องของเขา

ต้นหลิวชอบเรียนอะไร
ต้นหลิว : ภาษาจีน คณิตศาสตร์ และภาษาไทย

ชนิดา : มีคนถามว่า ปล่อยให้เด็กเลือกอย่างเสรีได้ทั้งหมดไหม ถ้าเป็นเด็กระดับนี้ ปล่อยได้ระดับหนึ่ง ถ้าถามว่า ลูกชอบอะไร พ่อแม่ส่วนใหญ่ให้เรียนทุกอย่างที่ลูกบอก เรียนๆ แล้วก็เลิกเรียน เพราะไม่ชอบแล้ว เวลาเราถามความชอบของเด็กๆ เด็กจะบอกว่า ชอบทุกอย่าง ถ้าจะเลือกกิจกรรมให้ลูก ถ้าไม่มีประสบการณ์ตรงนั้น เราก็ต้องพึ่งครูหรือสถาบันให้เขาปั้นลูกเรา

อย่างกิจกรรมเรื่องศิลปะ คุณพ่อเขาแนะนำได้ อย่างกิจกรรมการเขียนในโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ ลูกก็ถามว่า "หนูจะเขียนได้หรือ" เราก็บอกว่า ลูกอ่านหนังสือได้แล้ว ก็ต้องทำได้ ต้นหลิวก็เซ็นต์ชื่อ ซึ่งเป็นการสัญญาณกับคนอื่นว่า ต้องทำอันนี้ ก็จะพยายามเต็มที่ เมื่อก่อนเขาพูดว่าอยากเรียนนั่นนี่ เราจะไม่ค่อยเชื่อ แต่พอเขาคิดเชิงเหตุผลได้ เพราะการเขียนพัฒนาให้เขาคิดเปรียบเทียบ ก็เลือกได้ชัดขึ้น
ในบ้าน เด็ก 7 ขวบมีหน้าที่อะไร

หลักๆ คือ ดูแลน้องแฝด เวลายายทำกับข้าว ก็หยิบของตามที่ยายสั่ง เมื่อก่อนต้นหลิวจะชอบเล่นของเล่น แต่พอมีน้อง ก็เล่นกับน้อง

ต้นหลิวเคยสร้างปัญหาให้ครอบครัวไหม
ไม่เคยมีปัญหาจากโรงเรียนกลับมาที่บ้าน แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ เวลางอนจะเงียบ ถ้าเด็กมีอารมณ์ เราจะปล่อยไปก่อน

คุณพ่อเขาช่วยสอนเรื่องอะไรบ้าง
คุณพ่อน่าจะมีส่วนทำให้ต้นหลิวเป็นตัวของตัวเอง เวลาอยู่กับพ่อ เขาทำได้ทุกอย่าง คุณพ่อไม่เคยดุ เขาจะเล่นกับพ่อเหมือนเพื่อน ถ้ามากกว่าเพื่อนก็คือ ข้าทาส เขาจะให้พ่อเล่นบทบาทเป็นโน้นเป็นนี่ได้ เขารู้สึกว่า พ่อทำให้เขาได้ทุกอย่าง ลูกก็จะพูดว่า “คุณพ่อบอกว่า จะตีหนูๆ ไม่เห็นตีเลย" เพราะในครอบครัวมีหลายเจเนเรชั่น ถ้าทะเลาะกับแม่ ก็ไปหายาย ถ้ายายบอกว่า แม่พูดถูกแล้ว ให้ไปขอโทษแม่ ต้นหลิวก็มาขอโทษ หรือทะเลาะกับใครมา ก็มีคนที่เขาจะระบายออกได้

แล้วลูกฝาแฝดเลี้ยงดูยากไหม
ต้นหลิว : ตอนนี้วิ่งได้แล้ว
ชนิดา : ข้อดีคือ เด็กแฝดจะแข่งกัน แม่เรียกก็จะแข่งกันมาหาแม่ แข่งกันกิน แข่งกันเดิน

ต้องออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว เสียดายชีวิตการทำงานไหม
ถ้าผู้หญิงออกมาเลี้ยงลูกเต็มเวลา ถ้าทำได้ถือว่าโชคดีทั้งแม่และลูก เพราะเด็กต้องการแม่ ถ้าคนเป็นแม่ไม่พร้อม ยังอยากทำงานนอกบ้าน ก็ต้องทำใจ แต่เราเป็นพ่อแม่ที่ทำงานมาเยอะแล้ว เมื่อมีลูก จึงมีเวลาให้ลูก เราคิดว่า คนเป็นพ่อเป็นแม่ ไม่ควรผลักทุกอย่างให้ครูที่โรงเรียน อย่าฝากความหวังไว้กับโรงเรียน

ถ้าอย่างนั้น คุณก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนทางเลือก เหมือนพ่อแม่คนอื่่นๆ?
ไม่ว่าเรียนในกระแสหรือนอกกระแส ต้องเลือกให้ถูกกับลูก พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือก แต่ไม่รู้ว่า ลูกมาแนวไหน อย่างกิจกรรมที่ให้เด็กๆ เล่นบทบาทสมมติ เป็นพยาบาล นักดับเพลิง เป็นนั่นนี่ จริงๆ แล้วเด็กไม่ต้องการใส่เครื่องแบบอะไร เขาต้องการแค่คนเล่นกับเขา ถ้าพ่อแม่เล่นกับเขา ที่ไหนเขาก็เล่นบทบาทสมมติได้ เด็กต้องการเวลาจากพ่อแม่ หนึ่งชั่วโมงที่ต้นหลิวนั่งเขียนบันทึกกับแม่ เป็นช่วงที่เขางัดสิ่งที่อยากจะเป็น อยากจะพูดออกมา

อยากให้เล่าถึงตัวเองสักนิด ?
เราเรียนด้านวรรณคดีอังกฤษที่ธรรมศาสตร์ เคยสอนภาษาอังกฤษตามบ้านตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เคยทำงานที่โต๊ะข่าวต่างประเทศ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ทำแล้วรู้สึกไม่อยากนั่งแปล อยากเขียนภาษาอังกฤษ จึงมาทำงานที่โต๊ะข่าวไอที นสพ.เนชั่นสองปี มีอยู่ครั้งหนึ่งไปทำข่าวไอที มีบริษัทมาเปิดตัวซอฟแวร์มัลติมีเดียสอนภาษาอังกฤษเด็ก ราคาแพงมาก เราก็คิดว่าเราก็สอนได้ เราก็ชวนเพื่อนๆ ที่พูดภาษาอังกฤษได้มาทำโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ เอานิทาน วรรณคดี มาสอนเด็ก ทำมาปีกว่าๆ จากนั้นมาทำงานในบริษัทเอเจนซี และเรียนปริญญาโทด้านการสอนภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ลาออกมาเปิดบริษัทเอเจนซีเล็กๆ ของตัวเอง แล้วก็หันมาเป็นแม่บ้านเต็มตัวตั้งแต่ปี 2551

""""""""""""""""""""""""""""""""
**สิ่งที่แม่เห็นในบันทึกของลูก
-ช่วงแรกๆ ลูกจะเล่าเรื่องทีละเปราะ เรียงลำดับตามเข็มนาฬิกา ต่อมาลูกเรียนรู้วิธีเล่าเรื่องมากขึ้น เล่าจากจุดที่ประทับใจมากที่สุดของเรื่อง เล่าโดยเริ่มด้วยปริศนา อย่างเธอเขียนว่า "ฉันได้ไปที่มีธรรมะ แต่มันไม่ใช่วัด ไม่มีพระตัวจริง"
-ลูกคิดได้เป็นระบบมากขึ้น นำเสนอเรื่องได้กระชับได้ใจความมากขึ้น
-การเขียนทำให้เธอแยกแยะมุมมองของตัวเอง กับมุมมองคนอื่นได้ชัดเจนขึ้น ฯลฯ