ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ มองแรงงานจากงานวิจัย

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ มองแรงงานจากงานวิจัย

นักวิชาการที่ใช้มุมมองความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และประชากรศาสตร์มาเชื่อมโยงให้เห็นภาพความเป็นไปของแรงงานในสังคมไทย

เมื่อถึงวาระที่ May Day เวียนมาอีกคำรบ แน่นอนทีเดีย;ว่า ประเทศไทยยังมีเรื่องแรงงานร้อนๆ ให้ได้วิสัชนากัน


ปีนี้ ‘จุดประกาย’ นัดหมาย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาให้มุมมองที่หลากมิติของแรงงาน

ด้วยการคลุกคลีอยู่กับข้อมูลวิจัยด้านแรงงานมานานถึง 37 ปี ย่อมสะท้อนภาพให้เรามองเห็นแรงงานในมุมที่แตกต่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เหตุที่ทำให้อาจารย์หันมาสนใจจับเรื่องแรงงานเป็นพิเศษ

คือแต่เดิม ผมเทรนมาทางเศรษฐศาสตร์ทรัพยากร ต่อมาผมสอนเศรษฐศาสตร์ที่ดิน เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ แล้วสอนเชิงปริมาณ quantitative analysis แต่ว่าผมต้องให้เครดิตกับ adviser ของผม ท่านเขาเคยทำงานให้มูลนิธิฟอร์ดในเอเชียมาก่อน ท่านมองว่าการที่เราจะกลับมาทำงานในบ้านเรา มีความจำเป็นที่เราจะต้องรู้จัก รู้เขารู้เรา คือต้องรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน ต้องรู้จักประเทศเพื่อนบ้านในเชิงประวัติศาสตร์ ว่าแต่ละประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV ว่าประเทศต่างๆ นี้ เขามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร เขาเติบโตมาได้อย่างไร

ในขณะเดียวกัน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ก็ได้ เพราะสนใจเหมือนกัน ผมกับadviser อีกคน ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เคยมาให้คำปรึกษาด้านประชากรศาสตร์ในประเทศไทย ด้านเกี่ยวข้องกับแรงงานประเทศไทย โปรเฟสเซอร์ Warren Robinson ซึ่งท่านก็คงเสียชีวิตไปแล้ว ในขณะที่ผมกำลังพัฒนาระบบ proposal ท่านก็บอกผม งั้นตัวผมเองควรจะไปศึกษาด้าน demography ด้านประชากรเพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถเอา area ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ไปปนกับทรัพยากรมนุษย์ได้ ก็ไปเรียนทาง Economic Demography เพิ่มเติม

ผมเลยมีความรู้ด้านนี้ติดตัวอยู่แล้ว ด้านเกี่ยวกับแรงงาน ด้านเกี่ยวกับประชากร ด้านเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ แล้ววิทยานิพนธ์ก็ทำค่อนข้างลึก ในสิ่งที่ประเทศไทยเราไม่เคยทำมาก่อน คือเอาทรัพยากรธรรมชาติไปเชื่อมโยงกับทรัพยากรมนุษย์ ในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นงาน อาจจะเรียกว่าชิ้นหรือสองชิ้นในโลกนี้ที่เริ่มมีคนคิด cross-discipline ว่าคนเรามีที่ดินมากน้อยแค่ไหน มันเกี่ยวอะไรกับครอบครัวไหม ไซส์หรือขนาดครอบครัวหรือเปล่า คนมีที่ดินมากจำเป็นต้องมีครอบครัวใหญ่ไหม อะไรอย่างนี้ เลยอย่างน้อยมีฐาน เป็น foundation ให้ผม ในการที่มาสนใจด้านทรัพยากรมนุษย์

แต่ว่าจุดที่มันเป็น trigger ที่ผมมาทำเรื่องนี้ ก็คือสอนหนังสือมาพักหนึ่ง แล้วก็มาทำวิจัย มันเหนื่อยเหมือนกัน แล้วพอดีสอนหนังสือ เสียงมันไม่ค่อยดี แล้วเสียงไม่ดีมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะสมัยนั้น มันไม่ค่อยมีไมโครโฟนที่ดี มันต้องตะโกน แล้วเราสอนวิชาพื้นฐาน ด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรเบื้องต้น ซึ่งมีนักเรียนหลายๆ ภาควิชา หลายๆคณะต้องมาเรียน นักเรียนสามสี่ร้อยคน ห้องเบ้อเร่อบ้าร่าเนี่ย บางทีเครื่องเสียงก็ไม่ค่อยดี เราก็ต้องตะโกนเนอะ เสียงเรามันก็มีปัญหาเป็นหลอดลมอักเสบบ้าง อะไรบ้าง เราก็คิดว่า เออ! เราไปทำวิจัยดีไหม

เผอิญเพื่อนตั้งสถาบันทีดีอาร์ไอ แล้วเพื่อนอยู่เวิลด์แบงค์ ตอนที่ผมไปเสนองานให้กับเวิล์ดแบงค์ แล้วก็เจอเพื่อนที่เขารับเชิญให้มาอยู่ เอ่ยชื่อก็ได้ เมื่อก่อนนั้นก็มี ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ , ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เราก็บอกโอเคนะ กลับมาประเทศไทย เรามาขอตังค์ฝรั่งทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับ human resource ด้านที่เกี่ยวข้องกับแรงงานดีไหม ทางนั้นก็บอกโอเคนะ ลองดูว่าจะมาช่วยทีดีอาร์ไอยังไง ผมก็บอก เฮ้ย! ตอนนี้ผมยังใช้ทุนไม่หมดเลย เขาก็บอกว่า งั้นเป็นพาร์ทไทม์ก่อนแล้วกัน ก็มาช่วยทำโปรเจคแรกๆ ตอนนั้นจำได้ว่ามี ศ.เทียนฉาย กีระนันทน์ มาทำด้วยกันสมัยแรกๆ รุ่นใหญ่ทั้งนั้นเลยฮะ คนเก่งๆ ที่อยู่ในทีมวิจัยมี 10 กว่าคนเป็นคนที่เป็นแนวหน้าทั้งนั้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้น แล้วผมก็อยู่กับทีม ดร.ฉลองภพ มาโดยตลอด

เพราะว่าอาจารย์มีพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้มุมมองที่มีต่อเรื่องแรงงานแตกต่างจากนักวิชาการแรงงานท่านอื่นๆ ?


เมื่อก่อนสายแรงงานทางด้านอื่น เขาจะเทรนทางด้านยุโรป ก็จะออกไปทาง socialism เพราะฉะนั้น จะมีมุมมองอะไรที่หนัก อาจจะหนักเกินไป ในด้านของตัวแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน และสิทธิของแรงงาน แต่มุมมองของผม เป็น labour economics คือเป็นเศรษฐศาสตร์แรงงาน ซึ่งจะมองอีกมุมหนึ่งเลย ไม่ได้ตรงกันเสียทีเดียว แต่ก็เป็นศาสตร์ที่เขาสนใจน้อย มันก็มีน้ำหนักที่แตกต่างกัน

พวกที่เรียนมาทางนั้น เขาก็จะสนใจในมุมมองนั้น แล้วก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้สหภาพแรงงานบ้าง อะไรบ้าง แต่ผมไม่ลงไปเป็น action ด้วย nature ของงานที่เราทำด้วย เราก็เลยไม่ได้ลงลึกไปถึงว่าต้องไปเกี่ยวข้องกับสหภาพอะไร และอาจจะมี comment บางอย่างที่ทำให้สหภาพไม่ค่อยแฮปปี้ด้วยซ้ำ ในเรื่องที่จะจ้างหรืออะไรก็แล้วแต่

สมัยก่อน เมื่อเราพูดถึงเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ผู้นำแรงงานจะมีบทบาทโดดเด่นมาก แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันจะเปลี่ยนไป ?

มันเป็นไปตามกระแสโลก กระแสโลกก็คือว่าด้วยระบบการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ด้วยระบบของทุนนิยม ที่มีน้ำหนักมากขึ้นๆ มันทำให้ลักษณะของผู้ประกอบการ พยายามจะหลีกเลี่ยงที่จะมีสหภาพ โดยเฉพาะ nature ของบางประเทศ ไม่นิยมเรื่องสหภาพ

ในสายของอเมริกันหรือสายของยุโรป เขาคุ้นเคยกับระบบสหภาพ เพราะฉะนั้น การตั้งสหภาพในโรงงานไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ถ้าเป็นสายทางเอเชียเรา มันต้องดูเป็นบางประเทศอย่างญี่ปุ่น เขามีสหภาพคนละแบบ สหภาพของเขา คือ nature งานของเขาก็อยากจะดูงานระยะยาว งานที่เป็น lifetime เพราะฉะนั้น เขาดูแลคนของเขาอย่างดี ไอ้การจะมาดูแลค่าจ้างเริ่มต้น ค่าจ้างใหม่ ค่าจ้างขั้นต่ำ มันไม่ใช่ประเด็น เพราะเขาจะให้สูงกว่า อะไรต่างๆ พวกนี้ เพราะฉะนั้น ในการเรียกร้องพวกนั้นก็จะไม่ค่อยมี ที่เรียกว่า Cooperate Union คือแต่ละสถานประกอบการ ก็จะมีสหภาพของตัวเอง ในรูปแบบที่ไม่เหมือนสหภาพโดยทั่วๆ ไป

แต่ว่าด้วยลักษณะขององค์กร รูปแบบขององค์กรโดยทั่วไป ถ้าการผลัดใบหรือการปรับเปลี่ยนหรือการได้มาซึ่งตัวแทน มันยังเป็นไปในลักษณะที่ไม่ open อย่างเต็มที่ มันก็จะมีลักษณะที่ คนเก่าก็จะอยู่ในฐานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง มันก็จะมีผลทำให้ตามหลักบริหารจัดการแล้วก็บอก curve มันจะตก เพราะในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ทุก May Day มันก็จะมีการเรียกร้อง ผลงานที่สำคัญที่สุดของกลุ่มสหภาพทั้งหลายก็จะมีการรับรองบางอย่าง อีกส่วนหนึ่งก็คือว่า ในบางยุคบางสมัย ตัวแทนที่เป็นฐานสำคัญที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับสหภาพที่มาจากฐานของแรงงานจริงๆ แล้วนั้นเป็นมนุษย์เงินเดือน ทางด้านภาคเอกชนเป็นฐานที่มาจากรัฐวิสาหกิจ

เพราะฉะนั้น การมีสหภาพที่มาจากรัฐวิสาหกิจ ด้วยฐานขององค์ความรู้ด้านต่างๆ พวกนี้ค่อนข้างแน่น เพราะฉะนั้น ในยุคแรกๆ ฐานที่สำคัญคือฐานที่มาจากรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นตัวสนับสนุน ซึ่งเดี๋ยวนี้จะพอเห็นตัวใช่ไหมฮะ เป็นฐานมาโดยตลอด แต่ว่าเวลาเขาเคลื่อนไหวบางอย่าง ก็อาจจะเคลื่อนไหวแยกกัน แต่บางครั้งเราก็รวมกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหมือนการทำงานที่ประสานกัน แล้วก็ช่วยทำให้ทั้งรูปแบบของสหภาพมันขึ้นไปด้วยกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองฝั่ง มันก็เริ่ม แบบ curve มันตก s-curve ตามหลักเศรษฐศาสตร์ มันเป็นไปตามกฎ law of diminishing returns มันถดถอย ทุกบริษัททุกหน่วยงาน ทุก corporate มันจะเป็น s-curve คือ s-curve มันจะตก แล้วถ้าเกิดไม่มีใครมาฟื้น s-curve มันก็จะไม่ขึ้น

เหมือนกัน ดูอย่างองค์กรที่เราเห็น สหภาพยูเนี่ยนทั้งหลาย เพราะเนื่องจากการเป็นคนเดิม คนอายุมากแล้ว อะไรต่างๆ พวกนี้ ไอ้ลักษณะของความตื่นตัวอะไรต่างๆ ก็อาจจะไม่เท่ากับคนรุ่นใหม่ๆ เพราะสังเกตดูว่า ของเราถึงมีสหภาพในระบบกับสหภาพนอกระบบ อย่างนอกระบบ ก็จะเป็นคุณชาลี ลอยสูง หรือคุณวิไลวรรณ แซ่เตีย กลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทยที่สร้างขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง parallel ไปกับสหภาพเดิม เพราะฉะนั้น เขาจะแอคทีฟกว่า สังเกตไหมฮะว่า การเรียกร้องของเขา การมีนัยยะการเคลื่อนไหวต่างๆ ขณะที่รุ่นเก่าจะดูซึม ข้อเรียกร้องต่างก็เป็นไปตาม routine

หากมองในมุมของผู้นำแรงงาน อาจารย์คิดว่าเรื่องสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง แรงงานไทยอยู่ในสถานภาพน่าพอใจแค่ไหน

ผมว่าเนื่องจากสหภาพเราไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณแรงงาน ถ้าเรานับจำนวนแรงงานในระบบมันก็ยังน้อยอยู่แล้ว แล้วจะไปเทียบกับแรงงานนอกระบบอีกตั้ง 20 กว่าล้านคน ฉะนั้น เขาดูแลได้ในส่วนของงานในระบบเท่านั้นเอง เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้าง คนที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ค่าจ้างก็ไม่ได้รับการดูแล


เพราะฉะนั้น สังเกตดูว่านอกจากผลงานที่ดูแลคนในกลุ่มที่เป็นมนุษย์เงินเดือนนะ พอตัดของส่วนราชการออกไปแล้ว ผมดูแล้ว มันก็อาจจะไม่ใช่ส่วนที่ผลงานถึงเป็นเลิศนะ เพราะมันติดหลายอย่าง เพราะว่าการที่เราจะดูแลให้คุณภาพของแรงงานเราดีเนี่ย สวัสดิการที่ได้รับการคุ้มครองทั้งหลาย มันติด ทำคนเดียวไม่ได้ มันเป็นกระบวนการของไตรภาคี มันต้องดูฝั่งของรัฐบาล เป็นไงล่ะ รัฐบาลร่ำรวยไหม contribution ในส่วนของรัฐบาลเป็นยังไง เราสามารถจะไปขยาย contribution ส่วนนี้เพิ่มได้ไหม ที่ว่า 3 ส่วนนี้ ที่ออกเท่าๆ กันเนี่ยใช่มั้ย

ปัจจุบัน ทุกวันนี้รัฐบาลยังจ่ายน้อยกว่าประกันสังคมใช่มั้ย หรือว่าฝ่ายของนายจ้างที่จ่ายเท่ากันกับลูกจ้าง นายจ้างเขาจ่ายได้มากไหม มันติดที่ระบบการพัฒนาของประเทศ ที่ Ability to pay คือความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของเรา มันไม่สูง เราถึงติดกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง มันเป็นรูปแบบของการปรับโครงสร้างด้านอุตสหกรรม อุตสหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมบริการ โดยที่มันไม่ได้ยกระดับให้สูงขึ้นไป คำว่า ‘สูงขึ้นไป’ นี่คือ productivity สูง ใช่ไหมฮะ ผลตอบแทนมันดีตั วชิ้นงานมันดี มันก็กลับมาจ่าย เหมือนเราดูไต้หวัน เกาหลี แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราที่เขามีรายได้ต่อหัว หรือ productivity สูงกว่าเราสัก 2 เท่า อย่างมาเลเซีย

สิงคโปร์ ไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าเขาไปไกลกว่าเราแล้ว พัฒนาไปแล้ว แต่มาเลเซีย เขาเริ่มพัฒนามาใกล้ๆ กับเรา แล้วเขาก็ไป เกาหลีก็พร้อมๆ กับเรา จนไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างนี้เป็นต้น เพราะว่าลักษณะโครงสร้างของอุตสหกรรมที่เราเลือกมา ฝ่ายของนายจ้างปรับปรุงไม่ได้ แต่เราอาศัยคนอื่นหายใจนานเกินไป แล้วเราไม่ได้ปรับตัวเราเอง เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นของเราเองก็เลยน้อย จะมาแบ่งปันคนงานก็ได้นิดเดียว เพราะฉะนั้น เราก็ติดกับดักอยู่เหมือนกัน เป็นกับดักที่ค่าจ้างขึ้นสูงมากไม่ได้ ก็มีบางรัฐบาลเลยหักดิบเลย ปรับยกเพดานขึ้นไปทุกอันเลย

แล้วตอนนี้ 300 บาทกับหมื่นห้าเป็นอย่างไร

คือ 300 กับหมื่นห้า ตอนนี้ทุกคนก็ยังไม่ได้หมดนะ เพราะทั่วประเทศ มีบางพื้นที่ของประเทศไทย การเติบโตของนายจ้าง หรือผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการจ่ายยังไม่เท่ากัน โดยเฉพาะพวก SME


เรามี SME เยอะมาก SME ตัวเองก็จะเอาไม่ค่อยรอดอยู่แล้ว margin ในเรื่องทำกำไรไม่สูง การที่มันจะขึ้นกระจาย 30-40 เปอร์เซ็นแบบนั้น ก็จะช่วยตัวเองเท่าที่จะอยู่ได้ เขาเรียกว่าสายป่านเต็มเต็มที มันก็ยังมีอยู่บ้าง เหลือส่วนน้อยลง ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ตัว micro-enterprise ทั้งหลายที่ยังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ ตัวนี้ก็เลยกลายมาเป็นถ่วงว่า ถ้ามันจะขึ้นอีกที ก็ยังห่วงกลุ่มพวกนี้เขาอยู่ว่า จะไป-ไม่ไปแหล่ ขึ้นแล้วจะทำให้เขาหลุดไปเลยหรือเปล่า

ถ้าเป็นอย่างนั้น เราคงจะไม่เห็นการปรับค่าจ้างครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้

ไม่น่าจะมี เพราะ general ที่เราศึกษามา อย่างมากก็ขึ้นน่ะขึ้น ขึ้นก็มี scenario ในแง่ที่ว่า ขึ้นก็คงกลับไปแบบรูปแบบเดิม ใช้กระบวนการไตรภาคี โอเคจะว่าดี-ไม่ดีก็แล้วแต่ แต่ว่ามันก็จะมีค่าจ้างที่แตกต่างกันออกไป ตามความสามารถในการจ่ายของแต่ละพื้นที่ แล้วก็ความจำเป็นในการใช้จ่ายแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็ไม่เท่ากัน


เพราะเราดูแล้ว consumer price index ของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดมันก็ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ไอ้การขึ้นเนี่ยมันก็จะขึ้นแตกต่างกันออกไป แต่เราก็ขอว่า บางอย่างถ้าเราขึ้นได้เป็นอัตโนมัติ เราก็ขึ้นไป เพราะว่าอย่าง CPI เรารู้แล้วเนี่ย ตัวเลขที่เราเชื่อถือได้ในแต่ละพื้นที่ ถ้ามันขึ้น 2 เปอร์เซ็นได้ ก็ให้ 2เปอร์เซ็น คืออย่างน้อยก็ไม่ให้เขาจนลง

อย่างนโยบายภาษีรัฐบาล ถือว่าช่วยคนมีเงินเดือนประจำ เสมือนการเพิ่มรายได้อยู่แล้ว ยกเว้นคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี อาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ?

ก็จะโดนผลกระทบอีกเช่นกัน เพราะคนที่ได้ ก็ไปจับจ่าย ที่จับจ่ายบ้านเราก็รู้อยู่แล้วว่าสินค้าทุกตัวมันไม่ได้ควบคุม สินค้าบางตัวก็ขึ้นมาเอง พอได้ข่าวว่ารัฐบาลขึ้นภาษีหรือว่าลดภาษี ก็มีส่วนต่างให้ได้จากการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น คือสินค้าที่ไม่ได้ควบคุมโดยรัฐฯ มันก็แอบขึ้นไป ก๋วยเตี๋ยวจาก 35 บาทขึ้นมา 20 25 ตอนนี้ขึ้นไป 45 50 ได้ใช่มั้ย เพราะมันเป็นส่วนสินค้าที่ไม่ได้ควบคุม อุปโภคบริโภคบางอย่างใช่ไหมฮะ ฉะนั้นตรงนี้เป็นประเด็นปัญหา อย่างข่าวการเรียกร้องว่าจะขึ้น แล้วถ้าเกิดว่ามีได้ยินว่ารัฐบาลจะขึ้นให้ตูม ราคาสินค้าไปแล้ว เพราะฉะนั้น ตรงนี้มันก็เลยน่าห่วง

ผมถึงแนะนำว่าบางอย่างไม่จำเป็นต้องมาประกาศโดยกรรมการค่าจ้างหรอก ไม่ต้องมาพิจารณาอะไรกันมาก นานๆ พิจารณาทีนึง เพียงแต่ว่าอะไรที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติได้ ก็เพียงแต่ว่าให้เขาไปตรวจเช็คข้อมูลกันอีกทีหนึ่งเท่านั้นเอง ในพื้นที่ 77 จังหวัด หรืออะไรก็แล้วแต่ กรุงเทพฯค่าครองชีพเป็นเท่าไหร่ ภูเก็ต เมืองใหญ่ๆ ที่เป็นหัวเมืองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการท่องเที่ยว ที่มีการจ่ายค่าครองชีพสูง มันขึ้นสูงกว่าที่อื่นก็ให้ไป ไม่เป็นไร เพราะว่าจังหวัดเหล่านั้นรายได้ต้องสูง เพราะมันมาจากคนข้างนอกเอาเงินมาจับจ่ายใช้สอย

ส่วนที่เป็นรายได้จากเกษตรกร รายได้จากชาวไร่ชาวนา บางจังหวัดที่เกษตรเป็นหลักพวกนี้ ถึงมันจะมีคนงานมาก จนป่านนี้เชื่อไหมฮะว่า แรงงานที่เป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร เงินเดือนยังต่อกแต่กๆ อยู่เดือนละ 500-600 บาท ก็หมายความว่าเขาทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่ค่อยจะมีใครจ้างเขา จ้างก็ไม่สามารถจ้างสูงได้ แล้วมาคุยว่า โอ้ย!เกษตรกร เกี่ยวข้าวจ่ายเขาตั้ง 400-500 แต่มันก็แค่ช่วงสั้นๆ ห้าวันยี่สิบวัน แต่ตลอดทั้งปีเขาได้ค่าจ้างค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้น มนุษย์เงินเดือนที่อยู่ตามภาคเกษตรน่าสงสาร รายได้จะน้อยมาก

เรื่องของแรงงานมีหลายมิติ ไม่ว่าจะเรื่องภาวะการจ้างงาน เรื่องคุณภาพแรงงาน เท่าที่อาจารย์ศึกษามา เรื่องอะไรน่าเป็นห่วงที่สุด

คือตัวของแรงงานเอง ที่เราห่วงตอนนี้ คือมันมีแนวโน้มน้อยลง น่าห่วงเป็นไปตามโครงสร้างของประชากร ปีสองปีนี้ ตัวกำลังแรงงานเราเริ่มจะถดถอยลง แต่ของที่เรามีอยู่เดิมเราก็ไม่ได้ทำให้มันดีขึ้น เรายังมีสัดส่วนของคนที่มีการศึกษาต่ำอยู่เป็นจำนวนมาก ในฐานคน 39 ล้านคนเศษ ที่เรามีอยู่ ในฐานแรงงานนี่เนอะ แล้วเผอิญไปอยู่ในภาคที่เราพยายามจะปรับโครงสร้างเขา พยายามจะยกระดับ พยายามให้เขาลดต้นทุนค่าแรงต่างๆ คือภาคเกษตร พออยู่ 14-15 ล้านคน 60-70 เปอร์เซ็น จบประถมศึกษาหรือต่ำกว่า บางคนก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มันเป็นเรื่องใหญ่

ผมก็ยังห่วงสต๊อกของคนในกลุ่มเหล่านี้ที่เหมือนกับถูกทอดทิ้ง เราไปแนะนำอะไรเขาที่ว่าเขาดื้อ ก็เพราะว่าเขาไม่เข้าใจว่าจะเชื่อได้ไหม เราก็ต้องอาศัยสิ่งที่เขาทดลองทำผิดทำถูกมาเนี่ย ซึ่งมันใช้เวลานานมาก แล้วมันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะประยุกต์ใช้ในทุกพื้นที่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ได้มีหน่วยงานอะไรที่มันไม่ได้เพราะเรามีอยู่เยอะ ทุกอณูในหน่วยงานของบางกระทรวง ดูแลคนชาวไร่ชาวนาได้ครบวงจรหมด แต่ฟังก์ชั่นมันไม่ทำงานประสานบูรณาการกัน มันก็เลยทำให้สาขานี้น่าสงสาร เพราะว่ามันขึ้นไม่ได้ 

สินค้าจังหวัดพื้นฐานเหล่านี้ ก็ยังเป็นพื้นฐานอยู่ ไม่ได้แปรรูป ไม่ได้ปรับปรุงอะไรต่าง ๆ พวกนี้ ทำให้มันดีขึ้น ยิ่งเอาโหมดของการแปรรูปไปไว้กับอุตสาหกรรม เกษตรก็เลยไม่ค่อยโต มองเหมือนกับการเกษตรเป็นภาระ ทั้งที่จริงๆ เขาเป็นฐานของปัจจัยการผลิตที่ใหญ่ นำไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่จะแปรรูปนำมาขายให้เราขบเคี้ยวให้เรากินกัน แต่เครดิตมันไม่อยู่ภาคเกษตร เครดิตมันอยู่ภาคอุตสาหกรรม แล้วผลตอบแทนมา เขาก็ไม่ได้รับเต็มที่ด้วย เพราะมูลค่าเพิ่มมันไม่ได้ส่งกลับไปที่เจ้าของปัจจัย ไม่เต็มที่ มันก็เป็นกลุ่มที่น่าห่วง

เพราะฉะนั้นผมห่วง ก็คือหนึ่งจำนวนที่มันลดลง ส่วนหนึ่ง แล้วก็ปัญหาเรื่องขาดแคลนก็ยังมีอยู่ เพราะว่าสิ่งที่เขาต้องการและดันไปใช้คำที่ไม่เพราะนิดนึง ไปกระจุกอยู่ที่คนที่จบมัธยมต้นหรือต่ำกว่า หรือประถมต่ำกว่า มันมีที่ไหนเล่า ซัพพลายก็คือคนที่ตกจากระบบนั้น เพราะว่าเราส่งเสริมให้เขาเรียนเกินกว่านั้นไปเยอะแล้ว ส่วนจะรู้เรื่องจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือเขียนได้นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ว่าผู้ที่ตกจากระบบมันมีจำนวนน้อย ก็ยังนับว่าขาดแคลนไง ขาดแคลนเป็นนัมเบอร์วันเลย จำนวนมากด้วย ซึ่งตรงนี้เราถึงต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเอามาเติมตรงนี้ ก็จะเป็น gapของคนเราที่เรียนสูงขึ้น

แล้วพวกที่เรียนสูงขึ้นล่ะ ที่อยู่ในระบบแล้ว แล้วก็กลายเป็นโอเวอร์ซัพพลาย

ตรงนี้ยิ่งน่าห่วงนะ เทคโนโลยีพัฒนาไป แล้วก็เริ่มจะลดจำนวนออฟฟิศลง บางกลุ่มเขาเรียกว่า financial intermediaries ไม่ว่าจะเป็น banking หรือเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จ้างคนจบปริญญาตรีเยอะ จบปริญญาตรีนี้ว่างงานเยอะมากที่สุดในกระบวนการ มากกว่ากลุ่มคนระดับล่าง เขาก็ว่างงานนะ แต่ว่างงานในลักษณะที่เขาเปลี่ยนงาน หรือไม่มีคุณภาพ มีความเป็นผู้รู้น้อยเกินไป เขาเข้าทางระบบไม่ได้แล้ว แต่คนที่สูงเก้าหมื่นแสนหนึ่งรองานหมุนเวียนอย่างนี้ทุกปีๆ เสียโอกาสเป็นหมื่นล้านแต่ละปี อันนี้ก็เป็นเรื่องคุณภาพการศึกษาอีก ตรวจสภาพสี่ห้าครั้งทำงานไม่ได้ก็หมดหวังแล้ว เพราะว่ามันไม่มีอะไรเหลือในสมอง


มันเป็นเรื่องของระบบการศึกษา เราเร่งขยายเร็วเกินไป เรามีมหาวิทยาลัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ว่าตลาดงานกระจุกอยู่ไม่กี่พื้นที่ อันนี้ก็ต้องโทษตัวฝั่ง demand site ด้วยเพราะว่า ทำไมญี่ปุ่นเขาจบปริญญาตรี ทำไมเกาหลีเขาจบปริญญาตรี เพราะว่าตลาดมันสามารถไป absorb คนกลุ่มนี้ได้ด้วยการยกระดับการพัฒนาขึ้นไป ด้วยภาคอุตสาหกรรม ด้วยการบริการ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็จะดูดซับคนที่มีความรู้สูงได้

แต่เราติดตรงที่ว่าภาคที่จ้างคนที่มีความรู้สูง เป็นภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่ career อะไรไม่ได้ชัดเจนนัก พอเราไปยืนอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ถามว่าเราจะไปยืนอยู่ได้จนแก่ไหม ผมไม่เห็นว่ามีคนทำงานด้านการโรงแรมที่อายุมากๆ ยกเว้นคนทำความสะอาด เพราะฉะนั้น อีกส่วนหนึ่งเราไปทำงานในภาคการท่องเที่ยว ก็เหมือนกัน คนที่มีเอนนีจี้สูงต่างๆ มันต้องเป็นคนที่ต้องอาศัยคนที่จะอยู่นาน หรืออะไรต่างๆ มันก็ต้องมี career ให้กับเขา แล้ว career มันก็ไม่ชัดเจน แล้วจำนวนมันก็ขึ้นๆลงๆ แล้วพวกนี้ยังมีทัศนคติมองว่าอาชีพเหล่านี้ เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีศักดิ์ศรี ซึ่งจริงๆ แล้ว มันคือสัมมาชีพอย่างหนึ่ง สังเกตไหมว่า เรามีสถานศึกษาที่สอนคนจบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จบปริญญาตรีเยอะมาก แต่มีไม่ถึง 30 เปอร์เซ็น ที่เข้าไปสู่ตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยว แล้วเราก็ขาดแคลนพวกนี้มาก เพราะเราเอาใบปริญญา ใบวุฒิบัตรมันจบง่าย แล้วก็ไปทำงานอย่างอื่น หรือไปเรียนต่อ เปลี่ยนสาขาไป มันก็เสียของอีก

ดูเหมือนอาจารย์จะเป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงการผลักดันแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบ ตอนนี้แรงงานต่างด้าวทะลุกี่ล้านคนไปแล้วครับ

ผลงานวิจัยของเราล่าสุด มันขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนหลังสุด คือประมาณ 3.5 – 4 ล้านคน แต่เดิมเคยพูดไว้ 2 ล้านกว่าคน ตอนนี้ก็ขึ้นมาอีกล้านคน อันนี้เป็นผลพวงอย่างที่ว่านะ ส่วนที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น มันยังไปไหนไม่ได้ เอสเอ็มอีหรือแม้แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ Labour intensive เราเนี่ย ไม่เข้มแข็งที่จะย้ายฐานไป เพื่อจะไปใช้แรงงานในประเทศที่เป็นแหล่งที่จ้างถูก เมื่อเราย้ายไม่ได้ เราก็เอาเขาเข้ามา ทีนี้พอเข้ามาแล้ว ตามหลักการก็ต้องไม่ให้กระทบเรื่องความมั่นคง คือความมั่นคง เราพูดถึงความมั่นคงในแนวกว้าง national security มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรากำลังพูดถึง human security ถ้าเราเอาเข้ามา ดูแลเขาไม่ดี มันก็เกิดปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องอะไรต่างๆ อย่างอื่นตามมาอีก การใช้แรงงานเด็กอะไรต่างๆ พวกนี้ ซึ่งตอนนี้เราก็ยังถูกกาหัวอยู่


แล้วก็ปัญหาในเรื่องของ health security ถ้าเราไม่เอาเข้ามาในระบบ บางคนก็อาจจะมีโรคติดต่อ โรคอะไรมา ซึ่งสร้างความหดหู่ให้กับเราเพิ่มเติมอีก ซึ่งแต่เดิม พอไม่มีมา บางโรคมันก็ทุเลาเกือบจะหายไป ตอนนี้ก็มีคนท้องร่วงเพิ่มขึ้น อาจจะมีคนเป็น TB เพิ่มขึ้น อันนี้ไม่ได้กล่าวหาแรงงานต่างด้าวนะ เพียงแต่ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศเพื่อนบ้าน มันไม่เท่ากัน อย่างโรคเท้าช้างเนี่ย ความเสี่ยงเหล่านี้ มันเกิดกับระบบสาธารณสุขที่เราได้เปรียบมานาน แต่ตอนนี้ ตามชายแดนเป็นภาระมาก ชายแดนฝั่งพม่า เราใช้เงินกันเป็นร้อยล้าน รวมถึงทางลาว ทางกัมพูชา เพื่อจะอุดหนุนประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามารักษาพยาบาล ซึ่งโอเคตามหลักมนุษยชน ตามหลักของความเป็นมนุษย์ health security เราก็ต้องดูแลเป็นเรื่องธรรมดา

แล้วเรื่อง social security ตอนนี้ มันก็มีเรื่องการแต่งงาน อะไรต่างๆ มีเรื่องการรวมตัวในสังคมว่าสนิท-ไม่สนิท มันก็จะมีความหลากหลาย บางคนเป็นโรคเกลียดแรงงานต่างด้าวก็มี เพราะฉะนั้นตรงนี้ มันมีหลายมิติของการที่เราใช้คนจำนวนมหาศาล ผมพูดเสมอว่า การดูแลคน 4-5 ล้านคน ด้วยองค์กรที่มีคนดูแลสัก 30-40 คนเนี่ย มันดูแลไม่ไหวหรอก เพื่อนที่เป็นต่างชาติด้วยกัน จะพูดว่า ไม่มีอะไรถาวรเท่ากับแรงงานชั่วคราว พูดง่ายๆ ก็แรงงานชั่วคราวมันจะอยู่กับเรายาวนาน ไม่ใช่ออกไปง่ายๆ


อาจารย์พูดเหมือนว่าตัวเลขมันก็จะขึ้นเรื่อยๆ ?

จะขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายังไม่ดูเรื่องการปรับใช้ การลดสัดส่วนของแรงงานต่างด้าวลงในระบบ เราต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเติมบ้าง ยังไงเราต้องคิดค้น สแกน เราจะไปพึ่งพาจมูกหายใจต่อไป เขาเองเนี่ยเขาก็มีทางพัฒนาเหมือนกัน ใครๆ จะไปอยากอยู่ต่างแดนเป็นยาวนาน แล้ว gap ของค่าจ้างเรามันไม่สูง เพราะเราไม่ได้ลดติดกับดักประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่เนี่ย ผมเชื่อว่าเงินดือนเราจะไม่สูงเหมือนสิงคโปร์ หรือสูงเหมือนเกาหลีหรอก เพราะฉะนั้น gapของรายได้ในที่สุดมันก็จะแคบลง แคบลง ปั๊บบ้านเขาก็จะพัฒนาขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์ ก็คือว่าถ้าต้นทุนในการเคลื่อนย้ายตัวของเขา บวกลบคูณหารแล้วมันไม่ต่างจากค่าจ้างที่เขาจะได้รับ เขาไม่มาหรอก เขาก็กลับบ้านดีกว่าไปอยู่กับครอบครัวไปอยู่กับญาติพี่น้อง