"เลือดข้นคนจาง" นิยามครอบครัวแบบ "ย้ง ทรงยศ"

"เลือดข้นคนจาง" นิยามครอบครัวแบบ "ย้ง ทรงยศ"

เบื้องหลังโปรเจคท์เลยเถิด ของ ย้ง-ทรงยศ จากโจทย์ให้ทำซีรีส์วัยรุ่นเพื่อปั้นศิลปินกลุ่ม 9x9 กลายเป็นละครฆาตกรรมซ่อนเงื่อน “เลือดข้นคนจาง”

แค่ออนแอร์สัปดาห์แรกก็กลายเป็นกระแสพูดถึงในวงกว้าง สำหรับละครแนวหักเหลี่ยมเฉือนคมเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” ผลงานการกำกับของ "ย้ง" ทรงยศ สุขมากอนันต์ ที่ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็ดูเหมือนว่าจะปังไปซะหมด

ไล่มาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” ที่เขารับหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับ ก่อนจะโดดมากุมบังเหียนการกำกับอย่างเต็มตัวใน “เด็กหอ” ตามมาด้วย “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” “ห้าแพร่ง” ตอน Backpacker ฯลฯ แล้วมาดังเปรี้ยงปร้างกับซีรีส์ “ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น” เรื่อยมาจนมาถึงซีรีส์เรื่องที่จบไปก่อนหน้านี้อย่าง I Hate You, I Love You ที่ทำแฮชแท็ก #ใครฆ่านานะ ติดเทรนด์ฮิตในทวิตเตอร์อยู่นาน

หากใครติดตามผลงานของ ย้ง มาโดยตลอดคงจะรู้ดีว่าเขามักจะทำหนัง ซีรีส์เกี่ยวกับวัยรุ่นซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ละครเรื่องล่าสุด “เลือดข้นคนจาง” กลับฉีกแนวออกไปเป็นแนวทริลเลอร์ หักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างคนในครอบครัว ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกได้โจทย์มาว่าให้ทำละครเพื่อปั้นนักร้องนักแสดงชายจากโปรเจคท์ 9x9 (ไนน์ บาย ไนน์) ของ 4NOLOGUE

ย้ง บอกกับเราว่า จริง ๆ โปรเจคท์นี้เป็น “โปรเจคท์เลยเถิด” คือ ตอนแรก “วุธ - อนุวัติ วิเชียรณรัตน์” บิ๊กบอสของโฟโนล็อก จะปั้นศิลปินกลุ่ม 9x9 ขึ้นมาจึงชวนบริษัท นาดาว บางกอก ทำซีรีส์วัยรุ่นให้ แต่เขาเกิดคิดขึ้นมาว่าทางโฟโนล็อกน่าจะทำเพลง ทำคอนเสิร์ต ดันนักร้องนักแสดงกลุ่มนี้ไปหากลุ่มคนดูวัยรุ่นได้ไม่ยากอยู่แล้ว เขาเลยอยากทำซีรีส์ที่พาน้อง ๆ ไปหากลุ่มคนดูที่เป็นผู้ใหญ่ให้แมสขึ้นจะดีกว่า

พอคิดแบบนี้ปุ๊ป เรื่องราวจึงเลยเถิดไปถึงการเข้าไปขอ “บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องวัน ว่าขอลงละครช่วงไพรม์ไทม์ในวันเสาร์ซักเรื่องจะได้ไหม จากเมื่อก่อนที่ทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ 1, 3 ให้ช่องวันแล้วได้ฉายตอนดึกตลอด พอ บอย ถลเกียรติ ที่รู้ฝีมือของย้งอยู่แล้ว ได้เห็นบท เห็นรายชื่อนักแสดงรุ่นใหญ่ที่จะมาร่วมเล่น ก็ให้เวลามาเป็นช่วงวันศุกร์-เสาร์ หลังข่าว 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นสล็อตเวลาใหม่ของช่องเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ ย้ง กดดันอยู่ไม่น้อย เพราะละครช่องวันกำลังมาแรงจาก “เมีย 2018” ที่เพิ่งจบไป

“มันมีสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบว่า ถ้าไปลงละครไพรม์ไทม์ช่องวัน เราต้องรับผิดชอบเรตติ้ง เราจะไปทำอะไรก็ได้แล้วทำเรตติ้งเค้าตกไม่ได้ มันต้องลงไปทำความเข้าใจ ทำความรู้จักคนดูละครช่องวันในเวลานั้นด้วย”

ผมไม่เรียกว่าซีรีส์ ผมเรียกมันว่าละคร
แล้วชื่อเรื่องผมก็จะไม่กระแดะด้วย
จะสื่อสารตรง ๆ เลย เค้ามีสุดแค้นแสนรัก
ผมก็ เลือดข้นคนจาง นี่แหละ

เกี่ยวกับวิธีคิด และหลักการทำงานของผู้กำกับรายนี้ เขาบอกว่า เวลาทำงานอะไรก็ตาม จะวิเคราะห์จากโจทย์ก่อน โดยโจทย์ที่ว่านี้ไม่ใช่โจทย์ที่ลูกค้าให้มา แต่เป็นโจทย์จากตัวเขาเอง

“ตอนที่ทำ Hate Love Series เป็นการทำออริจินัลคอนเทน์ให้ไลน์ทีวี ผมก็ถามตัวเองว่า ถ้าเราจะลากคนดูให้มาดูอะไรในช่องทางที่มันดูยากกว่าการเปิดทีวีหรือเปิดยูทูบที่มันง่าย แต่ไลน์ทีวีต้องโหลดแอพมาดู ก็แปลว่าคอนเทนต์เราต้องเป็นแบบที่ไม่มีที่อื่น มันจะเป็นวิธีคิดอีกแบบ วิธีการเล่าเรื่อง ตัวละคร สตอรี มันเป็นวิธีคิดเพื่อสิ่งนั้น”

“พอมาทำเลือดข้นคนจาง โจทย์ของมันคือ เราอยากแมส จึงไปขอเวลาไพร์มไทม์ พอได้มาก็ต้องห้ามทำเรตติ้งเขาตก แล้วละครก็จะวัยรุ่นมากไม่ได้ต้องมีผู้ใหญ่ด้วย อันเนี้ยผมลงไปทำความเข้าใจหมดเลย เริ่มอย่างแรก ผมไม่เรียกว่าซีรีส์ ซีรีส์เนี่ยคนดูละครบางคนยังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ผมจะเรียกมันว่าละคร แล้วชื่อเรื่องผมก็จะไม่กระแดะด้วย จะสื่อสารตรง ๆเลย เค้ามีสุดแค้นแสนรัก ผมก็ เลือดข้นคนจาง นี่แหละ”

ส่วนเรื่องชั้นเชิงการนำเสนอ ย้ง บอกว่าไม่รู้ว่าจะเรียกว่าชั้นเชิงได้รึเปล่า คือ ละครเรื่องนี้ไม่มีพระเอกนางเอก ตัวละคร 20 กว่าตัวสำคัญหมด ถูกถอดออกไปไม่ได้

“เวลาเล่าเรื่องนี้ ผมไม่ได้สนใจมุมมองตัวละคร ไม่สนใจซีเนมาติก ความกระแดะแบบหนัง ผมจะสนใจแค่ตัวละคร ผมจะเอากล้องพาไปรู้จักตัวละครทุกตัวให้เยอะที่สุด ผมจะทำให้คนดูเข้าใจคน เข้าใจตัวละครเรื่องนี้ให้มากที่สุด อันนี้เป็นความตั้งใจของผมในการทำละครเรื่องนี้ ดังนั้น คนดูจะไม่มีทางหาพระเอกนางเอกเจอในเรื่องนี้ แล้วต่อให้ตัวละครมีแอร์ไทม์ไม่เท่ากัน แต่ผมเชื่อว่าคนดู ๆ แล้วจะรู้สึกว่าขาดเขาไม่ได้ อันนี้ถ้าถามผม อาจจะเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่านี่เป็นชั้นเชิงของผมในเรื่อง ๆ นี้มั้ง”

..แล้วทำ “เลือดข้นคนจาง” อยากบอกอะไรกับคนดู?

ย้ง บอกว่า ไม่เชิงอยากบอก แต่เป็นการตั้งคำถามถึงความเป็นครอบครัวมากกว่า

“คือความเป็นครอบครัวมันมีขนบอ่ะ สมมุติครอบครัวคนจีนจะมีขนบว่าลูกชายสำคัญกว่าลูกสาว แล้ววันหนึ่ง ลูกสะใภ้จะสำคัญกว่าลูกสาวเพราะเป็นคนที่นอนอยู่กับลูกชาย ส่วนลูกสาวจะแต่งงานออกไป อะไรอย่างเงี้ย แล้วถ้าเราเป็นพ่อแม่ลูกพี่น้องกัน แต่ถ้าเราไม่ได้ทำดีต่อกัน เราต้องรักกันไหม เราจำเป็นต้องทำดีต่อกันเพราะว่าเราเป็นแค่ญาติกันจริงเหรอ คนที่ไม่ได้เป็นญาติเราแต่ถ้าเค้าดีกับเรา คนนั้นจะสำคัญกับเรามากกว่ารึเปล่า มันคือการตั้งคำถาม ชื่อภาษาอังกฤษของมันคือ In Family We Trust หมายความว่า ความเป็นครอบครัวที่เราเชื่อมั่นเนี่ย มันเชื่อมั่นได้จริง ๆ ไหม”

ถ้าเราเป็นพ่อแม่ลูกพี่น้องกัน แต่ไม่ได้ทำดีต่อกัน เราต้องรักกันไหม
เราจำเป็นต้องทำดีต่อกันเพราะว่าเราเป็นแค่ญาติกันจริงเหรอ
คนที่ไม่ได้เป็นญาติเราแต่ถ้าเค้าดีกับเรา คนนั้นจะสำคัญกับเรามากกว่ารึเปล่า
มันคือการตั้งคำถาม

สำหรับเรื่องนักแสดงนั้น ย้งบอกว่าพอทำบทเสร็จปุ๊บ เริ่มเห็นภาพนักแสดงที่จะมาเป็นตัวละครก็นึกถึงอาตู่ เพราะโตมากับลอดลายมังกร ส่วนครูเล็ก ภัทราวดี ก็โตมากับการดูน้ำพุ ประกอบกับคิดว่าการนำ ตู่ นพพล ที่เล่นละครจีนบ่อย ๆ มาเจอกับครูเล็กที่ไม่ค่อยได้เล่นละคร มันน่าจะเกิดความใหม่อะไรบางอย่างขึ้น

ส่วนรุ่นพ่อแม่อย่าง กบ แท่ง แหม่ม อุ๋ม เจี๊ยบ ต้อม ลิฟท์ ปิ่น นั้นเป็นนักแสดงตัวท็อปในยุคที่เขาเป็นวัยรุ่น ในยุคที่เขาดูทีวี เสพวงการบันเทิง การได้ทำงานกับพวกเขาคือความฝัน แต่ก็ต้องเหมาะกับบทด้วย อย่างมีคนบอกว่า ทำไมไม่ชวน “มอส ปฏิภาณ” มาเล่นด้วยจะได้ครบแก๊ง “สามหนุ่มสามมุม” แต่ย้งบอกว่าไม่เหมาะกับบท เพราะมอสไม่ตี๋

ย้ง บอกด้วยว่า ไม่คิดว่าพอชวนไปแล้วนักแสดงเหล่านี้จะมาเล่นกันครบขนาดนี้ ซึ่งเขาโชคดีมากเพราะทุกคนทั้งนิสัยดี เต็มที่กับการทำงาน แล้วก็เก่งมาก ชนิดที่มาเทคแรกก็ดีเลย โดยตัวเขาดูแล้วน้ำตาไหลบ่อยมาก

“มีอยู่ซีนหนึ่ง แค่พี่กบเดินเปิดประตูห้องเข้ามาลูบหัวลูกชายแล้วเราก็น้ำตาไหล คือมันเป็นสิ่งที่แสดงไม่ได้ เค้าเล่นจากความรู้สึกข้างในแล้วมันออกมาเป็นภาษากาย ซึ่งซีนแบบนี้ถ้าไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์ชีวิต และประสบการณ์ทางการแสดงแล้วจะไม่สามารถทำได้แบบนี้”

แต่นั่นเป็นเรื่องของนักแสดงผู้ใหญ่ที่จะเริ่มต้นจากตัวละคร รู้สึกว่าใครเหมาะสม หรือคนไหนที่เราอยากร่วมงานด้วยก็จะชวนมาเล่น แต่สำหรับนักแสดงรุ่นเด็กที่ได้โจทย์มาก่อนแล้วว่าต้องมีนักแสดงเหล่านี้อยู่ด้วย ย้งบอกว่าจะแบ่งเป็นเด็กใหม่เด็กเก่า แล้วคิดเหมือนตอนทำฮอร์โมนส์ คือ จะไม่ฆ่าน้อง เรารู้ว่าเขายังไม่เก่งก็จะเขียนบทจากตัวเขา คือ พัฒนาตัวละครจากตัวเขา บุคลิกเขา เด็กพวกนี้ก็จะเล่นไม่ยากหน่อยเพราะเขียนจากตัวเขา แต่สุดท้ายก็ยากอยู่ดี (หัวเราะ)

อย่างไรก็ตาม ย้งบอกว่า ถึงเรื่องนี้จะได้โจทย์มาให้ปั้นเด็ก ๆ กลุ่มไนน์ บาย ไนน์ ก็จริง แต่เขาจะไม่ปั้นแบบสปอยล์ เพราะเรื่องนี้ต้องทำงานร่วมกับนักแสดงผู้ใหญ่ เลยบอกโจทย์เด็ก ๆ พวกนี้ไปแต่ต้นเลยว่า ให้ไม่เกิน 5 เทค เต็มที่ไม่เกิน 7 เทค สำหรับซีนที่ยากจริง ๆ เพราะเกรงใจนักแสดงผู้ใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ กลับไปฝึกฝน และพัฒนาตัวเองจนดีขึ้นเรื่อย ๆ

บอกโจทย์เด็ก ๆ พวกนี้ไปแต่ต้นเลยว่า ให้ไม่เกิน 5 เทค
เต็มที่ไม่เกิน 7 เทค สำหรับซีนที่ยากจริง ๆ
เพราะเกรงใจนักแสดงผู้ใหญ่ ซึ่งก็ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้
กลับไปฝึกฝน และพัฒนาตัวเองจนดีขึ้นเรื่อย ๆ

ผลงานหลายเรื่องของ ย้ง มักจะมีตัวละครดาร์ก ๆ แรง ๆ ทั้งที่เป็นซีรีส์วัยรุ่นอย่างฮอร์โมน, Hate Love Series รวมไปถึงการฆ่ากันเองในวงศ์ตระกูลอย่างใน “เลือดข้นคนจาง” นี่ด้วย เราเลยถามเขาไปว่า หลงใหลในด้านมืดของมนุษย์หรือ

ย้งบอกว่า จริง ๆ เขาไม่ได้หลงใหลด้านมืดของมนุษย์ แต่แค่ชอบความเป็นคน เพราะไม่มีคน ๆ ไหนที่ขาวสะอาด คนมีความอิจฉาริษยา ความรัก โลภ โกรธ หลง มันเป็นเรื่องปรกติของมนุษย์ เขาจะชอบความเป็นมนุษย์ หลงใหลที่คนมีบุคคลิก มีความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน แต่พอจะมาทำเป็นละคร จะมาเล่าเรื่องความดำที่ปรกติ บางทีมันจะดูเบาไป เลยต้องเล่าถึงความดำมืดที่ใหญ่ ที่ exaggerate หน่อย เพราะมันน่าสนใจในการเล่าเรื่อง

“จริง ๆ แล้วผมไม่ได้ชอบความดาร์ก แต่แค่รู้สึกว่าความมืดมนในจิตใจคนมันทำให้เรารู้จักคนมากขึ้น”

--------------------------------

“เลือดข้นคนจาง” เป็นละครแนวแฟมิลี่ดราม่า เรื่องราวของญาติพี่น้องที่ต้องมาเฉือนคมกันเพื่อคลี่ปมฆาตกรรมในวงศ์ตระกูล สร้างสรรค์ผลงานจากทีมเขียนบทที่ใช้เวลาเขียนเกือบปี แถมยังได้นักแสดงรุ่นใหญ่มาร่วมงานกันคับคั่ง อาทิ ตู่-นพพล โกมารชุน, ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน, กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง, แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช, เจี๊ยบ-โสภิตนภา ชุ่มภาณี, อุ๋ม-อาภาศิริ จันทรัศมี, ปิ่น-เก็จมณี พิชัยรณรงค์สงคราม, ลิฟท์-สุพจน์ จันทร์เจริญ, ต้อม-พลวัฒน์ มนูประเสริฐ, เต้-ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์, เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ฯลฯ

เสริมทัพด้วยนักแสดงรุ่นใหม่กลุ่ม 9x9 อย่าง ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร, เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม, เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ, กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง, เติร์ด-ลภัส งามเชวง, ปอร์เช่-ศิวกร อดุลสุทธิกุล, ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต, แจ๊คกี้-จักริน กังวานเกียรติชัย, ริว-วชิรวิชญ์ อรัญธนวงศ์ ร่วมด้วย ต้าเหนิง–กัญญาวีร์ สองเมือง, นาน่า-ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์

ละครเรื่องนี้จะมีตัวละครอยู่ทั้งหมด 3 รุ่น คือ รุ่น 1 รุ่นอากงอาม่า ที่ย้งบอกว่า เป็นรุ่นก่อร่างสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา รวมถึง “ปัญหา” ที่ตกทอดมาถึงรุ่นลูกหลานด้วย รุ่น 2 รุ่นพ่อแม่ เป็นรุ่นรับสิ่งที่อากงอาม่าสร้างมา ทั้งขนบธรรมเนียม วิธีคิด เป็นรุ่นที่ “เกิดปัญหา” ขึ้น ความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งต่าง ๆ เกิดขึ้นในรุ่นนี้ ส่วนรุ่น 3 รุ่นหลาน เป็นรุ่นที่ถูกลากกลับเข้ามาสู่ปัญหาที่รุ่นพ่อแม่สร้างขึ้น แล้วพวกเขาก็ยังมาสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีกด้วย