ศก.ไตรมาสแรกส่อ'แผ่ว' ชี้มาตรการกระตุ้นเริ่มหมด

ศก.ไตรมาสแรกส่อ'แผ่ว' ชี้มาตรการกระตุ้นเริ่มหมด

"แบงก์ชาติ"ยอมรับแรงส่งศก.ไตรมาสแรก เริ่มแผ่วเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังตัวเลขเดือนม.ค.ชะลอลง โดยการบริโภค-ใช้จ่ายภาครัฐ หมดมาตรการกระตุ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนม.ค.2559 โดยแรงส่งของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางแผ่วลง สาเหตุหลักจากปัจจัยชั่วคราวที่เริ่มหมดไป ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์และมาตรการเร่งการใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงปลายปี ทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว

ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐชะลอลงหลังเร่งเบิกจ่ายในเดือนก่อน ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงตามเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว และราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนให้ภาคบริการขยายตัวดี

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบจากผลของราคาน้ำมันที่ลดลง อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงตามมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับมาเกินดุลจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดย ธปท. จะมีการปรับคาดการณ์ตัวเศรษฐกิจใหม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งถัดไป คือ วันที่ 23 มี.ค.2559 และแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มี.ค.2559

ศก.ไตรมาสแรกแผ่วลง

นางพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนม.ค.ที่ออกมา สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2559 อาจแผ่วลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะก่อนหน้านี้เราเร่งขึ้นมามาก

ท่องเที่ยวดีต่อเนื่อง

สำหรับภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นภาคที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนให้ภาคบริการที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจขนส่ง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากนักท่องเที่ยวจีนที่ยังขยายตัวดี และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวยุโรป

การใช้จ่ายภาครัฐ ทำได้ดีต่อเนื่องแม้แผ่วลงบ้างในเดือนดังกล่าว จากแรงกระตุ้นการเบิกจ่ายนอกงบประมาณในการลงทุนโครงการด้านคมนาคมและชลประทานที่ชะลอลงหลังจากเร่งตัวสูงในช่วงก่อน และรายจ่ายลงทุนที่ไม่รวมเงินอุดหนุนซึ่งขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่การจัดเก็บรายได้หดตัวเล็กน้อยจากการเลื่อนนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง และการปรับลดลงของรายได้ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสอดคล้องกับการนำเข้าที่หดตัว

บริโภคชะลอหลังหมดมาตรการกระตุ้น

ส่วนการบริโภคในเดือนม.ค.ชะลอลง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน(พีซีไอ) ลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวเริ่มหมดไป ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีก่อนตามมาตรการลดหน่อยภาษีของภาครัฐ ประกอบกับสภาพอากาษที่หนาวเย็นกว่าปกติในเดือนนี้ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนชะลอลงบ้าง

นอกจากนี้ปัจจัยหนุนการบริโภคในเดือนนี้แผ่วลงจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงเล็กน้อยจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะภัยแล้งและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามรายได้นอกภาคเกษตรที่ยังทรงตัว เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การซื้อสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการยังขยายตัวได้บ้าง

“ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐที่แผ่วลง ไม่ได้เป็นเรื่องที่ประหลาดใจ ซึ่งเราพอจะคาดการณ์ไว้บ้างอยู่แล้ว โดยเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวที่เริ่มหมดไป”นางพรเพ็ญกล่าว

ส่งออกยังทรุดหนัก

สำหรับการส่งออกเดือนม.ค.นั้น หดตัวในอัตราสูงที่ 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจาก 1.เศรษฐกิจจีนและอาเซียนชะลอตัว 2.ผลดีจากปัจจัยชั่วคราวที่ทยอยหมดลง เช่น การส่งออกรถยนต์รุ่นใหม่และการส่งออกในหมวดทัศนูปกรณ์ที่ชะลอลงต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว และ3.การหดตัวต่อเนื่องของราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปตลาดยุโรปยังมีแนวโน้มดีขึ้นตามการคาดการณ์สภาพอากาศว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นไปในปีนี้ และตลาดเวียดนามที่เศรษฐกิจขยาดตัวดี

ส่วนมูลค่าการนำเข้า หดตัว 17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวในอัตราที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ยังลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิงหดตัวตามภาวะการส่งออกที่ซบเซา

นางพรเพ็ญ กล่าวว่า ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวในหลายหมวดสินค้าตามการส่งออกที่ซบเซา ประกอบกับผลจากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง เช่น การผลิตรถยนต์ที่หดตัวสูงหลังจากเร่งไปมากเพื่อส่งมอบในปลายปีก่อน อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มดีขึ้นตามอุปสงค์ต่างประเทศ

การลงทุนยังต่ำ

ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับกำลังการผลิตที่มีเพียงพอ อีกทั้งผลบวกจากการเร่งซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์เริ่มหมดลง และการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนและกลุ่มโทรคมนาคมที่ชะลอลงบ้างหลังขยายตัวสูงในช่วงปลายปีก่อน ทั้งนี้ การระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ 

ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.53% ตามการลดลงของราคาในหมวดพลังงาน ส่วนอัตราว่างงานลดลงเล็กน้อย ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลง และรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับมาเกินดุลในเดือนนี้ จากการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ การได้รับชำระคืนสินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทย และการกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ

การส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น

ชี้สศช.จัดเก็บตัวเลขจีเอ็นพี

ส่วนกรณีที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิย์ เสนอให้หน่วยงานเศรษฐกิจเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีเอ็นพี) เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการเปิดเผยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นนั้น นางพรเพ็ญ กล่าวว่า ปกติทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มีการจัดทำข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่ตัวเลขที่ต้องทำขึ้นมาใหม่ และ ธปท. ก็มีการรายงานตัวเลขข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ 

"ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ต้องทำกันใหม่ เพียงแต่ทางเรายังไม่ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ เข้าใจว่าที่พาณิชย์เสนอเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะอยากให้เห็นข้อมูลที่รอบด้าน และจริงๆ แล้วทาง สศช. เขาก็จัดทำตัวเลขนี้เป็นปกติ"

กสิกรฯชี้ท่องเที่ยวดีเกินคาด

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.ที่ออกมา ถือว่าเป็นไปตามคาด แม้ไส้ในจะมีตัวที่ดีกว่าคาดและต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้บ้าง โดยตัวที่ดีกว่าคาด คือ การท่องเที่ยว ซึ่งเติบโตได้ถึง 15% และคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงถึง 3 ล้านคน น่าจะเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติศาสตร์ด้วย

คาดรัฐออกมาตรการกระตุ้นเพิ่ม

ส่วนการส่งออกนั้นถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์บ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันมีบางช่วงลงมาต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้การส่งออกในสินค้าที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระบตามไปด้วย แต่ในเดือนก.พ.เชื่อว่าการส่งออกน่าจะดีขึ้น คือ หดตัวน้อยลง เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันโดยรวมเริ่มดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. อย่างไรก็ตามภาพรวมการส่งออกไทยในปีนี้ มีโอกาสสูงที่จะต่ำกว่าที่ ศูนย์วิจัยกสิกร ประเมินไว้ว่าจะเติบโตที่ 2%

"แม้การส่งออกจะต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้บ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อจีดีพีมากนัก เพราะเราเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ภาครัฐน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม เพราะด้วยเครื่องมือการเงินและการคลังที่มีอยู่ในเวลานี้ ยังมีศักยภาพเพียงพอที่ทำได้"