'ศาสนาพุทธ'ในร่างรธน.

'ศาสนาพุทธ'ในร่างรธน.

การร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องบัญญัติให้ “ศาสนาพุทธ” เป็นศาสนาประจำชาติอีก ทุกๆครั้งไม่เคยสำเร็จ และไม่มีความจำเป็น มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย

จากกรณีพระสงฆ์ชุมนุมที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม และมีข้อเรียกร้องหนึ่ง  คือWบรรจุพระพุทธศาสนาW เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ  

ในเรื่องพุทธศาสนา ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้มีการบัญญัติิ ไว้ใน มาตรา 63 วรรคแรก ว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น 

ส่วนในวรรคสอง บัญญัติิว่า ในการคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินการมาตรการหรือกลไกดังกล่าว   

จริงอยู่แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญ จะไม่ได้บัญญัติถึงขนาดที่ให้ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ  

แต่ก็จะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ได้บัญญัติ ให้รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ ในวรรคสอง ได้ระบุ ให้รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไว้ด้วย  

ซึ่งนับว่า มีดีกรีและความเข้มข้นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนามากกว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 ที่บัญญัติ เพียงว่า รัฐตองใหความอุปถัมภและคุมครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น เท่านั้น  

สำหรับเหตุผลที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติ ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ  มีเหตุผล 3 ประการ  คือ  1.ร่างรัฐธรรมนูญมีมาตรการและกลไกในการปกป้อง คุ้มครอง พระพุทธศาสนาอยู่แล้ว  2. การกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ อาจกระทบความรู้สึกของประชาชนในเรื่องสิทธิิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องอันตราย 3. ประเทศอื่นที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ก็ไม่ได้มีการบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ   

ที่ผ่านมา ผู้ที่เห็นด้วยให้บัญญัติ “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ” ให้เหตุผล ว่า 1.ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ 2.ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาช้านาน 3.พระพุทธศาสนาเป็นเอกลักษณ์ของชาติ  

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า 1.เป็นการเลือกปฏิบัติ 2.ทำให้เกิดความแตกแยก 

ว่าไปแล้ว... การเรียกร้องให้ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ มีมานานแล้ว 

- ในปี 2517 มีการเรียกร้องให้บัญญัติ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ

- เช่นเดียวกับปี 2540 ที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ  

-ส่วนในปี 2550  ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย ที่เกิดม็อบพระหน้ารัฐสภา ฮือกดดัน ให้ ส.ส.ร. แปรญัติเพิ่มข้อความ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 

แต่ทุกครั้ง ไม่เคยสำเร็จ 

และที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยอยู่แล้ว เห็นได้จาก การใช้ปี พ.ศ.อย่างเป็นทางการในการนับศักราชของประเทศ อีกทั้งมีวันหยุดประจำชาติเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญในพุทธศาสนา โดยที่รัฐบาลไทยไม่เคยกำหนดให้มีวันหยุดราชการของศาสนาอื่นใดเลย 

จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติให้ “ศาสนาพุทธ” เป็นศาสนาประจำชาติอีก