'แคเรียร์วีซ่า' บัตรผ่านสู่อาชีพที่ใช่

'แคเรียร์วีซ่า' บัตรผ่านสู่อาชีพที่ใช่

แคเรียร์วีซ่ากิจการเพื่อสังคมที่เชื่อมชีวิตนักศึกษาสู่โลกการทำงานผ่านประสบการณ์จริง เพื่อให้ได้ทำงานที่ใช่ มีแพสชั่นและมีความสุขกับการทำงาน

“การค้นพบอาชีพที่ใช่เหมือนการเดินทางที่ต้องอาศัย การค้นคว้า-การเตรียมพร้อม-และลงมือทำ”

ข้อความที่ปรากฏอยู่หน้าเว็บไซต์ “แคเรียร์วีซ่า” (www.careervisathailand.com) สะท้อนพันธกิจที่สำคัญของ แคเรียร์วีซ่า (CareerVisa) กิจการเพื่อสังคมจากโครงการ Banpu Champions for Change(BC4C) ปี 4 ที่เชื่อมต่อชีวิตนักศึกษาสู่โลกการทำงานผ่านประสบการณ์จริงช่วยให้ได้ค้นหาแรงบันดาลใจด้านการทำงาน และพบความก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยการเพิ่มประสบการณ์ก่อนเข้าทำงานผ่านการพูดคุยกับวิทยากรที่ประสบความสำเร็จและผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ มีโปรแกรมฝึกงานในหลายองค์กร หลากสาขา และฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะก่อนเริ่มทำงานจริง

เราได้รู้จักกับ แคเรียร์วีซ่า เมื่อวันที่พบเจอหนึ่งสมาชิกของทีมอย่าง “เม-ศศิพร มีวงศ์อุโฆษ” วัย 27 ปี อดีตนิสิตบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ ที่มีประสบการณ์ในการทำแบรนดิ้งและการตลาดในสายธุรกิจรีเทลมากว่า 5 ปี วันนี้เธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการสื่อสารการตลาดของแคเรียร์วีซ่า

“ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เมื่อถามเด็กว่า จบแล้วจะทำงานอะไร คนประมาณ 80 คน จาก 100 คน บอกว่า ‘ไม่รู้’ คนส่วนหนึ่งอาจโชคดีที่รู้คำตอบ แต่เรื่องนี้ไม่สมควรจะเกี่ยวกับโชค เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเป็นอย่างนี้น้อยลง และมีส่วนช่วยให้เด็กมหาวิทยาลัยที่กำลังจะก้าวสู่โลกการทำงาน ให้เขาได้ทำงานที่ใช่และมีความสุขมากขึ้น”

และนั่นคือที่มาของ แคเรียร์วีซ่า ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเมและเพื่อนอีก 3 คน คือ “พลอย-วสุธร หาญนภาชีวิน” ที่จบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ จากนิด้า มีประสบการณ์ 7 ปี ในงานที่ปรึกษาด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับองค์กรชั้นนำกว่า 100 องค์กร วันนี้เธอคือ CEO และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์เนื้อหาและองค์ความรู้ของแคเรียร์วีซ่า

“พิน เกษมศิริ” ดีกรีบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ ที่มีประสบการณ์ในงานการตลาด โฆษณา และที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ให้บริษัทชั้นนำมากว่า 5 ปี มาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดของแคเรียร์วีซ่า

“เอ็ม-ธีรยา ธีรนาคนาท” ที่คว้าปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต เอกการเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการตลาด จากเคลล็อก สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเธอยังเป็นผู้จัดการฝึกหัดของ ปตท. และมีประสบการณ์ทำงานทั้งในไทย ฟิลิปปินส์ และลาว มานั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของแคเรียร์วีซ่า

ขณะที่เมเองประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาก็พอบอกได้ว่า ทำไมเธอถึงอินและอยากมาทำเรื่องนี้เอามากๆ เม เล่าว่า เธอเรียนทางด้านการเงิน แต่เลือกทำงานในสายแฟชั่นมาตลอด โดยเริ่มจากฝึกงานกับ KENZO แบรนด์ดังจากฝรั่งเศส ทำงานกับ CLUB21 ก่อนย้ายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ของแบรนด์ Gucci, Bottega Veneta และ Tom Ford ให้กับเซ็นทรัล แม้ในตอนเริ่มต้นจะต้องทนรองานที่ใช่อยู่ตั้งหลายเดือน ผิดวิสัยเด็กบริหารธุรกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดงาน

“เหตุผลที่ไม่เลือกกลับไปทำงานสายการเงิน เพราะอยากตื่นมาแล้วอยากมาทำงานทุกวัน ไม่ใช่ไปแล้วรอแต่ว่าเมื่อไรจะเลิกงาน เมคิดว่า ถ้าเรามีแพสชั่นในการทำงาน จะเป็นแรงส่งให้เราชนะ และเป็นแต้มต่อให้เติบโตได้ในสายงาน” เธอเชื่อเช่นนั้น

จากความมุ่งมั่น แปลงมาเป็นโมเดลกิจการเพื่อสังคม ที่ตอบทั้งสังคมและธุรกิจ พวกเขาทำตั้งแต่จัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะเปิดให้เด็กเข้าร่วมฟรี แต่หารายได้จากสปอนเซอร์ซึ่งเป็นบริษัทต่างๆ อย่างล่าสุดก็ร่วมกับเว็บไซต์จัดหางาน JobThai.com ซึ่งมีคอร์แวลูเดียวกันคืออยากเตรียมพร้อมเด็กเข้าสู่โลกการทำงาน เลยเป็นความร่วมมือที่ วิน-วิน โมเดลต่อมาคือการจัดฝึกอบรมทักษะด้านต่างๆ เช่น การเขียนเรซูเม่ ทักษะการนำเสนอ ทักษะพื้นฐานอย่างการใช้โปรแกรม Microsoft Excel ฯลฯ เพื่อให้เด็กมีความรู้ติดตัว ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง ซึ่งการหารายได้ก็มาจากสปอนเซอร์เช่นเดียวกัน โดยการคิดโปรเจคร่วมกัน และแทรกแบรนด์ของบริษัทเข้าไปอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ด้วย

ต่อมาคือการทำคลาสเรียนสาธิต ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยหวังว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนจริงในอนาคต

“ทั้งหมดเราไม่ได้คิดเงินกับเด็ก เราจะเก็บกับองค์กร แต่ในอนาคตจะเป็นเทรนนิ่งที่ชาร์ตเด็กด้วย ซึ่งเป็นการเทรนนิ่งในทักษะที่ค่อนข้างเฉพาะ โดยจะคิดราคาที่สมเหตุสมผล” เธอบอก

โมเดลต่อมาคือ การฝึกงาน เพื่อให้เด็กได้ลงสนามจริง ซึ่งเมบอกว่า ที่ผ่านมามีเด็กหลายคนที่ได้เข้าทำงานจริง หลังจากได้ฝึกงานที่ใช่ ขณะที่ในอนาคตพวกเขาจะเปิดแพลตฟอร์มการประเมินศักยภาพรายบุคคล พร้อมให้คำปรึกษา และเพิ่มทักษะในด้านที่ยังขาดสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมทำการจับคู่การฝึกงาน เพื่อให้ได้ประสบการณ์ทำงานจริง และสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เทรนนิ่ง เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์

และแน่นอนว่าทุกช่องทางก็มีโอกาส “สร้างรายได้” ให้องค์กรเติบโตได้ทั้งสิ้น

เพราะเป็นการรวมตัวของคนที่มีทั้งดีกรี ประสบการณ์ และแพสชั่น เราเลยได้เห็นแคเรียร์วีซ่า ใช้เวลาเพียงไม่นานสร้างการเติบโตที่รวดเร็ว โดยหลังดำเนินกิจการมาประมาณ 2 ปี มีรายได้ในปี 2558 เติบโตขึ้นจากปี 2557 ถึง 254% ขยายจากทีมเล็กๆ เพิ่มมามีสมาชิกรวม 7 คน ทั้งยังเป็นที่รู้จักในวงการการศึกษาไทย และบริษัทชั้นนำ

ขณะด้านสังคม พวกเขาจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ เจาะลึกอาชีพในแต่ละอุตสาหกรรม และจัดเวิร์คชอปในทักษะที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำเทรนนิ่งเกี่ยวกับการเขียนเรซูเม่ และ Career Design ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการจัดหาโปรแกรมฝึกงานให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนทำวิจัยเกี่ยวกับการทำงาน เพื่อเป็นต้นทุนในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมของพวกเขา

“การทำ SE เป็นความรู้สึกดีที่เราได้ช่วยคนอื่น แต่ธุรกิจอย่างไรก็ต้องสเกล ต้องเติบโตได้ คอร์ของ SE คือการที่สร้างผลกระทบ แต่ก็ต้องยั่งยืนได้ด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องกินแกลบ เพียงแต่เราไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำกำไรสูงสุดเท่านั้น แค่ให้ทุกคนอยู่ดีมีความสุข พอใจกับงานที่ตัวเองทำ แล้วเอาผลกำไรนั้นไปช่วยเหลือทุกคน” เธอบอก

ใครที่อยากมาทำกิจการเพื่อสังคม คนลุยมาก่อนบอกว่า ขอให้นำพาตัวเองไปอยู่ในที่ซึ่งทุกคนมีแพสชั่น เพราะแพสชั่นก็เหมือนโรคติดต่อที่ส่งถึงกันได้ ต่อมาคือหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้คำปรึกษา เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแค่ “มโนไปเอง” เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เดินผิดทางได้ เช่นเดียวกับการที่พวกเธอเข้าร่วมโครงการ Banpu Champions for Change(BC4C) ไม่ใช่หวังแค่เงินทุน แต่คือได้พี่เลี้ยง ผู้เชี่ยวชาญ มาช่วยก่อประกอบความคิดให้ สาม พยายามบอกสิ่งที่ตัวเองกำลังทำกับคนอื่น เพราะไม่แน่ว่า เขาอาจอยากมาเป็นทีมเดียวกับเรา หรือมีคอนเนคชั่นที่ช่วยเหลือเราได้ในอนาคต

“ในการเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลง เราอาจคิดว่าไม่สามารถเปลี่ยนทั้งโลกได้ ไม่ได้สร้างอิมแพคที่ยิ่งใหญ่ แต่มองว่า ไม่ว่าจะเล็กหรือจะใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงก็คือความเปลี่ยนแปลง มันมีอิมแพคทั้งนั้น เราอาจเริ่มจากเล็ก เท่าที่ตัวเองทำได้ แล้วไปหาทีม หาผู้เชี่ยวชาญ แล้วค่อยๆ ทำไป ถ้าผิด ถ้าไม่เวิร์คก็กลับมาดูใหม่ แล้วคุยกับคนโน้นคนนี้ เพราะการที่คุณทำดี ทุกคนพร้อมที่ช่วยอยู่แล้ว”

น้องๆ มีต้นทุนชีวิตที่ดี และวันนี้เกือบทั้งหมดก็ยังทำงานประจำดีๆ อยู่ แต่พวกเขาก็เลือกที่จะแบ่งอีกภาคมาทำกิจการเพื่อสังคม หนึ่งงานหนักที่ต้องอาศัยพลังใจมากๆ น้องเม ให้คำตอบสั้นๆ แค่ว่า...

“เมทำความฝันของเมได้สำเร็จแล้ว เพราะการที่มีคนหยิบยื่นโอกาสให้ เลยอยากช่วยให้ความฝันของคนอื่นเป็นจริงบ้าง” 

และนั่นคือพันธกิจของ “แคเรียร์วีซ่า” บัตรผ่านสู่อาชีพที่ใช่ เปลี่ยนโลกการทำงานให้มีความสุข