ปรับลุคใหม่ให้มิวเซียม

ปรับลุคใหม่ให้มิวเซียม

ถ้ามีใครชวนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หลายคนอาจร้องยี้เพราะนึกภาพว่า มีแต่ความน่าเบื่อ

ในขณะที่อีกหลายคนอาจสนใจถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ แต่ในปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์หลายแห่งโดยเฉพาะในเอเชียดำเนินการปรับปรุงและสร้างใหม่เพื่อดึงดูดให้มีผู้เข้าชมมากขึ้น


พิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่ขอพาไปชมคือ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา ที่นี่เองที่นักเดินทางจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศเล็กๆ แห่งนี้เมื่อ 191 ปีก่อน จากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ จนกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนและเอเชีย พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย 4 แกลเลอรีที่สะท้อนชีวิตของชาวสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี


เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่บนตึกโบราณแห่งนี้ได้เปิดแกลเลอรี “สุพรีมคอร์ต” หลังจากปิดปรับปรุงไประยะเวลาหนึ่ง การปรับปรุงนี้ใช้งบประมาณไปถึง 530 ล้านเหรียญสิงคโปร์เลยทีเดียว แกลเลอรีนี้จะเปิดให้ผู้เข้าชมได้เห็นคอลเลคชั่นของงานศิลปะของย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่ของที่นี่จะประมาณ 64,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่าพิพิธภัณฑ์มูเซอร์แซในปารีสและพิพิธภัณฑ์เดลปราโด้ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน


งานปรับปรุงแกลเลอรีนี้ทำโดยสตูดิโอที่มีชื่อเสียงของปารีส ซึ่งเชี่ยวชาญในการออกแบบพิพิธภัณฑ์และงานปรับปรุงตึกที่มีคุณค่างทางประวัติศาสตร์ ทำให้ส่วนภายในของส่วนนี้ยังคงได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มแสงสว่างเข้าไปได้อย่างเหมาะเจาะ


สำหรับในปีนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์จะมีนิทรรศการสำคัญๆ หลายครั้งด้วยกัน เช่น Artist and Empire ในเดือนตุลาคม โดยจะร่วมมือกับ Tate Britain ของลอนดอน ซึ่งจะมีการนำวัตถุโบราณที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อังกฤษมาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการวางกรอบความทันสมัยของสิงคโปร์และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดร่วมกับสถาบันปอมปิดูร์ของปารีส


นิทรรศการที่กล่าวมาเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เซี้ยก ชิง ซีอีโอของพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์วางแผนที่จะจัดงานที่ให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียในกรอบของความเป็นสากลที่เพิ่มขึ้น


“พิพิธภัณฑ์ของเราจะไม่พอใจกับการที่มีการแสดงศิลปะแวะเวียนมาแสดงเท่านั้น แต่จะเน้นไปที่การวิจัยของพิพิธภัณฑ์ในเรื่องต่างๆ และวิธีการนำเสนอประวัติศาสตร์ศิลปะของสิงคโปร์และประเทศอื่นในภูมิภาคในบริบทของโลก”


คราวนี้เรามาเยี่ยม พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยหมินเซิงปักกิ่ง ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดของจีนและเปิดให้เข้าชมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์เป็นแห่งที่ 3 ที่ใช้ชื่อ หมินเซิง โดย 2 แห่งแรกอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ธนาคารไชน่าหมินเซิงเป็นผู้ให้งบประมาณ 200 ล้านหยวนในการสร้าง พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ด้านเหนือของพิพิธภัณฑ์ Art Center and the Pace ในกรุงปักกิ่งบริษัท Pei Zhu ซึ่งได้รับรางวัลมากมายเป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์นี้ โดยเปลี่ยนโรงงานเก่าพื้นที่ 35,000 ตารางเมตรให้เป็นพิพิธภัณฑ์ได้อย่างสวยงาม


ส่วน พิพิธภัณฑ์ศิลปะจังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชูเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่แห่งแรกของจังหวัดในญี่ปุ่นเพราะที่อื่นเป็นการบูรณะพิพิธภัณฑ์เก่า ตัวตึกมีส่วนประกอบของไม้ไผ่และอุปกรณ์จากไม้ไผ่ซึ่งแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของญี่ปุ่นเอง ชิกูระ บัน ผู้ออกแบบ กล่าวว่า การออกแบบของเขาไม่ได้เน้นที่ความสวยงามของพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่รวมถึงประโยชน์การใช้สอยได้จริงด้วย


ด้าน เรียลนิอิมิ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็น “สนามเด็กเล่นของหัวใจ” เขากล่าวว่า “เราเตรียมอุปกรณ์และเชื้อเพลิง แต่คนในจังหวัดและผู้เข้าชมเป็นผู้ที่จุดไฟ ในพิพิธภัณฑ์ของเรา คนดูเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ที่สุด” 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างการตระหนักถึงพันธสัญญาที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไว้บนหลังคาและที่พื้นมีปั๊มดูดพลังงานความร้อนจากใต้พื้นดินมาใช้ด้วย


จังหวัดโออิตะนั้นมีชื่อเสียงเรื่องน้ำพุร้อน ถึงแม้ว่าชั้นที่ 3 ของพิพิธภัณฑ์จะแสดงงานของศิลปินที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดโออิตะ เช่น ทานูระ ชิกูเดน ศิลปินสมัยเอโดะ หรือจิตรกรฟูกูดะ เฮอิฮาชิโร จิตรกรภาพวาดสมัยใหม่ พิพิธภัณฑ์ก็ยังคงให้ความสนใจกับศิลปะยุโรปด้วย โดยจะเห็นได้จากลูกบอลลูนดอกไม้ที่ติดอยู่ที่พื้นซึ่งเป็นศิลปะของมาแซล วันเดอร์ส นักออกแบบชาวดัชท์