ผ่าวิชั่น “อยู่วิทยา” เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

ผ่าวิชั่น “อยู่วิทยา” เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

ตั้งใจแต่ต้นให้แบรนด์ “Red Bull” เป็นปริศนา ค้าขายแบ่งกับพันธมิตร “คนละครึ่งโลก” เมื่อแบรนด์ไทยดังก้องโลก ถึงเวลาประกาศเจ้าของแบรนด์ตัวจริง!

เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรว่า “กระทิงแดง” หรือในเวทีโลกใช้แบรนด์ “Red Bull” เป็นของใครกันแน่ ?

ยังเป็นของทุนไทยอยู่ไหม หรือตกไปอยู่ในมือของต่างชาตินานแล้ว จะสงสัยมากแค่ไหน ก็ไม่เคยมี “ทายาทอยู่วิทยา” คนใด ออกมาไขความกระจ่างแบบชัดๆ

เพราะนั่นเป็นความตั้งใจแต่ต้นของแบรนด์ที่ต้องการทิ้งคำเฉลย เป็น “ปริศนา”

ปล่อยให้ผู้บริโภคค่อนโลกเข้าใจว่า นักธุรกิจมือฉมังจากออสเตรีย นาม “ดีทริช เมเทสซิทซ์” (Dietrich Mateschitz) ช่วย “เฉลียว อยู่วิทยา” สร้างอาณาจักร “กระทิงแดง” จากเล็กสู่ความยิ่งใหญ่ระดับโลก

ทว่า แรงกดดันโลกธุรกิจ “เปลี่ยน” จากครึ่งซีกโลกตะวันตกที่เคยใหญ่ และเป็นที่หมายปองของนักลงทุนจะเข้าไปเจาะตลาดให้ได้

วันนี้ “เข็มทิศธุรกิจ” ชี้มาทางซีกโลกตะวันออกอย่าง “เอเชีย” ซึ่งเป็นที่รักของทั้งโลก (Darling of the world)

ทายาทกระทิงแดง จึงพร้อมที่จะไขปริศนา..

หลังสิ้น “เฉลียว” เจ้าพ่อกระทิงแดง (17 มี.ค.55) กว่า 3 ปีผ่านไป ถึงเวลาที่ “ทายาท” จะระดมสมอง “วางทิศทาง” อาณาจักรธุรกิจใหม่ ขอประกาศชื่อชั้นองค์กร หรือ Corporate brand ให้โลกรับรู้ โดยเฉพาะ “เอเชีย” ที่กินตลาดกว่า “ครึ่งโลก”

ในเมื่อผู้บริโภคบางส่วนยังไม่รู้จัก “บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด”

วันนี้ควรจะต้องรู้เรื่องราวที่มาที่ไป ชื่อบริษัทยา (ฟาร์มาซูติคอล) แห่งนี้ทำอะไรบ้าง

เพราะตามแผนธุรกิจที่ตกลงไว้กับบริษัทร่วมทุน ตลาดในเอเซีย ถูกขีดเส้นธุรกิจให้ “ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ” เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า เป็นหลัก ขณะที่บริษัทร่วมทุนนาม “Red Bull GmbH” ที่บริหารงานโดย ดีทริช เมเทสซิทซ์ จะดูแลตลาดในทวีปอเมริกาและยุโรป เป็นหลัก

"ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ ต้องยอมรับว่า คนไม่ค่อยรู้จัก คนฟังแล้ว รู้จักแต่กระทิงแดง” สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ลูกชายคนเล็กของเฉลียว เผย

“พวกคุณรู้จักไหม รู้จักเหรอ..ผมดีใจมาก (ลากเสียงสูง)"

ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ ทำอะไรบ้าง ?

เขาฉายภาพบริษัทแห่งนี้ว่า เริ่มต้นจากการเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) จำหน่ายยาทีซีมัยซิน และผลิตกระทิงแดงตั้งแต่เวอร์ชั่นแรก ภายใต้แบรนด์ “ทีโอเปล็กซ์-แอล” (ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2524 เมื่อ 34 ปีก่อน) แต่มาถึงขณะนี้พี่น้องอยู่วิทยาหารือกันว่า ยังจะคงชื่อบริษัทนี้ต่อไป เพราะเป็นชื่อที่พ่อตั้ง

“เหมือนคนงง ว่าเราทำยาตรงไหน ตอนนี้เราไม่ทำยา แต่ยังต้องการคงตรงนั้นไว้”

บริษัทแห่งนี้ยังเป็นทั้ง “เจ้าของแบรนด์” และ “หัวเชื้อ” ที่ส่งออกไปผลิตกระทิงแดงและ เรดบูล ขายทั่วโลก

ส่วนปรากฎการณ์ลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์องค์กร ปฏิวัติบุคลิกกระทิงซุ่ม เกิดจาก “วิสัยทัศน์ 5 ปี” (2555-2560) ของเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่ต้องการขยายธุรกิจใน “ต่างประเทศ” มากขึ้น

"แน่นอนถ้าอันดับ 1 คือแบรนด์อยู่แล้ว แบรนด์สำคัญกว่า แต่บิซิเนส ก็มีองค์ประกอบของมัน เช่น คุณไปติดต่อราชการก็ต้องรู้ว่าคุณเป็นบริษัทอะไร ราชการอาจจะไม่ได้สนใจนักว่าคุณทำโปรดักท์อะไร ขณะที่เมื่อไปต่างแดน ผู้บริโภคต้องรับรู้ว่า ผู้ที่ทำตลาดเครื่องดื่มกระทิงแดง และ Red Bull นั้นคือใคร ระหว่างสินค้าที่มาจาก ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ (บริษัทของตระกูลอยู่วิทยา) กับของ Red Bull GmbH ” เขาให้เหตุผลที่ต้องออกสื่อ

สราวุฒิ ยังเล่าว่า ปัจจุบัน ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ และ Red Bull GmbH ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนขยายอาณาจักรเครื่องดื่ม ที่สำคัญ การถือครองหุ้นใน Red Bull GmbH ยังคงเดิม โดยตระกูลอยู่วิทยา ถือหุ้นสัดส่วน 49% ดีทริซ 49% และ “เฉลิม อยู่วิทยา” ประธานกรรมการบริษัท เรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ด กรุงลอนดอน และในฐานะทายาทคนโตของตระกูลอยู่วิทยา ถือหุ้นสัดส่วน 2%

การประกาศตัวของ ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ ครั้งนี้ ยังเป็นการสร้าง “ป้อมปราการค้า” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะโดยปกติแล้ว Red Bull GmbH จะทำตลาดในสหรัฐ ยุโรป และเริ่มเข้ามาดินแดนตะวันออกไกลอย่าง เอเชีย นำเสนอสินค้าระดับ “พรีเมียม” รุกตลาดบน ส่วนกลาง-ล่าง เป็นหน้าที่ของ ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ

นั่นหมายความว่า คู่แข่งหากจะแทรกตัว คงต้องใช้ “พละกำลังเงิน” และ “วางกลยุทธ์” เพื่อตีแตกกระทิงแดงอย่างหนัก โดยเขาย้ำว่า ในตลาดอาเซียน เรดบูล ขายครบทุกประเทศ และเป็น เบอร์ต้นๆ ของตลาด 

การรุกคืบของ ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ สู่อาเซียน ไต่ระดับไป “เอเชีย” เริ่มตั้งแต่ “จัดวางกำลังพล” ที่ต้องมีความรู้ความสามารถด้าน “ภาษาอังกฤษ” การปั้นโมเดล “สินค้า” สำหรับคนท้องถิ่นในชาตินั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งจะได้เห็นในปีหน้า จากที่ผ่านมายังเป็นเพียงการส่งสินค้าจากไทยไปทำตลาด ซึ่งนั่นเขาบอกว่า ไม่ใช่วิถีของ “รีจินัล” การขบคิดจะต้องเป็นแบบ Think regional (คิดระดับภูมิภาค) และมองไกลไปถึง Global (โลก) ไม่ใช่ Originate (อยู่ในไทย) อีกต่อไป

ขั้นไหนถึงเป็นรีจินัลได้ คำตอบเรียบง่ายคือการ “ลอนซ์สินค้าท้องถิ่นได้สำเร็จ” นี่คือสิ่งที่เขาพยายามมองข้ามช็อต อ่านตลาดให้ออก

“ถ้าทำได้ผมยอมรับว่า เราเป็นรีจินัลได้แล้ว เพราะโอกาสและการเติบโตในอนาคต เห็นแล้วว่าต้องย้ายไปต่างประเทศ”

นี่คือเป้าหมายมีไว้พุ่งชน สำหรับ ”สราวุฒิ”

จริงๆ แล้ว ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ มีโรงงานผลิอยู่ในต่างแดนมากมาย อย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย จีน

แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ “ประกาศตัว”

ถามว่าทำไมไม่ให้ Red Bull GmbH มืออาชีพในการทำตลาดต่างแดน เดินเกมทำตลาดเหมือนที่ผ่านมา เขาแจกแจงว่า “ความเข้าใจตลาดเอเชีย" เป็นเรื่องหลักที่ทำให้ ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ ต้องลุยตลาดเอง

“ตะวันตกจะมีกรอบความคิดแบบฉบับตัวเอง เขาจะทำตามความต้องการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แม้จะเป็นมืออาชีพ ดังนั้นทำเองจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า และที่ผ่านมาเราก็แบ่งตลาดกันชัดเจน
กับบริษัทร่วมทุน”

นอกจากเครื่องดื่ม ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ ยังมีขนมขบเคี้ยวอย่างเมล็ดทานตะวัน “ซันสแนค” ทำตลาดด้วย และอนาคตเขายังมองหาสินค้าใหม่ที่ “สัมพันธ์” กับหมวดนี้

ทั้งหมดเป็น “วิชั่น” ของเหล่าทายาทรุ่น 2 “อยู่วิทยา” เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายใหญ่ ผลักดันให้การเติบโต “เท่าตัว” ภายในปี 2560 มีรายได้ 3.8 หมื่นล้านบาท และจากปีนี้คาดว่ามีรายได้ 2.6 หมื่นล้านบาท

นำพา “ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ” ขึ้นท็อปไฟว์ (1 ใน 5) ยักษ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริ๊งค์และสแน็คในภูมิภาค

++++++++++++++++++

ปริศนา “กระทิงแดง”
จุดขายแบรนด์

ปล่อยให้ “งงงวย” กันมานานในอดีต...ว่าใครกันแน่เป็น “เจ้าของ” แบรนด์ตำนานเครื่องดื่มชูกำลังชื่อก้องโลก “กระทิงแดง” หรือ “Red Bull”

ในเรื่องนี้ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า..

ทั้งหมดเป็น “เจตนารมย์” ว่าจะ “ไม่บอก” เพราะหากย้อนไปเมื่อปี 1987 (พ.ศ.2530) ที่ต้องบอกโลกว่า เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดังผลิตจากประเทศไทย Made in Thailand บอกไปคนก็เข้าใจว่า เป็นไต้หวัน (ออกเสียงคล้ายกัน) ผู้บริโภคต่างแดนยังรู้จักประเทศไทยน้อย ขณะที่แบรนด์ยังไม่ประสบความสำเร็จเหมือนทุกวันนี้

“เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรก ไม่ต้องบอกหรอกว่าเป็นบริษัทไทย ใครถือหุ้น ใครเป็นคนสร้างแบรนด์ สร้างสินค้า เพราะวันหนึ่งคนก็ต้องรู้ว่าใครสร้าง เพราะเอาแค่วันที่มาเทียบกันก็รู้แล้ว กระทิงแดงในไทยเกิดมา 40 ปีแล้ว แต่ในระดับอินเตอร์ เพิ่งตั้งแค่ 20 ปี ฝรั่ง นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ชอบและรู้ว่า เมื่อมาเมืองไทยต้องมาชิมรสดั้งเดิม ตัวขวดสีชาๆ 10 บาท ที่ช่างไม่เหมือนกับเรดบูลเลย”

เพื่อไขความกระจ่าง เขาเล่าว่า บิดา (เฉลียว อยู่วิทยา) เป็นผู้คิด “แบรนด์” และคิด “โลโก้” ด้วยตัวเอง ตั้งต้นจาก “ทีโอเปล็กซ์-แอล” เวอร์ชั่นแรกบนเส้นทางของยาบำรุง ครั้นทำตลาดเจาะ “รากหญ้า” เป็นสินค้าที่จับต้องง่าย แต่ชื่อแบรนด์ยาวยากต่อการจดจำ กลายเป็นชื่อ “กระทิงแดง”

เห็นวัวกระทิงบนจอแก้ว ผสมสีแดงแสดงถึง “พลังงาน” หรือ เอนเนอร์ยี่ เติมพระอาทิตย์ แหล่งพลังงานใหญ่สุดของมวลมนุษยชาติไว้ตรงกลาง เมื่อผสาน 3 ส่วน “เป็นอะไรที่เต็มไปด้วยพลังเป็นโลโก้ที่ดีมาก”

ผ่านไป 4 ทศวรรษ เรื่องราวความสำเร็จลึกๆ ของธุรกิจของครอบครัว “อยู่วิทยา” ยังเป็นความลับ แม้จะมีสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกมากมายติดต่อเพื่อขอให้บอกเล่าเรื่องราว “ความสำเร็จ” ที่ยิ่งใหญ่ของแบรนด์ไทยบุกโลก
ทว่า ครอบครัวอยู่วิทยา เลือกที่จะ “ปฏิเสธ”

“ยังไม่เคยมีใครได้ไป (การสัมภาษณ์) เราไม่อยู่ในบริบทที่จะแชร์จริงๆ นี่เป็นเวทีแรกๆ ที่เรามาคุยกัน” สราวุฒิบอก ก่อนจะขยายความว่า

“เป็นเรื่องของแบรนด์ดิ้ง เรดบูล กระทิงแดง ที่เราอยากทิ้งให้เป็นปริศนานิดๆ ใครอยากรู้ ว่าเราเป็นอย่างนี้ เป็นอะไร ยังไง ในมุมหนึ่ง นี่เป็นจุดขาย และใครอยากทำงานกับเราก็จะได้รู้เรื่องราวเหล่านี้” ทายาทธุรกิจแสนล้าน ทิ้งท้าย

--//--

เป็นลูกเฉลียวเหนื่อยไหม?

แม้เจ้าพ่อกระทิงแดง “เฉลียว อยู่วิทยา” จะถูกฟอร์บสเสนอชื่อให้ติด “ทำเนียบมหาเศรษฐีโลก” แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 2551 กระนั้น ทายาทอย่าง “สราวุฒิ อยู่วิทยา” แอบกังขาว่า รู้ข้อมูลรายได้องค์กรได้อย่างไร ในเมื่อเป็นบริษัทเอกชน (Private company) และไม่เคยมีใครให้ข้อมูลฟอร์บส จัดอันดับให้เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีโลก

“อันนั้นก็แล้วแต่ เพราะเราไม่เคยสนใจเลย เราก็ทำธุรกิจของเราไป” วันนี้ก็ยังติดอันดับอยู่เหรอ..อันนั้น ไม่ได้อยู่ใน KPI (การประเมิน) การทำงานของเรา”

ว่าแต่..เป็นลูกคุณเฉลียว เหนื่อยไหม ?

"ก็เหนื่อยนะ เพราะท่านเป็นคนเก่งมาก คิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว ตามไม่ทันหรอก” ลูกชายคนเล็กพูดถึงพ่อผู้ล่วงลับ

ก่อนขยายความว่า ความรู้ความสามารถของพ่อที่มี ก็ไม่ได้สอนให้บรรดาลูกๆ มากนัก ไม่ใช่ไม่อยากสอน แต่ด้วยเวลาและ “ธรรมชาติ” ของพ่อ ที่ลุยงานตลอด

"พ่อผ่านเหตุการณ์มากมาย ลำบากกับเส้นทางธุรกิจมานักต่อนัก ประสบการณ์เยอะ การอ่านเกมธุรกิจ “ปราดเดียว” ก็ทะลุปรุโปร่ง เมื่อทายาทวิเคราะห์เกมไม่ได้ ก็จะถูกตำหนิไม่ต่างจากพนักงาน”

สราวุฒิ เล่าว่า ความสามารถเด่นด้านหนึ่งที่ลูกชายทึ่งพ่อ เขายกให้กับความ “กล้าตัดสินใจ” แม้ทุกเรื่องจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากเทียบการศึกษาที่ไม่สูงนัก (จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนพิจิตรพิทยาคม) ภาษาอังกฤษไม่ดี มีต้นทุนจากการเรียนรู้เมื่อครั้งทำงานกับฝรั่ง ภาษาจีนก็ได้เพราะการค้าขายในหมู่เพื่อนฝูง

“ท่านกล้าตัดสินใจ มากกว่า ในบางเรื่องอาจด้วยประสบการณ์ ทำให้ท่านกล้าและมองภาพรวมออก อย่างเวลาไปต่างประเทศกับท่าน ไปคุยในเวทีใหญ่ ท่านไม่กลัว แม้จะมีลูกๆ ไปช่วย แต่ก็รู้สึกว่า ถ้าเอาตัวเราเองไปอยู่จุดนั้น เราก็ไม่เคยนะ"

นี่คือสื่งที่ท่านพยายามบอกว่า “คนไทยทำได้”

เฉลียว ยังขึ้นชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่ทำตัว “โลว์ โปรไฟล์” แต่งกายเรียบง่าย มักใส่กางเกงแพร เสื้อตัวเดียว สวมงอบไปตรวจโรงงาน ดีเอ็นเอดังกล่าวยังผ่องถ่ายถึงลูกๆ สราวุฒิ ก็เช่นกัน

“ผมชอบมาก หากจะโลว์โปรไฟล์ได้เหมือนคุณพ่อ” เขาหัวเราะ และเล่าว่า ทุกวันนี้คาดหวังที่จะใช้ชีวิตเรียบง่าย

“ผมกับพี่น้องใช้ชีวิตง่ายๆ เราจะเดินที่ไหน ขึ้นรถไฟฟ้าที่ไหนก็ได้ วันก่อนรถเสีย แล้วต้องไปหาเพื่อน นั่งรถไฟฟ้า ต่อวินมอเตอร์ไซต์ และบ้านเพื่อนอยู่ในซอยลึกมาก ก็ถามเราว่า..ไม่กลัวเหรอ ดูแลธุรกิจใหญ่โตขนาดนี้..เราก็รู้สึกว่าไม่มีใครรู้จักเรานะ”

++++++++++++++++

ธรรมนูญธุรกิจกระทิงแดง

++ไม่ซื้อกิจการ- ไม่เข้าตลาดฯ

ใครก็ใช้มรรควิธี “ลัด” ซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) แล้ว ที.ซีฟาร์มาซูติคอลฯ คิดเช่นนั้นหรือไม่ ?

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่า เราไม่เคยทำ M&A เป็นบริษัทเดียวที่ชอบและค่อนข้างระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับ โครงสร้างบริษัทยังไม่พร้อมที่จะใช้วิธีนี้ หากทำก็ต้องตอบโจทย์ว่าบริษัทต้องการอะไร ถึงเป้าหมายเร็ว หรือต้องการขนาดธุรกิจ และท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับวิถีทางของแต่ละองค์กรในการก้าวไปสู่เป้าหมาย" สราวุฒิ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง เผย

“เราจะไม่ใช้วิธีการนั้นในการผลักดันบริษัทให้ถึงเป้าหมาย เพราะ M&A ถ้าได้ ก็ได้แต่ไซส์ (ขนาด) หากไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งได้ ก็จะปวดหัว”

แล้วมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ?

“บริษัทต่างๆ ก็มักจะเข้าตลาดฯ กันหมด ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน” สราวุฒิ เผยก่อนบอกว่า องค์กรจะเป็นมืออาชีพไม่จำเป็นต้องเข้าตลาด แต่สามารถนำสิ่งที่ดีจากหลักเกณฑ์การเข้าตลาดมาปรับใช้กับองค์กรได้เช่นกัน เช่น “การบริหารความเสี่ยง” หากเป็นบริษัทในตลาดจะต้องระวังรอบด้าน อาจทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจช้า เลยขอดึงมาใช้บางส่วน

“การเข้าตลาดมีหลายปัจจัย เข้าไปเพื่ออะไรขึ้นขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละราย สำหรับเราถ้าจะเข้าตลาด มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นมืออาชีพ แต่หลายบริษัทที่เป็นเอกชนซึ่งใหญ่ระดับโลกก็ทำธุรกิจได้ดีมากโดยไม่ต้องเข้าตลาดฯ”

++โฟกัสแต่ธุรกิจ “เครื่องดื่ม”

การขยับตัวสู่ภูมิภาครั้งนี้ ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ ยังให้ความสำคัญกับ “ธุรกิจเครื่องดื่ม” ที่เป็นแกนหลักของบริษัท โดยยืนยันว่า ยังไม่โฟกัสไปธุรกิจอื่น

“เราอาจไม่เหมือนครอบครัวอื่นที่เริ่มหันไปสู่ธรกิจอื่น ถ้ามีในอนาคตก็จะเป็นเรื่องที่พี่น้องมีความสนใจส่วนตัว ซึ่งมีอยู่แล้ว"

แม้วันนี้มีทายาท 3-4 คน ที่ออกหน้า ไม่ว่าจะเป็น “เฉลิม-สุทธิรัตน์-สราวุฒิ” แต่ที่เหลือก็ล้วนนั่งอยู่ใน “บอร์ด” หรือคณะกรรมการบริหาร ที่สะดวกก็จะเข้าประชุมกันปีละ 2 ครั้ง นอกเหนืองานก็ยังพบปะกันตลอด

“ถ้าทายาทที่รันธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มก็จะมีพี่เฉลิม ดูแลยุโรป และสินค้าอินเตอร์เนชั่นแนลเวอร์ชั่นทำตลาดในไทย ส่วนกระทิงแดงและเครื่องดื่มอื่นๆ ก็มีผม ส่วนคุณสุทธิรัตน์ ดูกิจกรรมเพื่อสังคม งานทรัพยากรมนุษย์ และมีน้องสาวคุณนุชรี อยู่วิทยา ไม่เคยออกสื่อเลย และไม่คิดจะออกด้วย คนนี้ดูแลการเงิน และการวิจัยและพัฒนาสินค้า(R&D ) สำคัญเลย นอกนั้นมีธุรกิจอื่นดูอยู่”

การขับเคลื่อนอาณาจักรกระทิงแดงในมือเจเนอเรชั่น2 ไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อทุกคนได้รับไม้ต่อและทิศทางธุรกิจ ตลอดจนถ่ายทอดจิตวิญญาณจากการสื่อสารของ “พ่อ” โดยตรง ทว่าเจนฯ 3 ซึ่งเป็นรุ่นถัดไป การจะผ่องถ่ายและให้ “รักษา” ไว้ซึ่งกิจการครอบครัว ยังต้องคลำทาง “แต่ชัดเจนว่า เรารันธุกิจ แบบมืออาชีพ และไม่ต้องการบังคับว่า ลูกหลานต้องเข้ามาทำธุรกิจกันทั้งหมดจะทำก็ต่อเมื่อเขาอยากทำ และหากอยากทำ ต้องทำงานที่อื่น พิสูจน์ฝีมือตัวเองก่อน”

++++++++++++++++++

“ตำนาน” เรดบูลบุกโลก

ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของการตีตลาดต่างประเทศ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดง เล่าว่า เกิดจากปัจจัยแรง “บีบ” ในอดีตในไทย ที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ยากที่จะพรรณาสรรพคุณของสินค้า ตอนนั้นความเข้าใจของหน่วยงานรัฐยังมีน้อย กลายเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ต้องรุกตลาดต่างประเทศแทน

“พ่อรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ไปโตต่างประเทศเถอะ เพราะในไทยไม่เห็นแสง”

โดยการทำตลาดต่างประเทศ ก็ได้มืออาชีพอย่าง “ดีทริช เมเทสซิทซ์” นักธุรกิจชาวออสเตรีย ผู้ร่วมหัวจมท้ายก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH ปัจจุบันรุกตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไปถึง 167 ประเทศทั่วโลก โดยมี “เฉลียว” หนุนทุกเรื่องเพื่อให้กระทิงแดง “ประสบความสำเร็จ” ในสนามธุรกิจระดับโลก

“แบรนด์คนไทยแน่นอน แต่วิธีทำการตลาด ก็ยอมรับว่า ต้องมีมืออาชีพดำเนินงาน แต่ผมยอมรับว่า คุณดีทริช รักโปรดักท์ (กระทิงแดง) มาก ตั้งแต่ยังไม่ทำ มาเมืองไทยบ่อยๆ และดื่มตลอดเพราะรักและเชื่อในประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ ถึงทุ่มเททุกอย่าง และพ่อก็ช่วยสารพัดเพื่อให้เข้าไปที่นั่น(ตลาดยุโรป) ได้นี่เป็นเรื่องที่น้อยคนจะรู้เลย ทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่น เป็นครอบครัว”

++++++++++++++

“Energy Drink” ไทยลุยนอก

ไม่เพียง ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลฯ ที่วางหมากรบรุกนอกบ้าน ที่ผ่านมายังเห็น หลายแบรนด์ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง อย่าง “คาราบาวแดง” ก็รุกในการทำตลาดต่างประเทศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปปักหมุดในเมียนมา ดึงวงดนตรี “คาราบาว” ไปจัดมหกรรมคอนเสิร์ตสร้างสีสันให้ตลาด และปลุกการรับรู้แบรนด์อย่างจริงจัง

ล่าสุด มองไกลไปถึงตลาดโลก ด้วยการเข้าทุ่มเม็ดเงินสูงถึง 30 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1,620 ล้านบาท เพื่อนำแบรนด์ไทยไปปักบนเสื้อ “สิงโตน้ำเงินคราม” อย่างเชลซี สโมสรฟุตบอลชั้นนำในพรีเมียร์ลีก อังกฤษเป็นเวลาถึง 3 ปี จากก่อนหน้านี้ เรียกน้ำย่อยด้วยการนำโลโก้ “เขาควาย” ไปปักบนเสื้อของทีม “เรดดิ้ง” สโมสรฟุตบอลในลีกรองที่กลุ่มทุนไทย เช่น คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ และเพื่อนเป็นเจ้าของเรียบร้อยแล้ว

เกมนี้ นอกจากจะเป็นการประกาศกร้าวของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คาราบาว กรุ๊ป หวังขึ้นเบอร์ 3 เครื่องดื่มชูกำลังโลกแล้ว ในฐานะ “คู่ต่อสู้” บนสมรภูมิเครื่องดื่ม เซ็กเมนต์เดียวกัน สราวุฒิ มองเป็นข้อดี เพราะการที่ผู้ประกอบการตบเท้าแย่งเค้กก้อนโต ย่อมสร้างความคึกคักให้กับตลาดอย่างแน่นอนและไม่ได้มีแค่คาราบาวแดง ที่ออกไปโตนอกบ้าน

ย้อนกลับไปยังเห็นค่าย “โอสถสภา” ของตระกูล “โอสถานุเคราะห์” ส่ง Shark ไปทำตลาดเช่นกัน