'TMB'หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.7%-ส่งออกแย่

'TMB'หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.7%-ส่งออกแย่

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ปรับลดเป้าจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.7% หลังส่งออกชะลอตัว คาดปีหน้าจีดีพีโต 3.5% ลงทุน-ท่องเที่ยวหนุน

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ได้ปรับลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 3% ซึ่งได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวแรง แต่เศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และได้อานิสงส์เพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท ประกอบกับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าคาด ที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศได้

สำหรับปี 2559 ประเมินจีดีพีปีโต 3.5% โดยได้รับแรงหนุนจากความต่อเนื่องการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีการอนุมัติปลายปี 2558 ประมาณ 30,000 ล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างไตรมาสสุดท้ายปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามได้ ประกอบกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือทางการเงินเอสเอ็มอีและมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มขึ้น จะช่วยให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมดีขึ้น

ประกอบกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทะลุ 30 ล้านคน และการบริโภคโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นระดับต่ำกว่าปกติ เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่คาดว่าจะพลิกขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 2% ตามการฟื้นตัวช้าๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก

ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปีหน้า คือการชะลอของเศรษฐกิจจีน ที่อาจกดดันการส่งออกของไทย และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่จะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และการไหลออกของเงิน

"ความเสี่ยงเศรษฐกิจปีหน้ายังมาจากต่างประเทศเป็นหลัก นำโดยอุปสงค์จากจีนที่ชะลอลงต่อเนื่องติดต่อเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์หลักมีแนวโน้มลดลง และกดดันการฟื้นตัวของการส่งออก นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่้ต้องติดตามในปีหน้า ยังมีจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทและสถานการณ์ภัยแล้ง ตลอดจนภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังกดดันการบริโภคภาคประชาชน"นายเบญจรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ศูนย์วิจัย TMB มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะกลับมาเป็นขาขึ้นในปี 2559 โดยอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในครึ่งหลังปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังตกต่ำ เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องในปีหน้า โดยค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 36-37 บาทต่อดอลลาร์

นายเบญจรงค์ กล่าวด้วยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลให้ภาพรวมของการเงิน การธนาคารขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าสินเชื่อและเงินฝาก ขยายตัวได้ที่ 6.1% และ 6.8% ตามลำดับ โดยสินเชื่อถูกขับเคลื่อนโดยรายใหญ่และเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวจากความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น

ส่วนเงินฝากจะเติบโตตามแนวโน้มขาขึ้น โดยการขยายตัวของสินเชื่อ และการปรับลดเพดานคุ้มครองของเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทในเดือนส.ค. ปีหน้า ทำให้ธนาคารต้องสร้างฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นตามไปด้วยภายใต้การแข่งขันเงินฝากที่รุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตามคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากกว่า ปี 2558 โดยที่สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอยู่ที่ 2.6% ซึ่งมาจากการปรับตัวดีขึ้นของสินเชื่อภาคธุรกิจ ที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐที่จะเกิดทุนหุมนเวียนภายในระบบมากขึ้น ในส่วนคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคโดยรวมยังทรงตัว แต่สินเชื่อบัตรเครดิต NPL มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง