กกร.หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.5-3%

กกร.หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.5-3%

กกร.ปรับลดเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.5-3% จากเดิม 3-3.5% หลังประเมินภาคส่งออกติดลบ 5% ชี้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย หรือ จีดีพีปีนี้เหลือโต 2.5-3% จากเดิมที่คาดจะเติบโต 3-3.5% โดยภาคการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบถึง 5% ในปีนี้จะเป็นปัจจัยหลักฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเดือนส.ค. พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่หดตัวถึง 6.7% ความต้องการจากกลุ่มประเทศ G3 ประกอบด้วย สหรัฐฯ เยอรมันและญี่ปุ่น และอาเซียนที่ชะลอตัว ขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งรับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่กรุงเทพฯส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมขยายตัวในอัตราต่ำลงที่ 24.7% เทียบกับขยายตัว 39.4% ในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบวกจากการที่นักท่องเที่ยวกลับมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.ย. และมีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นได้อีก 1 เดือน

"เราประเมินว่าเม็ดเงินจากรัฐจะเร่งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 เดือนข้างหน้า ซึ่งทันกับฤดูกาลท่องเที่ยวในปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 2.5-3% จากประมาณการเดิม 3-3.5% แม้มีปัจจัยฉุดรั้งจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มอ่อนตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าส่งออกทั้งปีจะหดตัวถึง 5%"นายอิสระ กล่าว

สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นในหมวดการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม และการลงทุนภาครัฐยังคงเดินหน้าต่อเนื่องผ่านโครงการขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปีนี้ กกร. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลดีจากแพ็คเก็จมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนในไตรมาสสุดท้าย วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย ผ่านกองทุนหมู่บ้านและกระตุ้นการลงทุนในระดับชุมชน อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มระยะเร่งด่วน โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1 แสนล้านบาท การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท มาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านการร่วมลงทุนในเอสเอ็มอีระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ และช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้